วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

ปชป.กระทุ้งนายกฯ ปู เลิกเล่นบทหนูไม่รู้ ออกมาชี้แจงแบ่งเค้กเงินกู้บริหารน้ำ 3.5 แสนล้านกับบริษัทข้ามชาติ เมื่อ 27 เม.ย.56



ปชป.กระทุ้งนายกฯ ปู เลิกเล่นบทหนูไม่รู้ ออกมาชี้แจงแบ่งเค้กเงินกู้บริหารน้ำ 3.5 แสนล้านกับบริษัทข้ามชาติ

 "ชวนนท์" แฉข้อมูลในวงสัมมนา ป.ป.ช.มีการโป่งราคาโครงการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเท่าตัว ก่อนหักหัวคิว 50% เบ็ดเสร็จได้เนื้องานจริงแค่ 1 แสนล้าน ภาคประชาชนเคลื่อนไหว เตรียมร้องศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันศุกร์ ถึงการประมูลก่อสร้างโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีการยื่นซองประมูลในวันที่ 3 พฤษภาคมนี้ ว่าพรรคประชาธิปัตย์และภาคประชาชนมีความกังวลว่าโครงการดังกล่าวจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์การป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ตามที่รัฐบาลให้เหตุผลในการขอออกพระราชกำหนดเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทโดยมีข้อสังเกตคือ

 1.โครงการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนเพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ตามที่รัฐบาลอ้างไว้ 

2.การที่ออก พ.ร.ก.เงินกู้ แต่กลับทิ้งเวลาไว้เกือบ 1 ปีครึ่ง จึงมีการดำเนินการ เป็นการส่อเจตนาให้เห็นว่ามีความพยายามหลีกเลี่ยงการตรวจสอบภาคประชาชน หรือรัฐสภา เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทที่เข้ามาดำเนินงาน

 3.ชัดเจนว่าการประเมินงานในโครงการดังกล่าว จะเป็นการจัดการแบบพิเศษ มีการรวมศูนย์ประมูลแบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ส่งผลให้ต่อมาหลายชาติ หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ถอนตัวออกจากการประมูลโครงการ 

และ 4.ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการดังกล่าว อาทิ นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านระบายน้ำ ก็ออกมาเปิดเผยว่าโครงการประมูลงานไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง ไม่มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ หรือสังคม เป็นการมุ่งเร่งรัดขอบเขตของทีโออาร์ให้ง่ายต่อการทุจริต ส่วนนายรอยล จิตรดอน ก็ลาออกจากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เห็นได้ว่าเมื่อถึงขั้นตอนสำคัญในการประมูลงาน 

บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถกลับสละเรือ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ดี เป็นสัญญาณว่ารัฐบาลกำลังจะเอาเงิน 3.5 แสนล้านไปแบ่งเค้กกับบริษัทที่เข้ามารับงานเพียงไม่กี่บริษัท ขณะที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ใดๆ จากการกู้เงินดังกล่าว
    
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เรื่องนี้ควรที่รัฐบาลจะต้องรับออกมาชี้แจงข้อสงสัย ทว่ากลับเงียบเฉย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ทำเหมือนไม่รู้เรื่อง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่รับทราบสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น ขณะนี้ประเทศไทยยังมีพื้นที่ภัยพิบัติภัยแล้ง 49 จังหวัด ตนยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมีแนวทาง หรือโครงการใดลงไปแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน แต่กลับเร่งเรื่องแก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างการประมูลโครงการ เพื่อให้ง่ายต่อการทุจริตคอรัปชั่น
    
"เรื่องที่น่าเป็นห่วง คือมีการเปิดเผยในวงสัมมนาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าในขณะนี้มีการหักค่าหัวคิวโครงการก่อสร้างถึง 50% และที่แย่ไปกว่านั้นคือ มีการโป่งราคาเพิ่มอีกเท่าตัว ก่อนที่จะหักค่าหัวคิว 50% เท่ากับงานภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีการทุจริตสองเท่า คือโป่งราคาเท่าตัว และยังกินหัวคิวด้วย หากคำนวณจากยอดเงินทั้งหมดในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จะพบว่าได้เนื้องานจริงเพียงแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น และหากดำเนินโครงการงบ 2 ล้านล้านบาท จะใช้ในเนื้องานจริง 5 แสนล้านบาท ส่วนอีก 1.5 ล้านล้านบาท จะถูกนำไปทุจริตแบ่งเค้กระหว่างนักการเมืองและผู้รับเหมาก่อสร้าง" นายชวนนท์กล่าว
   
 ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทางเคเบิลทีวีช่องบลูสกาย ถึงการที่นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตประธานคณะกรรมการผันน้ำทางทะเล ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการระบายน้ำ ยื่นหนังสือต่อศาลปกครอง ขอให้คุ้มครองชั่วคราวการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำ และยังยื่นหนังสือต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อขอให้ตรวจสอบคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เพราะพบการกระทำส่อให้เกิดการคอรัปชั่น โดยเฉพาะการออกทีโออาร์ในโครงการดังกล่าวที่ส่อขัดอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต พ.ศ.2546 (UNCAC 2003) ว่า นายอุเทนคงจะต้องมีข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
   
 นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเคยพูดไว้ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับโครงการน้ำ ข้อแรกคือเกาหลีกับจีนประมูลได้ในตอนนั้น แล้วก็มีชื่อญี่ปุ่นเข้ามาด้วย ตนจึงฟันธงว่าสุดท้ายแล้วจะเหลือแต่เกาหลีกับจีน ตามที่มีคนซุบซิบนินทากัน ซึ่งก็เป็นจริง และหากเจาะลึกลงไปในรายละเอียดโครงการทั้งหลาย ก็จะพบว่ามีหลายโครงการที่ยังไม่ผ่านหลายขั้นตอน ก่อให้เกิดปัญหาด้านความโปร่งใส ประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป คือตามกฎหมาย จะต้องกู้เงินภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งเหลือเวลาจากตรงนี้ไปประมาณ 2 เดือนกับอีกไม่กี่วัน จึงคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ที่โครงการทั้งหลายจะมีความพร้อม ถึงขั้นที่จะต้องใช้เงินภายในเดือนมิถุนายนนี้
   
 "ประเด็นก็คือ รัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นคือรัฐบาลพยายามที่จะตีความกฎหมายในทำนองว่าไม่ต้องกู้จริงก็ได้ตามกำหนดการนี้ ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะว่าโดยเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายกู้เงินพิเศษนี้ ก็เป็นกรณีที่ยกเว้นไม่ให้มีการใช้จ่ายเงินตามระบบปกติ โดยอ้างความจำเป็นเร่งด่วน แล้วไปออกพระราชกำหนด" นายอภิสิทธิ์กล่าว และว่า ตอนที่รัฐบาลขอออก พ.ร.ก.กู้เงิน ได้อ้างถึงความจำเป็นเร่งด่วน เป็นเหตุฉุกเฉินเพื่อป้องกันภัยพิบัติ แต่นี่ใกล้จะเข้าหน้าฝนแล้ว ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าสิ่งที่เคยอ้างกับประชาชน และที่เคยอ้างกับศาลเอาไว้นั้น ไม่เป็นความจริงเลย
    
พิธีกรถามถึงกรณีนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก โดยการนำเฟซบุ๊กของนายรอยล จิตรดอน กรรมการ กบอ. ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ ให้เหตุผลถึงการลาออกว่า มีความกังวลในเหตุผลเดียวกับที่ญี่ปุ่นถอนตัว โครงการกู้ 3.5 แสนล้านบาท หลอกศาลรัฐธรรมนูญ หลอกประชาชน โดยใช้เหตุผลน้ำท่วมมาอ้าง แต่ตอนนี้แทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สอดคล้องกับที่ ป.ป.ช.จัดสัมมนา บอกว่าปัจจุบันนี้การทุจริตในโครงการก่อสร้างทั้งหลายพุ่งไปถึง 50% ซึ่งสูงมาก ก็หมายความว่าญี่ปุ่นคงจะกังวลว่า ถ้าหากมาเล่นกับความไม่ชอบมาพากลที่อาจจะเกิดขึ้น ในที่สุดแล้วก็ไม่สามารถที่จะทำงานได้ เพราะเขาเองจะต้องทำอะไรทั้งหลายให้เป็นไปตามกฎกติกาภายในประเทศของเขาด้วย
    
มีรายงานว่า เครือข่ายภาพประชาชน โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) และศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย จะแถลงข่าวคัดค้านการใช้งบประมาณอย่างไม่สุจริตในโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ในวันอาทิตย์ที่ 28 เม.ย.นี้ ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งเปิดเวทีเสวนา ประกอบด้วย นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว. ประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร, รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศในพระบรมราชูปถัมภ์, นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ประเทศไทย และนายปรเมศวร์ มินศิริ 
    
จากนั้นในวันที่ 30 เม.ย. จะยื่นหนังสือคัดค้านแผนจัดการน้ำของ กบอ.ต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว.
ขอบคุณ :: ไทยโพสต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น