วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

ตู่-เต้นเดินสายปลุกแดง ล้มล้างศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวหน้า 1 29 April 2556


ตู่-เต้นเดินสายปลุกแดง ล้มล้างศาลรัฐธรรมนูญ


เพื่อไทยสั่งห้ามมีใครแตกแถวส่งคำชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ เวทีปราศรัยใหญ่ขอนแก่นย้ำ ใครแหกโผคือพวกปอดแหก บอกหากสู้ไม่ได้ก็ต้องคืนอำนาจให้ประชาชน "ตู่-เต้น" บี้ตุลาการศาล รธน. กลับตัวยังทัน อ้างไม่อยากเห็นคนไทยห้ำหั่นกันเอง อัยการส่อขวางธาริต-ดีเอสไอ ถอนฟ้องก๊วน นปช.คดีก่อการร้าย อธิบดีฝ่ายคดีพิเศษลั่นต้องมีเหตุผลไม่ใช่ถอนกันง่ายๆ 
    นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการของดีเอสไอไปพิจารณาถึงเรื่องการถอนฟ้องคดีก่อการร้ายตามที่ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้นำคำตัดสินของศาลแพ่งมายื่นต่อดีเอสไอ เพื่อให้พิจารณาถอนฟ้องแกนนำ นปช.ในข้อหาก่อการร้ายหลังศาลแพ่งได้มีคำตัดสินว่า การเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองนั้นไม่ใช่การก่อการร้าย 
    โดยนายวินัยกล่าวว่า รับทราบข่าวเรื่องนี้แล้วจากทางสื่อมวลชนแต่ยังไม่ได้รับเรื่อง อย่างไรก็ตาม การที่จะถอนฟ้องคดีต่อศาลเป็นอำนาจการพิจารณาของอัยการ ซึ่งคดีนี้ทางสำนักงานคดีพิเศษดูแลอยู่ 
    "การถอนฟ้องต้องมีเหตุผลพอสมควร ไม่ใช่จู่ๆ จะไปขอถอนฟ้อง ซึ่งเรื่องนี้ผมจะเป็นผู้พิจารณาเองก่อนที่เรื่องจะไปถึงผู้ใหญ่" อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ระบุ
    อนึ่ง ก่อนหน้านี้นายธาริตกล่าวว่า การพิจารณาเรื่องการถอนฟ้องคดีก่อการร้ายตามที่นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และแกนนำ นปช. ได้ยื่นเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณา จะพิจารณาโดยคณะกรรมการของดีเอสไอ และคาดว่าจะเสร็จภายในกลางเดือนหน้า แต่ไม่แน่ใจว่าทางดีเอสไอจะทำความเห็นของคณะกรรมการฯ ส่งให้อัยการพิจารณาได้หรือไม่ ทางดีเอสไอต้องหารือกันก่อน
    ทั้งนี้ คดีก่อการร้ายปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอาญา หลังอัยการได้มีการยื่นฟ้องแกนนำนปช.หลายสิบคน ซึ่งได้มีการเปิดห้องพิจารณาคดีสืบพยานฝ่ายโจทก์ไปแล้วประมาณ 3-4 นัด โดยในชั้นดีเอสไอได้มีการเอาผิดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำเลยที่ 1 ด้วย แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการยื่นฟ้องพ.ต.ท.ทักษิณต่อศาลอาญา เนื่องจากอยู่ระหว่างการหลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ 
    ขณะที่ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้มีการจัดเวทีปราศรัยใหญ่ "เพื่อไทย เพื่ออนาคตของประเทศ" ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นโดยมีคนเสื้อแดงในพื้นที่มาร่วมฟังการปราศรัยจำนวนมาก  
    โดยนายอดิศร เพียงเกษ อดีต ส.ส.ขอนแก่น ปราศรัยบนเวที เนื้อหาเน้นให้พรรคเพื่อไทยเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากสู้ไม่ได้ก็ต้องคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งกันใหม่ให้ประชาชนตัดสิน และถ้าไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะอยู่อย่างไรประเทศนี้ ผมไม่ยอมให้พ.ต.ท.ทักษิณรับโทษ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้ทำอะไรผิด 
    ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.กล่าวปราศรัยว่า ที่มีข่าวจะมี ส.ส.เพื่อไทย 20 คน ปอดแหกขอส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้ไปเย็บปอดให้สนิท ขอบอกประชาชนว่าใครที่ปอดแหกอย่าได้เลือกเข้ามา ต่อไปใครจะมาอยู่พรรคเพื่อไทยต้องเอ็กซ์เรย์ปอดก่อนว่าปอดแหกไหม ถ้าฝ่ายนิติบัญญัติแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้แล้วจะเป็นไปทำไมสมาชิกรัฐสภา รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม 
    ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ และแกนนำ นปช. ปราศรัยบนเวที โดยมีเนื้อหาส่วนใหญ่สนับสนุนการให้รัฐสภาเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป และไม่เชื่อว่าจะมี ส.ส.เพื่อไทยคนไหนปอดแหกยอมส่งคำชี้แจงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอย่างที่เป็นข่าว การเคลื่อนไหวของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญแล้วออกมาแสดงความเห็นอะไรต่างๆ ไม่ใช่การที่นักมวยไล่ชนกรรมการอย่างที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนอย่างนายจรัญ ภักดีธนากุล ออกมาเปรียบเปรย 
    "คนที่มาชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องเสรีภาพ จะไปห้ามก็ไม่ได้เพราะเขาเป็นพี่น้องไม่ใช่ลูกน้อง อยากบอกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังกลับตัวทัน ในการที่จะสามารถช่วยถอดชนวนสำคัญที่จะนำประเทศไปสู่ทางตันได้ จะได้ให้บ้านเมืองมีทางออก ไม่อยากให้ประชาชนห้ำหั่นกันเอง บาดเจ็บล้มตาย ตุลาการมีหน้าที่อะไรก็ต้องทำอย่าทำเกินหน้าที่ ถ้าพรรคเพื่อไทยทำผิดก็ประหารเราได้ แต่หากเราไม่ได้ทำผิดแล้วศาลไม่มีอำนาจก็ถอนตัวเองออกไป จะได้ให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ถ้าประชาชนเห็นด้วยขอให้โห่ร้องดังๆ ด้วย เพื่อบอกศาลรัฐธรรมนูญว่านี้คือการเปล่งเสียงของเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย ไม่รักเพื่อไทยไม่เป็นไร ไม่รักทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นไร แต่ขอให้สำนึกเสียงประชาชน ศาลรัฐธรรมนูญฟังเสียงเราบ้าง เสียงของประชาชน 
    จากนั้นคนเสื้อแดงจำนวนมากได้โห่ร้องปรบมือตามที่นายณัฐวุฒิประกาศ 
    ทั้งนี้ เวทีเพื่อไทยดังกล่าวที่ขอนแก่น เป็นการเดินสายตั้งเวทีปราศรัยใหญ่ของเพื่อไทยเป็นครั้งที่สองในรอบสัปดาห์ หลังจากเมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน ก็เพิ่งไปปราศรัยที่ทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุดรธานี และจะมีการตั้งเวทีแบบนี้อีกหลายแห่งในช่วงปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสามเดือน 
แดงหน้าศาลรธน.บี้ต่อเนื่อง 
    วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ที่นำโดย นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือ เล็ก บ้านดอน ยังคงปักหลักชุมนุมกดดัน เรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ยุติการทำหน้าที่โดยเด็ดขาด ที่บริเวณลานเสาธงหน้าศูนย์ราชการฯ 1 อาคารศาลรัฐธรรมนูญ ถ.แจ้งวัฒนะ ต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 7
    โดยตลอดทั้งวันการชุมนุมยังคงเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โดยบรรดาแกนนำ อาทิ นายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา นายศรรักษ์ มาลัยทอง นายธนชัย สีหิน และนายมงคล หนองบัวลำภู สลับกันจัดรายการวิทยุ และขึ้นเวทีปราศรัย เรียกร้องให้มวลชนคนเสื้อแดงออกมาร่วมชุมนุม เรียกร้องและกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ขณะที่บรรยากาศโดยรอบการชุมนุมเริ่มคึกคักในช่วงเย็น ประชาชนจากต่างจังหวัดทยอยเข้ามาร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้น และมีคนจำนวนไม่น้อยไปร่วมลงชื่อ เพื่อยื่นรายชื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน
    ซึ่งระหว่างการชุมนุม ตรงหน้าหน้าศูนย์ราชการฯ 1 อาคาร ศาลรัฐธรรมนูญ ถ.แจ้งวัฒนะ ได้เกิดเหตุกลุ่มคนเสื้อแดงปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลรักษาความปลอดภัย ประมาณ 10 นาที เมื่อผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง ได้พยายามผลักดันแนวรั้วเหล็กที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้น ไม่ให้ผู้ชุมนุมขึ้นมาบริเวณศาล จนขยายพื้นที่การชุมนุมเข้ามาใกล้ประตูทางเข้าศาลอีก 4 เมตร แต่ก็ไม่มีเหตุรุนแรง หรือ มีใครได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด โดยหลังจากขยายพื้นที่ชุมนุมได้สำเร็จ กลุ่มผู้ชุมนุมก็ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน
      นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงชุมนุมที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดปัญหาบานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวหรือไม่ ว่า อย่าไปถามให้มันเป็น ส่วนจะปรามลูกพรรคหรือไม่นั้น วันอังคารที่ 30 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมพรรค คงต้องมีการคุยกัน ขอตั้งหลักก่อน เพิ่งกลับจากต่างประเทศจึงยังไม่ค่อยรู้ความเคลื่อนไหว จึงไม่อยากพูด แต่เชื่อว่าบรรยากาศน่าจะราบรื่น ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นเป็นความขัดแย้ง
    ถามว่า เห็นด้วยกับที่ ส.ส.ไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายจารุพงศ์กล่าวว่า ลาออกจาก ส.ส.แล้ว คงไม่ไปคิดแทน ส.ส.และหัวหน้าพรรคก็ไม่ได้เป็นส.ส.
    นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่า 20 ส.ส.ที่ไปขอคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอยื่นคำร้องชี้แจงเป็นการส่วนตัวมีใครบ้าง แต่ถ้าเจ้าตัวไม่สบายใจ อยากชี้แจงเองจริงๆ ก็มีสิทธิทำได้ แต่คิดว่า ที่มาของกรณีดังกล่าวน่าจะมาจากช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งคำร้องมาให้รัฐสภา แล้วทางรัฐสภานำคำร้องดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญไปตั้งไว้หน้าห้องประชุมสภาฯ เพื่อแจกให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง 312 คน ทราบในช่วงประชุมรัฐสภาช่วงใกล้ปิดสมัยประชุมสภา อาจมี ส.ส.และส.ว.บางคนมาลงชื่อขอคำร้องดังกล่าวไป โดยที่ช่วงนั้น ส.ส.และ ส.ว. 312 คน ยังไม่มีมติออกคำแถลงการณ์ร่วมปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญออกมา การที่ ส.ส.-ส.ว.บางส่วนนำคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญไป อาจนำไปศึกษาดูเฉยๆ ไม่ได้คิดไปยื่นคำชี้แจงเอง อย่างไรก็ตาม ในการประชุมพรรคเพื่อไทย วันที่ 30 เม.ย.จะมีการชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการส่งคำแถลงการณ์ปฏิเสธอำนาจศาลให้ ส.ส.ทราบอีกครั้ง
ฝ่ายค้านอัดปูให้ท้ายแดง
    นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงกรณีนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ระบุมี ส.ส.พรรคเพื่อไทย 20 คน เตรียมยื่นคำร้องสู้คดีต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเองว่า ไม่เป็นความจริง เพราะส.ส.ส่วนใหญ่ยืนยันว่า จะไม่ส่งคำชี้แจงต่อสู้คดีกับศาลรัฐธรรมนูญ โดยในการประชุมพรรคเพื่อไทยวันที่ 30 เม.ย.จะยืนยันถึงการไม่ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันการเมือง เมื่อที่ประชุมมีความเห็นอย่างไร คงไม่มีใครกล้าแหกโผ การที่ ส.ส.บางส่วนอยากไปยื่นคำร้องเอง อาจยังสับสนเพราะยังไม่เห็นเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกที่เลยเกิดความกังวล เชื่อว่า พอได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ทุกอย่างจะจบ หากยังมี ส.ส.แตกแถวไปยื่นคำร้องเอง ก็ต้องตอบคำถามสังคมเอง แม้จะเป็นเอกสิทธิส่วนตัว แต่ต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องเกียรติภูมิของสมาชิกรัฐสภา และการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย
    โฆษกพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวถึงจดหมายเปิดผนึกปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ร่างเสร็จแล้ว มีเนื้อหา 12 หน้า สาระสำคัญคือ การยืนยันว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องตามมาตรา 68 และไม่มีอำนาจแทรกแซงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวไม่ใช่การกดดันหรือล้มล้างองค์กรอิสระ เป็นเพียงการชี้แจงข้อกฎหมาย และข้ออ้างอิงในอดีต คาดว่าส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ต้นเดือน พ.ค. การดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ขอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เลิกเสี้ยมได้แล้ว
