ซัดคนไทยตื่นตูมน้ำท่วม
"ปลอดฯ" ล่องเรือสำรวจแม่น้ำเจ้าพระยา มั่นใจปีนี้เอาอยู่แน่ เผยพายุคาบสมุทรแปซิฟิกอีก 5-10 ลูกเตรียมกระหน่ำซ้ำช่วงสิ้นปี รับห่วง จ.อยุธยา เล็งเสนอยกบ้านสูงหนี "วิม" ซัดพวกคนไทยโดนน้ำท่วมปี 54 ตื่นตูมผวาน้ำท่วมเกินเหตุ ชี้ภาคกลางจมบาดาลแค่น้ำเอ่อล้นตามปกติ "ยิ่งลักษณ์" สั่งกองทัพช่วยประชาชน 15 จว. ทหารเรือส่งเรือดันน้ำ 16 ลำเข้า 3 คลองเสี่ยงเมืองกรุง
เมื่อวันอาทิตย์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ (กบอ.) พร้อมด้วยนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน, นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และนายธีรวุฒิ ศิริวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี รวมทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล่องเรือสำรวจสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาใน 4 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง
นายปลอดประสพกล่าวว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้ไม่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 ที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ พายุจากคาบสมุทรแปซิฟิกที่อาจจะเข้ามาจากนี้ถึงสิ้นปี ที่ตามสถิติจะมีพายุเกิดขึ้น 5-10 ลูก และร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนบน ซึ่งจะมีแน่นอน โดยมีผลต่อพื้นที่ภาคกลางตอนบน อาทิ ชัยนาท นครสวรรค์ รวมถึงน้ำทะเลหนุนสูงที่สูงกว่าปกติ 10-30 เซนติเมตร ก็จะส่งผลต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี
"หากทั้ง 3 ปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกัน เราก็ยังสามารถระบายได้ตามปกติ โดยเสนอให้จังหวัดที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำโดยไม่ต้องกังวลจังหวัดรอบข้าง เพราะ กบอ.จะดูแลในภาพรวมเอง แต่อาจส่งผลต่อประชาชนริมแม่น้ำ และพื้นที่ลุ่ม โดยที่ จ.พระนครศรีอยุธยา น่าเป็นห่วงมากที่สุด จึงมีแนวคิดจะยกระดับที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ให้สูงขึ้น ซึ่งในระยะ 150 ปีที่ผ่านมา บ้านเรือนใน จ.พระนครศรีอยุธยา มีการยกบ้านสูงตามระดับน้ำมาแล้ว 3 ครั้ง" ประธาน กบอ.กล่าว
นายเลิศวิโรจน์กล่าวว่า ช่วงฝนตก 2-3 วันที่ผ่านมาทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในพื้นที่ จุดรับน้ำจังหวัดนครสวรรค์อยู่ที่ 1,456 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้น้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 1,912 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่จุดรับน้ำอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,546 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งยังต่ำกว่าปริมาณที่สามารถรองรับได้ที่ 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และยังอยู่ในการควบคุมของกรมชลประทาน โดยจะพยายามระบายน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่งบริเวณแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำน้อย ชัยนาท-ป่าสักชลสิทธิ์ ชัยนาท-อยุธยา เพราะอยู่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่ต้องพร่องน้ำออก ประกอบกับฝนที่ตกลงมายังมีน้ำในพื้นที่และแม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถระบายน้ำได้อยู่
