วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

'พระลูกเศรษฐีมาเลย์'ปฏิเสธรับมรดก9.5 พันล้าน บวชศึกษาธรรมมะที่เมืองกาญจน์ เมื่อ 27 เม.ย.56



'พระลูกเศรษฐีมาเลย์'ปฏิเสธรับมรดก9.5 พันล้าน บวชศึกษาธรรมมะที่เมืองกาญจน์
 
เผยพระลูกเศรษฐีมาเลย์ ปฏิเสธรับมรดกมูลค่ากว่า 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เฟซบุ๊กนาม 'สาขาวัดหนองป่าพง' โพสต์รูปคู่พระพรหมคุณาภรณ์ยืนยัน ระบุอยู่ที่กาญจนบุรี

25เม.ย.2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่เฟซบุ๊กนาม"พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง" ได้รายงานข่าวจากภาคภาษาจีนโดยอ้างอิง Fanpage:New Heart New World ความว่า "พระอาจารย์สิริปันโน (Ajahn Siripanno) ลูกชายคนเดียวของมหาเศรษฐี ที. อนันดากริชนัน (Tan Sri Ananda Krishnan) ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญสุนทานชาวศรีลังกาเชื้อสายทมิฬซึ่ง Forbes จัดอันดับความรวยเป็นอันดับ 2 ของมาเลเซียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยครอบครัวนี้มีลูกสาว 2 คน และมีลูกชายเพียง 1 คนคือ พระอาจารย์สิริปันโน จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษและสามารถพูดได้ถึง 8 ภาษา

พระอาจารย์สิริปันโน ได้เลือกที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อ 18 ปีที่แล้วและไม่เคยมองย้อนกลับมาอยากใช้ชีวิตฆราวาส โดยปฏิเสธโอกาสที่จะทำงานเพื่อเข้ามาดูแลและขยายอาณาจักรธุรกิจของบิดารวมทั้งปฏิเสธที่จะรับมรดกของครอบครัวซึ่งมูลค่าราว 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ  แต่กลับเลือกเดินบนเส้นทางของการเจริญสมาธิภาวนาตามแนวปฏิบัติสายพระป่าของไทย โดยเป็นลูกศิษย์สายพระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) แห่งวัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี" นั้นได้มีประชาชนอนุโมทนาและแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากอย่างเช่น"นี่คือเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา"

  ขณะเดียวกันเฟซบุ๊กนาม "สาขาวัดหนองป่าพง"  ได้เผยแพร่ข้อมูลของพระอาจารย์สิริปันโนพร้อมรูปถ่ายยืนยัน และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ปัจจุบันท่านจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์เต่าดำ จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นสาขาของวัดป่านานาชาติ"

 และเป็นที่น่าสังเกตก็คือว่ารูปถ่ายที่เฟซบุ๊กนาม "สาขาวัดหนองป่าพง"โพสต์ประกอบนั้นเป็นรูปที่ถ่ายคู่กับพระพรหมคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และพระอาจารย์ชยสาโร ด้วยบรรยากาศนั่งที่หน้ากุฏิเก่าๆ ซึ่งความจริงแล้วภาพนี้ได้มีการเผยแพร่ผ่านมาสังคมออนไลน์นานพอสมควรและประชาชนส่วนใหญ่มุ่งความสนใจไปที่พระพรหมคุณาภรณ์เพราะอยู่ในบรรยากาศดังกล่าว โดยไม่ได้สนใจว่าพระที่นั่งอยู่ข้างๆอีกรูปหนึ่งนั้นเป็นใคร จนกระทั้งเฟซบุ๊กนาม "สาขาวัดหนองป่าพง"ได้เผยแพร่รูปนี้จึงทำให้ทราบ

ความจริงแล้วชาวต่างประเทศสนใจเข้ามาบวชพระในสังกัดวัดหนองป่าพงเป็นจำนวนมากอย่างเช่นข้อความที่เฟซบุ๊กนาม "สาขาวัดหนองป่าพง"นำมาโพสต์เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมาความว่า

