พระราชกฤษฎีกายกเลิกส้วมซึม โดยให้ครัวเรือนและสถานที่สาธารณะใช้ชักโครกแทน
เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้ส้วมถูกสุขลักษณะ ป้องกันอันตรายจากการใช้ส้วมที่ไร้คุณภาพได้
วันนี้ (26เม.ย.56) มีรายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ได้มีพระราชราชกฤษฎีกา ปรับเปลี่ยนสุขภัณฑ์ในห้องน้ำใหม่จากส้วมแบบราบ หรือ ส้วมนั่งยอง หรือ ส้วมซึม ให้เป็นแบบที่มีชักโครกแทน หรือ ส้วมนั่งราบ โดยประกาศดังกล่าวให้มีผลทันทีในอีก 120 วัน นับตั้งแต่วันประกาศ คือวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งการประกาศดังกล่าวเป็นไปตามแผนแม่บทที่ทางรัฐบาล ต้องการพัฒนาส้วมให้มีมาตรฐาน และป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากประชาชนได้ถ้ามีคุณภาพต่ำ รวมไปถึงส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ และ สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล โดยตั้งเป้าให้ทุกครัวเรือนมีชักโครกทุกหลังในปี 2559
พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวชื่อว่า “พระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556” โดยมาตรา 3 ระบุว่า ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เลขที่ มอก.792 - 2554 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 4380 (พ.ศ. 2554) โดยมีหมายเหตุว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและอนามัยของประชาชนได้ หากมีคุณภาพต่ำ จึงจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจเกิดแก่ประชาชน
สำหรับที่มาที่ไปเรื่องดังกล่าว คือเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ในหลักการแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 พ.ศ. 2556 – 2559 และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายความสำเร็จที่กำหนดไว้ สาระสำคัญ คือ เพื่อพัฒนาส้วมครัวเรือนให้เหมาะสมในการรองรับต่อการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ ป้องกันโรคข้อเสื่อม เพื่อให้ประเทศมีส้วมสาธารณะได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะ ส่งเสริมให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล
เป้าหมายความสำคัญ มีดังนี้ให้ครัวเรือนไทยใช้ส้วมแบบส้วมนั่งราบ หรือ ชักโครก ร้อยละ 90 ภายในปี พ.ศ. 2559 สถานบริการสาธารณะ และ สถานที่สาธารณะมีบริการส้วมนั่งราบอย่างน้อย 1 ที่ ประเทศไทยมีส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ร้อยละ 90 ของกลุ่มเป้าหมายภายในปี พ.ศ. 2559 คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะ ร้อยละ 90 ของผู้ใช้บริการในปี พ.ศ. 2559 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดการสิ่งปฏิกูลอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2559
โดยกลุ่มเป้าหมายส้วมครัวเรือน และ ส้วมสาธารณะ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยว ร้านจำหน่ายอาหาร ตลาดสด สถานีขนส่งทางบกและทางอากาศ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ สวนสาธารณะ ศาสนสถาน ส้วมสาธารณะ ริมทาง และ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า/ดิสเคานต์สโตร์
ผู้สื่อข่าว : ทีมข่าวท้องถิ่น
ข่าวจริง สปริงนิวส์ ทันเหตุการณ์ เห็นอนาคต
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น