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นถึงการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การชุมนุมเรียกร้องที่อยู่ภายใต้กฎหมาย และความสงบเป็นสิทธิของประชาชนนั้น ว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะให้ความเห็นเรื่องดังกล่าว ควรตรวจสอบพฤติกรรม ข้อเท็จจริงในการเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ก่อน เพราะข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นการชุมนุมเรียกร้องภายใต้กฎหมายด้วยความสงบอย่างที่นายกรัฐมนตรีกล่าว เพราะมีการประกาศจับตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้ใครก็ตามที่พบเห็นจับกุมตัวได้ทันที การมีพฤติกรรมลักษณะนี้จึงไม่ใช่การชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิทางกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย และการแสดงออกดังกล่าวก็ถือเป็นการข่มขู่ คุกคาม และมุ่งหมายต่อตัวบุคคล ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงต่อตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองเพิ่มเติม
    “สิ่งที่นายกฯ ควรดำเนินการคือ ไม่ควรพูดให้ท้ายในลักษณะนี้ แต่ควรจะแสดงออกหรือส่งสัญญาณให้เห็นถึงความพยายามห้ามปราม ไม่ปล่อยให้การข่มขู่ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกไม่ว่าจะกับศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรใด ๆ ก็ตาม เพราะพฤติกรรมของคนเสื้อแดงหน้าศาลรัฐธรรมนูญเป็นพฤติกรรมที่เกินกว่าบุคคลทั่วไปจะรับได้ จึงไม่เข้าใจทำไมนายกรัฐมนตรีรับพฤติกรรมนี้ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะข้อมูลไม่พอ ซึ่งหวังว่านายกรัฐมนตรีจะแสดงภาวะผู้นำส่งสัญญาณยุติพฤติกรรมข่มขู่ คุกคามดังกล่าว” นายองอาจ กล่าว
กองเชียร์ศาลรธน.โผล่ให้กำลังใจ 
    วันเดียวกัน ได้มีการออกแถลงการณ์สนับสนุนการทำหน้าที่ตามกฎหมายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดย ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (ส.ส.ร.2550)
    เนื้อหาแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ได้ปรากฏขบวนการทางการเมือง ทั้งพรรคการเมือง นักการเมือง และมวลชนในเครือข่าย หวังเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้กระทำการกดดัน คุกคาม ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ หวังทำลายความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือขององค์กรตรวจสอบ ดังเช่นศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
    "ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ขอให้กำลังใจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และขอสนับสนุนให้ตุลาการปฏิบัติหน้าที่สำคัญตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่อไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นหลักให้กับบ้านเมือง โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายการเมืองถือเอาความต้องการของพรรคพวกตนเป็นใหญ่มากกว่าระบบกฎหมาย และ เห็นว่า พฤติการณ์ของ ส.ส. ส.ว. พรรคการเมือง และผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ที่ประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยุยง ส่งเสริม สนับสนุน ตลอดจนบงการหรือสั่งการ ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เกิดการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ข่มขู่คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถึงขนาดประกาศจับกุมตัวตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่มีโทษ ต้องระวางจำคุกไม่เกิน 7 ปี อีกทั้งรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจะต้องทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครององค์กรตามรัฐธรรมนูญเช่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระจากการคุกคามทั้งหลาย มิใช่ให้ท้ายหรือยุยงส่งเสริมให้มีการคุกคามศาลรัฐธรรมนูญ".

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น