"ปัจจุบันชาวต่างชาติได้หันมาสนใจในพุทธศาสนากันมากขึ้นจนกระทั่งวัดกว่า 300 สาขาสายหนองป่าพงทั่วโลกไม่เพียงพอต่อความต้องการบวชเรียนของผู้คนที่แสวงหาทางพ้นทุกข์ด้วยวิธีนี้กัน ซึ่งปัจจุบันมีผู้เตรียมบวชในต่างประเทศมากกว่าจำนวนวัดที่จะรองรับได้

  พระอธิการเฮนนิ่ง เกวลี ชาวเยอรมัน เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ในช่วงงานอาจาริยบูชาหลวงพ่อชา สุภัทโท 12-16 มกราคม 2556 ที่ผ่านมาท่ามกลางพระกว่าพันรูปซึ่งเป็นศิษยานุศิษย์หลวงพ่อชาที่เดินทางมาจากทั่วโลก และประชาชนเรือนหมื่นที่มาปักกลดกางเต็นท์ปฏิบัติบูชากันเต็มวัดในทุกพื้นที่ ว่าการที่ท่านพบแก่นธรรมคำสอนจากพระพุทธเจ้าที่แท้จริงทางภาคอีสานของประเทศไทยทำให้ท่านเปลี่ยนไปอย่างไร และพุทธศาสนาได้ช่วยเหลือผู้คนให้พบกับความสงบเย็นได้มากเพียงใด...

 "อาตมาขอโอกาสพูดในฐานะที่เป็นผู้ใหม่ในศาสนา และในฐานะที่อยู่ร่วมกับลูกศิษย์พระเดชพระคุณหลวงพ่อชา สุภัทโท แม้ไม่ได้เจอหลวงพ่อชา เพราะอาตมาบวชไม่ทันที่จะเจอท่าน แต่ครูบาอาจารย์ชาวต่างประเทศหลายรูปที่ได้บวชหลังจากที่พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) ได้บุกเบิกทางแล้ว ก็ยังมีโอกาสอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติโดยตรง ยังมีโอกาสอุปัฏฐากท่านประมาณ 10 ปี อาตมามาทีหลัง ช่วงที่พระราชทานเพลิงศพเรียบร้อยแล้ว ยังถือว่า มีความโชคดีที่ได้เจอคำสั่งสอนของท่าน และได้เจอครูบาอาจารย์ลูกศิษย์ของท่าน ที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของอาตมา คือพระราชภาวนาวิกรม (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธมฺโม)เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน

 อาตมารู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ได้บวชเรียนที่นี่เพราะว่า เรื่องข้อวัตรปฏิบัติ เรื่องรูปแบบ คำสั่งสอนของหลวงพ่อชารู้สึกว่ายังมีทางที่จะเข้าถึงได้ เพราะมีหลายคนมาช่วยกันรักษาไว้ อาตมากำเนิดมาจากประเทศเยอรมนี ในต่างประเทศอีกหลายแห่งจะหารูปแบบที่เจอในประเทศไทยนี้ไม่ได้

ประเทศของอาตมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม เป็นประเทศที่เขาว่าเจริญ และเน้นทางด้านการศึกษาทางโลก แต่ละคนที่เป็นญาติพี่น้องทางโน้นมีความรู้สึกต่อชีวิตของตัวเองเหมือนคนอื่นๆ ทั่วโลกคือ เราพัฒนาความสงบเย็นเหมือนกัน แต่จะทำอย่างไรถ้าเราไม่มีวิธี ไม่มีส่วนรวมที่จะร่วมมือ ร่วมกำลังได้ก็อาจจะยาก ทางศาสนาเดิมของอาตมา คือศาสนาคริสต์ ก็สอนความดีให้คนบำเพ็ญเมตตาจิตพอสมควร ส่วนหนึ่งก็เข้าถึงวัฒนธรรมของชาวตะวันตกได้ทุกที่ เสมือนคำสอนของพระพุทธองค์เข้าถึงวัฒนธรรมของชาวเอเชีย ชาวไทย แต่ถ้าชาติไหน สังคมไหน ไม่รักษาต้นฉบับ ทางที่จะเข้าถึงสิ่งที่ทางศาสนาสอน ก็อาจจะหายาก

