วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2556

ก่อการร้าย เมื่อ 6 มี.ค.56




ก่อการร้าย
Tag : ก่อการร้าย เสื้อแดง จ่ายประกัน ค่าสินไหม แดงชุมนุม53 / 06-03-13 21:53   อ่าน : 381คอลัมน์ : เจาะข่าวร้อนล้วงข่าวลึก
ต้อนรับคุณผู้ชมเข้ามาในช่วงเวลาของรายการเจาะข่าวร้อน ล้วงข่าวลึกประจำวันพุธที่ 6 มีนาคม 2556 เริ่มต้นรายการกันด้วยคำตัดสินของศาลแพ่งกรณีสั่งให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหม้ให้กับห้างสรรพสินค้าที่ถูกเผาในช่วงกาชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553
โดยสาระสำคัญตอนหนึ่งที่ระบุว่าการเผาที่เกิดขึ้นไม่ใช่การก่อการร้ายแต่เป็นลักษณะของการก่อจลาจล ก็เป็นที่มา ที่ทำให้บรรดาแกนนำนปช. ออกมาช่วงชิงความได้เปรียบว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดง ไม่ใช่การก่อการร้าย
โดยเฉพาะการแถลงข่าวประจำสัปดาห์วันนี้ ที่มีการหยิบยกเอาประเด็นดังกล่าวมาขยายผลอย่างชัดเจน
คำแถลงของแกนนำนปช.ดังกล่าว นับว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงในรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากคดีฟ้องร้องเงินค่าเสียหายกับประกันภัยดังกล่าวเป็นเพียงคดีแพ่ง ซึ่งเป็นคนละเอรื่องกับคดีก่อการร้าย ซึ่ง ณ ขณะนี้ก็กำลังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลอาญา
นายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวถึงกรณี ศาลแพ่ง มีคำสั่งให้ บริษัทประกัน จ่ายค่าสินไหมให้กับบริษัทในเครือเซ็นทรัล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ถูกเพลิงไหม้ ในช่วงการชุมนุม เมื่อปี 2553 ว่าคำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันกับคดีก่อการร้ายของศาลอาญา เพราะจำเลยเป็นคนละชุดกัน ซึ่งคดีของเซ็นทรัลและจุฬาลงกรณ์ นั้น ยื่นฟ้องบริษัทประกันและจุดเกิดเหตุ อยู่เฉพาะในพื้นที่ย่านราชประสงค์ ศาลแพ่งอาจมองว่าพฤติการณ์ยังไม่เข้าข่ายก่อการร้าย
ส่วนคดีอาญานั้น พนักงานอัยการ ยื่นฟ้อง ม.135 เรื่องการก่อการร้ายและรวบรวมพฤติการณ์ ที่เกิดขึ้นในช่วงการชุมนุมทั่วพื้นที่กรุงเทพ ดังนั้น การพิจารณาของศาลอาญาและศาลแพ่ง ย่อมแตกต่างกัน  แต่หากจำเลยจะนำผลคำพิพากษาของศาลแพ่ง มาอ้างอิง ในการสืบพยานที่ศาลอาญาก็สามารถทำได้ แต่ศาลอาญาจะรับฟังมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่เหตุผลของจำเลยที่นำสืบ
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แกนนำนปช.จะรีบขยายผลแบบผิดๆจากคำตัดสินของศาลแพ่ง เนื่องจากคนกลุ่มดังกล่าวตกอยู่ในฐานะจำเลยคดีก่อการร้าย จึงต้องหาเหตุผลมาสนับสนุนตัวเองเพื่อให้หลุดพ้นจากคดี
โดยคดีก่อการร้ายมีจำเลย 24 คน แบ่งเป็น 4 คดี ไม่รวมพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ยังไม่ได้ตัวมาดำเนินคดี
เริ่มจากจำเลย คดีหมายเลขดำที่ อ.2542/2553 นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์, นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายเหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายขวัญชัย สาราคำ หรือขวัญชัย ไพรพนา, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก, นายนิสิต สินธุไพร, นายการุณ หรือ เก่ง โหสกุล, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท, นายภูมิกิติ หรือพิเชษฐ์ สุขจินดาทอง, นายสุขเสก หรือ สุข พลตื้อ, นายจรัญ หรือ ยักษ์ ลอยพูล, นายอำนาจ อินทโชติ, นายชยุต ใหลเจริญ, นายสมบัติ หรือแดง หรือผู้กองแดง มากทอง, นายสุรชัยหรือหรั่ง เทวรัตน์, นายรชตหรือกบ วงค์ยอดนายยงยุทธ ท้วมมี
คดี หมายเลขดำอ.4339/2553นายอร่าม แสงอรุณ หัวหน้าการ์ด นปช.
