วันอังคารที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2556

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19-25 มี.ค. 2556




สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 19-25 มี.ค. 2556

แรงงานขานรับห้ามขายเหล้าในโรงงานทำคุณภาพชีวิตดีขึ้น 

19 มี.ค. 56 - นายสมภพ ปราบณรงค์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดนครปฐม กล่าวภายหลังจากงานเสวนา "ไม่ดื่ม ไม่ขายเหล้าเบียร์ในโรงงาน ผลได้มากกว่าเสีย?" โดยจัดขึ้นที่โรงแรมเวล จังหวัดนครปฐมว่า ตั้งแต่มีการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบการโรงงานมาได้ระยะหนึ่ง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน จากที่เคยขาดลามาสายก็พบน้อยลง สุขภาพดีขึ้น เพราะก่อนหน้านี้อาจเสียเงินทอง ซื้อสุรามาดื่ม ทำให้สุขภาพย่ำแย่ เป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาทในโรงงานบ่อยครั้ง และอาจนำไปสู่การก่อคดีอาชญากรรมได้ ที่ผ่านมายังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของแรงงานโดยตรงเหมือนกฎหมาย ดังกล่าวและจากการบังคับใช้

"กฎหมายนี้ถือว่า ช่วยจำกัดพื้นที่ของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบการ ซึ่งแต่เดิมจะเป็นเพียงระเบียบข้อปฏิบัติของสถานประกอบการบางแห่ง แต่คราวนี้เมื่อมีกฎหมายออกมารองรับและบังคับใช้กับสถานประกอบการทุกแห่ง จึงเชื่อว่าจะไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลแต่อย่างใด และผู้ประกอบการลูกจ้างต่างเห็นด้วย ทั้งนี้ สวัสดิการและแรงงานสังคม ได้จัดกิจกรรม "โรงงานสีขาว ปลอดยาเสพติด" ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2544 สำหรับที่ จ.นครปฐม มีโรงงานสีขาวจำนวน 454 แห่ง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับกฎหมายดังกล่าวได้ นอกจากนี้สวัสดิการฯ ยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ และแรงงานได้รู้ถึงกฎหมายอย่างต่อเนื่อง" นายสมภพ กล่าว

ด้าน พ.ต.ท.ธงชัย เนตรสขาวัฒน์ รองผู้กำกับการป้องกันและปราบปรามของ สภ.พุทธมณฑล กล่าวว่า การมีกฎหมายฉบับนี้ในโรงงานเป็นเรื่องที่ดี และตนก็เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว 100% เพราะว่า การดื่มเหล้าในโรงงานจะมีผลทำให้แรงงานขาดประสิทธิภาพ เป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท ซึ่งบางครั้งนำไปสู่การก่อคดีอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ ส่วนผลดีกับคนงานคือ มีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่าย ผลประโยชน์ที่ได้รับก็ตกไปอยู่ที่ตัวเจ้าของโรงงานและคนงานผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำงานง่ายขึ้น

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ตัวกฎหมายดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมไปถึงแคมป์ที่พักของคนงาน ซึ่งส่วนตัวแล้วตนอยากจะให้ครอบคลุมไปถึงแคมป์ที่พักคนงาน ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จากการทำงานที่ผ่านมาพบว่า ในแคมป์ของคนงานมีการดื่มเหล้าเป็นประจำ ส่งเสียงดัง ทะเลาะวิวาท หรือการก่อคดีต่างๆ" พ.ต.ท.ธงชัย กล่าว

พ.ต.ท.ธงชัย กล่าวว่า ปัญหาหรืออุปสรรคของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว คือ ผู้ประกอบการโรงงานที่มีการหลบซ่อนสิ่งผิดกฎหมาย เช่น แรงงานต่างด้าว การผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ มักจะไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจสอบ นอกจากนี้ทาง สภ.พุทธมณฑล ยังจัดให้มีการอบรมให้ความรู้เรื่องของกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาใหม่แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นประจำ หากโรงงานใดในพื้นที่ต้องการให้ไปอบรมให้ความรู้เรื่องกฎหมาย ทาง สภ.พุทธมณฑล ยินดีที่จะให้บริการ

(ไทยรัฐ, 19-3-2556)

ปี 55 ผู้ประกันตน 2 มาตราขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรกว่า 6,600 ล้านบาท 

