วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

“ธีระชัย” ชี้ปม พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ขัด รธน. เตือนอาจเกิดความเสียหายหนักเกินที่ รบ.จะรับผิดชอบ โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 19 กันยายน 2556 12:27 น

“ธีระชัย” ชี้ปม พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ขัด รธน. เตือนอาจเกิดความเสียหายหนักเกินที่ รบ.จะรับผิดชอบ
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์19 กันยายน 2556 12:27 น

“ธีระชัย” ชี้รัฐเข็น พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ขัดเจตนารมณ์ รธน. ย้ำควรใช้กระบวนการงบประมาณ แนะฝ่ายค้านเสนอวิธีตรวจสอบ เพราะมองว่า พ.ร.บ.นี้ถูกเสียงข้างมากลากผ่านสภาฯ ได้แน่ เตือนความเสี่ยง หากรัฐบาลดันทุรังแล้วเกิดข้อผิดพลาดอาจเกิดความเสียหายสูงมาก
       
       ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง โพสต์ข้อความแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านลานที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร วาระที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ย. ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า ผู้สื่อข่าวสอบถามผมกรณี 2,000,000,000,000 โดยระบุว่า (ก) ผมมีข้อเสนอทางออกที่ดีหรือไม่ และ (ข) หากกฎหมายนี้ไม่ผ่าน ผมกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแก่เศรษฐกิจหรือไม่
       
       - คำตอบสำหรับข้อ (ก)
       
       - กฎหมายนี้ยังไงยังไงก็ผ่านสภาแน่นอนครับ เพราะจำนวนมือของฝั่งรัฐบาลนั้น มากกว่าฝั่งฝ่ายค้านอยู่แล้ว แต่ที่ผมไม่แน่ใจ ก็คือ กฎหมายนี้จะผ่านศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
       
       - ผมอธิบายไว้ในรายการ คม ชัด ลึก ว่า การอ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นไม่สามารถอ่านแบบแปลความเฉพาะตัวอักษรภาษาไทยได้ แต่จำเป็นจะต้องอ้างอิงหลักการเงินการคลังประกอบด้วย
       
       - ทุกประเทศในโลกที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย จะไม่มีประเทศใดที่ยินยอมให้รัฐบาลใช้เงินส่วนรวมแบบตามสบาย ตามอำเภอใจ อยากใช้เงินเมื่อไหร่ก็เขียนเช็คเอาๆ แบบนี้ไม่มีครับ
       
       - แต่ทุกประเทศ รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้มีการกำกับดูแลการใช้เงินส่วนรวมโดยรัฐบาลไว้ทั้งสิ้น ผ่านกระบวนการงบประมาณ
       
       - ซึ่งรัฐธรรมนูญจะมีข้อบังคับ ให้การเสนองบประมาณต่อรัฐสภาต้องโปร่งใส และมีข้อมูลครบถ้วน มีกระบวนการเบิกจ่ายที่รัดกุม และมีกระบวนการตรวจสอบติดตามการใช้เงินโดยรัฐสภา
       
       - ดังนั้น การที่รัฐบาลไปออกกฎหมายเฉพาะที่เปิดให้มีการใช้เงิน โดยหลีกเลี่ยงกระบวนการงบประมาณ จึงผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน
       
       - ถ้ายึดหลักนี้ ผมยังคิดว่ากรณีที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ออกพระราชกำหนดไทยเข้มแข็ง และกรณีที่รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกพระราชกำหนดเรื่องป้องกันน้ำท่วม ทั้งสองกรณี ถึงแม้ได้ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็อาจจะยังมีประเด็นที่ผิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วย
       
       - ทั้งสองกรณีดังกล่าว ผู้ที่ร้องต่อศาล ได้ร้องเฉพาะในประเด็นของความเร่งด่วน และประเด็นที่ศาลตัดสิน ก็เฉพาะในประเด็นว่า ทั้งสองกรณีดังกล่าวเข้าองค์ประกอบที่จะออกเป็นพระราชกำหนดหรือไม่ เฉพาะประเด็นนี้เป็นสำคัญ
       
