วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

สรุปข่าวจากไทยโฟสต์ เมื่อ 5 เม.ย.56




สรุปข่าวจากไทยโฟสต์ เมื่อ 5 เม.ย.56

บิ๊กตู่ชี้ยอมโจรรัฐเสียเปรียบ


 "ป๋าเปรม" วอนเลิกเคียดแค้น หันหน้าเข้าหากัน หวังถกบีอาร์เอ็นช่วยสถานการณ์ดีขึ้น "ประยุทธ์" ลั่นอย่าปล่อยโจรตั้งโจทย์ ทำรัฐเสียเปรียบ แนะใช้ กม.บีบต่อรอง ปชป.บี้ล้มเจรจาเหตุไฟใต้ถี่ขึ้น "เหลิม" ยังชิ่งลงใต้ บึ้มรถทหาร-ศูนย์ผลไม้นราฯ โชคดีไร้เจ็บ
    ที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ  เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" รุ่นที่ 19 โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และผู้บัญชาการเหล่าทัพ มาร่วมงาน โดยมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 240 คน แบ่งเป็นเด็กชาย 95 คน เด็กหญิง 145 คน ซึ่งเยาวชนทั้งหมดจะถูกส่งไปใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์ใน 10 จังหวัดภาคกลาง ระหว่างวันที่ 4-19 เม.ย. เพื่อศึกษาวิถีชีวิตตลอดจนการใช้ชีวิตร่วมกันเพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี เพื่อนำไปสู่สันติสุขอันยั่งยืนต่อไป
    พล.อ.เปรมกล่าวให้โอวาทว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้ความร่วมมือด้วยดีมาตลอด ถ้านับปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.47 จนถึงวันนี้เป็นเวลา 9 ปีเศษ โดยบรรดาผู้เสียสละความสุข ทั้ง ผบ.เหล่าทัพ ผู้ว่าราชการจังหวัด เพียรพยายามนำความสุขมามอบคืนให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ใต้ด้วยความปลาบปลื้ม ภาคภูมิใจที่มีส่วนช่วยเหลือ แสดงให้เห็นว่าเหล่าทัพ ผู้ว่าฯ และครอบครัวอุปถัมภ์สมควรได้รับเกียรติยกย่อง เพราะเป็นผู้ที่เข้าใจในสิ่งที่พวกเรากำลังไขว่คว้าหาความสงบสุขร่มเย็น ไขว่คว้าหาความรักสามัคคี ถือเป็นสาระสำคัญของโครงการ 
    "หวังว่าอีกไม่ช้า ความสุข ความสงบ ความเข้าใจระหว่างคนไม่เข้าใจกันก็จะเข้าใจกันด้วยความรักความสามัคคี อยากให้ทุกคน โดยเฉพาะคณะกรรมการโครงการ เน้นว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการมอบคืนความรักความสามัคคี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยพระราชนิพนธ์เพลงที่พระราชทานให้กับพวกเรา ที่มีใจความว่า หากเราหันหน้าเข้ามาคุยกันด้วยเหตุผล ด้วยความรัก ด้วยความเป็นพี่น้อง เพื่อความสงบสุข เราก็จะประสบความสำเร็จ แต่ถ้ามีแต่ความเคียดแค้นซึ่งกันและกัน จะเป็นอุปสรรคในการนำความสงบสุขมาสู่ประเทศชาติ คิดว่า 9 ปีมากพอที่เราจะหันหน้าเข้าหากันด้วยความรักความสามัคคีได้แล้ว นี่คือสิ่งที่ผมภาวนา" พล.อ.เปรมระบุ
