วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

ศาล รธน.เดินหน้าคดีแก้ ม.68 ไม่สน “เพื่อไทย” ไม่แจงข้อกล่าวหา - “ดิเรก” โวยตุลาการล้ำเส้น โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 19 เมษายน 2556 16:00 น.

ศาล รธน.เดินหน้าคดีแก้ ม.68 ไม่สน “เพื่อไทย” ไม่แจงข้อกล่าวหา - “ดิเรก” โวยตุลาการล้ำเส้น
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์19 เมษายน 2556 16:00 น.

หน.โฆษกศาล รธน.เผยหากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลไม่ชี้แจงแก้ ม.68 ก็เดินหน้าพิจารณาต่อ ถือว่าไม่ติดใจในคำร้อง ด้าน ส.ว.นนทบุรีอ้างกลุ่ม ส.ส.-ส.ว.โต้ศาลไม่ละเมิด โวยอำนาจตุลาการก้าวก่ายฝ่ายนิติบัญญัติ 
       
       วันนี้ (19 เม.ย.) นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยมีมติไม่รับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับคำร้อง 40 ส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และจะไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า โดยหลักการแล้วการพิจารณาคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็คงเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการ เนื่องจากในข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่ผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป ดังนั้น กรณีนี้หากผู้ถูกร้องไม่ชี้แจงแก้ข้อกล่าวก็ถือว่าผู้ถูกร้องไม่ติดใจในคำร้องดังกล่าว ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกผู้ถูกร้องมาชี้แจงด้วยวาจาในขั้นตอนการไต่สวนหรือไม่นั้น ก็คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย
       
       ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ในฐานะรองประธานวิปรัฐสภา กล่าวถึงการออกแถลงการณ์ของสมาชิกรัฐสภา ที่คัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราไว้พิจารณา ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า การออกแถลงการณ์โต้แย้ง ในวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาทำได้ ไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเพียงการโต้แย้งว่าศาลไม่ควรรับเรื่อง เนื่องจากอำนาจ 3 ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ปกติจะไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน แต่การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการเบรกและก้าวก่ายการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งทำให้สมาชิกรัฐสภาเกิดความไม่สบายใจ ซึ่งอาจเกิดปัญหาในการบริหารประเทศในอนาคตได้ ซึ่งคาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้ารัฐสภาจะได้ส่งข้อโต้แย้งและคำชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญรับทราบต่อไป
       
       ทั้งนี้ โดยความเห็นส่วนตัว ศาลรัฐธรรมนูญไม่น่ารับคำร้อง เพราะไม่เห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จะเป็นการล้มล้างการปกครองตรงไหน การให้ประชาชนยื่นเรื่องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผ่านอัยการสูงสุดแต่เพียงหน่วยงานเดียว ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกันไม่ต้องมาคลุมเครือว่าจะใช้ช่องทางใด ซึ่งในอดีตศาลรัฐธรรมนูญก็เคยประกาศในเว็บไซต์ของศาลรัฐธรรมนูญเองว่าให้ยื่นผ่านอัยการสูงสุดได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น