วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

โหวตเห็นชอบรับแก้ รธน. คาดฝักถั่ว “พรึ่บ” ไม่แตกแถว โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 เมษายน 2556 07:24 น


โหวตเห็นชอบรับแก้ รธน. คาดฝักถั่ว “พรึ่บ” ไม่แตกแถว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์3 เมษายน 2556 07:24 น

รายงานการเมือง
       
       ผ่านไปแล้วสองวัน 1-2 เมษายน 2556 ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ....
       
       มีการพิจารณากันรวม 3 ร่างที่ยื่นเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ใน 4 ประเด็นหลักคือการแก้ไขมาตรา 68, ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา, มาตรา 190 และมาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิการเมือง 5 ปี กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
       
       โดยหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การประชุมวันนี้ 3 เมษายน 2556 ก็จะเป็นการพิจารณาวันสุดท้ายจากนั้นก็จะมีการลงมติเห็นชอบทีละร่าง ใช้วิธีการเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา คือ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารวมกัน
       
       เช็กเสียงกันล่าสุด ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภาโดยเฉพาะสายเลือกตั้ง ทางแกนนำวิปรัฐบาลแสดงความมั่นใจว่าคะแนนเสียงเห็นชอบน่าจะผ่านไปได้อย่างไม่ยากเย็น
        
       
       แม้การอภิปรายคัดค้านไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน-ส.ว.บางส่วนต้องยอมรับว่ามีเหตุมีผลหักล้างได้มากในการไม่เห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราครั้งนี้ แต่สุดท้ายวิปรัฐบาลก็คงต้องดันให้ทั้ง 3 ร่างนี้ผ่านไปก่อน
       
       สำหรับรายละเอียดอะไรต่างๆ หากเหนือบ่ากว่าแรง ร่างที่ชงไปทั้ง 3 ร่างมีข้อบกพร่องจริงๆ หรือมีอะไรต้องปรับต้องแก้ให้รัดกุมดียิ่งขึ้น ก็คงให้ไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างต่อไป
       
       ในส่วนภาพรวมการอภิปรายตลอด 2 วันที่ผ่านมา ปรากฏว่าไฮไลต์สำคัญของวันแรกดันไปอยู่ที่กรณี นิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาดันไปลงชื่อในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และ 237 โดยเจ้าตัวอ้างว่าใช้สิทธิในฐานะ ส.ว.ฉะเชิงเทรา อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเพราะเห็นว่าทั้งสองมาตรามีปัญหาในการบังคับใช้จึงเห็นด้วยต่อการแก้ไข ทำให้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ประท้วงกันวุ่นวาย
       
       ยื่นเงื่อนไขให้นายนิคมเลือกเอา ระหว่างจะไปถอนชื่อออกแล้วขึ้นมาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม แต่หากไม่ถอนชื่อก็ไม่ควรนั่งทำหน้าที่ประธานการประชุม เพราะจะเสียความเป็นกลาง ส่งผลให้การอภิปรายวันแรกในช่วงที่นายนิคมทำหน้าที่ประธานการประชุมมีปัญหาหลายชั่วโมง จนสุดท้ายก็มีการตกลงกันว่า หาก ส.ส.ประชาธิปัตย์อภิปราย นายนิคมจะต้องไม่ขึ้นทำหน้าที่ประธานการประชุมตลอดสองวันที่ผ่านมา
       
       ขณะที่การอภิปรายในแต่ละมาตรา ซึ่งมีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จับประเด็นหลักๆ ได้ เช่น
       
       เสียงคัดค้าน “ไม่เห็นด้วย” ต่อการแก้ไขมาตรา 68 ที่ในร่างแก้ไขจะให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาและส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้เพียงฝ่ายเดียวหากมีการยื่นคำร้องให้อัยการสูงสุดพิจารณาว่ามีการกระทำอันเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จากปัจจุบันที่ประชาชนสามารถยื่นคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง หลังจากศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานเอาไว้ก่อนหน้านี้
       
       โดยฝ่ายที่ “เห็นด้วย” ต่อการแก้ไขมาตรา 68 อ้างว่าเพื่อเป็นการสร้างความชัดเจนในข้อกฎหมายไม่ให้คลุมเครือและเป็นการทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ต้องการให้อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ อีกทั้งไม่ได้เป็นการตัดสิทธิประชาชนในการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ก็เปิดช่องไว้แล้วว่าหากประชาชนเห็นว่าถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ก็สามารถใช้สิทธิยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัตแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ แต่การใช้สิทธินี้ต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว
       
       ส่วนฝ่ายคัดค้านเห็นว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับ สิ่งสำคัญที่สุดคือ สิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งในมาตรา 68 ต้องการให้ประชาชนเป็นพระเอกในการปกป้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ขนาดอัยการสูงสุดยังให้เป็นพระรอง
       
       การไปแก้ไขมาตรา 68 จึงเป็นการจำกัดสิทธิประชาชน เป็นการแก้ไขเพื่อไปรุกคืบอำนาจองค์กรอื่น เป็นการตัดสิทธิประชาชนในการตรวจสอบฝ่ายต่างๆ หากเห็นว่ามีการกระทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งปัจจุบันงานของอัยการสูงสุดก็มีมากอยู่แล้วก็ควรให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มี 9 คน ช่วยพิจารณากลั่นกรองและไต่สวนข้อเท็จจริงคำร้องว่าจะรับพิจารณาหรือไม่ จึงน่าจะดีกว่าที่จะให้อัยการสูงสุดที่แม้พอรับคำร้องแล้วจะให้ลูกน้องในสำนักงานอัยการสูงสุดไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่ก็ไม่ใช่งานที่เหมาะกับภารกิจของอัยการแต่อย่างใด
       
