วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

แดงเอาคืนฟ้องศาลรธน.หาว่าแจ้งความเท็จ เมื่อ 28 เม.ย.56




แดงเอาคืนฟ้องศาลรธน.หาว่าแจ้งความเท็จ


“เสื้อแดง” เอาคืนบุกกองปราบ ฟ้องกลับศาล รธน.แจ้งความเท็จ หาหมิ่นตุลาการ ยันไม่ยอมรับอำนาจซากเผด็จการ คมช. ขณะที่ “นายกฯ ปู” ให้ท้ายเสื้อแดง อ้างชุมนุมสงบตามสิทธิประชาธิปไตย ยันเจตนาแก้ รธน.เพื่อรักษาสมดุล 3 เสาหลัก ด้าน “พท.” ลั่นพร้อมแตกหักศาล รธน. ย้ำร่อนหนังสือไม่รับอำนาจสัปดาห์หน้า ขู่ทำเมินเจอยื่นถอดถอนแน่ ยันไม่เกี่ยวม็อบแดงหน้าศาล ตอกกรรมการไม่เป็นกลางไล่ชกกองเชียร์ ส่วน “วิปรัฐบาล” ยอมรับมี ส.ส.แตกแถวขอชี้แจงศาล รธน. ปมแก้ไขมาตรา 68 มั่นใจกล่อมได้ ขณะที่ “ปธ.วุฒิฯ” ยัน ส.ว.ไม่ร่วมลงชื่อถอดถอนตุลาการ ติงศาล รธน.อย่าใช้อารมณ์ตัดสิน ปมแก้มาตรา 68 ด้าน “ปชป.” ซัด ส.ส.- ส.ว.-เสื้อแดง-อุกฤษ รวมหัวกดดันศาล รธน. จวกหวังขจัดเสี้ยนหนาม-ลิดรอนอำนาจ-ทำลายการตรวจสอบถ่วงดุล จี้รัฐปรามป้องครหาชักใย
เสื้อแดงปักหลักชุมนุนไล่ตุลาการ
หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับ 4 แกนนำคนเสื้อแดง ที่ชุมนุมบริเวณด้านหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ในความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 และมาตรา 198 นั้น ต่อมา วันที่ 27 เม.ย. ที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ บรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ใช้ชื่อว่า สื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ยังคงปักหลักชุมนุมต่อเนื่อง เป็นวันที่ 6 เพื่อขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ยุติบทบาทหน้าที่ อย่างไรก็ตามการชุมนุมยังคงเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โดยแกนนำยังคงสลับกันขึ้นเวทีปราศรัยปลุกระดมมวลชนคนเสื้อแดงให้มารวมกันที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอนองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภาด้วย
บุก บก.ป.ฟ้องกลับ ตลก.แจ้งความเท็จ
ต่อมาในช่วงบ่าย กลุ่มคนเสื้อแดงประมาณ 200 คน ได้เดินทางไปยังกองบังคับการกองปราบปราม เพื่อเข้าแจ้งความกลับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนในข้อหาที่แจ้งความเท็จ เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งรับมอบอำนาจจากนายปัญญา อุดชาชน รองเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เดินทางไปแจ้งความกับ บก.ป. เพื่อให้ดำเนินคดีกับแกนนำ กวป.ในความผิดฐานร่วมกันดูหมิ่นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 และมาตรา 198 โดยทำหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษ พร้อมแผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงคำปราศรัยในการชุมนุมที่บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญไว้เป็นหลักฐานในการพิจารณาดำเนินคดี ซึ่ง กวป.เห็นว่าเป็นการแจ้งความเท็จ และจะขอแจ้งความกลับในกรณีที่ระบุว่า กวป.หมิ่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเราไม่ยอมรับอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้งของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
แดงเหนือ เผาหุ่น-ไม่รับอำนาจ