    พล.อ.เปรมกล่าวถึงกระบวนการพูดคุยระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นเพื่อสันติภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า  ทุกอย่างมีข้อดี-ข้อเสีย ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่ดำเนินการทำอยู่ เราต้องมีความหวังว่าให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้ และสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะถ้าไม่หวังจะไปพูดคุยทำไม จึงอยากให้หันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน รวมทั้งอยากให้ทุกคนให้กำลังใจ ผบ.สส., ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ. และ ผบ.ตร. รวมถึงผู้ปฏิบัติที่เสียสละทุกอย่างให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น
    พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กล่าวถึงกรณีที่รถโดยสารของทหารที่กลับจากการตรวจเลือกทหารถูกลอบวางระเบิดที่ จ.ยะลา ว่า เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งต้องมีการป้องกันใหม่ โดยได้สั่งการไปแล้วให้หามาตรการเพิ่มเติม แต่ปัญหาอยู่ที่ระยะทางที่ไกล และคนมีจำนวนมาก จึงสั่งการไปยัง พล.ท.สกล ชื่นตระกูล แม่ทัพภาคที่ 4 ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา เพราะยังเหลือเวลาในการตรวจเลือกทหารอีก 2 วัน ซึ่งทหารถือว่าเป็นเป้าในการถูกโจมตี แม้ระวังอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ผล 100%  
    ผบ.ทบ.กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ว่า กฎหมายมีกี่ข้อ และเจ้าหน้าที่ใช้กี่ข้อ ต้องตีความให้ดีก่อนออกมาบอกว่ายกเลิกหรือไม่ เพราะกฎหมายทุกอย่างมีไว้ใช้ประโยชน์ ส่วนที่มองว่าแกนนำบีอาร์เอ็นไม่สามารถควบคุมระดับปฏิบัติในพื้นที่ได้นั้น ต้องดูว่าเขาติดต่อสื่อสารเร็วหรือไม่ สามารถส่งวิทยุผ่านคลื่นความถี่หรือเล่นไลน์กันหรือไม่ ถ้ายังไม่ได้ ก็ยังไม่ได้ อย่างประเทศฟิลิปปินส์ ต่อสู้กันมาถึง  50 ปี ตั้งโต๊ะพูดคุยกันเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้ยังมีการยิงกัน ซึ่งไม่เร็วขนาดนั้น ต้องใจเย็นๆ เพราะมีอยู่หลายกลุ่มหลายพวก กว่าจะไปถึงทุกพวกเมื่อไหร่ไม่รู้ แต่ดีกว่าไม่ได้พูด 
    "การจะให้เกิดสันติภาพพูดคุยกันก็ต้องมีมาตรการทำให้ฝ่ายโน้นออกมาพูดกับเรา คือการบังคับใช้กฎหมาย เขาจะได้ออกมาพูดคุยต่อรอง ไม่ใช่ให้เขาเป็นคนตั้งโจทย์การพูดคุยทุกเรื่อง ถ้าเป็นอย่างนี้รัฐจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ซึ่งเราเป็นเจ้าหน้าที่ ใครทำผิดกฎหมายต้องมาตรวจสอบกันว่าถูกหรือผิด มีหลักฐานหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็มาเคลียร์กัน แต่ถ้ามีหลักฐานก็ต้องลงโทษ ไม่ใช่จะปล่อยทั้งหมด คงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นผู้ร้ายทั้งประเทศก็ต้องปล่อยกันหมด ส่วน พล.อ.เปรม ท่านก็ให้กำลังใจ ผบ.เหล่าทัพในการทำงานมาตลอดอยู่แล้ว และให้กำลังใจทุกคน ไม่เคยลำเอียง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ยังไม่บอก หากไปจะเชิญผู้สื่อข่าวไปด้วยประมาณ 10 คน อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม เดินทางไปภาคใต้ มีการออกข่าวว่าตนจะลงไปด้วย จึงมีเหตุระเบิดไป 9 จุด
    ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าการเจรจาของรัฐบาลกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น โดยเฉพาะการอุ้มฆ่าทหารนาวิกโยธิน เป็นเหตุสะเทือนใจอย่างยิ่ง จึงอยากให้รัฐบาลตระหนักถึงสิ่งที่กำลังทำกระทบต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่อยากให้นายกรัฐมนตรีพูดแบบไม่รับผิดชอบว่าการเจรจากับความรุนแรงเป็นคนละเรื่องกัน แต่ต้องทบทวนว่าหากการเจรจาเป็นความสุ่มเสี่ยงที่ทำให้ประชาชนและทหารมีความเสี่ยงมากขึ้นต้องหยุด อย่าเอาชีวิตประชาชนเป็นตัวประกัน 
    ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการเปิดเวที "ราชดำเนินสนทนาครั้งที่ 1 หัวข้อ ดับเพลิงหรือโหมไฟ สื่อไทยกับรายงานข่าว 3 จังหวัดชายแดนใต้ : ความท้าทายของคนทำข่าว 
    โดยนายปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา กล่าวถึงการเจรจาระหว่างรัฐกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า ไม่มีตัวแทนทหาร และถ้าเช็กข่าวกับทหารในกองทัพภาคที่ 4 ไม่มีใครเห็นด้วยกับวิธีการนี้ ซึ่งปีที่แล้วมีการพูดคุยกัน แต่พอเกิดระเบิดคาร์บอมบ์ที่อำเภอ จากนั้น ผบ.ทบ.บอกให้หยุดการเจรจาทันที ดังนั้นหากเกิดเหตุกับเจ้าหน้าที่อยู่แบบนี้ต้องสั่งให้หยุดเจรจาอีกครั้ง 
    น.ส.บุญระดม จิตรดอน ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอเอฟพีและผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ทราบมาว่าการเจรจาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.กับกลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ได้ราบรื่นอย่างที่เป็นข่าว ดังนั้นเรื่องนี้ต้องรอให้ฝุ่นตลบก่อนถึงจะได้ข้อเท็จจริง ทั้งนี้ยังไม่เห็นว่ารัฐจะทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วประเทศให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนทราบถึงยุทธศาสตร์ของกลุ่มผู้ก่อเหตุว่าต้องการอะไร
    ทางด้านสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ยังเกิดเหตุอย่างต่อเนื่อง โดยเกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณข้างอาคารศูนย์คัดแยกผลไม้ เขตเทศบาลตำบลตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยข้างคูน้ำของอาคารศูนย์คัดแยกผลไม้ เจ้าหน้าที่พบเศษซากชิ้นส่วนระเบิดแสวงเครื่องที่คนร้ายประกอบใส่ไว้ในท่อพีวีซีสีฟ้าหนัก 1 กก. จุดชนวนด้วยการตั้งเวลาจากนาฬิกาข้อมือแบบดิจิตอลในเวลา 14.50 น. สอบสวนทราบว่าก่อนเกิดเหตุมีคนร้ายไม่ทราบจำนวนแฝงตัวมากับประชาชนที่มาคัดเลือกทหารประจำปี 2556 นำระเบิดแสวงเครื่องใส่ในถุงพลาสติกมาวางไว้บริเวณโคนต้นไม้ข้างคูน้ำแล้วหลบหนีไป 
    ต่อมาเกิดเหตุคนร้ายจุดชนวนระเบิดดักสังหาร ร.ต.อ.วัชรินทร์ หอมแซ่ม สว.ป.สภ.สุคิริน และผู้ใต้บังคับบัญชารวม 3 นาย ระหว่างนั่งรถยนต์สายตรวจของ สภ.สุคิริน เพื่อเดินทางกลับ สภ.สุคิริน บนถนนสายจะแนะ-สุคิริน ใกล้บ่อดินในหมู่บ้านเกียร์ ม.1 ต.เกียร์ อ.สุคิริน แต่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ.
