วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

ข้อเสนอ “วิปริต” ลดชั้นศาล รธน.แค่ที่ปรึกษารัฐบาล-สภา!! โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 เมษายน 2556 07:50 น.

ข้อเสนอ “วิปริต” ลดชั้นศาล รธน.แค่ที่ปรึกษารัฐบาล-สภา!!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์26 เมษายน 2556 07:50 น.


ผ่าประเด็นร้อน
       
       อาจเป็นเพราะกำลังอยู่ในช่วงหน้ามืด หรือว่าต้องการ “เสนอหน้า” เข้ามาให้ “เข้าตานาย” อย่างทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่แดนไกลหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะเป็นช่วงที่กำลังไล่ถล่ม ศาลรัฐธรรมนูญให้ย่อยยับ บุกเข้ามาพร้อมกันทุกทาง ทั้งฝ่ายรัฐบาล ในสภา และกุ๊ยนอกสภา ตั้งเวทียืนด่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปักหลักกันที่หน้าสำนักงาน อ้างว่านี่คือวิถีประชาธิปไตยเสียงข้างมาก 
       
       ก่อนหน้านี้เราได้เห็นวิธีการที่หลากหลายออกมาจากพวกลิ่วล้อหลายประเภทดาหน้าออกมา หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 มิชอบหรือไม่ เป็นการตัดสิทธิของประชาชนหรือไม่ ล่าสุดอุกฤษ มงคลนาวิน อดีตประธานรัฐสภาสมัยเผด็จการครองเมือง แต่ปัจจุบันหันมาคบกับ ทักษิณ ชินวัตร จนได้รับตำแหน่งเป็นประธานในชื่อโก้เก๋ว่าคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้โผล่ออกมาผสมโรงเสนอความเห็นให้ “รื้อ” ศาลรัฐธรรมนูญนูญ กันขนานใหญ่ ชนิดที่เรียกว่า คนปกติทั่วไปยังไม่คิดแบบนั้น เพราะมันหลุดโลก เข้าขั้นเพี้ยนและวิปริตไปเลยก็ได้
       
       ข้อเสนอของ “อุกฤษ” ผ่านทางบทความที่ต้องการจำกัดขอบเขตอำนาจหน้าที่ ที่มาและองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญจนถึงขั้นที่เรียกว่า “หมดค่า” ไปเลย โดยข้อเสนอดังกล่าวมี 4 ข้อสำคัญ ดังนี้
       
       1. แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้เฉพาะแต่ในกรณีที่เป็นร่างกฎหมายที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว และก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยเท่านั้น และวิธีการที่จะทำให้บทบัญญัติใดของกฎหมายตกไป หรือเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ เฉพาะแต่ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้แทนปวงชนเท่านั้นที่จะปรับปรุง หรือทำการแก้ไขเพิ่มเติม
       
       2. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนอื่นอีก 14 คน รวมเป็น 15 คน และองค์คณะในการนั่งพิจารณา และในการทำคดีวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 10 คน และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการทั้งหมด ทั้งนี้เทียบเคียงได้จากมาตรฐานกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการตราพระราชกำหนดใดไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด (มาตรา 185 วรรคสี่)
       
       3. ควรกำหนดให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 4 ปี และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว นอกจากนี้ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรมีที่มายึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอธิปไตยด้วย
       
       4. แก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเร่งดำเนินการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเภทคดีไว้อย่างชัดเจน และจะต้องมีการกำหนดเวลาในการเผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง และความเห็นในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนในราชกิจานุเบกษาภายใน 30 วันด้วย
       
       ข้อเสนอดังกล่าวหากพิจารณากันอีกมุมหนึ่งก็ต้องบอกว่า นี่คือการ “ย่ำยี” กันแบบไม่ไว้หน้า เพราะเป็นการแก้ไขใหม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ไม่ต่างจากที่ปรึกษากฎหมายของสภาและรัฐบาล เพราะมีการจำกัดอำนาจให้วินิจฉัยได้เฉพาะกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจาก สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเท่านั้น และคำวินิจฉัยจะมีผลก็ต้องใช้เสียงถึงสองในสาม
       
       ขณะเดียวกัน “ที่มา” ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องยึดโยงกับประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แม้ว่ากรณีดังกล่าวยังไม่ได้ระบุตรงๆ แต่ความหมายก็คือ น่าจะมาจากการคัดเลือกจากสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น นี่ว่ากันเฉพาะเรื่องสาระสำคัญ เพื่อชี้ให้เห็นว่าแนวความคิดของคนพวกนี้มันวิปริตเพียงใด
       
       เพราะถึงขั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่เพียงแค่ที่ปรึกษากฎหมายของฝ่ายการเมือง ทั้งในสภาและรัฐบาล และให้สภาเป็นคนคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแค่นี้ก็ถือว่า “สุดกู่” ไม่รู้จะสรรหาคำพูดแบบไหนมาก่นด่าได้อีกแล้ว และไม่น่าเชื่อว่าคนที่เคยได้ชื่อว่าพอมีความคิดความเห็นด้านกฎหมายอยู่บ้าง แต่ยิ่งนานวันในบั้นปลายกลับเป็นไปได้ถึงขนาดนี้ 
       
       อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันอีกมุมหนึ่งมันก็ย่อมทำให้เห็นว่า สมควรที่จะต้องคงอำนาจของประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญในการใช้สิทธิ์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แทนที่จะไปหวังพึ่งแต่อัยการสูงสุดเพียงคนเดียว เพราะที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วหลายครั้งว่าอัยการสูงสุดเป็นพวกเดียวกับรัฐบาล จากการได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจสำคัญ ล่าสุดเมื่อวันก่อนก็เพิ่งได้รับแต่งตั้งมาเป็นกรรมการบอร์ดบริษัทการบินไทยที่เพิ่งครบวาระ แต่ก็ได้รับการแต่งตั้งกลับเข้าไปเหมือนเดิม นี่เป็นแค่ตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นเท่านั้นเอง
       
       มาตรา 68 ในปัจจุบันนี่แหละที่ทำให้ ทักษิณ ชินวัตร และเครือข่ายออกอาการปรี๊ดแตกอยู่ในเวลานี้ เพราะให้อำนาจกับประชาชนร้องกับศาล เป็นการเปิดช่องทางเพิ่ม ซึ่งน่าจะเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยมากที่สุด อย่างที่คนพวกนี้ชอบเอ่ยอ้างกันไม่ใช่หรือ ตรงกันข้ามการแก้ไขเพื่อปิดทางน่าจะเป็นการย้อนกลับถอยหลังลงคลองกลับไปหาอำนาจเผด็จการมากกว่า
       
       ดังนั้น หากพิจารณาจากข้อเสนอของ “อุกฤษ” ดังกล่าวนอกจากถือว่าเป็นความคิดที่วิปริตผิดปกติแล้ว ยังไม่มีทางที่จะเป็นจริงได้เลย ในทางตรงกันข้ามถ้าให้ลดชั้นพวกนักการเมืองไร้ค่าที่มาอยู่ดาษดื่นย่อมเป็นไปได้มากกว่า อีกทั้งที่ผ่านมาการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ไม่ได้กระทบกับความถูกต้องดีงามทางกฎหมายหรือกระทบทางสังคมในทางมิชอบแต่อย่างใด มีแต่กระทบกับ “ทักษิณ และเครือข่าย” เท่านั้น จึงคิดหาทางทำลายกันทุกวิถีทางอย่างที่เป็นอยู่ไงล่ะ!! 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น