นายปัณณวัฒน์ นาคมูล แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จ.อุตรดิตถ์ พร้อมแกนนำ และคนเสื้อแดง 17 จังหวัดภาคเหนือกว่า 100 คน รวมตัวกันที่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก เพื่ออ่านแถลงการณ์ของกลุ่ม นปช.และคนเสื้อแดง 17 จังหวัดภาคเหนือ กรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่อาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ 6 ข้อคือ 1. นปช.และคนเสื้อแดงทั่วประเทศไม่รับอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2.ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุติบทบาทของตัวเอง เนื่องจากสร้างความเสื่อมเสียให้กับกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ส่วนข้อ 3. นปช.และคนเสื้อแดง พร้อมที่จะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กเพื่อยืนหยัด และพร้อมให้การสนับสนุน ส.ส.และ ส.ว.ที่เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4.สนับสนุนของทุกฝ่ายที่จะให้มีการปฏิรูปบทบาทและหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5.นปช.และคนเสื้อแดงทั่วประเทศพร้อมที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปในเรื่องของการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีเสวนา การอภิปราย และอีกหลายรูปแบบและ 6. ส่งกำลังใจให้กับพี่น้อง นปช.และคนเสื้อแดง ที่ชุมนุมอยู่หน้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายปัณณวัฒน์ และแกนนำ นปช. 17 จังหวัดภาคเหนือ อ่านแถลงการณ์ร่วมกันเสร็จแล้ว ตัวแทนของ นปช.อุตรดิตถ์ ได้อ่านวรรณกรรมคนเสื้อแดง โดยการกล่าวโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้น นปช.และคนเสื้อแดง 17 จังหวัด ได้ย้ายจากหน้าอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ไปยังหน้าศาลาจัตุรมุข สนามกีฬาจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อนำหุ่นฟาง 3 ตัว มาทำการเผาด้วยน้ำมันและจุดไฟเผาท่ามกลางการโห่ร้องของ นปช.และคนเสื้อแดง
“ปู” ป้องแดงชุมนุมตามสิทธิ์
ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ อาทิ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.อุตสาหกรรม นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.คมนาคม และนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วิทยาศาสตร์ ได้เดินทางมาที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางไปเยือนประเทศมองโกเลียอย่างเป็นทางการ และเข้าร่วมการประชุมประชาคมประชาธิปไตย ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 27-29 เม.ย. โดยเครื่องบินเที่ยวพิเศษของบริษัทการบินไทย จำกัด มหาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการเรียกร้อง ถ้าอยู่ภายใต้กฎหมาย และความสงบก็เป็นสิทธิ์ตามประชาธิปไตยของประชาชน เจตนารมณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญสมาชิกรัฐสภาต้องการที่จะเห็นว่า ทุกอย่างเป็นตามกระบวนการที่ให้ความเป็นธรรมทั้งผู้ถูกร้องและผู้ร้อง ถือเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การสร้างสมดุลทั้ง 3 เสาหลัก เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นเสาหลักในการบริหาร นิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ทั้ง 3 เสาหลักนี้ ต้องทำหน้าที่ของตนเอง และภายใต้ระบอบประชาธิปไตยทั้ง 3 เสาหลักนี้ต้องมีการถ่วงดุลเพื่อให้เกิดความสมดุล มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส
พท.เดินหน้ารุกชนศาล รธน.