 ช่วงนี้ที่อาตมาอยู่ในผ้าเหลืองมาสิบกว่าปีในประเทศไทย รู้สึกว่าเจอรูปแบบที่ดีที่เป็นต้นฉบับให้พวกเราทั้งหลายได้ ในขณะที่เรารักษาข้อวัตรปฏิบัติ รักษาพระธรรมและพระวินัย โดยความเคารพต่อการนับถือ และลงมือในการเสียสละในการรักษาไว้ โดยใจเอื้อเฟื้อ ใจบุญ ด้วยใจเสียสละ

ในสังคมเดิมของอาตมา หลายคนก็อยากจะทำเหมือนกัน แต่หลายคนก็เจอปัญหาชีวิต เช่นความทุกข์ก็ต้องปรากฏขึ้น ที่จะเกี่ยวข้องอย่างชัดเจนต้องอาศัยการช่วยกัน และหาวิธี ถ้าเป็นลักษณะที่แต่ละคนต้องหาทางเองก็ลำบาก เราทั้งหลายก็ถือว่าโชคดี อาตมาก็รวมอยู่ในคนโชคดี ที่ยังได้เจอทางที่สมบูรณ์แบบที่มีการรักษาไว้ ก็เช่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่า วิธีการปฏิบัติในสายวัดป่าอาจจะเป็นเรื่องของสมัยก่อน แต่ว่า หากมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เราสามารถตอบคำถามกับคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เข้าใจได้ ถ้าปฏิบัติอยู่ เราก็อธิบายได้ เพื่อคนรุ่นหลังจะได้มีวิธีเช่นนี้อยู่ ถ้าไม่ปฏิบัติก็น่าเสียดายว่า หลักเดิมที่มีการตรวจสอบ มีการทดลองมาพอสมควร ค่อยๆ จะหายไป

ถ้าเรามีหลักอันเดียวกัน และจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน ก็ทำให้เราเกิดกำลังด้วย ในสังคมเมืองนอกไม่ได้เน้นเรื่องสามัคคีเท่าไหร่ แล้วรูปแบบที่เคยมีเมื่อก่อน บางส่วนก็หายไปแล้ว เป็นสังคมที่แต่ละคนต้องหาทางเอง แต่ละคนต้องคิดเอง ต้องมีความสร้างสรรค์เป็นพิเศษเฉพาะตัว และกว่าจะได้เจอหลักที่เป็นสากลอาจจะใช้เวลานาน อาจหลงทางเป็นบางช่วง อาจทำสิ่งที่ผิดแล้วแก้ไขได้ยาก ก็ขาดหลักความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต

 ในขณะเดียวกัน แต่ละคนที่ประสบความสำเร็จโดยลำพังก็มีความภาคภูมิใจเหลือเกิน ที่ทำให้เกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น เด็กเมืองนอกถ้าเขาได้ตอบปัญหาที่ครูตั้งให้ถูกต้อง โดยไม่ได้ดูหนังสือ ไม่ได้ท่อง แต่คิดเอาเอง เขาจะมีความภาคภูมิใจ เขามีความฉลาด สามารถที่จะหาทางเองก็ดี สำหรับคนที่ฉลาดพอ คนที่มีปัญญาพอ ก็หาทางเองได้ บางคนก็อาจจะหลง ไปสู่ทางที่เขาต้องการเองไม่ได้

ถ้าเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรม มีหลักจริงๆ ก็มีเครื่องแบบ มีเครื่องมือให้คนได้อยู่กัน เป็นผาสุก สงบเย็น แต่สังคมที่เน้นเรื่องความหลากหลาย เน้นเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง อาจจะไม่สามารถหาจุดที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกันง่ายๆ อาจเกิดความตึงเครียดขึ้นในจิตใจของคน

อาจจะเป็นเพราะคนส่วนหนึ่งได้ทิ้งรูปแบบเก่าที่เคยมี เช่นทางศาสนาที่เป็นจังหวะของชีวิตคน ที่เคยซึมซับอยู่ในชีวิตประจำวันของคนแต่ก่อน สังคมคริสต์ก็มี เช่น วันอาทิตย์ทางคริสต์ศาสนาให้หยุดทำงาน ไม่ใช่ว่าเพื่อจะได้ขี้เกียจ ไม่ทำอะไร แต่เพื่อจะได้ประกอบศาสนกิจ คือมีการหยุดเพื่อจะได้ไม่ต้องไปมีกิจกรรมทางโลก แต่ให้หันหน้าสู่จิตใจของตนเอง โดยคนที่ได้สัมผัสเห็นประโยชน์ว่า ได้ผ่อนคลายและมีโอกาสที่จะวางสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เกิดความกังวลได้ลง

