วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

ชุดเดิมคุยBRN เข้มรับกรือเซะ! ส่งตร.ใหม่ลงใต้ เมื่อ 28 เม.ย.56


ชุดเดิมคุยBRN เข้มรับกรือเซะ! ส่งตร.ใหม่ลงใต้



"ภราดร" เปิด 9 รายชื่อโต๊ะเล็กถกบีอาร์เอ็น 29 เม.ย.นี้ ส่วนใหญ่เป็นทีมงานชุดเดิม เพิ่มแค่ตัวแทนทัพภาค 4 พร้อมกับขานรับนายกฯ คุมดับไฟใต้ด้วยตัวเอง เชื่องานไหลลื่น เตรียมส่งตำรวจใหม่ 1,982 นายลงไปช่วย ปัตตานีผวาคาร์บอมบ์วันครบรอบเหตุกรือเซะ  สั่งตรวจเข้ม 2 รถกระบะติดทะเบียนปลอมเข้ามาในเขตเมืองด่วน ขณะที่โจรใต้ไม่หยุดป่วน ทั้งยิง อส. ชาวบ้านและระเบิดรถทหารพรานขณะลาดตระเวนเจ็บระนาว
    พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพฝ่ายไทยกับคณะตัวแทนแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ในวันที่ 29 เมษายนนี้ เปิดเผยถึงรายชื่อคณะที่จะเข้าร่วมเจรจา 9 คนที่จะขึ้นโต๊ะเจรจาว่า ประกอบด้วยตนเอง, พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล, พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), นายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการ จ.ปัตตานี, นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกองทัพภาคที่ 4 ได้มอบหมายให้ พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 เข้าร่วมด้วย
    "องค์คณะที่เข้าร่วมประชุม กรอบการเจรจาจะเน้นในเนื้อหาต่อเนื่องจากการประชุมเมื่อคราวที่แล้ว ที่ได้ตกผลึกร่วมกันมีจำนวน 15 คนเช่นเดิม โดยจะมี 9 คนเท่านั้นที่จะอยู่ร่วมในวงเจรจา ทั้งนี้ ในจำนวน 9 คน ส่วนใหญ่ยังเป็นตัวแทนหลักจากภาคส่วนเดิมที่พูดคุยเมื่อครั้งที่ผ่าน แต่จะเพิ่มเติมขึ้นมาอีก 1 คน คือในส่วนของตัวแทนกองทัพภาคที่ 4 เพราะเป็นคนที่รับผิดชอบในพื้นที่ด้านความมั่นคง โดยคณะตัวแทนฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มบีอาร์เอ็นมี 1 คน และตัวแทนจากกลุ่มพูโล 5 คน รวม 6 คน" พล.ท.ภราดรกล่าว
    เมื่อถามว่า กรอบการเจรจาในครั้งนี้เน้นอะไรเป็นพิเศษ พล.ท.ภราดรกล่าวว่า จะต้องเน้นย้ำในเรื่องลดความรุนแรง สถานการณ์ 1 เดือนที่ผ่านมามีสภาพเป็นเช่นไร เพราะจากการพูดคุยครั้งก่อน เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ก็น่าจะพูดคุยกันว่าเกิดจากอะไร จากขบวนการของเราหรือขบวนการอื่น หรือภัยแทรกซ้อน จะได้มาหารือกัน เพื่อจะได้ข้อเท็จจริงและแสวงหาทางออก อย่างไรก็ตาม การพูดคุยครั้งนี้ไม่ได้เป็นครั้งสุดท้าย แต่เมื่อเกิดผลดีจะต้องมีวิวัฒนาการต่อยอดออกไป เพื่อเสริมสร้างความไว้ใจกัน จะต้องค่อยๆ คุยกัน เมื่อเกิดความไว้วางใจกันมากเท่าไร ก็จะเริ่มปรากฏข้อเท็จจริงมากขึ้นในปัญหา