       ขณะที่การเสนอแก้ไขมาตรา 190 ฝ่ายที่ “เห็นด้วย” ต่อการแก้ไขก็ยกเหตุว่า มาตรา 190 เป็นอุปสรรคในการทำงานของฝ่ายบริหาร ทำให้เกิดความยุ่งยากในการเจรจาความกับคู่ค้าหรือต่างประเทศ เพราะต้องนำกรอบหรือหนังสือต่างๆ มาให้รัฐสภาพิจารณาก่อนแล้วจากนั้นพอไปทำข้อตกลงหรือเจรจาอะไรแล้ว ก็ต้องกลับนำมาให้รัฐสภาพิจารณาและเห็นชอบก่อนจะมีผลบังคับใช้ ทำให้เกิดความล่าช้าในการเจรจากับต่างประเทศ อีกทั้งการที่ต้องมีการนำหนังสืออะไรต่างๆ มาให้รัฐสภารับทราบก่อนไปเจรจายังเป็นการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ก่อนการเจรจาทำให้เสียเปรียบเพราะคู่สัญญาจะรู้เงื่อนไขสัญญาต่างๆ ก่อนการเจรจาจะเริ่มต้นขึ้นทำให้ไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบ
       
       อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่ “ไม่เห็นด้วย” ต่อการเสนอแก้ไขมาตรา 190 ก็ให้เหตุผลว่า การบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ขั้นตอนการปฏิบัติเพราะหลังมีการแก้ไขมาตรา 190 มาแล้วในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการเขียนไว้ว่าให้ออกกฎหมายลูกมารองรับภายในหนึ่งปี เพื่อทำให้การบังคับใช้มาตรา 190 ไม่เป็นปัญหาในการทำงานของฝ่ายบริหารแต่ปรากฏว่าผ่านไปร่วม 2 ปี ฝ่ายรัฐบาลกลับไม่ยอมนำเสนอกฎหมายลูกของมาตรา 190 ออกมา ทั้งที่สามารถทำได้เลยแต่กลับไม่มีการร่างกฎหมายออกมา
       
       ผนวกกับหากเห็นว่าสัญญาหรือข้อตกลงใดที่เป็นความลับสำคัญ ไม่ต้องการให้มีการเผยแพร่ออกไปก่อนหน้าการเจรจาอันจะทำให้คู่เจรจาล่วงรู้ความลับก่อน ก็ให้รัฐสภาทำการประชุมลับได้ และจริงๆ แล้ว กรอบของมาตรา 190 ก็ไม่ได้บอกว่าต้องให้เอาเอกสารหนังสือทุกอย่างที่จะไปเจรจามาเปิดเผยต่อรัฐสภา ขอเพียงให้เอาสาระสำคัญมาแจ้งให้รัฐสภาทราบเท่านั้น แต่เนื่องจากที่ผ่านมา คนที่เกี่ยวข้องก็ไม่กล้าตัดสินใจและกลัวจะทำผิดรัฐธรรมนูญเลยเอาทุกเรื่องมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
       
       รวมถึงมีการอภิปรายไม่เห็นด้วยต่อร่างแก้ไขมาตรา 190 ที่มีการตัดข้อความว่า หนังสือสัญญาต่อไปนี้เข้าข่ายมาตรา 190 คือหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง และหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
       
       ซึ่งปรากฏว่าในร่างแก้ไขมาตรา 190 ที่ยื่นมามีการตัดข้อความเหล่านี้ออกไปทั้งหมด ทำให้ต่อไปหากฝ่ายบริหารมีการทำหนังสือสัญญาลักษณะดังกล่าวแล้วเป็นหนังสือสัญญาที่ไม่ชอบ เอื้อประโยชน์กับคนบางกลุ่ม ไปทำข้อตกลงโดยไม่รอบคอบ ทำให้ไทยเสียเปรียบ ก็จะขาดการตรวจสอบ ซึ่งเคยมีบทเรียนมาแล้วกับกรณีสมัยนายนพดล ปัทมะ ตอนเป็น รมว.ต่างประเทศไปทำข้อตกลงเขาพระวิหารกับกัมพูชา ที่ตอนแรกนายนพดลอ้างว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 190 แต่สุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าเข้าข่าย 190 หลายคนจึงเป็นห่วงว่า หากมีการแก้ไขตามร่างที่ยื่นมาอาจทำให้ต่อไปกระบวนการตรวจสอบการทำข้อตกลงต่างๆ ของรัฐบาลกับต่างประเทศจะขาดการตรวจสอบอย่างรอบคอบ
       
       ก็คาดกันว่า ในชั้น กมธ.วิสามัญฯ พิจารณาร่างมาตรา 190 คงมีการอภิปรายเรื่องนี้กันมากพอสมควร หลังเริ่มมีเสียงไม่เห็นด้วยมากขึ้น
       
       เส้นทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็ต้องไปติดตามในชั้น กมธ.วิสามัญกันต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น