วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2556

ส่องยุทธการผ่าดงระเบิดพรรคเพื่อไทยเดินหน้าปะทะหรือหลีกเลี่ยงเผชิญหน้า วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556



ส่องยุทธการผ่าดงระเบิดพรรคเพื่อไทยเดินหน้าปะทะหรือหลีกเลี่ยงเผชิญหน้า

วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2556 เวลา 00:00 น.
จะเป็นไปตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี “ชี้ช่อง” ไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ว่า ในวันที่ 8 ตุลาคม ที่จะถึงนี้จะมีความพยายาม “ล้มรัฐบาล” ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนหลักที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

เหตุที่ต้องบอกเช่นนี้เพราะความพยายาม “ผ่าดงระเบิด” ของเสียงข้างมากพรรคเพื่อไทยใน 3 กฎหมายสำคัญนั้นไม่น่าที่จะ “ราบรื่น” อย่างที่ตั้งใจไว้

กฎหมาย 3 ฉบับที่ว่า ประกอบด้วย 1. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เข้าสู่การพิจารณาก่อนใครเพื่อน ปัจจุบันอยู่ในชั้นกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ที่ใช้เวลามาร่วม 1 เดือนแล้วยังไม่เข้าเนื้อหาซักมาตราเดียว 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ร่าง 4 มาตรา ที่วันนี้ผ่านชั้นกรรมาธิการมาครบทั้ง 3 ร่างแล้ว แต่ร่างแก้ไขที่มีความคืบหน้ามากที่สุดคือ ร่างแก้ไขที่มาของ ส.ว. ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และการแก้ไขมาตรา 190 นั้น “จ่อ” ที่จะเข้าที่ประชุมร่วมรัฐสภาในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ขณะที่ 3. ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งผ่านขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และกำลังเข้าสู่วุฒิสภา

กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นการแก้ไขมาตรา 68 พ่วงมาตรา 237 นั้นมีผู้ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการแก้ไขที่ขัดกับมาตรา 68 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็รับทั้ง “5 คำร้อง” ไว้พิจารณาขณะนี้อยู่ในขั้นตอนให้ผู้ถูกร้องมาชี้แจง
แต่ที่ดูจะเป็นปัญหาขณะนี้ คือ การแก้ไข “ที่มาของ ส.ว.” ซึ่ง สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภาได้นัดลงมติโหวตในวาระ 3 ในวันที่ 28 กันยายน มีหลาย “แง่มุม” น่าสนใจ

กรณีแรก หากไม่มีการโหวตเกิดขึ้น แต่รอให้ศาลรัฐธรรม นูญพิจารณาให้เสร็จสิ้น กรณีจะไม่เกิดการเผชิญหน้ากับศาลรัฐธรรมนูญและไม่มีผลทำให้ร่างแก้ไขดังกล่าว “ตกไป” หากศาลรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนเมื่อไหร่ค่อยมาว่ากันถ้าบอกว่าขัดก็ตกไป แต่ถ้าบอกว่าไม่ขัดก็เดินหน้าโหวตวาระ 3 ได้ทันที

กรณีต่อมา หากเดินหน้าโหวตในวาระ 3 แน่นอนว่า ด้วยจำนวนเสียงที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขย่อม “ผ่าน” ไปอย่างง่ายดาย แต่จะเกิดปัญหาตามมาทันเพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (7) บัญญัติว่า เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้วให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายและให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในมาตรา 150 บัญญัติว่า ร่าง พ.ร.บ. ที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง พ.ร.บ.นั้นจากรัฐสภาเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

ตรงนี้ “น่าสนใจ” เพราะไม่ได้มีการเขียนไว้ว่า หลังพ้นเงื่อนไข 20 วัน แล้วจะมีผลทำให้กฎหมาย ตกไปหรือไม่ตกไป กรณีนี้อาจะเทียบเคียงได้กับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ที่ผ่านวุฒิสภา ซึ่งอยู่ในขั้นตอนทูลเกล้าฯ แต่มีการระงับไว้เพราะศาลรัฐธรรมนูญ “รับเรื่อง” ไว้วินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ฉะนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ที่ “เสียงข้างมาก” มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำกับ ส.ว.เลือกตั้ง จะเดินหน้าโหวตการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นการแก้ไขรายมาตราใน 2 ร่างที่เหลือ
ทั้งหมดจึงต้องไปให้เป็นภาระของศาลรัฐธรรมนูญที่จะ “วินิจฉัย”