นายวิม รุ่งวัฒนจินดา เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายประสานงานและเผยแพร่นโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งให้นายปลอดประสพติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและสถานการณ์พายุอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้รายงานนายกฯ โดยตรงทุกวัน
"จังหวัดภาคกลางที่ประสบปัญหาในขณะนี้ เป็นเหตุจากน้ำที่เอ่อล้นขึ้นตามปกติ เพียงแต่ว่าคนไทยประสบปัญหาน้ำท่วมเมื่อปี 54 จึงทำให้รู้สึกกังวลว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ซ้ำรอย ขณะที่คนพื้นที่เข้าใจดี และอาจท่วมพื้นที่เกษตรบางส่วนบ้าง เพราะจากรายงานพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเวลานี้เป็นพื้นที่ที่กันไว้เป็นแก้มลิงและฟลัดเวย์ มีน้ำท่วมทุกปี ซึ่งรัฐบาลจะทำการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาให้" เลขาฯ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ระบุ
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนในหลายพื้นที่ที่ประสบภาวะน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม สั่งให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เร่งให้การสนับสนุนส่วนราชการต่างๆ โดยให้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทั้ง 15 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และเต็มขีดความสามารถ และให้ยึดถือแผนบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2554 เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานตามความรับผิดชอบ
"ตั้งแต่วันที่ 16-22 ก.ย. ศูนย์ได้จัดกำลังพล 1,500 นาย พร้อมยุทโธปกรณ์ ประกอบด้วย รถยนต์บรรทุก 35 คัน, รถยนต์โกยตัก 5 คัน, รถลากจูง 3 คัน,
เรือท้องแบน 29 ลำ เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งจัดทำแนวป้องกันน้ำท่วมด้วยกระสอบทราย เปิดเส้นทางสัญจรจากดินโคลนถล่ม สนับสนุนจังหวัดในการจัดตั้งศูนย์พักพิงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และติดตั้งพนังกั้นน้ำที่วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา" พ.อ.ธนาธิปกล่าว
โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าวว่า ในส่วนศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ ได้จัดตั้งหมู่เรือเฉพาะกิจบรรเทาภัยพิบัติทางทะเลกองทัพเรือ ประกอบด้วย เรือหลวงตาปี, เรือหลวงสีชัง และอากาศยานเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ลำ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ภายใน 48 ชั่วโมง รวมทั้งส่งเรือผลักดันน้ำ จำนวน 16 ลำ เข้าประจำในพื้นที่เสี่ยงในคลองบางเขน คลองทวีวัฒนา และคลองพระยาราชมนตรี เพื่อสนับสนุนการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะที่ จ.อ่างทอง ปริมาณน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจนล้นตลิ่ง ในบริเวณหมู่ 5 ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ชาวบ้านต้องเร่งจับกบที่เลี้ยงไว้หลังบ่อจมน้ำ หลังน้ำที่ทะลักข้ามแนวป้องกันน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ติดริมคลองโผงเผง หมู่ 5 ต.โผงเผง
จ.สุโขทัย เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านและท่วมนาข้าวในพื้นที่หมู่ 1, หมู่ 2 และหมู่ 3 ต.สามพวง อ.คีรีมาศ ได้รับความเสียหายกว่า 6,000 ไร่ ทำให้เกษตรกรต่างต้องเร่งเก็บเกี่ยว โดยใช้เรือพายเป็นพาหนะในการขนฟ่อนข้าวขึ้นมาไว้บนฝั่ง
จ.พิจิตร น้ำป่าหลากลงลำคลองสาขา ทะลักเข้าท่วมพื้นที่นากว่า 2,000 ไร่ ชาวนาลงขันจ้างรถแบ็กโฮขุดดิน สร้างคันกั้นน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกจากพื้นที่นาเพราะหวั่นข้าวเน่า
