|
|
รายงานการเมือง
น่าจะเรียบร้อยโรงเรียน “ชินวัตร” ไปอีกหนึ่งขั้นตอน เมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท หรือที่เรียกกันติดปากมากกว่าว่า “พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน”
โดยอาศัยเสียงข้างมากลากไปตามครรลองประชาธิปไตยฉบับ “นายใหญ่”
ขั้นตอนต่อไปที่รอให้พลพรรคสมุน “นายใหญ่” ฝ่าด่านคือการรับพิจารณาของ ส.ว. โดยมีก้างขวางคอชิ้นใหญ่ไม่ใช่เล่นอย่าง “กลุ่ม 40 ส.ว.” ที่จะคอยชำแหละ ฉีกหน้ากากของ “พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน” ให้ประชาชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงอยู่
แต่มองเกมฟันธงกันล่วงหน้าได้เลยว่า อย่างไรเสีย “พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน” ก็ผ่านกับดัก ส.ว.ได้ไม่ยาก เพราะ “ส.ว.สายเลือกตั้ง” ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่หลายคนโดน “นายใหญ่” ซื้อทั้ง “ตัว” และ “หัวใจ” ไปอยู่ใต้ชายคาของ “เพื่อไทย” เรียบร้อยแล้ว
โดยเฉพาะการรีบเร่งดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของที่มา ส.ว. เพื่อให้ “สายเลือกตั้ง” ไม่ตกงาน มีโอกาสลงเลือกตั้ง ส.ว.ได้อีกในช่วงต้นปีหน้า หลังหมดวาระ ไม่ต้องติดล็อคอยู่ได้สมัยเดียวแบบที่รัฐธรรมนูญ 2550 ตั้งกฎเหล็กเอาไว้
เพราะหาก ส.ว.เลือกตั้งไม่มาตามนัด คงจะโดนทวง “สัญญาใจ” ที่ให้กันไว้ในที่ลับ แล้วการแก้รัฐธรรมนูญที่ถูลู่ถูกังกันอยู่คงหมดความสำคัญไป ตามรูปเกมแบบนี้ฟันธงกันล่วงหน้า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน คงได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาแบบไม่ยากฃ
พูดง่ายๆ “รัฐสภา” ถูกพลพรรคสมุน “นายใหญ่” ยึดไว้เกือบหมดแล้ว
แต่ก็ใช่ว่า “รัฐบาล-พรรคเพื่อไทย” จะคุมเกม แล้วกำหนดให้ประเทศไทยเดินตามที่ “นายใหญ่” กำหนดไว้ได้ทั้งหมด เพราะอย่าลืมว่าประเทศไทยยังมี “องค์กรอิสระ” ที่พอเป็นที่พึ่งในยามที่รัฐบาล “ลุแก่อำนาจ” ได้เสมอ
ประกอบกับก่อนหน้านี้ “คณิต ณ นคร” ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ก็ออกมาดักคอแล้วว่า กฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทนี้ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 เพราะการจ่ายเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามกฎหมาย 4 ฉบับเท่านั้น ทั้งยังขัดรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง อีกทั้งยังจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่ยอมให้ประชาชนมีส่วนร่วม
ทำเอาฝ่ายรัฐบาลสะอึก ดึงเกมไม่รีบดันกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านเข้าในช่วงต้นสมัยประชุมนี้อย่างที่วางเกมไว้ตั้งแต่ต้น
ซึ่งข้อท้วงติงของ “คณิต” อาจเป็นเหตุผลหลักที่สามารถนำมาโต้แย้งกับรัฐบาลที่ชอบอ้างถึงความจำเป็นของการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน และอ้างว่าประชาชนต้องการ เพราะถ้าจะเอากันให้ชัดๆ ลองถามประชาชนกันไปเลยว่าต้องการติดหนี้อีก 50 ปี พร้อมยอมจ่ายดอกเบี้ยมหาโหด 3 ล้านล้านบาทหรือไม่
ซึ่งทั้งฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ - กลุ่ม 40 ส.ว.ก็ตั้งแท่นหยิบมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ออกแรงสกัดกฎหมายอัปยศฉบับนี้ไว้แล้ว หลังประเมินว่า อย่างไรเสียก็สุดจะต้านทาน “เสียงข้างมาก” ในรัฐสภาได้