 แต่ปัจจุบัน โบสถ์ในคริสต์ศาสนาที่เคยมีอยู่ทุกหมู่บ้านที่เราเห็นปัจจุบันเป็นวัตถุโบราณ ค่อนข้างจะร้างและบาทหลวงก็เหลือน้อย เป็นอาชีพที่เขาว่าล้าสมัย รูปแบบนี้คนก็ไม่เอา อันนี้อาจจะมีสาเหตุหลายอย่าง เรื่องคำสั่งสอนก็มีส่วน อันนี้พูดในฐานะที่ตัวเองเป็นผู้เปลี่ยนศาสนาจากคริสต์มาเป็นพุทธ แต่ว่าโดยทั่วไป ถ้าเราดูหลักที่ศาสนาสอน เรื่องความดี การเอื้อเฟื้อต่อกัน คริสต์ศาสนาก็ไม่ผิดกันกับพุทธศาสนา เพราะมาปรากฏชัดในสังคมที่มีหลักจริงๆ เขาก็จะปฏิบัติตามนี้ แล้วก็มีวิธี จังหวะ การแบ่งเวลาให้

อันนี้เป็นสิ่งที่อยากให้สำนึกถึงว่า ถ้าศาสนามีรูปแบบในการจัดการชีวิตที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราจริงๆ มันเป็นประโยชน์แก่เรา แล้วเราจะหาจุดยืนของเราได้อย่างดี ถ้าทิ้งหลักนี้ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในเมืองนอกแล้ว เป็นลักษณะว่าของใครของมัน ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ในอนาคตอาจจะไม่เหลือมากเท่าไหร่ ซึ่งถ้าเราเห็นภาพอันงดงามของคนที่ตั้งใจปฏิบัติร่วมกัน รักษาระเบียบ เห็นประโยชน์ต่อผลกระทบต่อจิตใจของเราเองด้วย เราควรจะรักษาไว้และส่งเสริมต่อ ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องการด้วยในสังคมของเราถ้าคนไทยไม่รักษาไว้ก็หายได้

อาตมามาจากสังคมที่ศาสนาหายไป แต่ยังเจอทางพุทธศาสนาที่เป็นต้นฉบับสมบูรณ์ ทำให้เราเห็นทางสำหรับตัวเองในประเทศไทยนี้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้สอนอย่างชัดเจน และเข้าถึงจิตชาวพุทธในประเทศไทยโดยไม่รู้สึกตัว ถ้าคนไทยไม่รักษาไว้ก็หายได้เหมือนกัน เพราะเป็นการสอนที่มีการปฏิบัติที่ลึกมาก อย่างเช่น เราไปบิณฑบาตกันทุกเช้า อาจจะเปลี่ยนไปได้ ถ้าไม่ระวัง

พระบางทีไม่ได้บิณฑบาตด้วยการเดิน แต่นั่งรถ บางทีนั่งรถอยู่แล้วให้โยมมาใส่บาตรที่รถ อันนี้จะทำให้ต้นฉบับหายไปได้ วิถีชีวิตก็จะเปลี่ยนไปพอสมควร เพราะการบิณฑบาต เรามีส่วนเกี่ยวข้องกันในเรื่องความอ่อนน้อมถ่อมตนทุกเช้า มีอิทธิพลต่อเราพอสมควร ถ้าเป็นพระไม่ต้องบิณฑบาต มาเรียนหนังสืออย่างเดียว นั่งสมาธิอย่างเดียว ต้นฉบับจะหายไป

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา อาตมาโชคดีได้ไปร่วมการประชุมกับองค์ดาไลลามะ ประมุขสายทิเบตที่อินเดีย ทางโน้นเอง ท่านไม่อยากเรียกว่าสายทิเบตเท่าไหร่ ท่านบอกว่า พุทธะไม่ได้ขึ้นอยู่กับชาติ การเรียกว่า พุทธศาสนาไทย พุทธศาสนาทิเบตเป็นเรื่องชาตินิยม แต่จริงๆ แล้ว ควรเรียกว่า พุทธภาษาสันสกฤตจากมหาวิทยาลัยนาลันทา และของเราก็เป็นพุทธภาษาบาลี อาตมามีความซึ้งใจมากที่มีการเกี่ยวข้องกับชาวพุทธคนละอย่าง ทำให้เข้าใจอะไรมากขึ้น