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การร่างจดหมายเปิดผนึก เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรับคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 นั้น ขณะนี้เรียบร้อยแล้ว รอตรวจความเรียบร้อยในขั้นตอนสุดท้ายอยู่ คาดว่าจะส่งได้ภายในสัปดาห์หน้า โดยในวันที่ 30 เม.ย.นี้ จะมีการประชุมพรรคเพื่อไทย จะได้นำร่างมาถกในที่ประชุม ส.ส. ก่อน ซึ่งคาดว่า ในวันที่ 1-2 พ.ค. จะยื่นจดหมายดังกล่าวได้ เนื้อหาในหนังสือจะเป็นการยืนยันทางกฎหมาย ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจที่ฝ่ายนิติบัญญัติทำได้ รวมถึงยืนยันหลักการแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่ายคือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ พร้อมยกเหตุผลประกอบและเอกสารอ้างอิง เพื่อชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญรวมถึงประชาชนด้วย ยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่การก้าวล่วงอำนาจศาล หรือต้องการสร้างความขัดแย้งกับศาลไปจนถึงต้องการล้มล้างองค์กรอิสระตามที่พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหา แต่เราจะยืนยันกับศาลรัฐธรรมนูญว่า จะก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ เพราะขัดกับการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการกดดันศาลรัฐธรรมนูญ หรือล้มองค์กรอิสระตามที่ฝ่ายค้านกล่าวหา แต่เป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการถ่วงดุลอำนาจเท่านั้น ส่วนความคืบหน้าการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้มี ส.ส.รัฐบาลมาลงชื่อไปแล้ว 100 กว่าคน ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะการยื่นถอนถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใช้เสียงเพียง 1 ใน 4 ของสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น แต่กรณีนี้ ส.ว.จะไม่เข้าชื่อร่วมถอดถอนด้วย เพราะ ส.ว.ต้องทำหน้าที่พิจารณาถอดถอนในขั้นตอนสุดท้าย หาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องมาให้ดำเนินการ โดยต้องใช้เสียง ส.ว. 3 ใน 5 หรือ 90 เสียงในการถอดถอน แต่เราไม่ได้หวังถึงจุดนั้น แค่หวังแสดงจุดยืน แสดงท่าทีว่าไม่เห็นด้วยกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญก้าวก่ายอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ส่วนการยื่นถอดถอนนั้น จะถอดถอนเฉพาะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 3 คน ที่รับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้พิจารณา ส่วนจะยื่นถอดถอนเมื่อใดนั้น ขอดูท่าทีจากศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากที่ 312 ส.ส.- ส.ว.ยื่นจดหมายเปิดผนึกปฏิเสธอำนาจศาลแล้ว ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีปฏิกิริยาอย่างไร ถ้ายังคงนิ่งเฉย และดำเนินการวินิจฉัยต่อไป ก็ต้องยื่นถอดถอน
ตอกกรรมการชกกองเชียร์
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ พาดพิงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เกี่ยวโยงกับการชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการทำลายองค์กรอิสระนั้น ไม่เป็นความจริง คนที่ไปชุมนุมมีประมาณ 100-200 คน หากเราจัดตั้งจริงคนจะมาเป็นหมื่นเป็นแสน ต้องยอมรับว่ามีประชาชนไม่น้อยที่คลางแคลงใจศาลรัฐธรรมนูญจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น ตัดสินให้การทำกับข้าวเป็นความผิด