วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

ตบหน้ารัฐบาลก่อนตั้งโต๊ะคุยสันติภาพรอบใหม่ 29 เม.ย. 56



"บีอาร์เอ็น" ตบหน้ารัฐบาลก่อนตั้งโต๊ะคุยสันติภาพรอบใหม่ 29 เม.ย. โพสต์ยูทูบยื่น 5 เงื่อนไขการเจรจา ขอ OIC มาเป็นพยาน เรียกร้องปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวพร้อมยกเลิกหมายจับทั้งหมด อึ้ง! "ภราดร" ชมจริงใจกล้าพูด ย้ำเป้าหลักต้องหยุดความรุนแรง "ทวี" เห็นคลิป
รับตกใจ "อดีตเลขาฯ สมช." ชี้เสียมารยาท เชื่อแข็งกร้าวหวังโชว์แนวร่วมในพื้นที่ "ปชป." ซัดเสียค่าโง่โจรใต้
    เมื่อวันอาทิตย์ มีแถลงการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็น หรือแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมาลายูปาตานี เผยแพร่ออกมาผ่านทางคลิปยูทูบ โดยคลิปดังกล่าวปรากฏภาพนายอุต
ตาซ ฮัสซัน ตอยิบ และนายอับดุลการิม คาลิบ ตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่เข้าพูดคุยเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลไทย ในการร่วมกันแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่งอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นภาษามาลายู 
    นายอุตตาซ ฮัสซัน ตอยิบ เริ่มต้นก่อนอ่านแถลงการณ์ด้วยข้อความ อัสลามูอาลัยกุมวาเราะห์มาตุ้ลลอฮฺอิวาบารอกาตุฮฺ (ขอให้สันติสุข ความเมตากรุณาของพระองจงมีแด่ท่าน) พร้อมระบุว่า องค์กรบีอาร์เอ็นคือแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติของชาวมลายูปาตานี ก่อตั้งโดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นแนวร่วมแห่งชาติมลายูปาตานีเพื่อให้ชาวมลายูปาตานีจากทุกชนชั้นในสังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้หนึ่งแนว เป็นนักต่อสู้เพื่อประชาชนปาตานี เพื่อที่จะชาวมลายูปาตานีเป็นอุมมะห์ (ประชาชาติ) ที่มีความสามัคคีและมีความแข็งแกร่ง 
     นายตอยิบกล่าวว่า หลังจากนั้นเราจะได้อิสรภาพ(หรือเสรีภาพ) และสามารถมีการปกครองของพวกเราที่มีความยุติธรรมสูงที่สุด ด้วยเหตุนี้สำหรับประชาชนปาตานีทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายสยาม (ไทย) เชื้อสายมลายู หรือเชื้อสายจีนก็ตาม ประชาชนทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินปาตานี กระผมขอเรียกร้องว่า ทุกท่านไม่จำเป็นต้องตั้งข้อสงสัยหรือเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมนี้ 
    "กระผมคิดว่า แค่นั้นนะครับ คำอธิบายอย่างสั้นๆ จาก บี.อาร์.เอ็น. เกี่ยวกับการต่อสู้ (ขององค์กร) เพื่อมุ่งไปสู่ความยุติธรรมและความเจริญจนถึงก่อตั้งรัฐหนึ่ง ดินแดนที่ดีและพระเจ้าผู้เป็นผู้ให้การอภัย" นายตอยิบกล่าว
BRNยื่น 5 เงื่อนไขเจรจาใต้
    ต่อมาคลิปได้ตัดภาพเป็นตัวหนังสือเขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษ เนื้อหาระบุชื่อนายอับดุลการิม คาลิบ หนึ่งในตัวแทนจากองค์กรบีอาร์เอ็น ในวันที่ 28 มีนาคม และมีภาพนายอับดุลการิม คาลิบ กล่าวว่า ถ้าจะพูดถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปาตานี เราจำเป็นต้องอ้างอิงประวัติศาสตร์ เมื่อปาตานีตกเป็นอานานิคมของสยามเมื่อ ค.ศ.1785 ระบบการ (ปกครองที่) กดขี่ชาวมลายูอย่างโหดร้ายก็เกิดขึ้น ตั้งแต่บัดนั้น ขบวนการปลดปล่อยชาว (bangsa) ปาตานีก็เกิดขึ้น เพื่อปลดปล่อยชาวมลายูปาตานีที่ถูกกดขี่และใช้ชีวิตอย่างทรมานจากการปกครองแบบอานานิคมของสลาม (ขบวนการเหล่านี้เกิดขึ้น) เพื่อมุ่งไปสู่สันติภาพที่แท้จริง 
