การเมืองชักระอุ กองทัพย้ำจุดยืน กลางไม่เลือกข้าง
“อัยการ” สั่งเลื่อน 3 คดีใหญ่ เหตุสำนวนไม่สะเด็ดน้ำ ทั้งคดี “มาร์ค-เทือก” ก่อสร้างโรงพักทดแทน “กองทัพบก” โผล่แจงจุดยืน ยันเป็นกลางไม่เข้าข้างใคร วอนอย่าดึง “บิ๊กตู่” หรือทหารข้องเกี่ยวการเมือง!
เมื่อวันพุธ นายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้แถลงถึงการสั่งเลื่อนคดีออกไปทั้งสิ้น 3 คดี เนื่องจากพิจารณาสำนวนไม่เสร็จสิ้น ประกอบด้วย 1.คดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองปี 2553 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นผู้ต้องหาที่ 1-2 ตามที่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง โดยเลื่อนไปเป็นวันที่ 31 ต.ค.
2.คดีฉ้อโกงที่บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นต์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด, นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานพีซีซีฯ, นายวิศณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการพีซีซีฯ และนายจตุรงค์ อุดมสิทธิกุล กรรมการพีซีซี ผู้ต้องหาที่ 1-4 ในโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง และ 3.คดีฮั้วประมูลก่อสร้างโรงพักทดแทนเป็นวันที่ 20 พ.ย.นี้
ขณะเดียวกัน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอระบุว่า ได้ส่งสำนวนชันสูตรพลิกศพผู้ตาย 12 รายไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) หลังจากพนักงานสอบสวนได้ลงพื้นที่สอบปากคำพยานแวดล้อมแล้ว เชื่อว่าการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงาน เพื่อให้ บช.น.พิจารณาส่งให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการไต่สวน แสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน อย่างไร และผู้ใดทำให้ตาย หากสำนวนศพใดศาลไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะส่งกลับมา เพื่อรวมสำนวนเป็นคดีพิเศษเช่นเดียวกับคดีนายพัน คำกอง และ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา
วันเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวในเวทีปฏิรูปประเทศ เมื่อนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ และรมช.เกษตรและสหกรณ์ เผยว่า วันที่ 26 ก.ย. จะเข้าพบนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้ประสานงานสภาปฏิรูปประเทศ เพื่อขอคำแนะนำการดำเนินการของคณะทำงาน 3 ฝ่าย การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ รวมถึงรับฟังความคิดเห็นนายบรรหารหลังเดินสาย พร้อมนำเสนอข้อสรุปเบื้องต้นจากคณะกรรมการชุดต่างๆ ในอดีตเสนอนายบรรหาร ก่อนนำแนวทางทั้งหมดเข้าหารือในคณะทำงานทั้ง 3 ฝ่ายในช่วงต้นเดือน ต.ค. จากนั้นเมื่อได้ข้อสรุปจากคณะทำงาน 3 ฝ่าย จะนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 ในเดือนเดียวกัน
ส่วนที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้นำเอกสารสรุปรายงานผลการดำเนินงานพูดจาหาทางออกประเทศไทย 108 เวที ที่หนา 16 หน้า จำนวน 200 เล่ม ที่จัดทำโดยคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) มาแจกจ่ายให้สื่อมวลชน ซึ่งหนังสือมีการจัดพิมพ์ทั้งหมด 5 หมื่นเล่ม โดยจะแจกจ่ายให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และประชาชนที่สนใจก็สามารถเข้ารับหนังสือดังกล่าวได้ที่ สปน.
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงจุดยืนของกองทัพต่อสถานการณ์ทางการเมืองว่า ขณะนี้มีสื่อบางสำนักและประชาชนบางส่วนยังไม่เข้าใจสถานะบทบาทของกองทัพอย่างเพียงพอ ซึ่งกองทัพบกยืนยันว่า ผู้บังคับบัญชาและกองทัพต้องดำรงสถานะความเป็นกลางทางการเมือง ขออย่ามีการตั้งสมมุติฐานกันไปต่างๆ นานาจนทำให้สังคมสับสน กองทัพบกมุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และเพื่อประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนฝ่ายใดอย่างแน่นอน ขอให้สังคมได้เข้าใจบทบาทของกองทัพและผู้บังคับบัญชา พร้อมกับขอให้นำเสนอเรื่องใดๆ ด้วยความระมัดระวัง ไม่นำผู้บังคับบัญชาและกองทัพไปข้องเกี่ยวกับประเด็นในทางการเมืองในสภาวะที่สังคมมีความละเอียดอ่อนอย่างในปัจจุบัน
วันเดียวกัน นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานกลุ่มกรีน ในฐานะคณะทำงานสภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) ระบุว่า ในวันที่ 26 ก.ย. คณะ สปท.กว่า 10 คน จะลงพื้นที่ชุมนุมชาวสวนยางในช่วงเช้า และช่วงบ่ายจะจัดเสวนาระดมความเห็นแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งการลงพื้นที่พบประชาชนที่เดือดร้อนเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของ สปท.ที่ต้องการสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้สังคมวงกว้างได้รับรู้ เพื่อนำไปสู่การผลักดันแก้ปัญหาระยะยาวและยั่งยืน ซึ่ง สปท.ยังมีแผนเดินสายพบประชาชนกลุ่มปัญหาต่างๆ ทั่วประเทศ โดยพื้นที่ต่อไปอยู่ระหว่างหารือกัน คือพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ หรือพื้นที่ก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น