    เลขาฯ สมช.กล่าวด้วยว่า ทางเราประสงค์จะพูดคุยกับทุกกลุ่ม แต่เมื่อขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มใหญ่สุด จะต้องพูดคุยกันก่อน เพราะปัญหาแต่ละกลุ่มแต่ละพวกไม่เหมือนกัน จะต้องรับฟังแต่ละปัญหาแล้วมาบูรณาการจัดให้ตรงกัน ว่าอันไหนไปได้ อันไหนไปไม่ได้ จะได้หาทางออกร่วมกัน ส่วนการเจรจาจะเชื่อมโยงไปถึงความพยายามรื้อฟื้นเหตุ 9 ปีกรือเซะด้วยหรือไม่ จะต้องดูผลจากวันที่ 28 เม.ย. แต่เหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนในพื้นที่ไม่ประสงค์จะนำกลับมากล่าวกันแล้ว ภาครัฐเองก็จะไม่พูดเหตุการณ์ที่จะต้องมาเจ็บปวดร่วมกัน ส่วนเหตุความไม่สงบช่วงเช้าวันที่ 27 เม.ย.56 ใน จ.ปัตตานี ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะทุกครั้งเมื่อครบรอบปีก็มีเหตุเฝ้าระวังตามเดิม ขณะเดียวกันก็พยายามไม่พูดถึงเหตุการณ์ในอดีต
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่พยายามสร้างเหตุการณ์มักอ้างอิงจดจำภาพอดีตของเหตุการณ์กรือเซะมาเป็นตัวก่อเหตุ ทางกองทัพและ สมช.ให้ราคาอย่างไร เลขาฯ สมช.กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควรพูด ดังนั้นกองทัพและฝ่ายรัฐไม่ได้ให้ราคาอะไรอยู่แล้ว แต่จ้องมองอนาคตไปข้างหน้าร่วมกันเพื่อหาทางแก้ไข เพื่อให้สถานที่แห่งนี้เป็นประวัติศาสตร์ที่สวยงามมากกว่า และเดินไปตรงนั้น ส่วนการทำความเข้าใจกับผู้เห็นต่างคงยาก เพราะต้องการหยิบยกไปเป็นปัญหา เพื่อกระตุกฝ่ายจัดหรือรัฐเป็นเรื่องของเขา แต่เราฟังเสียงจากประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก
    พล.ท.ภราดรกล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะรอง ผอ.รมน. ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ลงมากำกับดูแลงานแก้ปัญหาภาคใต้ทั้งหมดว่า โครงสร้างชัดเจนอยู่แล้วที่นายกฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์และแก้ไขปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) เป็นฝ่ายอำนวยการให้ จึงต้องเป็นความรับผิดชอบที่ท่านจะลงมากำชับ และน้ำหนักท่านจะเน้นให้ผู้ที่อยู่กองหลัง คือกระทรวง ทบวง กรม 66 หน่วยงานไปสนับสนุนข้างหน้า ส่วน ศปก.กปต.ของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลก็จะเร่งงานข้างหน้าเป็นหลัก ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีผู้พยายามโยงหรือปล่อยข่าวว่าเกิดความขัดแย้งระหว่างนายกฯ กับ ร.ต.อ.เฉลิม ซึ่งจริงๆ ไม่มีอะไร
    "มีความเชื่อมั่นว่าเมื่อนายกฯ ลงมากำกับดูแลเอง  งานจะเกิดประสิทธิภาพและขับเคลื่อนไปได้รวดเร็ว เพราะกองหลังที่เกี่ยวข้องจะเคลื่อนตัวได้เร็ว และมีการบูรณาการได้เร็ว เพราะสำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ ก็ ลงมาช่วยของแผนงานการพัฒนาจากพื้นฐาน ในพื้นที่ศอ.บต. สภาความมั่นคงฯ กอ.รมน. ก็ว่ากันได้เต็มที่ ส่วนราชการอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในมิติโครงสร้างเหล่านี้ ก็สนับสนุนการดำเนินงานก็ไปได้ง่าย แผนงานต่างๆ ก็ไปได้เร็ว เพราะมีการประเมินทุกสัปดาห์"