19 มี.ค.- นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนของผู้ประกันตนกรณีคลอดบุตร ในปี 2555 มีผู้ประกันตนใช้สิทธิคลอดบุตรจำนวน 300,075 ราย แบ่งเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 246,566 ราย และจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกว่า 5,598 ล้านบาท และเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 53,509 ราย และจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนกว่า 1,028 ล้านบาท รวมปี 55 จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรทั้งสิ้นกว่า 6,627 ล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ประกันตนมีสิทธิเบิกค่าคลอดบุตรได้เมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนคลอดบุตร ซึ่งสามารถคลอดบุตรที่ใดก็ได้ จะได้รับค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่าย กรณีคลอดบุตรในอัตรา 13,000บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง โดยผู้ประกันตนหญิงมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมา จ่ายในอัตราร้อยละ50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน และกรณีสามีและภรรยาเป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตร รวมกันได้ไม่เกิน 4 ครั้ง โดยมีสิทธิเบิกได้คนละ 2 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ควรใช้สิทธิของผู้ประกันตนหญิงก่อน เนื่องจากสามารถเบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรได้จำนวน 3 เดือน ในอัตราร้อยละ 50 จาก สปส.และอีกร้อยละ 50 จากบริษัทที่ทำงานอยู่ สำหรับเงินสมทบ 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต ทั้งสิ้นกว่า 19,292 ล้านบาท เป็นเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวนกว่า 18,424 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 95.50และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวนกว่า 867 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.50 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรต่อเงินสมทบ 4 กรณี พบว่า การจ่ายประโยชน์ทดแทนสูงกว่าเงินสมทบที่รับมาคิดเป็นร้อยละ 34.35

(สำนักข่าวไทย, 19-3-2556)

คุก 15 ปี หนุ่มเจียงฮายตุ๋นเหยื่อขายแรงงานในเกาหลี 

( 20 มี.ค.) ที่ห้องพิจารณา 708 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีฉ้อโกงแรงงาน หมายเลขดำ  อ.182/55 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9  เป็นโจทก์ฟ้องนายศิราดล หรือฟู่ ดาวรุ่งเรืองทรัพย์  อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 4 / 5 ม. 6 ต.สลองใน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เป็นจำเลยในความผิดฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถจัดหางานในต่างประเทศได้เพื่อ ให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยทุจริต และฉ้อโกงผู้อื่น  ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 55 ระบุความผิดสรุปว่า

เมื่อระหว่างปลายเดือน เม.ย. 52 -  พ.ค. 53  ต่อเนื่องกัน จำเลยได้บังอาจหลอกลวงผู้เสียหาย  ชายหญิง  5 รายด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า จำเลยสามารถจัดหาให้ผู้เสียหายทำงานในฟาร์มไก่ และ คนงานเกษตร ที่ประเทศเกาหลีใต้ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 28,000  -  30,000 บาท  แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวน  65,000 – 170,000 บาท  ผู้เสียหายทั้งห้า  หลงเชื่อ ยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยรวม 5.4 แสนบาท ทั้งที่ความจริงแล้วจำเลยไม่มีเจตนา และไม่สามารถจัดหางานให้ผู้เสียหายได้

เหตุเกิดที่ อ.เมือง จ.ชัยภูมิ และที่อื่นเกี่ยวพันกัน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้า มนุษย์(ปคม.) จับกุมได้  ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ แต่ให้การรับสารภาพในชั้นศาล

พิพากษาว่า จำเลยกระทำผิดจริง ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91ตรี  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341  เป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษทุกกรรม ฐานหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถจัดหางานได้ฯ ซึ่งเป็นบทหนักสุด  5 กระทงจำคุกกระทงละ 3 ปี  เป็น จำคุก 15 ปี  คำรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยไว้ 7 ปี 6 เดือน  โดยไม่รอลงอาญา  และให้จำเลยชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหายที่ยังคงค้างอีก  507,000 บาทด้วย.

