วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

"ดันทุรัง" เลือกตั้ง-ด้านปฏิรูปตาม "ยิ่งลักษณ์" สู่ทางตัน เมื่อ 22 ธ.ค.56

"ดันทุรัง" เลือกตั้ง-ด้านปฏิรูปตาม "ยิ่งลักษณ์" สู่ทางตัน


อาจจะเรียกว่าการต่อสู้ในเกมการเมืองครั้งสำคัญระหว่างเครือข่ายล้มระบอบทักษิณที่เกิดขึ้นบนท้องถนน กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรักษาการ รมว.กลาโหม ที่อ้างประชาธิปไตยค้ำยันอำนาจในมือที่ไร้ความชอบธรรมเดินหน้าเลือกตั้ง เป็นเกมที่พิสูจน์ว่า "ใครจะอึดกว่าใคร" 
    กลยุทธ์ของแต่ละฝ่ายที่งัดออกมาต่อสู้กันเป็นระยะๆ ล้วนแล้วแต่เป็นการจับเอาองคาพยพสำคัญในประเทศมาเป็นตัวประกัน ต่อรอง เดินเกม เพื่อไปสู่เป้าหมายได้อย่างน่าตื่นเต้น
    เกมของรัฐบาล นอกจากประกาศเดินหน้าเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยใช้กระบวนการตัดสินใจของประชาชน ที่ฝ่ายตนเองได้อ้างอย่างสมบูรณ์ว่านั่นคือประชาธิปไตยแล้ว เหมือนเป็นการ "สู้" เพื่อเรียกแนวร่วมจากกลุ่มที่บูชาประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง - รัฐธรรมนูญนิยม - เสรีประชาธิปไตย ในแบบที่ประเทศมหาอำนาจหยิบจับมาใช้เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์เข้าตัวเองในวันข้างหน้า
    ยังเดินสายหาแนวร่วมจากกองทัพ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการเดินหน้าการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 
    เริ่มจากการใช้เวทีก่อนการประชุมสภากลาโหม ที่เหล่าบรรดา "ขุนทหาร" ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ มาประชุมเปิดห้องถกวงเล็กก่อนที่จะประชุมสภากลาโหมนัดสุดท้าย พร้อมขนทีมงานคนสำคัญ ไล่ตั้งแต่ ธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อำพน กิตติอำพล เลขาธิการ ครม. สุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้แจงขั้นตอนการเลือกตั้ง 
    ที่สำคัญคือ การยืนยันว่ากฎหมายไม่เปิดช่องในการเลื่อนการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ได้ตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศออกมาแล้ว 
    จากนั้นยังเดินสายไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนหน้านั้นได้เคยพูดถึงข้อห่วงใย ปัญหา อุปสรรค ที่จะเกิดขึ้นหากรัฐบาลจะยังยืนกระต่ายขาเดียวที่จะจัดการเลือกตั้งตามกำหนดการเดิมต่อไป 
    แม้หลังจากนั้น สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้งด้านบริหารและจัดการเลือกตั้ง จะออกมาเปิดเผยว่า ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การเลือกตั้งต้องดำเนินการต่อไป คณะกรรมการการเลือกตั้งจะจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ไม่มีเสียงแตก พร้อมดำเนินการตามปฏิทินตามขั้นตอนทั้งหมด และไม่ได้เสนอเป็นคนกลางในการพูดคุยทั้ง 2 ฝ่าย
    "เราแค่เสนอไปว่าวันนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งพร้อมจัดการเลือกตั้ง แต่วันนี้คนไม่พร้อมคือประชาชน เรารู้สึกว่าบรรยากาศหรืออารมณ์ประชาชนไม่พร้อมที่จะให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ซึ่งไม่ได้เก็บในใจ แต่ได้สะท้อนออกมา ดังนั้นฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายที่มีบทบาทจัดการให้เกิดความสงบต้องคำนึงถึงและทำให้เกิดความเรียบร้อย"  
    มิพักยังมีเสียงคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เล็ดลอดออกมา โดยประเมินสถานการณ์ในวันข้างหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่นอกจากวันสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งอาจเกิดความวุ่นวาย