เป็นการเปลี่ยนความกดดันของตัวเอง ไปเป็นการกดดันศาลรัฐธรรมนูญแทน แต่กรณีจะต้องเผชิญกับการถูกยื่น “ถอด ถอน” ที่ฝ่ายต่อต้านการแก้ไขในครั้งนี้ไปยื่นไว้ที่ ป.ป.ช. ก่อนหน้านี้แล้ว

ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาของรัฐบาลไม่ได้มีแค่ 3 ปมเท่านั้น ยังมีระเบิดเวลานอกสภาอย่าง ม็อบราคายางพารา ที่รอท่ารอสถานการณ์อยู่ หรือเสียงคัดค้านที่เริ่มดังขึ้นทุกวัน จากการสร้าง เขื่อนแม่วงก์ ซึ่งกำลังจะถูก “พัฒนา” กลายเป็นการตรวจสอบการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน เพื่อมาบริหารจัดการน้ำ

การใช้เงินกู้ก้อนนี้ที่ผ่านมาแล้วกว่า 22 เดือน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาล “ไร้ประสิทธิภาพ” ซึ่งการบริหารอย่างสิ้นเชิง

มีสัญญาณจากเวทีเสวนา ’ผ่าแผน กบอ. เวทีการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์หรือประชาพิจารณ์“ เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา จาก ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างความฮือฮาจากคดี “นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด” มาแล้ว เปิดประเด็นไว้น่าสนใจว่า ขณะนี้กำลังเตรียมฟ้องศาลปกครองใน 5 ประเด็นคือ 1. ฟ้องมหาวิทยาลัยที่รับเป็นตราประทับให้โครงการโดยขัดหลักวิชาการและกฎหมาย 2. ฟ้องเพิกถอนแม่น้ำสายใหม่ขาณุวรลักษ์-ท่าม่วง 3. ฟ้องเพิกถอนโครงการสอดไส้หลายร้อยโครงการที่ไม่เกี่ยวข้อง 4. ฟ้องความเป็นโมฆะของสัญญากู้เงินที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามหลักนิติกรรมสัญญา และ 5. ฟ้องเพิกถอนกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนทั้ง 36 จังหวัดของ กบอ.

ปัญหา พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท จึงเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องเผชิญในเร็ว ๆ วันนี้

ขณะที่อีกเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็เป็นอีกเรื่องที่เริ่มมีสัญญาณออกมาแล้วว่า จะเป็น “ผลลบ” กับรัฐบาล

ไหนจะปัญหาที่เกิดจากนโยบายประชานิยมอย่างโครงการ “รับจำนำข้าว” ที่เริ่มฝีแตกขาดทั้งเงินจำนำ เกิดปัญหาค้างจ่ายโรงสี เกิดปัญหาการขายข้าว

เมื่อสารพัดปัญหา “รุมเร้า” พรรคเพื่อไทยจึงไม่ “ผลีผลาม” ที่จะเสี่ยง “เกมเสี่ยง”

ต้องเข้าใจก่อนว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ต้องการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ “รายมาตรา” มาตั้งแต่ต้น แต่ที่เริ่มต้นแก้รายมาตราเพราะหวังจะให้เป็นสัญลักษณ์ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยกับอีกฝ่ายที่ปกป้องรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทย “ชี้หน้า” ว่ามาจากการรัฐประหารทั้ง ๆ ที่ผ่านการทำประชามติมาก็ตาม

แต่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ที่มาของ ส.ว.” เดินมาถึงวันนี้ เพราะเกิด “ความลงตัว” ระหว่าง “ส่วนใหญ่ของสภาล่าง” กับ “ส่วนหนึ่งของสภาสูง”
แก้ไขบางมาตราไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความจะแก้ไขซักมาตราไม่ได้เลย 

ในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ พรรคเพื่อไทยพร้อมจะ “เสี่ยงเสมอ” เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ “ถึงเวลา” เท่านั้นเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น