เมื่อก่อนอาตมา เปรียบเทียบพุทธกับคริสต์ศาสนาในสังคมตะวันตก ก็เป็นอย่างหนึ่ง แต่พอมาเทียบระหว่างพุทธด้วยกันในเอเชีย ทำให้เปลี่ยนมุมมอง เกิดความรู้ใหม่ เห็นว่า เราโชคดีได้เจอสายพระป่า และได้รับการถ่ายทอดจากครูบาอาจารย์ที่เป็นศิษย์หลวงพ่อชา ในภาพรวมที่เป็นต้นฉบับจากพุทธกาลที่สืบทอดมาโดยพระป่าของเราควรอนุรักษ์จริงๆ เพราะจะเป็นเครื่องมือให้อีกหลายรุ่นได้ใช้สะดวก

 คุณธรรมขององค์ดาไลลามะ เน้นเรื่องเมตตา กรุณา ซึ่งเป็นพรหมวิหารสายโพธิสัตว์ คุณธรรมนี้เป็นใหญ่เช่นเดียวกับคริสต์ศาสนา ในตะวันตกพุทธสายนี้จึงเป็นที่รู้จักและมีผู้ปฏิบัติตามมากมาย

 องค์ดาไลลามะได้พูดถึงหลักของศาสนาพุทธควรเน้นอะไรในปัจจุบัน ในสังคมอุตสาหกรรม สังคมที่เจอปัญหานานัปการซึ่งห่างเหินจากจิตวิญญาณพอสมควร ตามที่ท่านได้สัมผัสอยู่เมืองนอก อยู่นอกประเทศของท่าน ซึ่งสังคมเมืองนอกห่างจากจิตใจของตัวเอง เน้นรูปธรรม วัตถุสิ่งของ แต่ตัดเรื่องจิตใจออกไป ทางพุทธศาสนา เน้นเรื่องคุณธรรมด้านจิตใจ ทำอย่างไรจึงจะโปรดโลก ช่วยโลก ท่านก็มองด้วยสายตามหายาน มองชนทั้งหลายเป็นใหญ่ พูดในอุดมการณ์ของพุทธศาสนา

จริงๆ ก็เข้ากับหลักของเราได้ดี ท่านเน้นเรื่องหลักแท้ของพุทธศาสนาทุกสาย ท่านพูดถึงศีล สมาธิ ปัญญา อริยมรรคมีองค์ 8 ต้องปฏิบัติเรื่องนี้โลกจะได้เจริญทางจิตใจ ท่านพูดเรื่องศีลปาติโมกข์ ของเถรวาทกับสายนาลันทาไม่ต่างกันเท่าไหร่ เช่น การไม่ฉันในเวลาวิกาล หลักอันเดียวกัน ท่านบอกว่าไม่มีอุปสรรคในเรื่องพระวินัย ศีลของคฤหัสถ์ก็ไม่มีอุปสรรค ให้บำเพ็ญ ศีล สมาธิ เป็นประเด็นของคนทางโลกที่ต้องการผ่อนคลาย และต้องปฏิบัติกรรมฐานเพื่อให้เกิดปัญญา

 หลักของพุทธศาสนาสอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ท่านบอกว่า อิทธิพลของการนั่งสมาธิมีผลกับสมอง อารมณ์ดีชั่วมีผลกับร่างกายและจิตใจ การละความคิดอกุศล ทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจ องค์ดาไลลามะ เน้นเรื่องพุทธศาสนาให้ทันสมัยตามความรู้ทางโลก และควรมีการเทียบกับระบบสากลที่นักปรัชญาในหลายๆ สาขา เช่นนักวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นต้น

อาตมาเองได้สัมผัสกับประเทศของอาตมาในเยอรมัน ล้วนให้เกียรติพุทธศาสนา เพราะมีเหตุผล ไม่ชักชวนในทางที่งมงาย สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง

 คนไทยเล่า มีแก่นธรรมอยู่กับตัวหากไม่ปฏิบัติก็น่าเสียดาย!"
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น