    เช่น อาจจะมีการไปปิดล้อมสถานที่รับสมัครของกลุ่มมวลชนแล้ว ในวันเลือกตั้งถ้าฉีกบัตรเลือกตั้งจำนวนมากจะทำอย่างไร โดยมีการยกตัวอย่างว่า หากมีการฉีกบัตรเลือกตั้ง 5,000 ใบ ตำรวจจะจับหรือไม่ ถ้าจับก็จะเกิดเป็นจลาจลทันที หรือถ้าไม่จับ ตอนบ่ายก็จะมีการฉีกเป็น 5 แสนใบ เพราะจะมีการเผยแพร่ระบาดกันในโซเชียลมีเดีย ตรงนี้ตำรวจเตรียมรับมืออย่างไร แล้วถ้าที่สุด กกต.ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้สัก 50 เขต เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ จะแก้ไขอย่างไร    
    เลยไปถึงกรณีที่อาจจะเริ่มเกิด "เดดล็อก" หรือ "สุญญากาศ" ในวันเริ่มรับสมัครเลยทีเดียว!!
     "หากถึงวันเปิดรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว พรรคการเมืองไม่สามารถสมัครได้แม้แต่พรรคเดียว ในช่วงระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดรับสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น ก็จะส่งผลให้ไม่สามารถเปิดรับสมัครแบบเขตเลือกตั้งได้ ดังนั้นช่วงวันเปิดรับสมัครนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องเตรียมการเปิดรับสมัครให้ดีที่สุด เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หากทำไม่ดีจะมีบางพรรคการเมืองฟ้องร้องได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจตกม้าตายเหมือนชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ก็ได้ ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนสถานที่รับสมัคร ก็ต้องประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพราะระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุไว้เช่นนั้น จะเปลี่ยนสถานที่ไปใช้ที่สำรองโดยไม่ประกาศ คณะกรรมการการเลือกตั้งก็จะมีความผิด...
    ...ดังนั้นในช่วงการส่งสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อจึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญว่าจะมีการขัดขวางให้เกิดเดดล็อก หรือสุญญากาศหรือไม่ และจะส่งผลให้รัฐบาลต้องกลับไปดำเนินการขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ และ ในวันรับสมัคร คณะกรรมการการเลือกตั้งจะเปลี่ยนสถานที่โดยประกาศก่อนไม่ได้" แหล่งข่าวจากคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุ (เดลินิวส์ : 21 ธ.ค.56)
    แม้จะมีความห่วงใยจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เห็นถึงสถานการณ์ข้างหน้าว่า การจัดการเลือกตั้งคงเดินไปสุดทางได้ยาก แต่รัฐบาลก็มิได้แยแสหรือตระหนักในความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นแม้แต่น้อย แถมยังเดินหน้าเข้าสู่โจทย์เดิมตามโรดแม็พที่ได้วางไว้ 
    โดยใช้วิธีโยนเหยื่อเป็นข้อเสนอให้ "คนชั้นกลาง-นักวิชาการ" ที่กำลังชั่งใจว่าจะเดินเข้าสู่การชุมนุมใหญ่วันนี้ สนอง "ความฝัน" ที่รัฐบาลเสนอหรือไม่ 
     ทั้งนี้ แถลงการณ์ของนายกฯ ฉบับล่าสุด ระบุว่า หลังการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้ว สภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นใหม่ จะต้องกำหนดให้การปฏิรูปประเทศเป็นวาระแห่งชาติ โดยแบ่งข้อเสนอออกเป็น 3 ข้อ 
    1.พรรคการเมืองที่ส่งสมาชิกลงรับเลือกตั้งคราวนี้ พร้อมทั้งองค์กรหรือภาคีอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้สัตยาบันว่าหลังจากสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่แล้ว จะมีการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศไทยขึ้นทันที
