|
|
รายงานการเมือง
เกือบสองเดือนกับการเดินหน้าเจรจาสันติภาพกับกลุ่มบีอาร์เอ็นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อาจนับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เพิ่มความเสี่ยงให้กับทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และประชาชนในพื้นที่มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะผลที่ตามมาหลังจากการลงนามของรัฐบาลที่ประเทศมาเลเซีย แทนที่ความรุนแรงจะทุเลาเบาบางลง กับมีปฏิกิริยาโต้กลับที่ดุเดือดและรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม จากกลุ่มปฏิบัติการตัวจริงในพื้นที่ โดยผู้นำรัฐบาลท่องอยู่คาถาเดียวคือ “เป็นช่วงรอยต่อ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเจรจา ส่วนความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็มีทุกวันอยู่แล้ว”
อาจนับได้ว่า เป็นวิธีคิดที่เลือดเย็นอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับนายกรัฐมนตรีหญิงอย่างยิ่งลักษณ์ มิได้ให้คุณค่าต่อชีวิตและลมหายใจของประชาชน มากไปกว่าการมองว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นเหตุปกติในชีวิตประจำวันของคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งๆ ที่นโยบายรัฐบาลชุดนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนในพื้นที่
การเจรจาสันติภาพที่รัฐบาลไม่ยอมรับ แต่พลิกลิ้นอ้างว่าเป็นเพียงการพูดคุยสันติภาพ ทั้งที่ตีฆ้องร้องป่าวไปทั่วโลกใช้การตลาดมานำหน้าความมั่นคง จัดพิธีลงนามกันอย่างเอิกเกริกเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 56 ที่ผ่านมา มีความชัดเจนมากขึ้นว่าหลังการพูดคุยกันสองครั้ง ฝ่ายรัฐบาลไม่เพียงกลับมามือเปล่า แต่ยังเพิ่มเชื้อไฟที่ปลายด้ามขวานด้วย
จะเห็นได้ว่ากลุ่มปฏิบัติการในพื้นที่เริ่มแสดงออกอย่างชัดเจนมากขึ้น ทั้งติดป้ายประท้วง สังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อสะท้อนถึงการไม่ยอมรับวิธีการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ อีกทั้งยังเป็นตัวฟ้องด้วยว่า คนที่รัฐบาลอ้างว่าเป็น “ตัวจริง” ในการก่อความไม่สงบในพื้นที่นั้น ไร้น้ำยาที่จะหยุดยั้งความรุนแรง
จึงเกิดคำถามว่า แล้วรัฐบาลจะเดินหน้าต่อทำไม?
คำตอบของพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ว่า “วันนี้เรามั่นใจว่าคุยกับตัวจริง แต่สมมติว่าไม่ใช่ตัวจริง และมีการก่อเหตุเพิ่มขึ้นก็จะทำให้เรารู้ว่ามีอีกกี่กลุ่มที่ต้องเข้าไปพูดคุย ส่วนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ”
เป็นคำตอบที่ไม่ต่างอะไรจากการทดลองนโยบายไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่าความสูญเสียจะเพิ่มจากความผิดพลาดในเชิงนโยบายหรือไม่ เพราะฟันธงไปเสียแล้วว่าจะมีการพูดคุยหรือไม่ก็ต้องมีคนตายเป็นปกติ ดังนั้นการเพิ่มความเสี่ยงให้ตายมากขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องนำมาเป็นปัจจัยในการกำหนดนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
รัฐบาลชุดนี้นอกจากมอบให้ “รองนายกฯ ขี้เมา” มาดูแลแล้ว ยังมีเลขา สมช.ที่ทำงานด้วยปากมากกว่าสมองด้วย ในขณะที่คนเป็นนายกฯก็โง่และใจดำเกินกว่าที่จะคิดทบทวนเพื่อรักษาชีวิตประชาชน เพราะคิดแต่จะรักษาหน้าให้กับตัวเองและพี่ชายนักโทษที่อยู่เบื้องหลังการนำชีวิตคนใต้เข้าสู่คิลลิ่งโซน
ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก การเจรจาสันติภาพที่รัฐบาลคุยแต่ผู้ก่อความไม่สงบฆ่าไม่เลือก ยังเช็ดคราบเลือดกันไม่หมด พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. ก็เตรียมที่จะประกาศรายชื่อผู้ก่อการร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ล็อตแรก 100 คน โดยอ้างว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่
แม้การกระทำดังกล่าวจะมีผลมาจากพระราชบัญญัติต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯ ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อไม่นานมานี้ และจะมีการใช้รายชื่อตามหมายจับเดิมที่มีอยู่กว่า 4 พันรายเป็นตัวตั้ง เพื่อแบนหรือให้เป็นบุคคลต้องห้ามทำธุรกรรม หรือที่เรียกว่า แซงก์ชันลิสต์
คำถามที่ตามมาทันทีคือ มาตรการนี้จะไปโหมกระพือให้ไฟใต้ลุกโชนมากขึ้้นหรือไม่
เพราะหากเทียบกับวิธีการในยุคทักษิณ ก็แทบไม่แตกต่างกับการขึ้นบัญชีดำผู้มีอิทธิพล หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จนนำไปสู่การฆ่าตัดตอน และการใช้อำนาจรัฐกดดันฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองให้สยบยอมอยู่ใต้อุ้งตีนของตัวเอง
อย่าลืมว่าในยุคทักษิณเคยใช้ ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงินฝ่ายที่มีความเห็นต่างมาแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีกฎหมายรองรับด้วยซ้ำไป
การประกาศรายชื่อผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ภาคใต้ของ ปปง.ครั้งนี้ จะสร้างความมั่นใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีการกลั่นแกล้งหรือหวังผลในทางการเมือง เหมือนที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต
เพราะหากไม่มีการพิสูจน์อย่างชัดแจ้งว่าบุคคลที่ถูกประกาศชื่อเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ก็จะเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน และสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นแรงเหวี่ยงผลักประชาชนออกจากรัฐมากขึ้น หากมีการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่าเมื่อมีการประกาศรายชื่อไปแล้ว หากผู้ที่ได้รับผลกระทบเดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่เคลียร์ตัวเองให้พ้นจากการแซงก์ชั่น เขาจะไม่ถูกอุ้มฆ่า เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงที่นักโทษชายทำสงครามกับยาเสพติดจนมีผู้สังเวยชีวิตไปกว่า 2,500 ศพ
“ยืนยันว่าการประกาศรายชื่อผู้ก่อการร้ายจะไม่ส่งผลกระทบกับการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น และการประกาศในครั้งนี้ไม่คิดว่าจะเพิ่มความรุนแรง หรือกระพือไฟใต้ เพราะถึงอย่างไรก็คงต้องมีการก่อเหตุร้ายอยู่แล้ว ขณะนี้เราไม่มีอะไรที่เลวร้ายมากไปกว่านี้ เราจะต้องดำเนินการตามกฎหมายให้ชัดเจน ถ้าไม่ทำจะถูกตอบโต้จากต่างประเทศ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย”
คำกล่าวของ พ.ต.อ.สีหนาท ไม่แตกต่างอะไรไปจากวิธีคิดของ พล.ท.ภราดร คือมองว่าการก่อเหตุร้ายมีเป็นปกติอยู่แล้ว ดังนั้นไม่ว่าจะเพิ่มนโยบายหรือมาตรการอะไรที่เสี่ยงต่อการเพิ่มความรุนแรงก็ไม่ต้องแคร์ โดยอ้างว่าไม่มีอะไรเลวร้ายมากไปกว่านี้อีกแล้ว
“ไม่มีอะไรเลวร้ายมากไปกว่านี้อีกแล้ว” คำพูดนี้อาจจะจริง เพราะปลายทางของการนำแนวทางเจรจาสันติภาพมาใช้ก็คือ รัฐปัตตานี หรือ การตั้งเขตปกครองพิเศษ ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยไม่มีด้ามขวานอีกต่อไป
ถ้าคิดถึงตรงนี้ก็จริงที่ว่า “ไม่มีอะไรเลวร้ายมากไปกว่านี้อีกแล้ว” หรือถ้าจะจริงไปกว่านั้นก็คือ “ไม่มีอะไรเลวร้ายเท่ากับการมีรัฐบาลยิ่งลักษณ์บริหารประเทศ”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น