วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

ส.ว.รอจังหวะยื่นศาล รธน.ตีความ แก้ รธน.รายมาตรา -พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 18:08:10 น.




0 ส.ว.รอจังหวะยื่นศาล รธน.ตีความ แก้ รธน.รายมาตรา -พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน

วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 18:08:10 น.
  


เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่รัฐสภา นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. เปิดเผยว่าจากการพูดคุยของกลุ่ม 40 ส.ว. กรณีที่ส.ว.และส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... จำนวนฉบับ นั้นทางกลุ่มยืนยัน ว่าไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะประเด็นที่จะมีการแก้ไขเป็นเรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ของประชาชนเข้ามาเกี่ยว เป็นแค่ผลประโยชน์เฉพาะตัวที่เล่นปาหี่กันเท่านั้น และเห็นว่าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นยุทธการยึดครองทุกมิติของประเทศไทย ที่ยึดสภาล่างได้แล้วก็จะยึดสภาสูงอีก หากทำได้องค์กรอิสระก็จะถูกยึดครองด้วย ดังนั้นกลุ่ม 40 ส.ว.จะคัดค้านอย่างเต็มที่ และเมื่อไหร่ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้วนั้น ก็จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่บัญญัติว่าส.ส.และส.ว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์


นายประสาร กล่าวต่อว่า กรณีที่รัฐบาลเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยจะพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร์ในสัปดาห์หน้านั้น กลุ่ม 40 ส.ว.ได้หารือกันในเรื่องนี้และเห็นว่า เรื่องดังกล่าวควรนำเข้ามาอยู่ในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการนอกงบประมาณ เนื่องจากรัฐบาลก็ชี้แจงแล้วว่าการดำเนินการตามงบประมาณในเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จะใช้งบในแต่ละปีประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเห็นว่าหากมีการบริหารจัดการงบประมาณปกติได้ ก็เพียงพอที่จะมีการใช้งบประมาณจึงไม่จำเป็นที่ต้องไปกู้เงินจำนวนมาก ซึ่งการที่รัฐบาลอ้างว่าต้องทำนอกงบประมาณปกติเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน มองว่าทำให้เกิดภาวะการคลังซ่อนเร้น ซึ่งกลุ่ม 40 ส.ว.จะรอให้เรื่องผ่านการพิจารณาของสองสภา ฯ โดยก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา169 วรรค 1 หรือไม่โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ที่บัญญัติว่า หากส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภาฯรวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า1ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ซึ่งเท่ากับ 65 คน เห็นว่าร่างพ.ร.บ.ที่สภาให้ความเห็นชอบขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งเรื่องให้ประธานรัฐสภาส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไปได้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น