คดีหมายเลขดำที่ อ.757/2554นายเจ็มส์ สิงห์สิทธิ์, นายสมพงษ์ หรือ อ้อ หรือแขก หรือป้อม บางชม และนายมานพ หรือเป็ด ชาญช่างทอง กลุ่มการ์ด นปช. 
และ คดีหมายเลขดำที่ อ.4958/2554นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง
เพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับคดีก่อการร้าย โดยเฉพาะพฤติการณ์แห่งคดี ที่ไม่ได้มีแค่เพียงการเผาต่างๆ แต่ยังรวมไปถึงตั้งแต่การวางแผนชุมนุมตั้งแต่ 18ก.พ.-20พ.ค.2553 ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นอย่างมากมาย
ในคำฟ้องของโจทก์ระบุว่า ระหว่างวันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค. 2553 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งหมด ได้ร่วมกับพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีต ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ซึ่งถึงแก่ความตายแล้วได้กระทำความผิดกฎหมาย โดยนายวีระ จำเลยที่ 1-11 แกนนำ นปช. ได้ยุยงปลุกปั่นประชาชนทั่วราชอาณาจักรไทยให้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และบังคับขู่เข็ญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้ประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ อ้างว่าเป็นนายกฯโดยมิชอบ
และให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยพวกจำเลยได้ร่วมกันจัดการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนหลายหมื่นคนที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สี่แยกคอกวัวถึงสี่แยกมิสกวันและถนนพิษณุโลกจากสะพานชมัยมรุเชฐถึงสี่แยกวังแดงและแยกราชประสงค์ เดินขบวนไปปิดล้อมสถานที่ต่างๆทั้งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รัฐสภา กรมทหารราบที่ 22 และบ้านพักของนายกรัฐมนตรีซอยสุขุมวิท 31
นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังได้สะสมกำลังพลและอาวุธสงครามร้ายแรง มีการฝึกกำลังคนและฝึกการใช้อาวุธ ใช้ชื่อกลุ่มนักรบพระเจ้าตาก กลุ่มนักรบโรนิน และกลุ่มนักรบพระองค์ดำ เพื่อการก่อการร้าย สร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนโดยใช้ยานพาหนะเคลื่อนกลุ่มผู้ชุมนุมไปตามถนนในกรุงเทพฯแบบดาวกระจายประมาณ10,000 คันเศษ สร้างความปั่นป่วนให้เกิดความเสียหายแก่การคมนาคม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน เกรงกลัวอันตรายต่อชีวิตร่างกาย และทรัพย์สิน ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปรกติสุขของประชาชน
พวกจำเลยและกลุ่มผู้ชุมนุมยังได้ใช้เลือดจำนวนมากไปเทราดที่หน้าทำเนียบรัฐบาล หน้าพรรคประชาธิปัตย์ และบ้านพักนายกรัฐมนตรี
และมีการใช้เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ยิงใส่กองรักษาการณ์ของกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยิงใส่กองบัญชาการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย มีทหารได้รับบาดเจ็บใช้เครื่องยิงจรวดอาร์พีจียิงใส่กระทรวงกลาโหมขว้างระเบิดใส่กรมบังคับคดี อาคารมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยิงปืนใส่ธนาคารกรุงเทพ ขว้างระเบิดใส่ประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาลและสถานที่ราชการต่างๆ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐและผู้อื่น เพื่อบีบบังคับกดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้อง
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5
และ 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดอื่นๆ ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมกันเกิน 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการอันใดเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย กีดขวางการจราจร ปิดทางเข้า-ออกอาคารหรือสถานที่ อันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงาน หรือประกอบกิจการ หรือการใช้ชีวิตโดยปรกติสุขของประชาชนทั่วไป ประทุษร้ายหรือใช้กำลังทำให้ประชาชนเดือดร้อน เสียหาย เกรงกลัวอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน
โดยจำเลยกับพวกรู้อยู่แล้วว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลสั่งให้ยุติการชุมนุมแล้วแต่จำเลยกับพวกไม่ยุติ มีการนำกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปที่ทำการรัฐสภาทำร้ายร่างกายทหารและแย่งชิงอาวุธปืนเอ็ม 16 ไป 1 กระบอก บุกรุกไปในสถานีดาวเทียมไทยคม 2 อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานียิงทหารตาย-วางระเบิดเสาไฟฟ้า
ต่อมาวันที่ 10 เม.ย. 2553 จำเลยกับพวกและผู้ชุมนุมได้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติการกดดันผู้ชุมนุมเพื่อขอคืนพื้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศและแยกราชประสงค์ โดยใช้กำลังประทุษร้ายและใช้อาวุธปืนสงคราม ระเบิดขว้าง เครื่องยิงลูกระเบิดเอ็ม79 ยิงใส่ทหารและประชาชน เป็นเหตุให้ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวกรรม และประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