โวยแก้รธน.โมฆะ ปชป.แฉผิดข้อบังคับยังไม่ลงมติกำหนดเวลาแปรญัตติ

ส.ว.เลือกตั้งสมคบคิด ส.ส.เพื่อไทย ปิดหูปิดตาประชาชนตอนดึก ชิงเสนอญัตติปิดอภิปรายแก้รัฐธรรมนูญทั้งที่ฝ่ายค้านเหลือเวลากว่า 3 ชั่วโมง ก่อนตั้งกรรมาธิการ 3 ชุด อ้างข้อบังคับกำหนดให้แปรญัตติ 15 วัน ตกเช้า กมธ.เดินเครื่องทันที แบไต๋โยนเผือกร้อนให้สำนักราชเลขาฯ แต่ไม่ง่าย! หลังประชาธิปัตย์วอล์กเอาต์เตรียมหาช่องฟ้องโมฆะ ระบุญัตติปิดอภิปราย-กำหนดเวลาแปรญัตติไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะที่อดีตส.ส.ร. 50 เชื่อแก้มาตรา 68 เป็นแผนลดอำนาจศาลรธน.เพื่อรื้อทั้งฉบับ  
การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ..... 3 ฉบับ ในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ ได้ปิดการอภิปรายลงเมื่อเวลา 23.45 น. ของวันที่ 3 เมษายน ตามที่นายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ส.ว.ปทุมธานี เสนอญัตติเพื่อขอการปิดอภิปราย โดยอ้างว่าได้หารือกับ ส.ว.และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยแล้ว ก่อนจะมีสมาชิกรับรองญัตติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างนี้ได้มีการร้องขอจากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายชวน หลีกภัย, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เพื่อขอให้ทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรให้สมบูรณ์ เนื่องจากฝ่ายค้านยังมีเวลาเหลือในการอภิปรายกว่า 3 ชั่วโมง  
นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนถือว่าเป็นการสมคบกันระหว่าง ส.ว.กลุ่มหนึ่งกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ปิดหูปิดตาประชาชน ทั้งที่ได้ข้อตกลงเรื่องของเวลาการอภิปรายกับวิป 3 ฝ่ายแล้ว อย่างไรก็ตาม เราคงไม่เสนอญัตติเป็นอย่างอื่น เพราะดูจากแนวโน้มแล้วฝ่ายเสียงข้างมาก ต้องการให้มีการปิดอภิปราย
ทำให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา  ในฐานะประธานที่ประชุม สั่งปิดการอภิปรายและเรียกสมาชิกรัฐสภาเพื่อออกเสียงลงคะแนนในวาระ 1 โดยใช้วิธีการเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และจะต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ คือไม่น้อยกว่า 323 เสียง
ทั้งนี้ วิธีการออกเสียงลงคะแนน ให้สมาชิกรัฐสภาออกเสียงลงคะแนนเพียงครั้งเดียวพร้อมกันทั้ง 3 ร่าง ปรากฏว่าที่ประชุมรับหลักการฉบับที่ 1 ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมที่มาของ ส.ว. ด้วยคะแนนเสียงรับหลักการ 367 เสียง ไม่รับหลักการ 204 เสียง งดออกเสียง 34 เสียง รับหลักการฉบับที่ 2 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 190 ด้วยคะแนนเสียง รับหลักการ 374 เสียง ไม่รับหลักการ 209 เสียง งดออกเสียง 22 เสียง และที่ประชุมรับหลักการฉบับที่ 3 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 68 และมาตรา 237 ด้วยคะแนนเสียง รับหลักการ 374 เสียง ไม่รับหลักการ 206 เสียง งดออกเสียง 25 เสียง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ..... ใน 3 ฉบับ จำนวน 3 คณะ โดยมีสัดส่วนคณะละ 45 คนประกอบด้วย ส.ว. 10 คน, พรรคเพื่อไทย (พท.) 19 คน, พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 11 คน, พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 2 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 1 คน, พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) 1 คน และพรรคพลังชล (พช.) 1 คน
    ต่อมา นายสมศักดิ์ ในฐานะประธานการประชุม แจ้งว่า กำหนดให้แปรญัตติ 15 วันตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่นายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เสนอญัตติขอแปรญัตติ 60 วัน ทำให้นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ส.ว.ชลบุรี ในฐานะเลขาฯ วิปวุฒิสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ในฐานะประธานวิปรัฐสภา ยืนยันว่าต้องแปรญัตติ 15 วัน ตามข้อบังคับการประชุมจากการตกลงของวิป 3 ฝ่าย