    จากนั้นมีการเขียนคำถามว่า องค์กร บี.อาร์.เอ็น. มีท่าทีอย่างไรหลังจากการเจรจาในวันที่ 28 ก.พ. ค.ศ. 2013 ที่ผ่านมา โดยนายอับดุลการิม คาลิบ กล่าวตอบว่า เราจะดำเนินการต่อสู้จนถึงกำจัดการปกครองแบบอานานิคมและการกดขี่ของชาวมลายูปาตานี
    คำถามขึ้นข้อความว่า องค์กร บี.อาร์.เอ็น. มีท่าทีอย่างไรต่อการพูดคุยสันติภาพที่จะมาถึงนี้ นายอับดุลการิม คาลิบ กล่าวว่า การพูดคุยจะดำเนินต่อไปโดยมีเงื่อนไข (ต่อไป) 1.นักล่าอานานิคมสยามต้องยอมรับให้ประเทศมาเลเซียเป็นคนกลางผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ไม่ใช่แค่ผู้ให้ความสะดวก (facilitator) 2.การพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างชาว (bangsa) ปาตานี ที่นำโดย บี.อาร์.เอ็น. กับนักล่าอานานิคมสยาม 3.ในการพูดคุย จำเป็นต้องมีพยานจากประเทศอาเซียน องค์กร OIC และองค์กร NGO 4.นักล่าอานานิคมสยามต้องปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมด (ที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง) โดยไม่มีเงื่อนไข 5.นักล่าอานานิคมสยามต้องยอมรับว่า องค์กร บี.อาร์.เอ็น. เป็นขบวนการปลดปล่อยชาว (bangsa) ปาตานี ไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน
    อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากคลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา สื่อต่างประเทศหลายสำนักได้รายงานแถลงการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็นครั้งนี้ รวมทั้งมีการแสดงความคิดเห็นจากทางการไทยและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย
    โดยสำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ถึงความเคลื่อนไหวของตัวแทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ก่อนหน้าการพูดคุยสันติภาพกับผู้แทนรัฐบาลไทยรอบใหม่วันจันทร์นี้ ด้วยว่า บีอาร์เอ็นได้เผยแพร่วิดีโอคลิปถ้อยแถลงการณ์เรียกร้องขอความสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมกับประกาศว่าบีอาร์เอ็นต้องการ "ปลดแอก" จากราชอาณาจักรไทย 
    พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และเป็นหัวหน้าทีมเจรจาสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นของรัฐบาลไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล เพียงแต่เราได้รับฟังความคิดเห็นของเขาว่าต้องการอะไร ซึ่งในวันที่ 29 เม.ย. ที่จะมีการพูดคุยกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ประเทศมาเลเซีย จะมีการสอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว
    พล.ท.ภราดร ยอมรับภาพที่ปรากฏในยูทูบ คือ นายฮัสซัน ตอยิบ ซึ่งเป็นคนที่พูดคุยกับคณะเราเมื่อเดือนที่แล้ว แต่สิ่งที่นายฮัสซัน ตอยิบ มาสื่อผ่านยูทูบนั้น แต่ในการพูดคุยกับเรายังไม่ได้สื่ออะไรออกมา ดังนั้น เราจะต้องไปสอบถามถึงการที่กลุ่มบีอาร์เอ็นสื่อออกมาในยูทูบมีความหมายอย่างไร
'สมช.'ชมจริงใจกล้าพูด
