วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

กรณีเขื่อนแม่วงก์กับบทบาทสื่อหลักอันน่าอับอาย ไร้ค่า!! โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 กันยายน 2556 06:13 น.

กรณีเขื่อนแม่วงก์กับบทบาทสื่อหลักอันน่าอับอาย ไร้ค่า!!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์26 กันยายน 2556 06:13 น.

ผ่าประเด็นร้อน 
       
       การรณรงค์ต่อต้านการสร้าง “เขื่อนแม่วงก์” บริเวณลุ่มน้ำสะแกกรัง จังหวัดนครสวรรค์ ที่นำโดย เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร “ศศิน เฉลิมลาภ” ที่ใช้วิธีเดินทางไกลด้วยการเดินเท้าจาก “เมืองสู่ป่า และจากป่าสู่เมือง” เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน ได้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์หลายอย่างพร้อมๆ กันในสังคมไทย และทุกปรากฏการณ์ล้วนมีแนวโน้มก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างน่าทึ่ง จนกลายเป็นนิมิตหมายใหม่ในสังคมไทยกันเลยทีเดียว
       
       ที่น่าชื่นใจอย่างแรกก็เห็นจะได้แก่อารมณ์ความตื่นตัว ความหวงแหนในการ “รักษ์ธรรมชาติ” รักผืนป่า รักสิ่งแวดล้อม แม้ว่าในจำนวนนั้นมีไม่น้อยที่อาจจะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ แต่ในเมื่อเข้าใจว่าการสร้างเขื่อนย่อมต้องกระทบกับผืนป่า กระทบต่อสัตว์ป่า ป่าซับน้ำ คนไทยเหล่านี้ก็จะเกิดอารมณ์ร่วมในการต่อต้านขึ้นมาทันทีโดยอัตโนมัติ ซึ่งรับรองว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นใจ และที่สำคัญทัศนคติแบบนี้นับวันกำลังจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ๆ หรือแม้แต่คนชั้นกลางในเมือง ที่บางทีคนพวกนี้อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในพื้นที่ด้วยซ้ำไป ซึ่งนาทีนี้ไม่อยากเปรียบเทียบระหว่างคนในพื้นที่ กับคนนอกพื้นที่ที่มีความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติว่าใครมีมากกว่ากัน แต่เอาเป็นว่าถ้าเป็นกระแสรักษ์ธรรมชาติก็ต้องบอกว่านับวันคนไทยมีความตื่นตัวเพิ่มมากขึ้นก็แล้วกัน
       
       ไม่เช่นนั้นเราคงไม่ได้เห็นคลื่นมหาชนที่เดินตามกันมาเป็นขบวนยาวเหยียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งใกล้เวลาที่จะถึงเป้าหมายในเมือง “เพื่อประท้วงแบบอหิงสา” ของ ศศิน เฉลิมลาภ มากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีมวลชนโห่ร้องต้อนรับดังกึกก้องมากขึ้น ดังจนกระทั่งทำให้ “พญาปลอด” ปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ที่ถูก “เชิด” ให้มาเป็นหนังหน้าไฟในเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่เคยประกาศกร้าวว่าถึงอย่างไรก็ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ หรือเขื่อนต้องมาก่อน เพราะ “ป่าสร้างใหม่ได้ และสัตว์ป่าสร้างใหม่ได้” ต้องเงียบเสียงไปพักหนึ่ง ขณะเดียวกัน แม้แต่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังอ้างถึงความจำเป็นของการมีเขื่อนแม่วงก์ก็ยังมีท่าทีเปลี่ยนไป ยอมรับฟังความเห็นต่างมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าเป็นคำพูดที่ยังวัดใจอะไรไม่ได้ เพราะอาจต้องการให้กระแสต้านหยุดนิ่งไว้ก่อน แต่นาทีนี้กลายเป็นว่าเริ่ม “ฟัง” มากขึ้น
       
       อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์การคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ที่เวลานี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ “ที่บริสุทธิ์” สามารถสร้างอารมณ์ร่วม “อย่างมีพลัง” ขึ้นในสังคมไทย เพราะมีทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะแนวร่วมคนรุ่นใหม่ มากหน้าหลายตาอย่างไม่น่าเชื่อ และที่สำคัญมีบรรดาศิลปินที่เข้าร่วมอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน กระแสแบบนี้แหละที่รัฐบาลต้อง “หยุดฟัง” ไม่ฟังไม่ได้เป็นอันขาด 
       
       แต่สิ่งที่น่าจับตาก็คือให้ระวังให้ดีก็คือ “มันจะฉวยโอกาสในช่วงน้ำท่วม” ที่มักจะใช้เป็น “วิชามาร” ในการนำมาอ้างเป็นเหตุผลสนับสนุนในการสร้างเขื่อน และล่าสุดก็เริ่มเห็นสัญญาณดังกล่าวออกมาแล้วจากบรรดาข้าราชการ นักการเมืองที่มีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่ทุกครั้งที่มีโครงการใหญ่ดังกล่าว อย่างน้อยเราก็ได้เห็น บรรหาร ศิลปอาชา คนหนึ่งละที่ออกมาสนับสนุนอย่างเต็มตัว และเป็นแบบนี้มานานแล้ว
       
       จากกรณี “ต้านเขื่อนแม่วงก์” ดังกล่าว กลับได้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ที่เป็นการพิสูจน์ให้เห็นบทบาทของบรรดาสื่อที่เข้าใจว่าเป็น “สื่อหลัก” ทั้งทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย ที่ “ไม่ใส่ใจ” ไม่รายงานความเคลื่อนไหวของมวลชนที่เกิดขึ้น กลายเป็นว่าสิ่งที่เข้ามามีบทบาทแทนที่อย่างชัดเจนอีกครั้งก็คือ “สื่อในโซเชียลมีเดีย” สื่ออินเทอร์เน็ต ประเภทเฟซบุ๊กที่ต่างช่วยกันแชร์ ช่วยกันกระจายข่าว นำเสนอข้อมูลจนสามารถสร้างกระแสตื่นตัวเกิดเป็นอารมณ์ร่วมออกมาเป็นพลังได้อย่างน่าชื่นชมจนน่าแปลกใจ
       
       อีกด้านหนึ่งทำให้เห็นว่า บรรดา “สื่อหลัก” ทั้งหลาย หากยังทวนกระแสความรู้สึกสังคมแบบนี้ต่อไปก็จะยิ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลัง บทบาทของสื่อหลัก โดยเฉพาะสื่อทีวีที่เมินเฉยหรือไม่ให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวแบบนี้มันไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เคยเกิดขึ้นให้เห็นมาแล้วจากกรณี “น้ำมันของเครือ ปตท.รั่ว” ที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด คราวนั้นทั้งสื่อและรัฐบาลต่างทำตัวไม่ต่างจากผู้ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของ ปตท.ทำหน้าที่ชี้แจงให้ ปตท.เป็นหลัก ขณะที่ในมุมความเดือดร้อนของชาวบ้านกลับถูกเมินเฉย เงียบเสียงลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ไม่ต่างจากเขื่อนแม่วงก์ ที่ไม่รายงานความเคลื่อนไหวเอาดื้อๆ
       
       แต่ถึงอย่างไรในเมื่อโลกได้เปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องมาพึ่งกระแสจากสื่อหลักพวกนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะพวกเขาก็ทำหน้าที่ “เป็นสื่อ” ได้ด้วยตัวเอง สามารถรายงานความเคลื่อนไหว รายงานข้อมูลออกมาโต้แย้งฝ่ายรัฐบาลและนักการเมืองขี้ฉ้อได้อย่างเป็นระบบ จนต้องยอมรับว่า กระแสการตื่นตัวของมวลชนที่หนุนหลัง ศศิน เฉลิมลาภ คราวนี่ส่วนสำคัญมาจากสื่อมวลชนในโลกโชเชียลมีเดียนี่แหละ ส่วนสื่อหลักนั้นถือว่า “น่าอับอาย” และในอนาคตอาจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังแบบน่าอัปยศอดสูลงเรื่อยๆ!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น