(เดลินิวส์, 20-3-2556)

“เผดิมชัย” ชี้ผลกระทบ 300 บ. ไม่รุนแรง หลังลงพื้นที่คุยเอสเอ็มอี 11 จังหวัด 

นายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงแรงงานได้จัดโครงการแรงงานสัญจรสนับสนุนค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในช่วงเดือนมีนาคม โดยที่ผ่านมาตนและผู้บริหารกระทรวงแรงงานได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถาน ประกอบการใน  11  จังหวัดได้แก่  พะเยา   ลำปาง  นครปฐม  ราชบุรี   กาญจนบุรี   สุพรรณบุรี   ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และสงขลา พบว่ามีจังหวัดที่มีการเลิกจ้างแรงงาน 4 จังหวัด มีสถานประกอบการ 9 แห่ง เช่น ขายของชำ  นาฬิกา ยา  น้ำดื่ม ผลิตอะลูมิเนียม การพิมพ์  เลิกจ้างแรงงานรวม 209 คน ได้แก่  พะเยามีสถานประกอบการ 5 แห่งเลิกจ้าง 8 คน สงขลามีสถานประกอบการ 1 แห่งเลิกจ้าง 79 คน  สุพรรณบุรีมีสถานประกอบการ 1 แห่งเลิกจ้าง  8  คนและร้อยเอ็ดมีสถานประกอบการ 2 แห่งเลิกจ้าง 114 คน

 “จากการสรุปข้อมูลโดยภาพรวมการปรับขึ้นค่าจ้างไม่ได้ส่งผลกระทบ รุนแรง   ส่วนใหญ่สถานประกอบการเลิกจ้างเพราะขาดทุนสะสมมานาน ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่มียอดสั่งซื้อสินค้า  จึงไม่สามารถสู้ต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูงขึ้นได้ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเรื่อง ของค่าจ้างที่ต้องปรับขึ้นด้วย  นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังประสบปัญหาต่างๆ เช่น การขาดแคลนแรงงาน การขาดสภาพคล่องทางการเงิน  การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีโดยปัญหาใดที่อยู่ ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน ก็จะแก้ปัญหาให้แก่สถานประกอบการในทันที” นายเผดิมชัย กล่าว

นายเผดิมชัย กล่าวว่า กระทรวงแรงงานจะส่งรายงานผลสรุปข้อมูลปัญหาและข้อเสนอความช่วยเหลือของสถาน ประกอบการในจังหวัดต่างๆให้แก่นายนิวัฒน์ธำรง  บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วย เหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นระยะ โดยเบื้องต้นจะรายงานสรุปผลใน  11 จังหวัดก่อน เพื่อให้คณะกรรมการฯและกระทรวงที่เกี่ยวข้องนำปัญหาและข้อเสนอไปพิจารณาให้ ความช่วยเหลือแก่สถานประกอบการ  หลังจากนี้ในวันที่ 22 มีนาคมไปจนถึงช่วงสิ้นเดือนมีนาคมนี้  ผู้บริหารกระทรวงแรงงานจะลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมสถานประกอบการอีก  7 จังหวัด ได้แก่ สกลนคร  นครพนม มุกดาหาร  หนองคาย   บึงกาฬ  สุรินทร์ และศรีสะเกษ  เพื่อรับฟังปัญหาจากสถานประกอบการ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะให้ความช่วยเหลือในส่วนที่รับผิดชอบ และจะส่งรายงานผลสรุปไปให้นายนิวัฒน์ธำรงต่อไป

(มติชนออนไลน์, 20-3-2556)

กสอ.พร้อมใช้5มาตรการ อุ้ม SME รับพิษ 300 บาท 

นายโสภณ ผลประสิทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) กล่าวว่า การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวกับฐานค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท นั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มี 5 แนวทางในการส่งเสริมดังนี้

1.มาตรการเพื่อเสริมสภาพคล่อง เพิ่มวงเงิน ลดต้นทุนทางการเงิน โดยผ่านกระบวนการให้สินเชื่อ 2.มาตรการลดต้นทุนผู้ประกอบการ โดยผ่านกระบวนการทางภาษีและเงินสมทบ ได้แก่ มาตรการการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม มาตรการการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล มาตรการการนำส่วนต่างของค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี พ.ศ.2555 เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท มาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษี มาตรการการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาหักลดหย่อนภาษี มาตรการการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ มาตรการการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร เป็นต้น

3.มาตรการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ผู้ประกอบการ ได้แก่ มาตรการการให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 4. มาตรการเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการโดยการทบทวนค่าใช้จ่ายของภาครัฐ ได้แก่ มาตรการการปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ?? 5. มาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการขายโดยผ่านการบริโภค ได้แก่ มาตรการการจัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ

ทั้งนี้ รัฐบาลยังตั้งเป้าในการเพิ่มสัดส่วนเอสเอ็มอีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จี ดีพี)ให้มากกว่าร้อยละ 40 ต่อจีดีพีภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปี โดยปัจจุบัน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถือเป็นกลไกหลักในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยปัจจุบันมีจำนวนจำนวนทั้งสิ้น 2,652,854 ราย จำแนกเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 2,646,549 ราย จำแนกเป็นวิสาหกิจขนาดย่อม จำนวน 2,634,840 ราย วิสาหกิจขนาดกลางจำนวน11,709 ราย และเป็นวิสาหกิจขนาดใหญ่ จำนวน 6,253 ราย โดยเอสเอ็มอีมีสัดส่วนถึงร้อยละ 99.76 ของวิสาหกิจทั้งหมด

(แนวหน้า, 21-3-2556)

ร้องแรงงานหยุดหนุน ‘เพื่อไทย’ หลังปัดตก กม.ประกันสังคมของภาคประชาชน 

(21 มี.ค.56) น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ฉบับภาคประชาชน เผยว่า รู้สึกผิดหวังและเสียใจที่สภาผู้แทนราษฎรปฏิเสธร่างกฎหมายของประชาชนซึ่งใช้ เวลาดำเนินการถึง 3 ปี และคิดว่ามติครั้งนี้เป็นมติประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลที่นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยไม่ได้ลงคะแนนให้แม้แต่คะแนนเดียว

การแสดงความเห็นดังกล่าว สืบเนื่องจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 21 มี.ค.56 ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... จำนวน 4 ฉบับ ต่อจากเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย ฉบับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฉบับของนายเรวัต อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ ฉบับของ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,264 คน และฉบับของนายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รับหลักการในวาระที่หนึ่งจำนวน 2 ฉบับคือ ฉบับของ ครม.และฉบับของนายเรวัต ทั้งนี้ ที่ประชุมสภาฯ มีมติไม่รับหลักการใน 2 ฉบับคือ ฉบับของนายนคร และฉบับของภาคประชาชน

“ไม่น่าเชื่อเลยนะ ว่าจะปฏิเสธชั้นการพิจารณาในสภาฯ แล้วถามว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญให้ช่องทางไว้แบบนี้ แต่สภาผู้แทนราษฎรที่มีเสียงส่วนใหญ่ปฏิเสธกฎหมายภาคประชาชน ไม่เคารพสิทธิภาคประชาชนแม้แต่สิทธิขั้นพื้นฐาน แล้วเราจะไปพึ่งใครได้ เพราะรัฐบาลยังปฏิเสธ” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาแม้เนื้อหาร่างกฎหมายฉบับประชาชนฉบับอื่นๆ จะแตกต่างจากรัฐบาล ก็ยังมีการรับหลักการและนำไปถกเถียงกันในชั้นกรรมาธิการฯ แต่ทำไมรัฐบาลเพื่อไทยกลับปฏิเสธร่างกฎหมายฉบับของประชาชน ทั้งที่ที่ผ่านมารัฐบาลประกาศนโยบายที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมและลดความ เหลื่อมล้ำ ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลและสภาฯ ชุดนี้ไม่ยอมรับสิทธิและกฎหมายของภาคประชาชน และไม่มีความจริงใจต่อการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน

อีกทั้งยังเชื่อว่ารัฐบาลไม่ต้องการให้มีการตรวจสอบการบริหารจัดการกอง ทุนประกันสังคมที่มีปัญหาการทุจริต ให้เกิดการปฏิรูปหรือจัดให้มีการดำเนินงานอย่างโปร่งใส และต้องการหมกปัญหาไว้ต่อไป

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนประกันสังคมมีปัญหามากมาย เช่น การใช้งบประมาณไปกับการดูงานต่างประเทศและเพื่อการประชาสัมพันธ์จำนวนมาก อีกทั้งยังมีข้อสงสัยต่อการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุน และกรณีปัญหาโครงการจัดซื้อคอมพิวเตอร์หลายพันล้านบาท ขณะที่คณะกรรมการประกันสังคมยังคงเป็นชุดเดิม จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปตามกฎหมายเพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วม ปรับโครงสร้างของสำนักงานประกันสังคม

