นักรบรุ่นใหม่"6ไม่-1ต้อง" กลยุทธ์"ศาสนากับการเมือง" หนุน"รัฐปัตตานี"แข็งแกร่ง
วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556 เวลา 15:30:52 น.
รายงานโดย เขมินท์ เกื้อกูล
แต่ผลในด้านกลับช่วยยืนยันอย่างชัดแจ้งอีกครั้งว่า จุดยืนและแนวทางด้านการเมืองของกลุ่มนักรบเยาวชนรุ่นใหม่ ได้พัฒนาไปไกลเกินกว่าที่จะยอมตามการร้องขอจากสมาชิกผู้สูงวัยแห่งบีอาร์เอ็น
ทั้งนี้ หนังสือวิจัย เรื่องสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ วาทกรรมที่มีนัยยะทางศาสนา เขียนขึ้นเมื่อปี 2549 โดย ปัญญศักย์ โสภณวสุ ผู้ทำวิจัยโครงการความมั่นคงศึกษา สำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัยแห่งชาติ (สกว.) ที่ในบางช่วงบางตอนของหนังสือวิจัย ได้หยิบยกคำพูดของ ดร.วันกาเดร์
เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู ซึ่งกล่าวไว้เมื่อ วันที่ 29 มิถุนายน 2548 ความว่า...
"ผู้คนในยุคของเขาเป็นพวกชาตินิยม อันเป็นแก่นแกนสำคัญของขบวนการในทศวรรษ 1970 แต่คนหนุ่มสาวปัตตานีในทุกวันนี้ ดูเหมือนจะผูกพันเข้ากับการเมืองเชิงวัฒนธรรม ที่มีพื้นฐานทางศาสนามากยิ่งขึ้นทุกที และการลุกฮือขึ้นต่อต้านจากบรรดามุสลิมทั่วโลก ทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้รับแนวความคิดเชิงศาสนาเพิ่มมากขึ้น และเราก็เห็นพวกอิสลามิสต์ (ศาสนานำการต่อสู้) ทำงานกับพวกเนชั่นแนลลิสต์ (ชาตินิยม) ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกว่าเดิม"
พูดอีกอย่าง คือลัทธิแบ่งแยกดินแดนในปัตตานี ที่แข็งแกร่งมากขึ้นในทุกวันนี้ เป็นเพราะการผสมผสานกันระหว่างแนวคิดเรื่องศาสนา กับการเมืองเข้าด้วยกัน
ความเป็นจริงนี้ได้รับการยืนยันในการประชุมคณะกรรมการอิสระ เพื่อการสมานฉันท์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 โดยมีการระบุถึง "ใบปลิวข่มขู่ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่มีไปยังผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองและแนวทางการต่อสู้ของนักรบรุ่นใหม่ ภายใต้หลักการ "6 ไม่-1 ต้อง"
"6 ไม่-1 ต้อง" แท้จริงคือแก่นแกนสำคัญของเบอร์ญิฮาด ดี ปัตตานี (Berjihad di Patani) โดยหนังสือคู่มือนี้ถูกพบจากร่างไร้วิญญาณของ มามะ มะตีเยาะ หนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นองเลือดกรณี "กรือเซะ" เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547
เป็นหนังสือคู่มือที่พูดถึง "แรงดลใจและมิติทางด้านจิตวิญญาณในการทำสงครามญิฮาด" อุดมการณ์ ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีทางการเมือง ในการต่อสู้เน้นหนักในเรื่องการ "แยกมิตรแยกศัตรู" และกล่าวถึงการนำ "ระบอบ คีลาฟะฮฺ" มาใช้ในการปกครองภายหลังการประกาศเอกราช (merdeka) โดยผู้นำสูงสุดแห่งรัฐต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือกจาก "สภาผู้มีอำนาจสูงสุดในการแต่งตั้งและถอดถอนผู้นำ" โดยสมาชิกแห่งสภานี้ต้องมาจากปราชญ์ด้านศาสนาอิสลาม จากสาย "อิหม่าม ซาฟีอียฺ"
