น้ำท่วมซ้ำซาก!!! ฝันร้ายเศรษฐกิจไทย....ที่กำลังจะกลับมา
ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ถือเป็นภัยพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปีของประเทศไทย ที่ร่องรอยและมูลค่าความเสียหายจากผลกระทบอุทกภัยครั้งก่อนยังไม่ทันจางหาย เพียงไม่ถึง 2 ปีปัญหาน้ำท่วมรอบใหม่ก็ดูเหมือนกลับมาซ้ำเติมจิตใจประชาชนคนไทยอีกครั้ง โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมในหลายพื้นที่ของประเทศ
แม้นายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะออกมาการันตรีว่า ปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้รัฐบาล “เอาอยู่” เพราะประเมินจากน้ำในปีนี้ ยังมีปริมาณน้อยกว่าปี 2554 อยู่มาก ประกอบกับระดับแนวคันกั้นน้ำป้องกันนิคมที่มีอยู่สูงกว่าปีที่แล้ว แต่ก็ยอมรับว่า ยังมีนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ที่เป็นห่วงมากที่สุด เนื่องจากการสร้างแนวคันกั้นน้ำ ยังไม่แล้วเสร็จ โดยมีความคืบหน้าเพียงร้อยละ 30
จะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมยังคงเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับภัยน้ำที่อาจจะกลับมาสร้างความเสียหายเกิดขึ้นซ้ำรอย เพราะความเสียหายจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งก่อน ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้าง ทั้งในด้านการผลิต ภาคบริการ ภาคเกษตร ภาคเศรษฐกิจ เมื่อรวมความเสียหายทั้งหมดพบในเบื้องต้นรวม1.94 แสนล้านบาท หรือส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขยายตัวเหลือเพียง 0.1% หดตัวลงจากที่ สำนักเศรษฐกิจและการคลัง (สศค.) ประมาณการไว้เดิม ร้อยละ -1.81
นอกจากผลกระทบด้านความเสียหายเชิงเศรษฐกิจ ในด้านการความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นนักลงทุนต่างประเทศ ถือมีความอ่อนไหว เพราะหากรัฐบาลยังปล่อยให้ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นในพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญอีกย่อมส่งผลกระทบต่อการลงทุนของไทยในระยะยาว นอกจากนี้การที่โครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาทชะงักลง เพราะขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการทำประชาพิจารณ์ และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และผลกระทบด้านสุขภาพ(เอชไอเอ) ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้ประกอบการอยู่ไม่น้อย
ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องดูแลการบริหารจัดการน้ำให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาเศรษฐกิจและความเชื่อมั่น เพื่อไม่ให้ปัจจัยลบเหล่านี้ไปซ้ำเติมทำให้เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันให้ถดถอยลงอีก เพราะลำพังการส่งออกปีนี้คาดว่าจะโตเฉลี่ยเพียง 2-2.5% เท่านั้น
เมื่อมาดูยอดการลงทุนโดยตรง ของนักลงทุนต่างชาติ ตัวเลขล่าสุด ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบว่า ระยะ 8 เดือนแรกของปีนี้ มีโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ยื่นขอรับส่งเสริมรวม 780 โครงการ ลดลง 17.5% คิดเป็นมูลค่าลงทุน 3.16 แสนล้านบาท ลดลง18.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่าลงทุน 3.87 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่มีสัดส่วนเงินลงทุนในไทยสูงสุด โดยมีโครงการยื่นเข้ามา 414 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 2.03 แสนล้านบาท ลดลง 22.5% และ 13.2%
อย่างไรก็ตาม แม้บีโอไอยังเชื่อว่าปีนี้การยื่นขอส่งเสริมจะยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย คือ 1 ล้านล้านบาท เพราะเชื่อว่าการที่นักลงทุนมั่นใจในการออกมาลงทุนอีกครั้ง เป้าหมายการลงทุนเอฟดีไอยังคงเป็นภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียนเพราะเป็นภูมิภาคที่มีขนาดที่น่าสนใจและยังขยายตัวสูง ดังนั้นไทยก็ยังมีโอกาสได้รับการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติเพื่อมาล่อเลี้ยงเศรษฐกิจในยามนี้ แต่หากเราปล่อยให้น้ำท่วมซ้ำซาก ก็เท่ากับปล่อยโอกาส ปล่อยให้มีปัจจัยลบมาบั่นทอนเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น