พร้อมเรียกร้องไปยังผู้ใช้แรงงานและผู้ประกันตนทั้งประเทศกว่า 9 ล้านคนว่า การพิจารณาผู้สมัครรับเลือกตั้งในคราวต่อไปไม่ว่าในส่วนท้องถิ่นหรือระดับ ประเทศ ให้เลือกบุคคลที่มีความรู้มาทำหน้าที่แทนประชาชน ไม่เลือกผู้แทนที่ไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายของผู้ใช้แรงงาน ปฏิเสธกฎหมายของภาคประชาชน และพิจารณาว่าพรรคเพื่อไทยสมควรได้มาเป็นผู้แทนของผู้ใช้แรงงานอีกหรือไม่

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวขอประณามการกระทำของพรรคเพื่อไทย และขอปฏิเสธจะไม่ร่วมเป็น กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายในส่วนภาคประชาชนตามที่มีการเสนอชื่อ เพราะร่างที่ผ่านไม่ตรงกับความมุ่งหมายที่ต้องการให้สำนักงานประกันสังคม เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส และตรวจสอบได้ อีกทั้งการที่มีตนเองเข้าไปเพียง 1 คนไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ แต่จะกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล

ทั้งนี้ ประชุมสภาฯ ได้ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ... ในวาระที่ 2 โดยนำร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 มาพิจารณาเนื้อหาและนำเสนอในวาระที่ 3 ต่อสภาฯ ซึ่ง กมธ.วิสามัญฯ มีทั้งหมด 31 คน ประกอบด้วยตัวแทนกระทรวงแรงงาน 5 คน พรรคเพื่อไทย 13 คน พรรคประชาธิปัตย์ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคชาติพัฒนาและพรรคพลังชล รวมกัน 1 คน และภาคประชาชน 1 คน ซึ่งนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีการเสนอ น.ส.วิไลวรรณ เป็น กมธ.วิสามัญฯ ในส่วนนี้ด้วย

สำหรับการเคลื่อนไหวต่อไป น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนและแรงงานกลุ่มต่างๆ ได้มีการนัดหมายกันในวันที่ 26 มี.ค.นี้ ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเพื่อร่วมพูดคุยกำหนดท่าทีและแนวทางต่อกรณีที่เกิด ขึ้นนี้ จากนั้นจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน นอกจากนั้นเธอยังได้เรียกร้องให้เครือข่ายประชาชนออกมาร่วมแถลงข่าวต่อ สถานการณ์ที่ไม่ควรนิ่งดูดายกับการเมืองที่ไม่ยอมรับสิทธิขั้นพื้นฐานของ ประชาชน

“ถ้ากลไกรัฐสภาปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานในการเสนอกฎหมายของภาคประชาชน นั่นหมายถึงว่า มันไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยนะ มันกลายเป็นระบอบเผด็จการของคนเสียงข้างมาก ในการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานอย่างสิ้นเชิง” น.ส.วิไลวรรณ กล่าว

ส่วนความแตกต่างของร่างกฎหมายดังกล่าว น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาลและฉบับของนายเรวัต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน ขณะที่ ร่างพ.ร.บ.ฉบับประชาชนนั้นต้องการขยายความคุ้มครองไปยังทุกภาคส่วน ทั้งลูกจ้างชั่วคราวในส่วนราชการ ลูกจ้างทำงานบ้าน และผู้รับงานไปทำที่บ้าน และให้มีคณะกรรมการประกันสังคมที่บริหารงานได้อย่างอิสระ ภายใต้กระทรวงแรงงานในการกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี

ให้คณะกรรมการประกันสังคมโดยเฉพาะเลขาและประธานนั้นเป็นบุคคลที่มีความ รู้ความสามารถที่มาจากการสรรหา ส่วนคณะกรรมการฯ ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างจะต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกกองทุนประกัน สังคม ส่วนคณะกรรมการการลงทุนและคณะกรรมการตรวจสอบควรต้องมาจากการสรรหา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโดยตำแหน่งจากกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังคงเดิม

และมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม โดยขยายช่วงเวลาการสงเคราะห์บุตรจาก 6 ปี เป็น 20 ปี แรงงานที่เข้าเป็นผู้ประกันตนตั้งแต่วันแรกหากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับ การรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลและสถานพยาบาลที่เป็นเครือข่ายประกันสังคม โดยไม่ต้องจ่ายเงินสำรองไปก่อน และสามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกโรคเช่นเดียวกับบัตรทอง รวมไปถึงการปรับอัตราคำนวณสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนทุกกรณีในลักษณะขั้น บันได โดยอิงตามระยะเวลาการส่งเงินสมทบ