แต่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันต้องการแปรญัตติ 60 วัน ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ทักท้วงว่า ข้อเสนอที่ขอให้แปรญัตติเป็นอื่น นอกจากข้อบังคับการประชุมนั้น ถ้ารัฐสภาไม่มีมติ จะถือว่าเป็นไปตามข้อบังคับ แม้องค์ประชุมจะไม่ครบก็ถือว่าไม่รับญัตติกำหนดเวลาเป็นอื่นได้ ดังนั้น ต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมที่กำหนดให้แปรญัตติใน 15 วัน
ขุนค้อนชิงปิดประชุม
อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ได้วินิจฉัยตามที่ นพ.ชลน่านแจ้งต่อที่ประชุม แต่นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ทักท้วงว่า ขณะนี้ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งจะต้องลงมติ และจะต้องตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ กรณีองค์ประชุมไม่ครบก็ดำเนินการต่อไปไม่ได้ จะต้องนัดลงมติใหม่อีกครั้งจะตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อที่ประชุมยังหาข้อยุติเรื่องการแปรญัตติไม่ได้ ท้ายที่สุดนายสมศักดิ์ได้เรียกสมาชิก เพื่อตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ ปรากฏว่ามีผู้แสดงตน 294 คน ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ จึงไม่สามารถขอมติที่ประชุมเพื่อลงมติรับรองแปรญัตติใน 60 วันได้ นายสมศักดิ์จึงวินิจฉัยว่า เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ถือว่าต้องแปรญัตติภายใน 15 วัน ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
จากนั้นนายสมศักดิ์สั่งปิดการประชุมในเวลา 02.20 น.ทันที พร้อมนัดประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 3 คณะ ที่รัฐสภา ในเวลา 11.00 น. วันที่ 4 เมษายน และแจ้งงดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันเดียวกันนี้
ช่วงเช้าวันพฤหัสบดี ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 คณะ เป็นนัดแรก ประกอบด้วย กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237,  กมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาของ ส.ว.  และ กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190
อย่างไรก็ตาม การประชุม กมธ.ทั้ง 3 คณะได้เกิดปัญหาขึ้น เมื่อ กมธ.ในสัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์  ได้เดินออกจากห้องประชุมทันที เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อช่วงดึกของคืนวันพุธ ไม่ชอบด้วยข้อบังคับและรัฐธรรมนูญ แต่ กมธ.ในสัดส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว. ได้เดินหน้าทำการคัดเลือกตำแหน่งในคณะกรรมาธิการจนแล้วเสร็จ
ที่น่าสนใจคือในส่วนของการประชุม กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 นั้น หลังนายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และนพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม กรรมาธิการในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เดินออกจากห้องประชุม กมธ.ได้เลือกนายนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวจะมีการประชุมนัดต่อไปในวันที่ 10 เม.ย. โดยจะเป็นการประชุมในส่วนของกรรมาธิการเพื่อวางแนวทางก่อน และมีข้อเสนอให้ใช้คำว่าการประชุมเพื่อพิจารณาการแก้ไขลายลักษณ์อักษรรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เพื่อไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเอาไปเล่นงานได้ว่ากรรมาธิการจะแก้ไขเจตนารมณ์ของมาตรา 68