    “เรื่องนี้อย่าไปกังวล 5 ข้อที่บีอาร์เอ็นเสนอมา เราก็จะต้องรับฟังไปก่อน เรื่องนี้จะต้องมีการพูดคุยกันบนโต๊ะ และเราก็จะต้องกลับมาหารือกับฝ่ายเรา และพี่น้องประชาชน สิ่งที่บีอาร์เอ็นเสนอ และ พี่น้องประชาชนยอมรับได้หรือไม่ ก็จะต้องมาฟังเสียงจากประชาชน เพราะขณะนี้เสียงของประชาชนดังก้องหูผมอยู่ ขอยืนยันการพูดคุยผมจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ต้องรับทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน แต่ผมมองว่าอย่างน้อยบีอาร์เอ็นก็มีความจริงใจที่กล้าพูดกล้าแสดงออกมาในลักษณะแบบนี้ เพราะดีกว่าต่างฝ่ายต่างไปจินตนาการกันเอาเอง
    ถามว่า บีอาร์เอ็นบอกว่าการสู้รบจะมีต่อไปจนกว่าจะได้รับความยุติธรรม เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ฝ่ายปฏิบัติก็จะต้องเข้มแข็งในการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ให้เกิดความสงบสุข ซึ่งการพูดคุยบนโต๊ะระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ไทยยังเสนอการลดความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะถือเป็นหัวใจหลักที่เรายังให้มีการหยุดความรุนแรง
    "เราจะยึดหลักพูดคุยตามเจตนารมณ์ที่ลงนามร่วมกัน เพราะเจตนารมณ์คือประเทศมาเลเซียอำนวยความสะดวกเท่านั้นจะไปยกระดับได้อย่างไร ในเมื่อเจตนารมณ์ของประเทศมาเลเซีย ก็ยังยอมรับในเรื่องที่จะอำนวยความสะดวก ไม่ได้เป็นตัวกลางตามที่บีอาร์เอ็นเสนอ ยืนยันว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย" เลขาฯสมช.กล่าว
    พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า รู้สึกหนักใจกับคลิปดังกล่าว แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่าการพูดคุยตลอดมาเป็นการสมัครใจ ไม่ได้ถูกมาเลเซียบังคับตามที่เป็นข่าว นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ ที่ยังเลือกใช้ความรุนแรงอยู่ เนื่องจากบุคคลที่ปรากฏในคลิปพร้อมกับนายฮัสซัน ตอยิบ เป็นหัวหน้าเปอร์มูดอ ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
    นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในตัวแทนคณะพูดคุยฝ่ายไทยกับบีอาร์เอ็น กล่าวว่า การที่เขายื่นข้อเสนอออกมาด้วยการลงบนเว็บไซต์ยูทูบ เพราะต้องการเปิดหน้าแสดงตัว ถือเป็นการรุกทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาเขาไม่ยอมเปิดเผยตัว และไม่มีพื้นที่ในการยื่นข้อเสนอ แต่พอมีกระบวนการเจรจา เขายอมเปิดเผยข้อเสนอต่อสังคมอย่างนี้ ตรงนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เท่ากับเขาเปิดรับและยอมรับกระบวนการเจรจาที่เกิดขึ้น
    นายศรีสมภพกล่าวว่า ข้อเสนอต่างๆ ที่เรียกร้องทั้ง 5 ข้อ ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เราพอได้ยินมาบ้างแบบไม่เป็นทางการ แต่พอทราบว่ามีประเด็นเหล่านี้ และเราก็ระมัดระวังในการพูดคุย แต่เมื่อเขาเสนอมาแบบนี้ก็จะต้องไปนั่งคุยกัน 
    "ผมมองว่าการที่เขายื่นข้อเสนอก่อน ทั้งๆ ที่การเจรจาสันติภาพจะเกิดขึ้นในวันที่ 29 เม.ย.ไม่น่าจะใช่การกดดันฝ่ายรัฐ เพราะเราก็ทราบดีอยู่แล้วในส่วนของรัฐเองว่าเขาอาจมีเสนอในลักษณะนี้ และการที่เขาออกมายื่นก่อนจะคุยก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เรารู้ว่าจะต้องนำเรื่องดังกล่าวไปสอบถามในวันที่ 29 เม.ย." นักวิชาการผู้นี้ระบุ
'ถวิล'ซัดเสียมารยาท
    ขณะที่ นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายข้าราชการประจำ ในฐานะอดีตเลขาฯ สมช. แสดงความกังวลว่า ทั้ง 5 ข้อที่มีการเสนอออกมา อย่าพูดเลยว่ารับได้หรือไม่ได้ ตั้งแต่ภาษาที่ใช้แล้ว และขัดกับมารยาทของการพูดคุย เพราะมีกำหนดจะพูดคุยกันในวันที่ 29 เม.ย. ทั้งๆ ที่จะพบกันอยู่แล้ว แต่ทำไมไม่ไปพูดกันบนโต๊ะ 