หลังจากนั้นมีการลอบวางระเบิดเสาไฟฟ้าแรงสูงที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อต้องการให้ไฟฟ้าดับทั่วกรุงเทพฯ อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะชุมนุมราชประสงค์สร้างความปั่นป่วน
วันที่ 14 เม.ย. 2553 จำเลยกับพวกได้ไปรวมตัวชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ปิดเส้นทางการจราจร สร้างเครื่องกีดขวางรอบพื้นที่ชุมนุมโดยดัดแปลงใช้ไม้ไผ่ ไม้ปลายแหลม และยางรถยนต์ ปิดกั้นเส้นทางบริเวณแยกศาลาแดงแยกหลังสวน แยกเพลินจิต แยกชิดลม แยกประตูน้ำ แยกปทุมวัน และแยกเฉลิมเผ่า มีการยิงระเบิดใส่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาสีลมและสาขาอื่นๆ และสถานที่ต่างๆไม่น้อยกว่า 50 แห่ง เพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวแก่ประชาชนและระบบเศรษฐกิจยิงพลทหารตายที่ดอนเมือง
วันที่ 28 เม.ย. 2553 จำเลยกับพวกยุยงให้ผู้ชุมนุมไปที่ตลาดไทและใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ทหารที่บริเวณหน้าอนุสรณ์สถานและสนามบินดอนเมือง ใช้อาวุธยิงพลทหารเสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บ 2 คน มีผู้อื่นบาดเจ็บอีก 16 คน และในต่างจังหวัดได้ทำการปิดถนนตั้งด่านตรวจพาหนะ บังคับให้ขบวนรถไฟที่บรรทุกยุทธภัณฑ์ทางทหารไม่ให้เดินทางต่อยุงยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
วันที่ 29 เม.ย. 2553 จำเลยกับพวกยังได้นำผู้ชุมนุม 200 คน ไปตรวจค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทำให้แพทย์ พยาบาลไม่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดความวุ่นวาย นำไปสู่ความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ ยุยงให้ประชาชนชุมนุมโดยมิชอบ มีการใช้กำลังขัดขืนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่มีเจตนาบิดเบือนให้เกิดการเข้าใจผิด เพื่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ต่างๆทั่วราชอาณาจักรกระทบต่อความมั่นคงของรัฐต่อสู้ ขัดขวาง วางเพลิงอาคาร
วันที่ 19-20 พ.ค. 2553 รัฐบาลได้ดำเนินการกระชับพื้นที่และกดดันให้จำเลยกับพวกผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่และยุติการชุมนุม แต่จำเลยกับพวกมีการสะสมกำลังพลและมีอาวุธสงครามร้ายแรงต่อสู้ขัดขวาง ใช้ปืนยิงต่อสู้เจ้าพนักงาน และวางเพลิงเผาทรัพย์สินของรัฐและเอกชน เผาห้างสรรพสินค้าและอาคารพาณิชย์ต่างๆทั่วกรุงเทพฯ เผาศาลากลางและสถานที่ราชการต่างจังหวัดหลายแห่ง เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่และประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก หลังเกิดเหตุเจ้าพนักงานยึดอาวุธปืน กระสุน และวัตถุระเบิด ซึ่งเป็นของจำเลยกับพวกได้หลายรายการ
และจากคำฟ้องดังกล่าวก็เป็นที่มาของการตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 135/1 135/2 135/3 ดังต่อไปนี้ ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต  มาตรา 135/1 ผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดอาญา ดังต่อไปนี้
(1) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ
(2) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
(3) การกระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใดหรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ

ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลาดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท
การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือ หรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย
มาตรา 135/2 ผู้ใด
(1) ขู่เข็ญว่าจะกระทำการก่อการร้าย โดยมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะกระทำการตามที่ขู่เข็ญจริง หรือ
(2) สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดการหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือยุยงประชาชนให้เข้ามีส่วนในการก่อการร้าย หรือรู้ว่ามีผู้ก่อการร้ายและกระทำการใดอันเป็นการช่วยเหลือปกปิดไว้ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท
มาตรา 135/3 ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตาม มาตรา 135/1 หรือ มาตรา 135/2 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้นๆ
เมื่อข้อเท็จจริงเป็นไปตามนี้ ก็เท่ากับว่าแกนนำนปช.กำลังให้ข้อมูลที่ผิดๆกับมวลชนของตัวเอง ส่วนเหตุผลก็เป็นที่เข้าใจได้เพราะอย่างไรเสียในฐานะจำเลยคดีก่อการร้ายก็ต้องหาเหตุมาต่อสู้คดีหรือปกป้องตัวเอง แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ก็ต้องไปว่ากันที่กระบวนการยุติธรรม ตามกฎหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น