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากการคัดเลือกตำแหน่งในกรรมาธิการ ได้มีการหารือถึงกรอบการประชุม โดยนายพิชิต ชื่นบาน กล่าวว่า กรรมาธิการของเราเป็นกรรมาธิการที่ถูกจับตามองมากที่สุด เพราะขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรา 68 ไว้แล้ว เราจึงจำเป็นต้องเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้คำแนะนำ แต่ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย แย้งว่าควรจะมีการหารือในส่วนของกรรมาธิการให้ชัดเจนก่อน ทำให้มีการโต้แย้งกันไปมาว่าควรจะมีการเชิญหน่วยงานนอกมาร่วมหารือ หรือจะมีการหารือในกรรมาธิการก่อน 
แบไต๋โยนเผือกร้อนพ้นมือ
อย่างไรก็ตาม ช่วงหนึ่ง นายสมชาติ พรรณพัฒน์ กมธ.สัดส่วนของ ส.ว.อ้างว่า คณะกรรมาธิการฯ ควรหารือกันก่อน เพราะเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเรา ซึ่งตนไม่อยากให้กรรมาธิการมีความกังวลล่วงหน้า เพราะจะซ้ำรอยกับการลงมติวาระ 3 ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 สุดท้ายก็กลายเป็นโศกนาฏกรรมทางการเมือง เพราะเรามีความกังวลไปก่อนล่วงหน้า ทั้งๆ ที่เราสามารถลงมติวาระ 3 ได้
ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นเผือกร้อน แต่พอนายกรัฐมนตรีนำเรื่องยื่นต่อสำนักราชเลขาฯ แล้ว เผือกร้อนก็ไม่ได้อยู่ในมือเรานายสมชาติกล่าว
ด้านนายนิพิฏฐ์, นายวิรัตน์ และ นพ.วรงค์ หลังออกจากห้องประชุม ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์องค์ประชุมไม่ครบในระหว่างที่มีการเสนอจำนวนวันแปรญัตติ ทำให้การประชุมถือว่าไม่ชอบด้วยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และขัดรัฐธรรมนูญในเรื่ององค์ประชุม ที่อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้เป็นโมฆะ   
ผมและคณะได้ไปทักท้วงในคณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 แล้ว ถือว่าการพิจารณากฎหมายไม่สมบูรณ์ ทำให้คณะกรรมาธิการที่พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 คณะต้องเสนอเรื่องกลับมายังรับสภาพิจารณาใหม่ ซึ่งการที่ผมออกมาท้วงติงตั้งแต่แรก เพราะไม่อยากให้การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ และกระบวนการพิจารณาต้องสูญเปล่า
นายวิรัตน์กล่าวถึงการประชุมที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภาว่า การประชุมเมื่อคืนนี้ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 137 การประชุมร่วมรัฐสภา ที่บัญญัติว่า การประชุมร่วมรัฐสภาให้ใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยหากเป็นญัตติทั่วไป หรือเรื่องอื่น หากมีการเสนอ 1 คน และไม่มีผู้เห็นต่างหรือเสนอแย้ง ถือว่าที่ประชุมเห็นชอบ ตามข้อที่ 59 วรรคแรก 
แต่กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องพิจารณาตามวรรคสอง ที่ต้องลงมติแม้จะไม่มีผู้เห็นแย้ง ซึ่งกระบวนการปิดประชุมนั้นไม่ชอบ ซึ่งการดำเนินการต่อมาจึงถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งหมด รวมทั้งการตั้งคณะกรรมาธิการด้วยจึงไม่ชอบ และเมื่อตนเข้าไปทักท้วงต่อคณะกรรมาธิการ ทำให้ที่ประชุมตกใจ เพราะคาดไม่ถึงว่าจะมีประเด็นนี้นายวิรัตน์กล่าว
           สำหรับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 59 ระบุว่า ญัตติใดไม่มีผู้คัดค้าน ให้ประธานถามที่ประชุมรัฐสภาว่ามีผู้เห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เมื่อไม่มีผู้เห็นเป็นอย่างอื่น ให้ถือว่าที่ประชุมลงมติเห็นชอบด้วยญัตตินั้น
         ความในวรรคหนึ่งไม่ให้ใช้บังคับแก่ญัตติที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือเรื่องอื่นใดที่รัฐธรรมนูญ หรือข้อบังคับนี้กำหนดให้ที่ประชุมรัฐสภาวินิจฉัยโดยการ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดแถลงว่า วิปฝ่ายค้านมีความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ 3 เรื่อง 1.การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราครั้งนี้ เป็นความต่อเนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับครั้งที่ผ่านมา ที่เดินหน้าต่อไม่ได้ จึงต้องแก้เป็นรายมาตรา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในอนาคต 
ชี้แก้ รธน.ไม่ชอบด้วย กม.
