วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ทางสองแพร่ง-ทางเลือก “วิกฤติทางออก-ออกจากวิกฤติ” เมื่อ 22 ธ.ค.56



ทางสองแพร่ง-ทางเลือก

“วิกฤติทางออก-ออกจากวิกฤติ”


2 ก.พ.2557 ถูกกำหนดให้เป็น “วันเลือกตั้ง”
“วันเลือกตั้ง” ที่ว่านี้
ถูกกำหนดขึ้น หลังจากที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ตัดสินใจ “ยุบสภา”
เพื่อหา “ทางออก” จาก “วิกฤติ” ที่โถมทับเข้าสู่ “รัฐนาวา” ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”
หลังการรวมตัวของ “มวลมหาประชาชน” จำนวนมหาศาลทั่วประเทศ
ที่พร้อมใจกันลุกขึ้นปฏิเสธ “รัฐ” และกลไก “อำนาจรัฐ”
พร้อมกับกดดันให้ “รัฐนาวา” ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”
ต้องยุติบทบาท ทั้ง “อำนาจ” และ “หน้าที่”
โดยเสนอให้มี “สภาประชาชน” และ “รัฐบาลประชาชน”
มาทำหน้าที่ในการ “ปฏิรูปประเทศ”
มาทำหน้าที่ในการ “ปฏิรูปการเมือง”
เพื่อ “จัดระเบียบ” และปรับเปลี่ยน “กฎ-กติกา-มารยาท” ในเชิง “โครงสร้างอำนาจ” ทั้งระบบ
ให้เสร็จสิ้นกระบวนความ
ก่อนที่จะให้มี “การเลือกตั้ง” ครั้งใหม่
ภายใต้ “กฎ-กติกา-มารยาท” ที่จะถูกออกแบบใหม่
นี่จึงนำมาสู่ข้อเรียกร้อง ที่ให้มีการ “ปฏิรูปฯ” ก่อนที่จะมี “การเลือกตั้ง”
ไม่ใช่มี “การเลือกตั้ง” แล้วเสร็จเรียบร้อย
จึงค่อยกระทำการ “ปฏิรูปฯ”
โดย “เงื่อนไข” สำคัญที่ว่า “รัฐ” และกลไก “อำนาจรัฐ”
ต้องพ้นไปจากการยึดกุม “สถานะ” ในการ “รักษาการ” เพราะสิ้นแล้วซึ่ง “ความชอบธรรม”
ในการบริหารจัดการ ทั้งหลายทั้งปวง
เพื่อให้กระบวนการทั้งหมดสามารถดำเนินไป
ทว่า! ที่ “รัฐ” และกลไก “อำนาจรัฐ” หลังการ “ยุบสภา” ดำเนินการก็คือ การยืนยันท่าทีของการรักษา “สถานะรักษาการ”
และที่มากไปกว่านั้น ก็คือ การยืนยันกำหนด “วันเลือกตั้ง”
ตามที่กำหนดไว้ ในวันที่ 2 ก.พ.2557
พร้อมๆ กับกำหนดการต่างๆ ที่ถูกกำหนดไว้แล้วก่อนหน้านี้
เช่นว่า กำหนด “วันรับสมัคร” สำหรับ “ส.ส.บัญชีรายชื่อ”
ในวันที่ 23-27 ธ.ค.2556 ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น. ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง กทม.
เช่นว่า กำหนด “วันรับสมัคร” สำหรับ “ส.ส.เขต”
ที่ให้ยื่นต่อ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ในวันที่ 28 ธ.ค.2556-1 ม.ค.2557 ระหว่างเวลา 08.30-16.30 น.
ในสถานที่ ที่ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งนั้นประกาศ
เช่นว่า การกำหนด “วันลงคะแนน” สำหรับ “การเลือกตั้งล่วงหน้า”
ในวันที่ 26 ม.ค.2557 ระหว่างเวลา 08.00-15.00 น.
กำหนดการเช่นว่านี้ ถูกยืนยันจาก “รัฐ” และกลไก “อำนาจรัฐ” ในสถานะของ “รัฐนาวา” ที่ยืนยันทำหน้าที่ “รักษาการ”
ทั้งไม่ยินยอมพ้นไปจาก “สถานะ” ของการ “รักษาการ”
ทั้งไม่ยินยอมให้มีการ “เลื่อนการเลือกตั้ง”
ทั้งๆ ที่อาจเล็งเห็นได้ว่า สภาพการณ์ที่จะเดินไปสู่ปลายทางของ “การเลือกตั้ง” นั้น อาจเป็นไปได้ยาก ที่จะบรรลุผลโดยราบรื่น
และอาจเป็นไปได้ด้วยซ้ำว่า อาจจะนำไปสู่เหตุ ที่อาจลุกลามบานปลาย
กระทั่งไม่อาจจะควบคุมได้
ความจริงก็คือ นี่เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเล็งเห็น
และหลายฝ่ายก็พยายามหา “ทางออก” จาก “วิกฤติ” ที่อาจกำลังรออยู่ข้างหน้า
นี่เช่นเดียวกับ “ท่าที” ของ “กกต.” ซึ่งอยู่ในสถานะของการกำกับและดูแล “การเลือกตั้ง”
ดังจะเห็นได้จาก “มติ” ของ “กกต.” เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2556
1.การจัดการเลือกตั้งในสถานการณ์ปัจจุบันให้มีความเรียบร้อยเป็นไปได้ยาก
2.ฝ่ายต่างๆ ยังมีโอกาสได้พูดคุยกัน เพื่อให้การเลือกตั้งไม่มีปัญหา
3.อย่าเอาเงื่อนไขเรื่องวันเลือกตั้ง ในวันที่ 2 ก.พ.2557 เป็นข้อจำกัด ซึ่งอาจมีกลไกที่ทำให้เกิดคนกลางมาพูดคุย เพื่อให้มีการเลือกตั้งต่อไป หรือจะไม่เลือกตั้งในวันที่กำหนดก็เป็นไปได้
4.ถ้าไม่สามารถคุยกันได้ หรือจะยืนยันให้จัดการเลือกตั้งตามเดิม ทาง กกต.ก็พร้อม
กระนั้น “กกต.” ก็เห็นว่า มี “ช่องทาง” ในทาง “กฎหมาย” ที่จะสั่ง “เลื่อนการเลือกตั้ง” ได้ ถ้า “ฝ่ายการเมือง” เห็นตรงกันว่า วันที่กำหนดแต่เดิมไม่เหมาะสม
นี่เป็น “ช่องทาง” ในระหว่าง “รายทาง” เพื่อเดินไปสู่ “เป้าหมาย”
ปัญหาก็มีเพียงว่า เราจะเลือกหา “ทางออก” จาก “วิกฤติ” โดยมองว่า ทุกๆ “ทางออก” มี “ปัญหา” หรือจะมองว่า ทุกๆ “ปัญหา” (ควรต้อง)มี “ทางออก”
และปัญหาที่ว่านี้ ก็ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะต้องเป็นผู้ตอบ
หากแต่ปัญหาที่ว่านี้ ทุกๆ คน และทุกๆ ฝ่าย จำเป็นต้องร่วมกันตอบ
โดยเฉพาะถ้าเราและสังคมไทย ต้องการออกไปให้พ้นจาก “วิกฤติ” ได้จริงๆ!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น