บังคับใช้กฎหมายที่มาจากคำสั่งคณะรัฐประหารลงโทษย้อนหลัง การชุมนุมอย่างสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ สามารถกระทำได้ แต่หากมีการกระทำผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการ เพราะเราเองก็ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ คงไม่มีใครกดดันตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ เท่าที่ทราบ 2-3 ก็น่าจะยุติชุมนุมแล้ว แต่ท่าทีของทั้งสองฝ่ายอาจมีส่วนทำให้มีการยกระดับ จากกรรมการชกนักมวยมาเป็นกรรมการชกกองเชียร์แล้ว กลุ่มคนเสื้อแดงมีหลากหลายซึ่งเป็นผลจากความไม่เป็นธรรม ซึ่งต่างก็ได้ถอยให้กับความอยุติธรรมมามากพอแล้ว ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรปิดกั้น ควรเปิดพื้นที่ให้คนเหล่านั้นแสดงออกตราบเท่าที่การชุมนุมไม่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งการชุมนุมนอกรั้วศาลรัฐธรรมนูญน่าจะทำได้ ไม่ใช่การเดินคู่ขนาน พรรคเพื่อไทยยึดมั่นในวิถีทางรัฐสภา ส่วนที่กลุ่ม นปช.แหลมฉบังหลายสิบคน ถือป้ายโจมตี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ผู้นำฝ่ายค้านและนำรถมาปราศรัยตรงข้ามกับที่จัดงานพรรคประชาธิปัตย์จัดงานพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีนั้น เท่าที่ทราบ ทางตำรวจนำโดย พ.ต.อ.ศักดิ์รพี เพียวพนิช ผกก.สภ.แหลมฉบัง ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและตำรวจอาสารวม 40 นายมาเฝ้าระวังป้องกันเหตุรอบบริเวณงานเพื่อไม่ให้มีการกระทบกระทั่งด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่นายอภิสิทธิ์ ต้องคิดไตร่ตรองในช่วงที่ผ่านมา ทำอะไรลงไปบ้าง ทำไมไปที่ไหนถึงมีคนออกมาต่อต้านไม่หยุดหย่อน ทั่วทุกหัวระแหง หรือเกิดจากกรณีที่มีผู้เสียชีวิตในเหตุชุมนุมทางการเมือง แล้วไม่เคยออกมาขอโทษหรือไม่ กรรมออนไลน์มาไวกว่าความรับผิดชอบทางการเมืองเสมอ จะหวังเอาแต่เปิดเวทียั่วยุแล้วฟ้องกรรมการ จะเอาจุดโทษอยู่ร่ำไปคงไม่ได้ เพราะกรรมการเขาไม่ว่าง ทะเลาะกับคนดูอยู่
การเมืองวุ่นตามใจอภิสิทธิ์ชนไม่ถูก
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ที่พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง โดยอ้างว่า นายสมศักดิ์ ไม่เป็นกลางและการทำผิดข้อบังคับนั้น ไม่มีน้ำหนักแต่อย่างใด เนื่องจากการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นผู้เรียกร้องให้นายสมศักดิ์ทำหน้าที่ประธานการประชุมแทนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาเอง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์เองก็เห็นว่านายสมศักดิ์มีความเป็นกลาง ขณะเดียวกันยืนยันว่านายสมศักดิ์ไม่เคยร่วมประชุมพรรคเพื่อไทยเพื่อพิจารณากรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แต่อย่างใด เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานสภาต้องวางตัวเป็นกลางซึ่งเป็นผลให้นายสมศักดิ์ไม่สามารถร่วมประชุมกับพรรคได้ โดยตั้งแต่รับตำแหน่งประธานสภามานายสมศักดิ์ก็ไม่เข้าประชุมพรรคแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนนายสมศักดิ์จะยื่นคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญในนามส่วนตัวหรือไม่ เป็นสิทธิ์ส่วนตัว แต่จากปัญหาดังกล่าว เกิดจากการตามใจอภิสิทธิ์ชนไม่ถูก วันหนึ่งบอกว่าทำหน้าที่ดี วันดีคืนดีร้องถอดถอน หรือในอดีตบอกว่ารัฐธรรมนูญแก้แบบรายมาตราได้ วันนี้แก้ไม่ได้ ไม่มีหลักประกันอะไรทั้งนั้น ในสังคมอภิสิทธิ์ชน
รับมี ส.ส.แตกแถวขอชี้แจงศาล รธน.
นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในการประชุมพรรคเพื่อไทย วันที่ 30 เม.ย. พรรคจะมีการแจ้งให้ทราบถึงแนวทางดำเนินที่ไม่ให้ ส.ส.เพื่อไทยทุกคนไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ชี้แจงแก้ข้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยจะเปิดโอกาสให้ ส.ส.พรรคได้แสดงความเห็นเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง ขณะนี้ทราบว่า มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยบางส่วนเพียงไม่กี่คนไปขอคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญจากเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอไปชี้แจงเป็นการส่วนตัวต่อศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกับ ส.ส.ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกันก็จะเกิดความเสียหายได้ เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ส.ส.ทุกคนจะปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ส่วนกระแสข่าวนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ยังมั่นใจว่า นายสมศักดิ์มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันกับ ส.ส.ทุกคน คงไม่ไปชี้แจง
“เฉลิม” ย้ำนำ “นายใหญ่” กลับไทย
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาที่สถานีวิทยุชมรมคนรักอุดร บ้านหนองลีหู ต.สามพร้าว อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อออกรายการทีวีดาวเทียมช่อง p&p channel แจงเกี่ยวกับการจัดเวทีพาทักษิณกลับบ้านในเดือนหน้า โดยมีนายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดรและคนเสื้อแดงให้การต้อนรับ โดย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลตนเองถือเป็นแกนนำหลักในการช่วยพรรคหาเสียง และตอนนี้ตนเองกำลังเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ 6 มาตราใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นับจากปี 2549 จนกระทั่งร่าง พ.ร.บ.ประกาศใช้กับทุกผู้คนทุกสี ทุกหมู่เหล่า จะได้รับผลบวกจาก พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติฉบับนี้ “ผมเขียนหลักการไม่ได้ระบุตัวบุคคลใครอยู่ในหลักเกณฑ์ได้ประโยชน์หมด เลิกทะเลาะเบาะแว้งหันหน้ามาสามัคคีกัน ส่วนอีกเรื่องคือการเดินหน้าพาทักษิณกลับบ้าน โดยในวันที่ 24 พฤษาคม 56 จะจัดเวทีใหญ่ที่สนามทุ่งศรีเมือง เวทีปราศรัยของผมจะไปเรื่อยๆ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพฯ เวทีนี้ใครขึ้นได้หมด แต่ผมมีเงื่อนไข 3 ข้อคือ 1.อย่าไปยุ่งกับศาล 2.อย่าด่าทหาร 3.อย่าพาดพิงสถาบัน เพราะผมอยากปรองดอง อะไรที่จะทะเลาะเบาะแว้งผมจะลดลง และจะรวมตัวกันเอาทักษิณกลับบ้านให้ได้ก่อน
ยัน ส.ว.ไม่ร่วมลงชื่อถอดตุลาการ
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย รวบรวมรายชื่อเพื่อถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นสิทธิของ ส.ส.ที่จะดำเนินการได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 แต่ต้องใช้เสียงถอดถอนจาก ส.ว. 3 ใน 5 หรือ 90 เสียงขึ้นไป อย่างไรก็ตามในส่วนของ ส.ว.ไม่มีใครร่วมเข้าชื่อด้วย เพราะ ส.ว.จะเข้าชื่อถอดถอนได้เฉพาะกับ ส.ว.ด้วยกันเอง และอำนาจถอดถอนของ ส.ว.ก็มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ พร้อมเชื่อว่าจะไม่ทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญสะดุดเพราะคิดว่าไม่เกี่ยวกัน กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กับการยื่นคำร้องขอถอดถอนตุลาการฯ ต้องแยกจากกัน อย่านำมารวมกัน ทุกอย่างอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล ตามหลักกฎหมาย อย่าใช้อารมณ์ความรู้สึกมาตัดสิน
ติงศาล รธน.อย่าใช้อารมณ์ตัดสิน
ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี แกนนำ ส.ว.ผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ยืนยันว่า ไม่มี ส.ว.ร่วมเข้าชื่อถอดถอนแต่ ส.ว.แค่ร่วมลงชื่อไม่รับขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น เป็นการทำในนามองค์กรต่อองค์กร ที่สามารถโต้แย้งอำนาจระหว่างกันได้ เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีใครทำ แต่ยืนยันว่าเราสามารถโต้แย้งได้ตามกฎหมาย ส่วนที่มองว่าอาจเกิดปัญหาขัดแย้งระหว่าง 2 องค์กรนั้น ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ ตนพยายามดึงให้ฝ่ายรัฐบาลหันมาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา อย่าไปดึงดันลงมติวาระ 3 ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 จะได้ไม่เกิดปัญหา ซึ่งเขาก็ยอมแล้ว แต่มาถูกเบรกอีกทั้งที่รู้อยู่ว่าเราพยายามหาทางออกให้แล้ว มันจึงเสียความรู้สึก และคนในสังคมเขาก็ข้องใจกับท่าทีของตุลาการฯ เสียงข้างมาก ดังนั้นเราจำเป็นต้องโต้แย้งเพื่อแสดงให้เห็นถึงการค้านอำนาจซึ่งกันและกัน