2.เชื่อว่าเป็นการดำเนินการที่มาจากใบสั่งใบเดียวกัน และ 3.มีวาระซ่อนเร้น เป็นผลประโยชน์ส่วนตนทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง มากกว่าเป็นประโยชน์กับส่วนรวม ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีความพยายามรวบรัดเป็นอย่างยิ่ง เห็นได้จากมีการละเมิดข้อตกลงเรื่องการแบ่งเวลาในการอภิปรายของวิป 3 ฝ่าย  โดยที่ ส.ส.พรรครัฐบาลและ ส.ว.บางส่วนร่วมมือกันขอปิดการอภิปราย และในการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาขึ้น 3 ชุด ทั้งที่สามารถตั้งคณะกรรมาธิการชุดเดียวพิจารณารวมทั้ง 3 ร่างได้ สะท้อนว่ามีความพยายามที่เร่งรีบพิจารณาควบคู่กันเพื่อให้เสร็จโดยเร็วที่สุด 
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า หลังจากลงมติรับหลักการวาระ 1 ของทั้ง 3 ร่างแล้ว ประธานได้ขอให้ที่ประชุมให้ความเห็นเรื่องกำหนดเวลาในการแปรญัตติ ว่าจะให้แปรญัตติ 15 วัน ตามที่สมาชิกพรรครัฐบาลเสนอ หรือจะแปรญัตติ 60 วัน ตามที่สมาชิกพรรคฝ่ายค้านเสนอ  ซึ่งกรณีนี้มีความเห็นต่าง ประธานจึงขอมติจากที่ประชุม  แต่เมื่อมีการตรวจสอบองค์ประชุมก่อนลงมติ มี ส.ส.พรรครัฐบาลและ ส.ว.รวมกันแค่ 295 คน ซึ่งถือว่าไม่ครบองค์ประชุม เพราะต้องใช้ 323 คน ซึ่งหากองค์ประชุมไม่ครบ ตามปกติแล้วต้องปิดประชุม แต่ประธานรัฐสภากลับดำเนินการต่อโดยมีการวินิจฉัย ว่าหากไม่สามารถลงมติได้ ถือว่าที่ประชุมมีมติให้แปรญัตติ 15 วัน และได้นัดหมายการประชุมคณะกรรมาธิการทั้ง 3 คณะท่ามกลางเสียงคัดค้านของฝ่ายค้าน 
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ นำไปสู่กระบวนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ และก็ถือว่าประธานรัฐสภาก็ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ วิปฝ่ายค้านจึงต้องการชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และจะดำเนินการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปกับกระบวนการและการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
สำหรับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 3 ต่อ 2 รับคำร้องนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ในประเด็นที่ว่า ประธานรัฐสภากับพวก ซึ่งเป็น ส.ว.และ ส.ส.รวม 312 คน กระทำการที่ส่อไปในทางกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิ์ของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่
ประเด็นที่น่าสนใจคือ การรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้  โดยเฉพาะในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซึ่งเปลี่ยนเนื้อหาใหม่ที่เป็นการยกเลิกสิทธิของประชาชน ในการที่จะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงออกไป คงเหลือแต่เพียงให้บุคคลผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงประการเดียว และให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในลักษณะอื่นนอกเหนือจากการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันเป็นการลิดรอนสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  แสดงความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวว่า ข้อสังเกตก็คือ ฝ่ายที่คัดค้านได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าดูจะมีวาระแอบแฝง เจตนาแอบแฝงในการกระทำครั้งนี้ แล้วก็ที่ตนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ก็คือว่า ฝ่ายที่สนับสนุนจำนวนมากเลย เหมือนมีคำอภิปรายสำเร็จรูปมา ซึ่งเลี่ยงข้อเท็จจริง อย่างเช่นมาตรา 68 ไม่มีใครอธิบายประเด็นที่ตนพูดเมื่อตอนต้นว่าทำไมจะต้องไปจำกัดว่าการกระทำล้มล้างการปกครองนั้นต้องมาจากการใช้สิทธิ์ตามหมวด 3 เท่านั้น  
ไม่มีใครพูดถึงเลย แล้วก็พูดให้กำกวม ให้คนเข้าใจบอกว่าปัญหาตอนนี้มาตรา 68 มันไม่ชัดเจน แต่ความจริงแล้วมันชัดเจน เพราะศาลเขาวินิจฉัยไปแล้วเป็นบรรทัดฐาน แล้วถ้าคุณอยากทำให้ชัดเจน คุณก็ทำให้ชัดเจนตามที่ศาลบอกได้ครับ แต่คุณกำลังลิดรอนสิทธิประชาชนนายอภิสิทธิ์กล่าว