จ.นครสวรรค์ ฝนที่ตกหนักสะสมประกอบกับน้ำป่าจากเพชรบูรณ์ไหลบ่าเข้าท่วมตลาดเทศบาลอำเภอหนองบัว จ.นครสวรรค์ ย่านการค้าพื้นที่การเกษตรเสียหาย รวมทั้งชาวบ้านเขตอำเภอชุมแสงต้องเร่งเก็บผักตบชวาเพื่อเปิดทางระบายน้ำ
จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้วัดพนัญเชิงวรวิหาร ต้องระดมคนงานยกบังเกอร์ป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้น้ำได้ท่วมพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ บางบาล, เสนา, ผักไห่, บางไทร, พระนครศรีอยุธยา, บางปะอิน, ท่าเรือ และนครหลวง รวมพื้นที่ 80 ตำบล 405 หมู่บ้าน บ้านเรือนริมฝั่ง 12,000 หลังคาเรือน วัด 7 แห่ง ล่าสุดอีก 2 อำเภอ เริ่มได้รับผลกระทบ คือ บางปะหันและมหาราช
เช่นเดียวกับภาคตะวันออก จ.ปราจีนบุรี นายสมชาย เปรมใจ ผบ.เรือนจำกบินทร์บุรี มีคำสั่งให้ย้ายผู้ต้องขังชาย-หญิงทั้งหมด 722 คน เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ไม่น่าวางใจ เพราะระดับน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรีได้ท่วมบ้านเรือนตามริมฝั่งตลอดแนว รวมถึงเรือนจำอำเภอกบินทร์บุรี น้ำท่วมกว่า 50 เซนติเมตร
จ.สระแก้ว สะพานหนองแวง ทางหลวงหมายเลข 348 สายอรัญประเทศ-ตาพระยา ถูกน้ำป่าพัดคอสะพานขาดกว้างกว่า 2 เมตร บริเวณทางโค้งบ้านหนองแวง ต.หนองแวง อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ช่วงหลัก กม.ที่ 23-24 เจ้าหน้าที่ทางหลวงชนบทสระแก้วเร่งซ่อมแซมโดยใช้สะพานเหล็กชั่วคราว (สะพานแบริ่ง) วางพาดบริเวณคอสะพานหนองแวง เพื่อให้รถยนต์ได้สัญจร
ภาคอีสาน ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำมูล แม่น้ำชี จ.อุบลราชธานี ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังน้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่การเกษตร ขณะที่จังหวัดอนุมัติงบฉุกเฉินไปยัง 25 อำเภอ อำเภอละ 2 แสนบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยเบื้องต้น
เช่นเดียวกับชาวบ้านกลางสระเกษ ที่อาศัยติดลำน้ำเซบาย จ.ยโสธร ต่างช่วยกันบรรจุกระสอบทราย ทำพนังกั้นน้ำรอบหมู่บ้าน เนื่องจากระดับน้ำสูงขึ้นและไหลเชี่ยว ทะลักเข้าท่วมถนน บ้านเรือนบางส่วนแล้ว
จ.อำนาจเจริญ เกิดเหตุพบศพ ด.ช.สาธิต วงศา อายุ 11 ปี อยู่บ้านเลขที่ 104 หมู่ที่ 2 บ้านหนองนกหอ ต.ดงมะยาง อ.ลืออำนาจ จ.อำนาจเจริญ เรียนอยู่ชั้น ป.5 โรงเรียนหนองนกหอ จมน้ำเสียชีวิตที่ลำห้วยสาธารณะใกล้หมู่บ้านหนองนกหอ หลัง ด.ช.สาธิตและเพื่อน 2 คน ชวนกันไปเล่นน้ำในลำห้วยดังกล่าว และเกิดพลัดลื่นตกลงไปในน้ำจนจมน้ำเสียชีวิต
จ.บุรีรัมย์ นายพร อุดมพงษ์ รองประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำถุงยังชีพพระราชทานไปมอบช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จากอำเภอบ้านกรวด อำเภอละหานทราย และอำเภอปะคำ รวม 1,250 ครัวเรือน
ในพื้นที่ภาคใต้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายจังหวัดได้ประกาศเตือนชาวบ้านพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่มให้เฝ้าระวัง โดย จ.กระบี่ ประกาศเตือนผู้อยู่อาศัย 8 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองฯ, ปลายพระยา, เหนือคลอง, เขาพนม, เกาะลันตา, คลองท่อม, ลำทับ และอ่าวลึก ระวังอันตรายจากน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม เช่นเดียวกับ จ.ระนอง หัวหน้าอุทยานน้ำตกหงาว สั่งให้เจ้าหน้าที่ติดตามระดับน้ำเช่นกัน.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น