วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

จี้ปูชะลอบริหารน้ำ ทปอ.จับตา2ล้านล.เมื่อ 29 เม.ย.56



จี้ปูชะลอบริหารน้ำ ทปอ.จับตา2ล้านล.



 เครือข่ายภาค ปชช.ชำแหละโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล. ขาดการมีส่วนร่วมประชาชนในพื้นที่ ผิดเจตนารมณ์ รธน. ไม่ทำตาม EIA-HIA เงื่อนไข TOR ก็คลุมเครือ นำไปสู่การทุจริต จ่อยื่นนายกฯ คัดค้านแผน ร้องศาลปกครอง-ปปช.เข้ามาตรวจสอบ ทปอ.ตั้ง "ดร.สมบัติ" เกาะติดงบ 2.2 ล้านล. ด้านญาติพฤษภา '35เตรียมตั้งองค์กร ปชช.ร่วมตรวจสอบทุกขั้นตอน
     เมื่อวันอาทิตย์ ที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม (มหาวิทยาลัยรังสิต) อาคารสาธรธานี ถ.สาทร กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนคัดค้านแผนจัดการน้ำ ประกอบด้วย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Thaiflood) จัดงานแถลงข่าวหัวข้อ "ผ่าทุจริต เวนคืนดิน กินตามน้ำ 3.5+2 แสนล้านบาท" โดยนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ โดยใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท และว่าจ้างบริษัทเอกชนโดยเฉพาะจากต่างประเทศมาออกแบบและจัดการน้ำของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งเราเห็นว่าแผนงานดังกล่าวจะสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติอย่างร้ายแรง และถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือคำคัดค้านจากนักวิชาการ อาทิ แผนการจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ที่สามารถประหยัดงบประมาณไปได้กว่าร้อยละ 70
     นายศศินระบุว่า การดำเนินการของรัฐบาล พบว่าละเลยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างรอบด้าน ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าแผนงานไม่ได้ทำตามขั้นตอนกระบวนการของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) และละเลยขั้นตอนการวิเคราะห์โครงการ การจัดทำยุทธศาสตร์ การทำแผนแม่บท การวิเคราะห์การลงทุน รวมถึงรายละเอียดเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ของแผนการจัดการน้ำของ กบอ. เงื่อนไขหลายประการยังคงมีความคลุมเครือและยังมีช่องโหว่ 
    "โดยเฉพาะการไม่ระบุพื้นที่ดำเนินโครงการ และพื้นที่เวนคืนที่ดินไว้อย่างชัดเจน ตรงนี้อาจจะนำไปสู่การทุจริต ทั้งจากนักการเมือง ข้าราชการ และบริษัทผู้รับเหมาอย่างมโหฬาร ทีโออาร์ฉบับดังกล่าวระบุไว้ว่า บริษัทผู้ผ่านการคัดเลือกสามารถเบิกเงินล่วงหน้าได้ร้อยละ 5 ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ ที่เงินจำนวนดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้เป็นอามิสสินจ้างในการบิดเบือนผลการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพ นอกจากนี้ การดำเนินการทั้ง 9 โมดูล ตามรายละเอียดในทีโออาร์ไม่มีขอบเขตของงาน ขาดรายละเอียดเชิงพื้นที่ ไม่มีกลไกหรือกระบวนการที่จะสร้างความเชื่อมโยงโครงการแต่ละโครงการเข้าด้วยกัน" นายศศินกล่าว
จ่อร้องศาล ปค.-ปปช. 
    ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความสิทธิมนุษยชน และกรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า โครงการแผนจัดการน้ำของ กบอ. ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เพียงพอต่อประชาขน ทำให้เหมือนการปิดตาประชาชน ขัดกับขั้นตอนกฎหมายอย่างชัดเจน โดยขั้นตอนนั้นต้องมีการศึกษาก่อนอนุมัติโครงการ แต่การดำเนินการของรัฐบาลกลับอนุมัติโครงการก่อนจะมาทำการศึกษา หากรัฐบาลดำเนินการต่อไป ถือว่าเป็นการดำเนินการโดยมิชอบ ฉะนั้นเราจะต้องตรวจสอบนโยบายของรัฐ 
    "โดยเบื้องต้นเราจะรอคำสั่งของศาลปกครองของนายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกฯ ด้านการระบายน้ำ ที่น่าจะมีผลออกมาประมาณวันที่ 29 เม.ย.นี้ ก่อนจะมีการดำเนินการอย่างอื่นต่อไป โดยวันที่ 30 เม.ย. เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล จะเดินทางไปยื่นโต้แย้งกับการดำเนินการของ กบอ.ต่อนายกฯ และวันที่ 1 พ.ค. เวลา 10.00 น. จะไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบ เนื่องจากเชื่อว่าโครงดังกล่าวอาจจะมีการทุจริตในการดำเนินงาน ส่วนจะฟ้องใครบ้างนั้น นอกจากนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ และประธาน กบอ.จะต้องมีการฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เนื่องจากพบว่ามีการสั่งการโยงใยเชื่อมถึงกันหมด ทั้ง กบอ.และคณะรัฐมนตรี และในวันที่ 2 พ.ค.จะมีการเดินทางไปยื่นเรื่องต่อศาลปกครองต่อไป" นายนิติธรกล่าว 
     นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินการตามแผนของ กบอ. ถือว่าเป็นเรื่องยาก พบว่าเขื่อนหลายแห่งที่อยู่ในแผนโมดูลของ กบอ.ยังมีปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาของเขื่อนที่อยู่ในเขตมรดกโลก เขื่อนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ และปัญหาพื้นที่เวนคืนที่ดิน แต่กลับมาอยู่ในโครงการกู้ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งตรงนี้ไม่มีทางที่จะเสร็จสิ้นภายใน 5 ปีอย่างแน่นอน ไม่รู้ว่าขณะนี้นายปลอดประสพพยายามที่จะเร่งดำเนินการโครงการนี้แบบไม่ฟังคำวิจารณ์ใดๆ เพื่อทำให้ใครหรือไม่ หรือนายปลอดประสพเคยไปรับปากผู้มีอำนาจคนใดหรือไม่ 
    นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นายปลอดประสพ ในฐานะประธาน กบอ. จะได้รับประสบ
การณ์ที่เจ็บปวดอย่างแน่นอน เพราะในที่สุดโครงการระบบบริหารจัดการน้ำดังกล่าวจะเกิดขึ้นไม่ได้ เชื่อว่ายังมีประชาชนอีกหลายกลุ่ม ที่จะออกมาคัดค้านต่อต้านด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกปล่อยผ่านไปได้ มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาเหมือนกับกรณีโฮปเวลล์ หรือปัญหาในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน
    ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านระบายน้ำ ยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในโครงการแก้น้ำท่วมงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ไม่ให้มีการยื่นซองประมูลในวันที่ 3 พ.ค.นี้ ว่าการที่บุคคลระดับอดีตที่ปรึกษานายกฯ มาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ และมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ถือเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงต้องเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบเรื่องนี้ ไม่ควรเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ควรจะเรียกนายอุเทนมาสอบถามว่ามีความไม่ชอบมาพากลอย่างไร แต่หากยังนิ่งเฉย สังคมก็จะเคลือบแคลงสงสัยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์รู้เห็นเป็นใจกับเรื่องนี้     
    "เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่ เพราะสังคมกำลังสงสัยว่าการทุจริตคอรัปชั่นเพิ่มขึ้น จาก 10% มาถึง 50% จากการเปิดเผยในวงสัมมนาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และหน่วยงานต่างๆ จึงจำเป็นที่นายกฯ ต้องตรวจสอบโครงการ 3.5 แสนล้านอย่างจริงจังและเร่งด่วน" นายองอาจกล่าว
ทปอ.เกาะติดงบ 2.2 ล้านล.
     ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้มีการประชุมของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)  ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะประธาน ทปอ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีที่รัฐบาลเดินหน้ากู้เงินจำนวน 2.2 ล้านล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาระบบการขนส่งจากระบบถนนไปสู่ระบบรางและระบบน้ำ ซึ่งเห็นว่าในส่วนมหาวิทยาลัยควรจะต้องเข้าไปช่วยศึกษาแนวโน้มความเป็นไปได้ ปัญหาอุปสรรคต่างๆ รวมถึงผลิตกำลังคนรองรับโครงการดังกล่าว และที่สำคัญจะต้องมีการตรวจสอบการทุจริตในการดำเนินโครงการดังกล่าว จึงมีมติตั้งคณะทำงาน โดยมี ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า เป็นประธาน และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสมาชิก มาร่วมศึกษา ติดตาม และให้ความช่วยเหลือต่อไป
    นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา '35 ออกแถลงการณ์ ขอให้ตัวแทนลูกหลานที่ต้องแบกรับหนี้การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เข้าร่วมตรวจสอบเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ลูกหลานผู้แบกรับหนี้ โดยมีข้อเรียกร้องว่า 1.ท่านนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้อำนาจสั่งการพรรคเพื่อไทยในหลายเรื่อง ดังปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนภายใต้นโยบาย “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” จึงชัดเจนว่าท่านเป็นนายกฯ ตัวจริงของรัฐบาลไทย ไม่ได้ทำตัวเหมือนอยู่หลังฉากอีกต่อไป ดังนั้นการบริหารราชการแผ่นดินจากนี้ไป จึงขอเรียกร้องให้ท่านสื่อสารกับประชาชนโดยตรง 
    2.เรียกร้องให้นายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทบทวนโครงการเงินกู้ต่างๆ ในระยะยาว โดยรัฐบาลควรหดระยะเวลาในการดำเนินโครงการต่างๆ ตามโครงการกู้เงินลงตามอายุของรัฐบาลที่เหลืออยู่เพียง 2 ปีเศษ เพื่อทำให้กรอบการใช้เงินกู้เพื่อโครงการต่างๆ มีความชัดเจนและลดลงตามอายุรัฐบาลที่เหลือ โดยหากพรรคของท่านนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับเลือกเป็นรัฐบาลในสมัยต่อไปก็ค่อยดำเนินการต่อและขยายวงเงินกู้ออกไปได้เหมือนเดิม 3.การบริหารงานราชการของหลายกระทรวงที่ไม่ปรากฏประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงขอให้ท่านพิจารณาและทบทวนให้มีการปรับเปลี่ยนผู้มีฝีมือและสามารถปฏิบัติงานตามนโยบายโดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง 
    "คณะกรรมการญาติวีรชนฯ จะประสานงานกับองค์กรภาคประชาชนต่างๆ โดยร่วมมือกันทุกเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อตั้งองค์กรภาคประชาชนในการตรวจสอบโครงการดังกล่าวทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การขอส่งผู้แทนไปสังเกตการณ์การประชุมของคณะกรรมาธิการแปรญัตติฯ การตรวจสอบการเขียน TOR การจัดซื้อจัดจ้างตามโครงการต่างๆ รวมทั้งขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของประชาชนและภาคเอกชนโดยตรง" นายอดุลย์ระบุ
    วันเดียวกัน คณะกรรมการค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมชลประทาน ให้ยุติการดำเนินการเขื่อนยมบน เขื่อนแม่น้ำยม (เขื่อนยมล่าง) และเขื่อนแก่งเสือเต้น พร้อมทั้งขอให้ยกเลิกการศึกษาเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง รวมทั้งคืนงบประมาณการดำเนินการให้กับแผ่นดิน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อป่าสักทองธรรมชาติ ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม และยังกระทบต่อที่ทำกินของชาวสะเอียบ หากกรมชลประทานยังดึงดันที่จะผลักดัน คณะกรรมการคัดค้านเขื่อนฯ จะดำเนินการคัดค้านจนถึงที่สุด ชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันจะไม่ให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน และจำเป็นต้องใช้มาตรการทางศาล ในการฟ้องร้องเอางบประมาณแผ่นดินกลับคืนให้กับประชาชนทั้งชาติ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น