    อย่างไรก็ตาม พล.ท.ภราดรยังได้กล่าวถึงแผนงานที่ กอ.รมน.ได้ออกมาย้ำหลักการทำงานแบ่งพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น 3 ประเภทคือ สร้างความมั่นคง เร่งรัดการพัฒนาและเสริมสร้างการศึกษาว่า การแบ่งพื้นที่จะได้เห็นสภาพข้อเท็จจริงและโครงสร้างที่ลงไปก็จะเหมาะสม และการทำงานจะง่าย เห็นผลได้เร็วขึ้น ซึ่งการแบ่งพื้นที่สืบเนื่องจากที่นายกฯ ประชุมหน่วยงานความมั่นคงคราวที่แล้ว ที่ได้พิจารณาร่วมกันของทุกฝ่ายทั้ง กอ.รมน., สมช., ศอ.บต., กองทัพบก แล้วมาตกผลึกร่วมกันตรงกัน จึงมีการกำหนดและงบประมาณที่ลงไปก็จะเข้มข้นแต่ละแบบ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 27 เมษายน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พร้อมคณะ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ จากกองบินตำรวจไปยังศูนย์การทหารราบ ค่ายธนรัชต์ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญกำลังพลใหม่ ในโครงการฝึกอบรมปรับพื้นฐานยุทธวิธีชุดปฏิบัติการพิเศษหน่วยรบขนาดเล็ก สำหรับกำลังพลใหม่ที่บรรจุแต่งตั้งในสังกัดศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้รุ่นที่ 1 จำนวน 1,982 นาย ที่สำเร็จหลักสูตรบุคคลภายนอกที่โอนย้ายมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวนสายปราบปรามและหลักสูตรปรับพื้นฐานผู้นำหน่วย ที่มีกำหนดจะต้องลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 1 พ.ย.นี้
    พล.ต.อ.อดุลย์เปิดเผยว่า กำลังพลทั้งหมดพร้อมจะเดินทางไปรับราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เชื่อมั่นว่าจะช่วยเสริมศักยภาพให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ โดยได้ให้แนวทางในการทำงานว่า ขอให้ตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท และทำงานให้ประชาชนรัก โดยสิ่งสำคัญคือ การทำงานต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมุ่งเน้นความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.30 น. วันที่ 27 เมษายน พล.ต.ต.เอกภพ ประสิทธิ์วัฒนชัย ผบก.ภ.ปัตตานี ได้วิทยุสั่งเข้มและประสานกองกำลังในพื้นที่ทั้งทหาร ตำรวจ อาสารักษาดินแดนใน จ.ปัตตานี โดยเฉพาะในพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานี ให้มีการตั้งจุดตรวจอย่างเข้มงวดทุกจุด ทุกมุมเมือง และถนนสายหลักสายรองที่จะเข้าตัวเมืองปัตตานี หลังได้รับแจ้งว่ามีรถยนต์กระบะอีซูซุแค็บ รุ่นดรากอนอาย สีบรอนซ์ทอง กระบะหลังเป็นหลังคาแครีบอย ทะเบียน กค 8000 ปัตตานี ซึ่งเป็นป้ายทะเบียนปลอม ขับวนเวียนอยู่ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เชื่อว่าเป็นรถต้องสงสัยที่เตรียมจะเข้ามาก่อเหตุคาร์บอมบ์
    นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์กระบะมิตซูบิชิ ทะเบียน 1192 ปัตตานี อีกหนึ่งคันที่ต้องสงสัยด้วย เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่าทะเบียนดังกล่าวเป็นของรถเก๋ง จึงให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เพราะวันที่ 28 เมษายนจะเป็นวันครบรอบเหตุการณ์กรือเซะ จึงอาจมีการก่อเหตุขึ้นได้
    สำหรับเหตุก่อสถานการณ์ร้ายแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันที่ 27 เมษายน ก็ยังคงมีตามปกติ โดยเมื่อเวลา 08.50 น. ขณะที่นายมูฮำหมัดไซฟู อัดดุลตอเล็บ อายุ 32 ปี อาสาสมัครรักษาดินแดน อ.สายบุรี ขับรถออกจากบ้านพักหมู่ 4 บ้านป่าม่วง ต.มะนังดาลำ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ไปเข้าเวรที่ อ.สายบุรี มาตามถนนในหมู่บ้าน คนร้าย 2 คนใช้รถจักรยานยนต์ตามประกบแล้วคนซ้อนท้ายได้ใช้ปืนยิงเข้าที่ศีรษะและลำตัว 4 นัดซ้อน ก่อนจะหลบหนีไป