ปชป.ซัด 3 กลุ่มมุ่งทำลายศาล
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการเคลื่อนไหวของหลายฝ่ายเพื่อลดทอนอำนาจ หรือกดดันการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะที่ผ่านมานั้น ได้มีการเคลื่อนไหวในการกดดันสำคัญอยู่สามส่วน ได้แก่ การเคลื่อนไหวจากกลุ่ม ส.ส.เสียงข้างมากในสภา และ ส.ว. จำนวนหนึ่ง กลุ่มคนเสื้อแดงที่ไปชุมนุมหน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และนายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ) ซึ่งเป็นองค์กรที่แต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาล ทั้งนี้การดำเนินการของทั้ง 3 ส่วนนี้มีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ ได้แก่ 1.ทำลายการตรวจสอบถ่วงดุล 2.ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนเสือกระดาษ 3.ขจัดศาลรัฐธรรมนูญเพื่อไม่ให้เป็นเสี้ยนหนามในการใช้เสียงข้างมากลากไป สำหรับนายอุกฤษนั้น แม้จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ออกมาดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มอื่นๆ แต่เชื่อว่าคนในสังคมคงมองเห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างเจนชัดของกลุ่มคนเหล่านี้ โดยเฉพาะนายอุกฤษ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ไม่ควรทำตนให้เป็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง วันนี้นายอุกฤษกำลังทำให้อำนาจอยู่กับฝ่ายบริหารและเสียงข้างมากโดยพยายามลดการตรวจสอบ
ฉะม็อบแดงยุจับตัวตุลาการ
นายองอาจ กล่าวต่อว่า ด้านการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่มาชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เป็นการเคลื่อนไหวที่เกินเลยกรอบของกฎหมาย เช่น การยุให้มวลชนเข้าจับกุมตัวตุลาการ ถือเป็นการเคลื่อนไหวที่ข่มขู่และกดดัน มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง และเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ควรจะออกมาดำเนินการยุติความเคลื่อนไหวและรัฐบาลต้องแสดงออกว่าไม่สนับสนุนการชุมนุมที่ไม่ถูกฎหมาย มิฉะนั้น จะถูกครหาว่าอยู่เบื้องหลัง วันนี้รัฐบาลมีภาระหน้าที่อีกมากมายในการแก้ปัญหาให้ประชาชน ดังนั้น ไม่ควรเอาเวลาไปสนับสนุนสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้ ควรยุติก่อนที่จะปล่อยให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นความรุนแรงเพิ่มขึ้นในสังคม
แจงปมแก้ รธน.รายมาตรา
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) รายมาตรา ว่า เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ตาม รธน. แต่ต้องไม่เข้าข่ายความผิดตาม รธน.มาตรา 68 คือ 1.ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยผิดกฎหมาย ไม่เช่นนั้นศาล รธน.สามารถวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นอำนาจตามที่ รธน.บัญญัติให้ ฉะนั้นเมื่อมีผู้ร้องว่าการแก้ รธน.เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 68 ศาล รธน.จึงมีหน้าที่ต้องพิจารณา ส่วนจะวินิจฉัยว่าอย่างไรก็เป็นอำนาจของศาล การรับเรื่องจึงไม่ใช่การก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม รธน.ของแต่ละฝ่าย ส่วนกรณีที่ ส.ส.เพื่อไทย จะไม่ยื่นคำให้การก็สามารถทำได้ ซึ่งก็เป็นการไม่ใช้สิทธิ์ที่ตนเองมีอยู่เท่านั้น แต่ที่สำคัญไม่ว่าฝ่ายใด ต้องไม่ใช้กำลังคุกคามฝ่ายอื่นเพื่อบังคับให้ได้ตามใจตน ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็น “การใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย” ส่วนการยื่นถอดถอนตุลาการสามารถ ทำได้ถ้าตุลาการทำผิด แต่ต้องไม่ใช่เพราะต้องการข่มขู่ให้ตุลาการมาทำตามใจฝ่ายตน


วันที่ 28/04/2556 เวลา 7:13 น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น