    2.การจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศไทย จะประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพหรือสถาบันต่างๆ ที่มีกฎหมายรองรับ พรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึงที่ประชุมที่แม้มิได้มีกฎหมายรองรับ แต่มีบทบาทที่สำคัญของประเทศ เช่น ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ที่ประชุมปลัดกระทรวงและหัวหน้าส่วนราชการ หรือองค์กรอื่นๆ ในลักษณะที่เทียบเคียงกันได้ ตลอดจนตัวแทนของกลุ่มวิชาชีพทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ รวมถึงกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตาม
    3.สภาปฏิรูปประเทศไทยสมควรมีวาระการทำงานไม่เกิน 2 ปี และมีหน้าที่สำคัญคือ การจัดทำและเสนอกลไกเพื่อปฏิรูปประเทศไทยในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปการเมืองให้การเมืองในอนาคตสามารถเป็นปากเสียงแทนประชาชนได้อย่างแท้จริง
    เป็นโจทย์เดิมที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้ประกาศมาตั้งแต่แรก หลังจาก "ผู้ชุมนุม" ต้านระบอบทักษิณเริ่มบานเป็นดอกเห็ดทั่วทุกหย่อมหญ้า!!!
    ในขณะเดียวกันก็ใช้วิธีการเตะตัดขา "ย้อนศร" คำสั่ง ศอฉ. เมื่อปี 2553 โดยใช้ดีเอสไอ อายัดทรัพย์แกนนำ กปปส.  พร้อมกับออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาฐานร่วมกันเป็นกบฏ, กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
    แต่นั่นอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์สร้าง "แรงเหวี่ยง" หรือ "เรียกแขก" ให้การเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันนี้ มีจำนวนคนเข้าร่วมมากขึ้นจากเดิม เลยไปถึงปฏิกิริยาของพรรคร่วมรัฐบาลที่รอฟังกระแสอีกครั้ง จากเดิมที่มีกำหนดการแถลงจุดยืนเมื่อวานนี้ รวมถึงการประกาศท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์อย่างหนักแน่นในการไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง สอดรับกับการขานรับของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่าง "สนธิ ลิ้มทองกุล" ที่หนุนมติพรรคประชาธิปัตย์ให้แสดงจุดยืนอย่างเด็ดขาด ตามที่เขาอยากเห็นมานาน 
    การเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งภายใต้การนำของ กปปส. ในการค้านการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.57 รวมถึงการเรียกร้องสภาประชาชนที่ต้องเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง เพื่อล้มระบอบทักษิณไม่ให้เติบโต-ขยายอาณาจักร ทาบทับอำนาจแห่งรัฐที่แท้จริง ด้วยการแสดงพลังของประชาชนที่ออกมาท้องถนนวันนี้ จะเป็นเครื่องชี้วัดสำคัญว่า วันประกาศรับเลือกตั้งวันแรกจะเดินไปได้อย่างที่รัฐบาลพยายาม "ฝืน" หรือไม่ เลยไปถึงการแสดงออกว่า คนชั้นกลางในกรุงเทพฯ - คนเกลียดทักษิณ จะรับสภาปฏิรูปประเทศฉบับ "นายกฯ ปู" หรือไม่ 
    การส่งสัญญาณจากการเคลื่อนตัวของประชาชนในวันนี้จึงสำคัญต่อองคาพยพอื่นๆ ที่รัฐบาลจะใช้เป็นเครื่องมือ - กลไก ในการเดินหน้าตามธงของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง 
    หาก "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ยังประเมิน - ประมวล ภาพที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่ออก และใช้สูตร "ใครอึดกว่าใคร" เป็นตัวตั้ง สิ่งที่ต้องเผชิญในวันข้างหน้า คือความสุ่มเสี่ยงอย่างเป็นที่สุด ในการเดินเข้าสู่ทางตัน และครั้นจะพลิกตัวหาทางหนี ก็คงไม่มีทางให้หนีแล้ว!!!    
                                    ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น