ทำให้หลังจากนี้ “องค์กรอิสระ” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องคงต้องทำงานหนักพอสมควร โดยเฉพาะ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพราะจับอาการของ “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลว่ากำลังทำผิด “กฎหมายรัฐธรรมนูญ” ในหลายเรื่อง
ไล่ตั้งแต่ “ไม่แถลงผลงานปีละ 1 ครั้งต่อรัฐสภา - โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน - โครงการรับจำนำข้าว - พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน - ออกกฎหมายนิรโทษกรรม” แค่นี้ก็ไล่เช็คบิลกันไม่หวาดไม่ไหว
ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลอาจจะรอดในบางเรื่อง แต่หากเหิมเกริมมากนักก็อาจติดหล่มได้เหมือนกัน
หากดูโครงสร้างฐานอำนาจของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” แล้ว แม้จะไร้เงา “วสันต์” ซึ่งถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อ “ระบอบทักษิณ” มาโดยตลอด ก็ยังถือว่าเป็น “สายแข็ง” ที่ “นายใหญ่-รัฐบาล-พรรคเพื่อไทย” เห็นแล้วยังต้องขยาด
เพราะคนที่มาแทน “วสันต์” คือ “ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ” หนึ่งในกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ซึ่งมีทัศนะคติทางการเมืองสวนทางกับ “กลุ่มคนเสื้อแดง” และสวนทางกับกลุ่มนักวิชาการที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มนิติราษฎร์”
เห็นต่างกันสุดขั้วถึงขั้น “เกลียด” กันเลยทีเดียว
ที่สำคัญในไม่ช้าจะมีการเลือก “ประธานศาลรัฐธรรมนูญ” คนใหม่ แคนดิเดตโฟกัสไปที่ “จรูญ อินทจาร” ซึ่งในคนวงการ “ตาชั่ง” รู้กันดีว่าอยู่กันละขั้วกับ “นายใหญ่” บางครั้งอาจจะดูชัดเจนว่า “วสันต์” เสียอีก
ศาลรัฐธรรมนูญ จึงยังเป็นกางชิ้นโตที่ “ระบอบทักษิณ” ยังต้องขยาด
จนมีเสียงบ่นจากในทางลับว่า “กุนซือแม้ว” บางคนถึงกับเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับ “องค์กรอิสระ” ให้รู้แล้วรู้รอด บางคนเผลอหลุดในทางแจ้ง บ่นร่ำว่าอย่ายุบ “องค์กรอิสระ” ใจจะขาด
แต่ก็อาจจะกระแสออกว่าคงโดนต่อต้าน และถูกนำไปเป็นเงื่อนไขปลุกระดมมวลชน เข้าทางฝั่งตรงข้ามได้ จึงทำได้แค่ “พูด” ทำจริงคงไม่กล้า
สรุปแล้วทั้ง “นายใหญ่-รัฐบาล-พรรคเพื่อไทย” กลัว “องค์กรอิสระ” โดยเฉพาะ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขี้หดตดหาย จนมีข่าวว่าต้องหา “แผนสำรอง” ไว้หากกฎหมายสำคัญถูกตัดสินว่า “ขัดรัฐธรรมนูญ”
โดยเฉพาะ “พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน” ที่รัฐบาลกระสันนำเงินออกมาถลุงใจจะขาดดิ้น
นำมาสู่ “แผนสำรอง” 2 แนวทาง คือ 1. รัฐบาลจะพิจารณากู้เงินลงทุนเป็นรายโครงการแทน เพราะมีการศึกษารายละเอียดไว้พร้อมแล้ว โดยอ้างว่าโครงการต่างๆต้องเดินหน้าดำเนินการต่อไป
หรือ 2. อาจจะมีการออกระเบียบหรือแก้ไข “กฎสำนักนายกรัฐมนตรี” บางฉบับ ที่เกี่ยวกับการเงิน การคลัง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการดำเนินงานของรัฐบาล
ฉะนั้นหาก “พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน” ติดขัดจริงๆ รัฐบาลก็เตรียมทางหนีทีไล่ไว้หมดแล้ว เหลือแต่ว่าจะเลือกใช้ทางไหนที่จะสุ่มเสี่ยงน้อยที่สุด และได้ “เงิน” ออกมาถลุงเร็วที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น