       - แต่ในอนาคต ถ้ามีผู้ใดร้องต่อศาลว่าทั้งสองกรณีที่ผ่านไปแล้ว ผิดหลักการด้านการเงินการคลังในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผมคิดว่าทั้งสองกรณี ก็น่าจะผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ต่างกันกับพระราชบัญญัติสองล้านล้าน
       
       - กลับมาถึงข้อเสนอทางออก
       
       - ขณะนี้รัฐบาลเรียกร้องฝ่ายค้านให้ยอมผ่านกฎหมายสองล้านล้านไปเถอะ แต่หากต้องการให้มีกระบวนการตรวจสอบที่รัดกุม ก็ให้ฝ่ายค้านเสนอแนวทางต่างๆ และข้อเสนอนี้ สื่อมวลชนบางรายก็ได้พยายามขายไอเดียกันแล้ว
       
       - ผมขอแจ้งว่า กระบวนการตรวจสอบที่ดี และรัดกุมนั้นไม่ต้องไปเสียเวลาเขียนกันใหม่ดอกครับ ไม่ต้องไปตั้งคณะกรรมการอะไร ที่ผิวเผินดูดี แต่ไม่ได้ผล ไม่ต้องไปจัดงานมหกรรมอะไร ที่กดปุ่ม ถ่ายรูปลงหนังสือพิมพ์ ไม่ต้องไปเสียเงินอะไร เพื่อขึ้นคัตเอาต์โฆษณาตามถนน
       
       - แต่กระบวนการตรวจสอบที่ดีที่สุด ที่มีอยู่แล้ว ก็คือ กระบวนการงบประมาณ
       
       - กระบวนการงบประมาณของไทย ได้มีการจัดตั้ง และขัดเกลาให้มีความรัดกุมดีอยู่แล้ว โดยฝีมือของขุนคลังระดับอ๋องในอดีต เช่น คุณบุญมา วงษ์สวรรค์ ดร.เสริม วินิฉัยกุลท ดร.สุธี สิงห์เสน่ห์ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล ฯลฯ
       
       - ดังนั้น การเสนอลงทุนแบบนี้จึงควรจะใช้กรอบงบประมาณ
       
       - แต่ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่สำคัญที่รัฐบาลชี้แจงว่า จำเป็นจะต้องออกเป็นกฎหมายเฉพาะ ก็เพราะโครงการลงทุนใช้เวลานาน หากทำเป็นงบประมาณรายปี และต่อไปเกิดเปลี่ยนรัฐบาล หากมีการยกเลิก หรือไม่ทำต่อก็จะเสียหาย
       
       - ผมขอค้านครับ
       
       - ถ้ารัฐบาลเห็นว่ากฎหมาย และวิธีการงบประมาณที่ใช้อยู่นั้นยังไม่สามารถเอื้ออำนวยต่อการลงทุนโครงการที่ต้องทำต่อเนื่องหลายๆ ปีได้ รัฐบาลก็เร่งแก้กฎหมายงบประมาณสิครับ เพื่อให้สามารถมีการเกี่ยวเชื่อมโยงบางรายการ จากปีที่หนึ่ง ไปปีที่สอง ไปปีที่สาม กี่ปีก็ได้ จนกว่าโครงการจะเสร็จ
       
       - พูดง่ายๆ หากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะให้มีการตรวจสอบ แทนที่จะเสนอกฎหมายสองล้านล้าน ที่มีเอกสารประกอบเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเพียงสองแผ่น (ย้ำ - สองแผ่น) รัฐบาลก็ควรจะแก้ไขกฎระเบียบ ให้กรอบงบประมาณสามารถรองรับการลงทุนแบบต่อเนื่องข้ามหลายๆ ปีได้สิครับ
       
       - กฎหมายงบประมาณ ไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงแก้ไขได้ไม่ยาก และรัฐบาลก็มีเสียงข้างมากอยู่แล้ว ผ่านได้แน่นอน
       
       - ผมมั่นใจว่าหากรัฐบาลเสนอการลงทุนสองล้านล้าน ให้อยู่ภายใต้กรอบงบประมาณ โดยมีการแก้ไขกฎหมายงบประมาณก่อน ฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิกก็คงเห็นด้วย
       
