วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2556

แก้ไฟใต้....'ปาหี่ระดับชาติ' เมื่อ 1 มี.ค.56



แก้ไฟใต้....'ปาหี่ระดับชาติ'
 
1 ปีครึ่งของรัฐบาลชุดปัจจุบัน นอกจากสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ดีขึ้นแล้ว

 ยังดูเหมือนว่าจะแย่ลง หลายคนมองว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่จริงใจในการแก้ปัญหาเท่าที่ควร บังคับขืนใจให้คนที่ไม่เต็มใจไปดูแลปัญหา อย่างไรก็ดีเราเชื่อว่าทุกรัฐบาลรวมทั้งรัฐบาลชุดนี้ต้องการแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์ดีขึ้น ล่าสุดเราเห็นความพยายามของทีมงานนายกรัฐมนตรีที่ได้วางแผนจัดการแก้ไขปัญหาโดยมีนัยสำคัญ แต่ดูเหมือนว่าเป็นการ “จัดฉาก” 3 ฉากที่สอดคล้อง คือ
ฉากที่หนึ่ง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงได้รับคำสั่งให้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งแกนนำจากกลุ่มวาดะห์ 10 คน ที่ทีมงานไปทาบทามกันมาให้เป็นที่ปรึกษา โดยหวังว่ากลุ่มวาดะห์จะมาช่วยแบ่งเบาภาระไปได้บ้าง โดยมีผลประโยชน์สอดคล้องกันที่กลุ่มวาดะห์ก็ต้องการมีตำแหน่งทางการเมือง
ฉากที่สอง จัดส่งเทปคำสัมภาษณ์ของ กัสตูรี มะห์โกตา ซึ่งอ้างว่าเป็นประธานกลุ่ม “พูโล” ให้สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 มาออกอากาศ ทำนองว่าเขาพร้อมจะเจรจากับรัฐบาลไทย ซึ่ง กัสตูรี คนนี้ก็คือ “คนหน้าเดิม” ที่เล่นบทเดิมๆ และเป็นที่รู้จักกันดีในวงการข่าว เพื่อปูทางเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปประชุมกับมาเลเซียและมีข้อตกลงกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนในมาเลเซีย
ฉากที่สาม ซึ่งเป็นฉากสำคัญ สองฉากแรกจัดมาเพื่อนำไปสู่ฉากที่สาม ซึ่งเป็นการเดินทางไปมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีในวันที่ 28 ก.พ. เพื่อประชุมประจำปี ไฮไลต์ของฉากนี้คือ จะมีการลงนาม “ข้อตกลงทางการเมือง” ระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ อาแว ยะบะ เลขานุการของ ฮาซัน ตอยิบ รองเลขาธิการกลุ่ม “บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต” มีการอ้างว่า การตกลงครั้งนี้จะทำให้ “คนร้าย” สูญเสีย “แนวร่วม” คำถามคือ จริงหรือ ในเมื่อกลุ่มตัวจริงที่ปฏิบัติการโหดอยู่ในขณะนี้ไม่เคยถือว่าพวกนี้เป็นแนวร่วม
เรื่องแบบนี้ทำให้นึกย้อนไปถึงเมื่อหลายปีก่อน เมื่อ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีต ผบ.ทบ. ซึ่งออกข่าวใหญ่โตผ่านโทรทัศน์ช่อง 5 นำ มะรีเป็ง คาน หรือ ฮาซัน ตอลิป กับพวกรวม 3 คน มาอ่านแถลงการณ์ว่าเป็นตัวแทนของขบวนการแบ่งแยกดินแดนประกาศยุติการสู้รบโดยปราศจากเงื่อนไข เพียงสองสามวันผ่านไป สังคมก็จับโกหกได้ว่าเป็นรายการต้มคนดู ในเมื่อแกนนำยอมรับว่าไม่สามารถพูดคุยกับกลุ่มที่ก่อความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เพราะคนละรุ่นกัน สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป
เรื่อง “ปาหี่” แบบนี้คนที่อยู่ในวงการความมั่นคงรู้กันดี เพราะมีทั้งคนไทยและฝรั่งหลอกต้มกันมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่เข็ดกันสักที เพราะยังมีคนที่อยากเป็น “ฮีโร่” อยู่ตลอดเวลา
สำหรับครั้งนี้ การที่ผู้นำรัฐบาลทั้งสองเป็นสักขีพยานในการลงนามข้อตกลงทางการเมืองจึงมีน้ำหนักมาก แต่เมื่อดูชื่อบุคคลที่ลงนามของขบวนการ บีอาร์เอ็น แล้ว ยังเป็นที่น่าสงสัยว่าใครจะหลอกใคร