"ไม่เจรจาประนีประนอมกับรัฐไทย ไม่ยอมรับระบบรัฐสภา ไม่รับเขตปกครองพิเศษ ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ไม่โยกย้ายหนีไปไหน ไม่มอบตัว และต้องทำสงครามญิฮาดเพื่อปลดปล่อยรัฐปัตตานี จากการยึดครองของสยาม ไม่ว่ามันจะใช้เวลายาวนานสักเพียงใดก็ตาม"
เนื้อหาในหนังสือที่ระบุนี้ คือผนังทองแดงกำแพงเหล็กที่กั้นขวางนักรบรุ่นใหม่ กับบรรดานักต่อสู้อาวุโสในอดีต และยังหมายรวมถึงทางการไทยด้วย
รวมทั้งข้อความบนผืนผ้าที่กลุ่มแนวร่วมก่อความไม่สงบ ได้นำไปติดไว้ตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และล่าสุดที่หาดนราทัศน์ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา ความว่า "สันติภาพจะไม่เกิดขึ้น ตราบเท่าที่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากเรา"
นั่นคือประกาศยืนยัน "6 ไม่-1 ต้อง" ที่พวกเขาเหล่านั้นยึดถือปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยวมาตั้งแต่เปิดฉากสงครามครั้งใหม่ และฝ่ายความมั่นคงของไทยยังคงไม่อาจสู้รบ หรือตั้งรับการต่อสู้ของกลุ่มนักรบเยาวชนรุ่นใหม่ในปัจจุบันได้ดีอย่างที่ควรเป็น เพราะไม่พยายามเข้าใจคู่ต่อสู้หรือศัตรูเท่าที่ควร ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จากการแปลความหมายในเนื้อหาคู่มือการรบเบอร์ญิฮาด ดี ปัตตานี ที่ผิดพลาด จนนำไปสู่การวางแผนการสู้รบด้านความคิด หลายครั้งหลายกรณีไม่มีประสิทธิภาพและยังขาดความชัดเจน
อย่างไรก็ตาม การพูดคุยเพื่อสันติภาพได้เริ่มขึ้นแล้ว ท่ามกลางความฉงนของหลายฝ่าย แต่มันเป็นการเปิดรุกทางการเมืองครั้งสำคัญของรัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หญิงคนแรกของเมืองไทย ต่อกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่เป็นฝ่ายตั้งรับ ทั้งด้านการเมือง การทหาร มากว่าหนึ่งทศวรรษแห่งความรุนแรง
แต่ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ทางการไทยดำเนินการมานั้น เสมือนเพิ่งให้กำเนิด "ตัวอ่อนแห่งสันติภาพ" ในครรภ์ของมารดาที่อ่อนแอ ปัญหา ณ เวลานี้คือการเยียวยาผู้เป็นมารดาให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ ด้วยการฟื้นคืนความยุติธรรม ลดพื้นที่ที่ใช้กฎหมายจนไร้ขอบเขต แก้ปัญหาพื้นฐานอันเป็นที่มาของความยากจนของผู้คน และให้สิทธิเสรีภาพในการศึกษาให้ปรากฏเป็นจริง
เพราะหากคาดหวังแต่เพียงใช้การเจรจาลำพัง โดยผู้คนไม่อาจสัมผัสกลิ่นอายของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในพื้นที่แล้ว ไม่เพียงนักรบมุญาฮิดีนปัตตานีได้เตรียม "กุโบร์" ไว้ เพื่อรอฝังตัวอ่อนแห่งสันติภาพเท่านั้น หากแต่ความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น จะกลายเป็นกองฟืนกองใหญ่ ที่โหมประโคมความรุนแรงในอนาคตต่อไปได้อีกด้วย
หน้า 8 ,มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2556
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น