อีกทั้งให้มีการเปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการ การลงทุนของกองทุนประกันสังคม เพื่อให้ตัวแทนของผู้ประกันตนได้มีสิทธิรับรู้

(ประชาไท, 21-3-2556)

แรงงานย้ายงาน 20% หลังจากนายจ้างสั่งงานเพิ่ม เพื่อให้คุ้มค่าจ้าง 300 บาท 

นายประพันธ์ ชัยกิจอุราใจ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ วิทยาลัยบัณฑิตศักษาด้านการจัดการ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยถึงผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 55/56 ว่า ขณะนี้มีอัตราการย้ายเข้าและการย้ายออกของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยที่ 20.33% ของปริมาณแรงงานทั้งหมด เนื่องจากผลกระทบจากนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาทศของรัฐบาล ส่งผลให้นายจ้างจำนวนมาก ต้องเร่งรัดการเพิ่มศักยภาพให้พนักงานทำงานคุ้มค่ากับค่าจ้างที่ปรับเพิ่ม ส่งผลให้เกิดการย้ายออก รวมถึงแรงงานต้องการย้ายไปทำงานที่มีผลตอบแทนหรือสวัสดิการที่ดีกว่า และมีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างาน เป็นต้น

"หลังจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทไป ทำให้ผู้จำเป็นต้องปรับฐานเงินเดือนให้แรงงานที่มีวุฒิการศึกษาระดับปวช.จาก ปีก่อนถึง 28.94% ปรับเพิ่มระดับปวส.  ปรับเพิ่ม 21.41% เพื่อให้ค่าจ้างของแรงงานทั้งสองกลุ่มห่างจากค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้นายจ้างงานต้องป้อนงานให้พนักงานเพิ่ม ส่วนแรงงานที่มีวุฒิปริญญาตรี ปรับเพิ่มเพียง 4.55% ซึ่งถือว่าน้อยมาก เพราะที่ผ่านมา มีค่าจ้างห่างจากวุฒิปวช. และ ปวส. อยู่แล้ว"

นายประพันธ์ กล่าวว่า ค่าจ้างในปี 55-56 โดยรวมสำหรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์พบว่า ผู้ที่จบวุฒิการศึกษาระดับ ปวช. ได้รับเฉลี่ยที่ 8,934 บาทต่อเดือน โดยสาขาคหกรรมศาสตร์ ได้รับสูงสุดเฉลี่ยที่ 9,372 บาท เนื่องจากธุรกิจบริการอยู่ในช่วงขาขึ้น สาขาบริหารธุรกิจได้รับต่ำสุดเฉลี่ย 8,938 บาท, วุฒิปวส. ได้รับเฉลี่ย 9,718 บาทต่อเดือน โดยสาขาออกแบบและสถาปัตย์ ได้รับมากสุด 10,220 บาท สาขาบริหารธุรกิจ น้อยสุด 9,676 บาท, วุฒิปริญญาตรี ได้รับเฉลี่ยที่ 12,863 บาท โดยสาขาวิศวกรรมศาสตร์ สูงสุด 15,588 บาท  สาขาเกษตรศาสตร์ได้น้อยสุด 11,867 บาท

"หากพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมพบว่า ระดับการศึกษาปวช. นั้นกลุ่มพลังงานจ่ายเฉลี่ยสูงสุด 10,242 บาท กลุ่มปูนซิเมนต์ จ่ายต่ำสุด 8,300 บาท, วุฒิปวส. กลุ่มเครื่องจักรกลและโลหะการ จ่ายสูงสุด 10,778 บาท กลุ่มเฟอร์นิเจอร์จ่ายน้อยสุด 9,189 บาท, วุฒิปริญญาตรี พบกว่ากลุ่มแก้วและกระจก จ่ายสูงสุด 15,708 บาท กลุ่มอัญมณี จ่ายต่ำสุด 11,013 บาท"