       - คำตอบสำหรับข้อ (ข)
       
       - ขณะนี้มีนักธุรกิจหลายรายที่กังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจ เพราะเริ่มซบเซาอย่างรวดเร็ว
       
       - หลายคนบอกผมว่า ขณะนี้เขาสามารถซื้อรถยนต์ได้ โดยมีการลดแลกแจกแถมจากผู้ขาย มากกว่าช่วงรถคันแรกอย่างมาก เพราะยอดขายแผ่ว
       
       - หลายคนบอกผมว่า ขณะนี้การขายส่งออกสินค้าหลายตัวลดลงไปมาก จะดีก็เฉพาะสินค้าจำเป็น
       
       - หลายคนบอกผมว่า ขณะนี้ยอดขายคอนโดแต่ละเดือนลดลงไปมาก ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของยอดเดิม และมีแนวโน้มจะลงไปเหลือเพียงหนึ่งในสามของยอดเดิมด้วยซ้ำ
       
       - ด้วยเหตุนี้ นักธุรกิจบางรายจึงได้ออกมาเปิดตัวสนับสนุนกฎหมายสองล้านล้าน โดยหวังว่าการใช้จ่ายดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับหนึ่ง
       
       - เหตุที่ภาวะธุรกิจแผ่วเร็ว ก็เพราะในช่วงที่สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดๆ ช่วงที่สหรัฐฯ มีการพิมพ์ดอลลาร์ออกมาอย่างหนักหน่วงนั้น เงินได้ไหลเข้าประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมหาศาล
       
       - เงินดังกล่าวผลักดันให้ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศกำลังพัฒนาเกิดสภาวะบูมขึ้นอย่างแรง ทุกคนดีใจกันทั่วหน้า
       
       - ผมเองได้ออกมาเตือนกระทรวงการคลังหลายครั้ง ผ่าน FACEBOOK นี้ แนะนำให้ใช้อำนาจกระทรวงการคลัง ชะลอเงินทุนไหลเข้าลงบ้าง ไม่ว่าด้วยวิธีเก็บภาษีดอกเบี้ยที่นักลงทุนต่างชาติได้ไปจากไทย หรือวิธีอื่น
       
       - แต่รัฐมนตรีคลัง (นายกิตติรัตน์) แทนที่จะสนใจหาวิธีใช้อำนาจของกระทรวงการคลัง กลับไปจ้ำจี้จ้ำใชให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย
       
       - มาบัดนี้ เงินได้ไหลกลับออกไปมากแล้ว เหลืออยู่แต่ฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์
       
       - ธุรกิจการค้าที่ซบเซามากขณะนี้ มีต้นเหตุหลักสองประการ
       
       - ประการแรก โครงการประชานิยมแบบกระตุ้นการอุปโภคบริโภค ที่ควบคู่ไปกับดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป ชักนำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ต่อไปนี้ประชาชนต้องประหยัดมากขึ้นกว่าเดิม
       
       - ประการที่สอง ฟองสบู่ที่แตกในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร ทำให้ความต้องการซื้อคอนโดฯ และที่ดิน ประเภทที่ซื้อเพื่อเก็งกำไร หรือเพื่อลงทุน ความต้องการได้ลดลงอย่างมาก
       
       - หากกฎหมายสองล้านล้านไม่ผ่าน ก็ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจคงจะไม่เร่งตัวหวือหวามากนัก
       
       - แต่รัฐบาลก็จะยังสามารถแยกส่วนโครงการสองล้านล้าน แยกร่างออกไป เอาโครงการที่ไม่ค่อยมีใครคัดค้าน เช่น รถไฟรางคู่ การขนส่งทางแม่น้ำ ฯลฯ ไปดำเนินการตามกระบวนการงบประมาณปกติได้นี่ครับ
       
       - ที่จริง ถ้าทำเช่นนี้แต่แรก ก็คงจะเดินหน้าเรื่องง่ายๆ ไปได้มากแล้ว จะเหลือเถียงกันเฉพาะแค่บางโครงการที่ลงทุนสูง เช่น รถไฟความเร็วสูง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น