การเปิดทางพบปะพูดคุยเป็นเรื่องที่ดี แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าพูดคุยกับ “ใคร เรื่องอะไร ที่ไหน เมื่อใด อย่างไร” ครั้งนี้ตัวแทนรัฐบาลได้คุยกับ ฮาซัน ตอยิบ ซึ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อเหตุรุนแรงอยู่ในขณะนี้ เรื่องที่คุยคงเป็นการลดความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สถานที่คือ มาเลเซีย ใช้ช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีเยือนมาเลเซียลงนามผลการแอบพบปะพูดคุยมาก่อน เพื่อสร้างเครดิตให้กับนายกรัฐมนตรีในการเยือนครั้งนี้
ทำไมต้องไปทำที่มาเลเซีย คงจำกันได้ว่าเมื่อปีที่ผ่านมา “ผู้มีอิทธิพลเหนือรัฐบาล” ต้องการช่วยน้องสาว ถึงกับบินไปติดต่อกับผู้นำมาเลเซียขอให้จัดแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่หลบซ่อนตัวอยู่ในมาเลเซียมาพูดจากัน และส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไว้ใจได้เดินทางไปพบปะพูดคุยด้วย เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า รัฐบาลมาเลเซียตั้งแต่สมัย มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ผลักดันให้ไทยเจรจากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนตลอดมา ถึงกับเคยจัดให้มีการเจรจากับ “ขบวนการเบอร์ซาตู” ที่มาเลเซียจัดตั้งขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะหัวหน้าขบวนการรับสารภาพว่า ไม่สามารถติดต่อพูดจาให้พวกอาร์เคเคหยุดก่อเหตุร้ายได้ พอมาถึงรัฐบาล นาจิบ ราซัค ก็ทำเรื่องนี้ต่ออย่างแข็งขัน
รัฐบาลไทยมองว่า หากมาเลเซียซึ่งมีเขตแดนติดต่อกัน ไม่สนับสนุน หรือไม่หลับตาข้างเดียว กลุ่มก่อเหตุร้ายก็เคลื่อนไหวลำบาก ในขณะที่มาเลเซียมองว่า มาเลเซียจะช่วย โดยเสนอให้รัฐบาลไทยเจรจากับกลุ่มก่อการร้าย มีหน่วยงานมาเลเซียที่มีบทบาทและผลักดันหลายปีมาแล้วให้ไทยเจรจากับตัวแทนขบวนการแบ่งแยกดินแดน คือ “สำนักงานวิจัย” หรือ “องค์การข่าวกรองต่างประเทศมาเลเซีย” ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ที่พยายามโน้มน้าวให้|ฝ่ายไทยมีหนังสือจากนายกรัฐมนตรีไทยไปถึงนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ขอให้มาเลเซียเป็น “คนกลาง” เพื่อมาเลเซียจะได้อ้างความชอบธรรมว่าไม่ได้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของไทย ดังที่เขาได้ช่วยรัฐบาลอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ทำสำเร็จมาแล้ว
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็น “คนกลาง” หรือเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” เป็นที่รู้กันในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ว่า หน่วยงานนี้แทนที่จะทำตัวเป็น “กลาง” กลับเข้าข้างกลุ่มกบฏอาเจะห์และมุสลิมโมโรมาโดยตลอด
ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาในเชิง “การเมือง” เพื่อสร้างภาพมากกว่า หากรัฐบาลไม่สามารถคุยกับ “ตัวจริง” ได้ สถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คงไม่ดีขึ้น การพูดคุยกับ “ตัวปลอม” นั้น จะทำเมื่อไรก็ได้ จะเอากี่คนก็ได้ วิธีการแอบงุบงิบทำกันสองสามคนนี้เคยสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติมาแล้ว ทีมงานของรัฐบาลชุดนี้มีลูกเล่นมากมาย เพราะฉะนั้นคนไทยต้องรู้ทัน
ขอบคุณข่าวจาก posttoday.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น