    ต่อมาเวลา 09.30 น. ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่กลางสะพานปะเสยาวอ เส้นทางเลียบชายทะเลระหว่าง อ.สายบุรี-อ.ปะนาเระ หมู่ 3 จ.ปัตตานี ขณะที่ทหารกองร้อยทหารพราน 4203 กรมทหารพรานที่ 42 ลาดตระเวนดูแลรักษาความสงบ โดยใช้รถยนต์นำหน้า และรถจักรยานยนต์ตามหลัง คนร้ายได้กดชนวนระเบิดแสวงเครื่องที่บรรจุในท่อเหล็กขนาด 3 นิ้วด้วยวิทยุสื่อสาร ทำให้ อส.ทพ.ธีระศักดิ์ สุดารี อายุ 25 ปี และ อส.ทพ.สิทธิชัย ธรรมชาติ อายุ 22 ปี ได้รับบาดเจ็บ ถูกนำส่ง รพ.สมเด็จพระยุพราชสายบุรี ซึ่งขณะนี้อาการปลอดภัยแล้ว
     อีกราย นางปาตีเมาะ เจะสอเฮาะ อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 115/3 หมู่ 6 ต.ตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขับรถจักรยานยนต์กลับจากไปส่งน้ำมันให้ลูกค้าในหมู่บ้านปากาชือยง ขณะมาถึงปากทางขึ้นถนนสาย 42 ปัตตานี-หาดใหญ่ ต.ตุยง อหนองจิก จ.ปัตตานี คนร้าย 2 คนใช้รถจักรยานยนต์ตามประกบยิงด้วยอาวุธปืนเข้าที่ลำคอ แขน ลำตัว 4 นัด บาดเจ็บสาหัส แล้วพากันหลบหนีไป
    สำหรับกรณีทหารพรานร้อย ทพ.4716 หน่วยเฉพาะกิจที่ 47 สนธิกำลังตำรวจชุดสืบสวน บก.ภ.ยะลา ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 ยะลา 50 นาย ปิดล้อมตรวจค้นเทือกเขาบ้านตะโละแว ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา เขตรอยต่อบ้านบาเจาะบันตัง หมู่ 9 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา กับ ต.ปะแต จนเกิดการปะทะกับคนร้ายกลุ่มของนายอับดุลเลาะ ตาเปาะโอ๊ะ มือลอบวางระเบิดรถยนต์รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลากว่า 30นาที ทำให้ฝ่ายคนร้ายเสียชีวิต 3 นาย ยึดได้ปืนอาก้า 2กระบอก, เอ็ม 16 อีก 2 กระบอก และปืนยาว .22 อีก 1กระบอกนั้น
    ล่าสุด พ.ต.อ.เจริญ ธรรมขันธ์ ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา เปิดเผยว่า คนร้ายที่เสียชีวิตคือ นายบุญยา ตาเล็ง อายุ 25 ปี, นายบูดีมัน มะยิฮะ อายุ 33 ปี และนายอับดุลตอเละ สะฮะ อายุ 33 ปี ส่วนนายอับดุลเลาะ ตาเปาะโอ๊ะ คาดว่าจะบาดเจ็บและหลบหนีไปได้
    โดยนายอับดุลเลาะ ตาเปาะโอ๊ะ อายุ 26 ปี มีบ้านอยู่เลขที่ 15 หมู่ 9 บ้านเจาะบันตัง อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีหมายจับในคดีความมั่นคง 5 หมาย เช่น ฆ่าตัดคอเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนหน่วยพลร่มที่บ้านบือซู อ.บันนังสตา ในปี 50 ยิงสายข่าวเสียชีวิตที่บ้านบือซู ปี 52 ยิงปะทะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อ.บันนังสตา ซุ่มยิงร.ต.ต.กิตติคุณ บุญลือ และ ร.ต.ท.ธรณิต ศรีสุข และล่าสุดก่อเหตุลอบวางระเบิดรถยนต์ประจำตำแหน่งของนายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าราชการ จ.ยะลา จนทำให้เสียชีวิตพร้อมนายเชาวลิต ไชยฤกษ์ ป้องกันจังหวัดยะลา.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น