    "ผมมองว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการเร่งจังหวะ และความไม่พร้อมที่จะพูดคุย พอเร่งจังหวะก็ต้องถามว่าบีอาร์เอ็นพร้อมจะมาพูดคุยกับเราหรือไม่ คิดว่าเขาไม่พร้อม พอไม่พร้อมแล้ว เราเองคล้ายๆ จะไปง้อให้เขาคุย เลยกลายเป็นว่าเขาก็สร้างเงื่อนไขต่างๆ ที่ออกมา" นายถวิลกล่าว 
    อดีตเลขาฯ สมช. ตั้งข้อสงสัยว่า ข้อเสนอที่ออกมาอย่างไม่คาดคิดมาก่อน และค่อนข้างเอิกเกริก เป็นไปได้หรือไม่ว่าทางนายฮัสซัน ตอยิบ กำลังไม่ได้รับความเห็นชอบจากในพื้นที่ เพราะในพื้นที่ยังคงอุดมการณ์ในการต่อสู้อยู่ ขณะที่นายฮัสซัน ตอยิบ รวมถึงคนที่อยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่มาพูดคุยกับเรา ถ้าไม่ยอมทำตามในพื้นที่ หรือไม่มีท่าทีแข็งกร้าวเหมือนกับในพื้นที่ ก็อาจจะต้องสูญเสียการนำไปเลย โดยเฉพาะกลุ่มอาร์เคเคอาจจะตั้งเงื่อนไขว่าเขาไม่พร้อมเจรจา ยังคงอุดมการณ์การต่อสู้และการแก้แค้นของเขาอยู่
    นายถวิลกล่าวว่า การใช้คำว่า“นักล่าอาณานิคมสยาม” ไม่ใช่วิสัยของคนที่จะพูดคุย แต่เหมือนกับการโจมตีกันเลย อย่างไรก็ตาม คิดว่าการพูดคุยเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่หากยังไม่พร้อม เป็นการบังคับ หรือมีการกดดันต่างๆ ให้มาพูดคุยก็จะไม่ได้ผล นอกจากนี้ อีกจุดคือ วิธีการคุย การคุยเสียงดังแบบที่ผ่านมาทำให้ทุกคนถอยกันไม่ได้เลยคุยกันยาก
    "หลักการที่ผ่านมาถูกต้อง แต่วิธีการผิด และปล่อยให้ปัจจัยข้างนอกเข้ามาบงการและใช้ชี้นำมากจนเกินไป ไม่เป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น ผลที่ออกมาเลยเป็นแบบนี้ ซึ่งหากผมเป็นผู้เจรจา แล้วออกมาอย่างนี้ผมจะขอเลื่อนการเจรจา เพราะถือว่าไม่รักษาหน้า ไม่ให้เกียรติกัน และรัฐไทยเราผู้ที่รักษากฎหมายในพื้นที่เขาก็ปิดล้อมจับกุม ก็ทำได้ดีอยู่ พยายามทำเต็มที่ภายใต้กฎหมาย ก็ไม่มีใครมาว่าอะไร ฉะนั้นเราไมได้เสียเปรียบ ไม่ได้หมดท่าหรือหมดน้ำยาจนต้องมาขอพูดคุย ยอมในเงื่อนไขทุกอย่าง ผมเห็นว่ายังไม่ถึงขนาดนั้น" อดีตเลขาฯ สมช.กล่าว
    ด้าน นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยเตือนรัฐบาลมาตลอด การไปปั่นข่าวผ่านสื่อว่ามีการเจรจาสันติภาพของเลขาฯ สมช.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทนที่จะหารือนอกรอบเพื่อให้ได้ข้อยุติเบื้องต้นใดๆ ก่อน เป็นเรื่องอันตราย แต่รัฐบาลกลับไปตีปี๊บผ่านสื่อ เพื่อยกระดับให้ความสำคัญกับคนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ 
    "เราเตือนแล้วว่าจะมีการฉวยจังหวะและยกระดับเรื่องนี้เป็นเรื่องสู่เวทีนานาชาติ และมีการเอาองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง กลายเป็นว่าปัญหาภายในกิจการของไทย ต้องไปให้คนนอกมาเกี่ยวข้องกระทบถึงอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงในหลายเรื่องที่จะตามมา ต้องบอกว่าเลขาฯ สมช.อ่อนหัดและโง่มาก ในสิ่งที่แสดงออกมา วันนี้รัฐบาลเสียค่าโง่ เสียรู้ทั้งในเวทีการเจรจาและในเวทีสื่อที่ตัวแทนผู้ก่อการรู้จักใช้สื่อมาบีบบังคับฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทยให้ต้องเดินตามเกมของเขา มีทางเดียวเท่านั้นคือ หากจะยังเดินหน้าในการเจรจาต่อคือ ต้องทบทวนวิธีการและยุทธศาสตร์ในการเจรจาว่าจะพูดคุยอย่างไร" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น