|
|
สะเก็ดไฟ
ปฏิทินการเมืองช่วงนี้ร้อนไม่แพ้อากาศ ที่ประชุมรัฐสภาผ่านความเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ก้อนใหญ่ 2 ล้านล้านบาทไปเมื่อปลายเดือน มี.ค. ไม่ทันข้ามอาทิตย์ วันที่ 1-3 เม.ย. ที่ประชุมสภาฯ เปิดฉากพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราต่อทันที
ตามที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.สายใกล้ชิดรัฐบาล ทั้งพวกเลือกตั้งและสรรหา พร้อมใจกันยื่นเข้ามาทั้ง 3 ร่าง 4 ประเด็น คือ มาตรา 68, 190, 237 รวมไปถึงที่มา ส.ว.
แม้ก่อนหน้า คนเสื้อแดง และ ส.ส.เพื่อไทยบางส่วน อยากให้มีการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระ 3 กันไปเลย ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้มีการรื้อรัฐธรรมนูญขนานใหญ่ในอนาคตได้ แต่เหล่าคนใกล้ชิด “นายใหญ่” ในคณะทำงานยุทธศาสตร์การเมืองของพรรคเพื่อไทยนั่งคำนวณบวกลบคูณหารกันแล้ว ผลที่ออกมาจะไม่คุ้ม เกรงจะตกหลุมพรางกลุ่มอำนาจเก่าที่จ้องทำลาย ซ้ำยังเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่แนะนำให้แก้ไขเป็นรายมาตรา
เลยนำมาสู่การย้อนศรศาล และฝ่ายตรงข้ามอย่าง ประชาธิปัตย์ และส.ว.ฝ่ายไม่เห็นด้วย ปฏิบัติการแก้ไขเป็นรายมาตรา
ยังสะท้อนให้เห็นอีกครั้งว่า เพื่อไทยยังแถวตรงในคำสั่ง ก่อนหน้าจะมีการยื่นร่างแก้ไขรายมาตราทั้ง 3 ร่าง นายใหญ่นักโทษ-ทักษิณ ชินวัตร สไกป์มายังที่ประชุม ส.ส.เพื่อไทย บอกจะมีการแก้ไขเป็นรายมาตรา และผลที่ออกมาก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ นายกฯ ในต่างแดนยังมีบทบาทอย่างสูง มากกว่านายกฯ ตัวจริงในประเทศเสียอีก
แต่กระบวนการรื้อรัฐธรรมนูญ ใช่ว่าเพื่อไทยและทีมวอร์รูมยุทธศาสตร์จะพอใจเพียงแค่นี้ เพราะยังจะมีการรื้อขนานใหญ่ ยื่นแก้อีกหลายมาตราตามมาอีกในอนาคต
นพดล ปัทมะ ที่เป็นทั้งคนใกล้ชิดนายใหญ่ และหนึ่งในวอร์รูมยุทธศาสตร์ ได้ออกมาบอกดังๆให้ได้ยินแล้วว่า สิ่งที่ทำตอนนี้เป็นเพียงการนำร่อง "ขณะนี้นำร่องแก้ไข 3-4 ประเด็นนี้ไปก่อน ส่วนอนาคตถ้า ส.ส.อยากแก้ไขก็แก้ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเองก็บอกว่าแก้ได้ ซึ่งต้องดูกันต่อไป แต่อยากให้การพิจารณาทั้ง 4 ประเด็นผ่านไปก่อน อนาคตค่อยมาว่ากัน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้"
นพดลพูดไว้ชัดเจน ทำให้เราพอได้เห็นพิมพ์เขียวเพื่อไทย ที่ดูแล้วคงไม่หยุดอยู่เพียงเท่านี้เป็นแน่ ก่อนหน้าสมาชิกเพื่อไทยบางคน เช่น สามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย ออกมาให้ความเห็นทำนองว่า ในอนาคตอาจมีการยื่นแก้ไข มาตราเกี่ยวกับที่มา ส.ส.ให้เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ส.ส.เขต 400 คน
แต่ไม่ว่าอย่างไร ทั้งการเริ่มต้นหรือกระบวนการต่อไป พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลยังคงวนเวียนอยู่กับการแก้ปัญหาให้ตัวเองของนักการเมือง และอาจจะเดินหน้าแก้ไขมาตราที่สุ่มเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะ มาตราที่เกี่ยวกับสถาบันยุติธรรม องค์กรอิสระ ที่ถูกมองมาตลอดว่าเป็น “ปฏิปักษ์” กับพรรคเพื่อไทย ขวางทางการยึดครองประเทศแบบเบ็ดเสร็จ
ยังไม่นับรวมมาตรา 309 ที่ใครหลายคน อยากให้มีการแก้ไขเหลือเกิน ลบล้างผลพวงจากรัฐประหาร บรรดาคดีต่างๆ ซึ่งมุมมองฝ่ายค้านก็สวนมาทันที หากดำเนินการตามนี้เท่ากับเป็นการล้างผิดให้ “คนแดนไกล” แบบเบ็ดเสร็จกันเลยทีเดียว
และว่ากันอีกว่า หากจะมีการลุยไฟแก้ไขเรื่องร้อน รื้อศาล จัดระเบียบองค์กรอิสระ ลบล้างผลพวงปฏิวัติ อาจจะเป็นการทำในเทอมสุดท้ายของรัฐบาล ยื่นคาไว้ในสภาฯ หยั่งกระแสแรงต้านจากภายนอก หากไม่ไหวจริงๆ ก็ยุบสภาฯ เป่าหูรากหญ้าชูเรื่องที่ว่าเป็นนโยบายแบบวัดใจกันไปเลย หากกลับมาเป็นรัฐบาลก็จะลุยทันที ถือว่าได้ฉันทานุมัติจากประชาชนมาแล้ว
กระนั้นเรื่องนี้ยังเป็นโมเดลมาจากวอร์รูมบางคน อยู่ที่ “นายใหญ่นักโทษ” จะกล้ากดปุ่มเดินหน้าเรื่องนี้หรือเปล่า??
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น