นอกจากนี้ หากพิจารณาการจ่ายค่าจ้างเปรียบเทียบระหว่างนายจ้างที่เป็นต่างชาติกับนาย จ้างที่เป็นคนไทยพบว่า วุฒิปวช. ได้รับค่าจ้างจากต่างชาติเฉลี่ย 9,252 บาท นายจ้างคนไทยจ่าย 8,833 บาท, วุฒิปวส. นายจ้างต่างชาติจ่าย 10,070 บาท นายจ้างคนไทยจ่าย 9,570 บาท และวุฒิปริญญาตรีนายจ้างต่างชาติจ่าย 14,268 บาท และนายจ้างคนไทยจ่าย 12,567 บาท ส่วนค่าจ้างของผู้บริหารระดับสูงพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่จ่ายค่าจ้างสูงสุด เป็นกลุ่มเคมี เฉลี่ยที่ 182,210 บาท กลุ่มที่จ่ายน้อยสุดคือกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ 24,597 บาท.

(เดลินิวส์, 22-3-2556)

ดึงแรงงานนอกระบบออมเพิ่ม-เล็งยกเลิกกอช. คลังจ่อแก้กม.ดูดเงินประกันสังคม 

23 มี.ค. 56 - นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้ไขกฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยการแก้กฎหมายครั้งนี้จะไม่ทำให้สมาชิก กบข. ที่ตัดสินใจออกจากบำเหน็จ บำนาญ แล้วมาอยู่กบข.ได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าระบบเดิม แต่รายละเอียดต้องรอให้ครม.พิจารณา และต้องเสนอให้สภาพิจารณาเห็นชอบต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีการแก้กฎหมาย กบข. ในส่วนของเงินที่รัฐบาลต้องสมทบ 20% ของเงินที่สมาชิกจ่าย เพื่อเข้ากองทุนการจ่ายบำนาญข้าราชการ กบข. ให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะเห็นว่ามีสัดส่วนน้อยเกินไป ทำให้ในอนาคตจะไม่พอจ่ายให้กับข้าราชการที่เกษียณอายุ ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นพบว่าในปี 2578 มีภาระต้องจ่ายให้กับสมาชิกที่เกษียณอายุถึง 7-8 แสนล้านบาท ดังนั้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 จะมีการจ่ายเงินสมทบมากกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท และจะจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปีเพื่อให้มั่นใจได้ว่าในอนาคตจะมีเงินเพียงพอที่จะ จ่ายเงินบำนาญให้กับสมาชิก กบข. ได้อย่างไม่มีปัญหา

ส่วนเรื่องกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่กฎหมายมีผลบังคับแล้ว และต้องดำเนินงานตั้งแต่กลางปี 2555 ที่ผ่านมานั้น แต่รัฐบาลชุดนี้เห็นว่าการทำงานของกอช.ซ้ำซ้อนกับกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ของกระทรวงแรงงาน จึงไม่เดินหน้ากอช.ต่อ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลังเหมือนกบข. ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคม มาตรา 40 เปิดทางเลือกให้แรงงานอิสระสามารถเข้าระบบประกันสังคมได้ 2 แนวทาง คือ 1.จ่ายเงิน 100 บาท โดยรัฐจ่ายให้ 30 บาท เพื่อดูแลกรณีที่เจ็บป่วย และ 2.จ่ายเงิน 150 บาท โดยรัฐจ่ายให้ 50 บาท แบ่งเป็นกรณีเจ็บป่วย 30 บาท และช่วยเงินออมเพื่อการเกษียณอายุ 20 บาท แต่พบว่าแรงงานนอกระบบที่เข้ามาเป็นสมาชิกทั้ง 2 แนวทางแค่ 1.7 ล้านคน ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับแรงงานนอกระบบ 30 ล้านคน

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า กระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานได้หารือร่วมกันและได้ข้อสรุปว่าจะเสนอ ครม.ภายในเดือนเม.ย.นี้ เพื่อแก้กฎหมายกองทุนประกันสังคม เพิ่มทางเลือกที่ 3 ให้แรงงานนอกระบบได้เลือก โดยรัฐจะช่วยจ่ายเงินเพื่อการออมมากขึ้น ตรงนี้น่าจะส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาใช้ในระบบนี้เพิ่มขึ้น โดยมีลักษณะคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นายจ้างจ่ายสมทบไม่น้อยกว่าเงิน ที่ลูกจ้างจ่าย ส่วนจะเสนอให้ยกเลิกกอช.หรือไม่นั้นคงต้องพิจารณาอีกครั้งเพราะกฎหมายกว่าจะ ผ่านสภาไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

(ข่าวสด, 23-3-2556)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น