วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

‘นพดล’พล่านแจงขายชาติ เมื่อ 28 เม.ย.56


‘นพดล’พล่านแจงขายชาติ



"นพดล" ยังพล่านแจงข้อหาขายชาติ    เหลือเชื่อพร้อมแจงศาลมา 5 ปีแล้ว หนังคนละม้วน  เกาะขากางเกง "ทูตวีรชัย" ยันแถลงการณ์ร่วมฯ ช่วยให้ไม่เสียดินแดน อัดศาลรัฐธรรมนูญทำพัง โทษศาลปกครองทำเสียของ แก้ข้อหาประชาธิปัตย์อ้าง แถลงการณ์ร่วมไทย-เขมรไม่มีแผนที่ มีแต่แผนผัง
    เมื่อวันเสาร์ นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ ออกมาชี้แจงซ้ำอีกครั้งหลังถูกกล่าวหาว่าขายชาติ และส่อทำให้ไทยเสียดินแดนจากการไปสนับสนุนให้กัมพูชาจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเพียงฝ่ายเดียว  ด้วยการออกแถลงการณ์ร่วมฯ ที่ศาลปกครองวินิจฉัยไปแล้วว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190  
    และล่าสุดคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีไปลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 สนับสนุนให้ประเทศกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550
        นายนพดลแถลงว่า พร้อมมาตลอด 5 ปี เพราะสิ่งที่ทำไปไม่ได้มีเจตนาฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพราะมาตราดังกล่าวคลุมเครือไม่ชัดเจน เต็มไปด้วยหลุมพราง และมาตรา 190 ก็มีการแก้ไขในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกทั้งปัจจุบัน ส.ส.และ ส.ว.ก็ร่วมกันแก้ไข เพราะยังไม่ชัดเจน ตนได้ทำตามคำแนะนำของอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เมื่อปี 2551 ว่า คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาไม่ใช่หนังสือสัญญา ซึ่งกัมพูชาก็ไม่คิดว่าเป็นหนังสือสัญญาด้วย 
    "แถลงการณ์ร่วมฯ ยังไม่มีบทบัญญัติเปลี่ยนแปลงอาณาเขต แต่ศาลรัฐธรรมนูญเติมคำว่า อาจ ในรัฐธรรมนูญ เติมว่าแม้ไม่มีบทบัญญัติเปลี่ยนแปลงในอาณาเขต แต่อาจเปลี่ยนแปลงในอาณาเขต การเติมคำว่า อาจ ในรัฐธรรมนูญ เท่ากับละเมิดหลักการแบ่งแยกอำนาจ เท่ากับศาลบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผมพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เชื่อว่าศาลจะให้ความยุติธรรม"
    เขากล่าวว่า ในวันที่ 5 ก.ค.นี้ ศาลให้ไปสอบคำให้การ ซึ่งในคดีนี้เป็นการฟ้องตนตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยแนวทางการต่อสู้จะยืนยันต่อศาลว่าปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายกับใคร เพราะมาตรา 157 มีเจตนาธรรมดาและเจตนาพิเศษ เราไม่ได้มีเจตนาก่อให้เกิดความเสียหาย
    นายนพดลกล่าวว่า จะชี้แจงถึงความเป็นมาของ มาตรา 190 ว่ามีข้อบกพร่องเพียงใด เพราะเป็นการปฏิบัติตามข้าราชการแนะนำมา นอกจากนี้ จะต่อสู้ว่าคำแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร ส่วนศาลฎีกาจะหยิบยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เห็นว่าคำแถลงการณ์ร่วมจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภามาเป็นแนวทางการพิจารณาหรือไม่นั้น ถ้าศาลหยิบยกก็คงหยิบยกว่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 หรือไม่ แต่จะต่อสู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไปเติมคำว่า  "อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต" ทำให้ต้องสู้ว่าเนื้อหา มาตรา 190 ไม่ชัดเจนคลุมเครือที่มีการแก้ไขถึง 2 ครั้ง
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนพดลได้เปิดสไลด์ต่อสื่อมวลชนโดยแสดงถึงแผนที่ฉบับแรกที่กัมพูชายื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลก หรือยูเนสโก ที่จะนำตัวปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบตัวปราสาทขึ้นทะเบียนมรดกโลกในปี 2550 และแสดงแผนผังตัวปราสาทที่กัมพูชาจะนำขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาท โดยตัดพื้นที่รอบตัวปราสาทออกเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก
แถลงการณ์ร่วมฯ เป็นพระเอก
          พร้อมกับชี้แจงว่า ทีมนักกฎหมายระดับโลกเห็นว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชามีประโยชน์ในการต่อสู้คดี ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2554 ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ขออนุญาตศาลปกครองใช้คำแถลงการณ์ร่วมฯ ต่อสู้คดีในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก แต่ทีมทนายของไทยตัดสินใจไม่ใช้ต่อสู้ในศาลโลก เพราะอาจจะเป็นการละเมิดอำนาจศาลปกครองที่สั่งให้คำแถลงการณ์ร่วมฯเป็นโมฆะ 
    "แถลงการณ์ร่วมฯ เป็นประโยชน์ในการสู้ ไม่ใช่ผู้ร้ายตามที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา โดยอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเห็นว่าเนื้อหาสาระของคำแถลงการณ์ร่วมฯ จะเป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดีของไทย เนื่องจากมีเนื้อหาสาระที่กัมพูชาได้เคยสละท่าทีในเส้นเขตแดนในแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน หรือระวางดงรักแล้ว และยอมรับว่ามีพื้นที่พิพาทกับไทยในทิศเหนือและทิศตะวันตกของตัวปราสาท"
          นายนพดลกล่าวว่า ท่าทีดังกล่าวขัดแย้งต่อท่าทีของกัมพูชาที่ขอให้ตีความพื้นที่รอบตัวปราสาท ทั้งนี้ แผนที่ที่กัมพูชาเอาพื้นที่ทับซ้อนโดยเอาศาลพระภูมิบวกสนามหญ้าขึ้นมรดกโลกคือแผนที่ที่ยื่นต่อยูเนสโกเมื่อปี 2550 ก่อนที่ตนมาเป็นรัฐมนตรี แต่แนวทางเรานั้นให้ตัดพื้นที่ทับซ้อนโดยเอาสนามหญ้าออก ทำให้มีการทำแผนผังใหม่ โดยกัมพูชาให้ขึ้นเฉพาะตัวปราสาท ไม่รวมสนามหญ้า แผนผังนี้กล่าวโดยสรุป กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าแถลงการณ์ร่วมฯ เป็นประโยชน์
         เขายังแจงว่า ประเด็นที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุถึงเหตุการณ์ในปี 2551 ว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาเป็นการสละเส้นแบ่งเขตแดนตามมติ ครม.เมื่อปี 2505 นั้น ถือเป็นความเท็จ ยืนยันว่าตนไม่เคยสละเส้นนี้ เพราะไม่ใช่แผนที่ แต่เป็นแผนผัง ยืนยันว่ารัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ไม่เคยสละเส้นสันปันน้ำและเส้นมติ ครม.เมื่อปี 2505 อีกทั้งกัมพูชาไม่กล้าอ้างคำแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าว เพราะไม่ได้ใช้ประโยชน์ อีกไม่นานคนไทยจะได้รู้ข้อเท็จจริง
    ที่วิหารหลวงปู่เกวาลัน หมู่บ้านสุขิโต อ.เมือง เชียงใหม่ วันเดียวกัน โหรวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ นักปฏิบัติธรรม ประธานมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ พร้อมคณะศิษย์ ร่วมกันมอบสิ่งของยังชีพอุปโภคบริโภค ยารักษาโรค พระเครื่องปางพิชิตมาร 5 พันองค์ รวมมูลค่าสิ่งของกว่า 320,000 บาท เพื่อมอบให้แก่ทหารหาญที่ปฏิบัติหน้าที่ปกป้องอธิปไตยที่ชายแดนไทยพื้นที่เขาพระวิหาร จ.ศรีสะเกษ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ โดยมอบผ่านผู้แทนของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 5 ศูนย์ข่าวภาคเหนือ จ.เชียงใหม่
    โหรวารินทร์กล่าวว่า ทางมูลนิธิตระหนักถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ สิ่งที่สำคัญคือขวัญกำลังใจ ยามศึกเรารบ ยามสงบเราก็ต้องช่วยกันพัฒนาดูแลให้กำลังใจกัน การมอบสิ่งของยังชีพจำเป็นต่างเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างขวัญแก่เจ้าหน้าที่ โดยก่อนหน้านี้ทางมูลนิธิฯ ก็มอบให้แก่ทหารหาญพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว และปีนี้กำหนดจะส่งมอบสิ่งของที่ได้รับจากบรรดาศิษย์ผู้ศรัทธาหลวงปู่เกวาลันร่วมกันจัดซื้อ และส่งมอบแก่ทหาร 3 ครั้ง คือครั้งนี้และอีก 2 ครั้งในเดือนกรกฎาคมและพฤศจิกายนนี้ เป็นการช่วยเหลือกัน เป็นพลังน้ำใจของคนไทยที่เป็นเรื่องสำคัญมาก.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น