หาช่องฟ้องล้มปกครอง
    นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ทีมกฎหมายของพรรค กำลังรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นการเชื่อมโยงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ในครั้งนี้จะนำไปสู่การลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ยังคงค้างอยู่ในสภา เพราะจะเป็นสิ่งที่ชี้ชัดว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ มีเจตนาลิดรอนสิทธิประชาชนในมาตรา 68 ในการยื่นร้องต่อศาลโดยตรงหากพบเห็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าประชาชนมีสิทธิยื่นตรงต่อศาลได้ แต่หากมีการแก้ไขมาตรา 68 ได้สำเร็จ ประชาชนจะเหลือช่องทางเดียวคือยื่นต่ออัยการสูงสุด 
นายคมสัน โพธิคง อดีต ส.ส.ร.50 กล่าวว่า หากทำสำเร็จจะเป็นการตัดอำนาจของประชาชนในการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง และตัดเขตอำนาจของศาลอีกด้วย และหากฝ่าย ส.ส.พรรคเพื่อไทยและ ส.ว.เลือกตั้งทำสำเร็จ ก็จะไม่มีช่องทางให้ศาลรัฐธรรมนูญ มารับเรื่องการล้มล้างการปกครองฯ ได้ และถือเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จของรัฐสภา และต่อจากนี้หาก ส.ส.ทางซีกรัฐบาลจะโหวตรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในมาตรา 291 ที่บรรจุอยู่ในระเบียบการพิจารณาของรัฐสภา เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็สามารถทำได้ หรือจะแก้ในรายมาตรา คือมาตรา 309 หรือมาตราใดๆ ในรัฐธรรมนูญก็สามารถทำได้ทั้งหมด
    ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง 3 ต่อ 2 นั้น เชื่อว่าเหตุต้องรับคำร้อง เพราะเคยรับมาแล้วเมื่อครั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แปลความแล้วตนเห็นว่าการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากอัยการสูงสุดแล้ว พี่น้องประชาชนทั่วไปยื่นได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องมาแล้วจึงต้องรับต่อ ตนยังมองการเมืองในแง่ดีว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคุ้มครองหรือให้สภาหยุดพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น แปลว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีการแยกส่วน พอรับแล้วต่อไปก็จะมาบอกว่า แก้ไขได้ตามที่เคยแนะนำไว้คือ แก้ไขรายมาตรา ไม่มีอะไร เรียบร้อยดี
นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่เข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้เหตุผลอะไรในการพิจารณารับคำร้องดังกล่าว เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรารอบนี้ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และเป็นไปตามคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้มีออกมาก่อนหน้านี้ ส่วนตัวยังมองในแง่ดีว่าศาลรับคำร้องรอบนี้แค่รับ ไปก่อนเพื่อลดความตึงเครียดของสถานการณ์ แล้วจะมีการยกคำร้องภายหลัง
    วันเดียวกัน ที่บ้านพระอาทิตย์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอง.

ซัดผู้นำจิตป่วยกล้าก่อหนี้ไร้สำนึก


 หมอชูชัยตอกย้ำเลดี้กูกู้ 2 ล้านล้านบาทผิดรัฐธรรมนูญชัดเจน ซัดผู้นำป่วยคลั่งอำนาจ กล้าทำเรื่องที่เกินกำลังโดยไร้สำนึก พันธมิตรฯ โผล่ร่วมหนุนฟ้อง ป.ป.ช. เล็งหารือฝ่ายกฎหมายเล่นงานถึงที่สุด จารุพงศ์สั่งผู้ว่าฯ แจกแผ่นพับสร้างภาพกล่อมชาวบ้านหลังสงกรานต์ พร้อมจัดนิทรรศการตามแหล่งชุมชน
    เมื่อวันพฤหัสบดี นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ....วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ยืนยันว่า เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และหลักการที่เกี่ยวกับการเงิน การคลังและวินัยงบประมาณตามหมวด 8 อย่างชัดเจน
    “รัฐธรรมนูญ 50 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่เขียนเรื่องการเงิน การคลัง และงบประมาณ เป็นหนึ่งหมวดโดยเฉพาะ คือบทบัญญัติในหมวด 8 มาตรา 166-170 ซึ่งได้กำหนดให้การใช้จ่ายเงินแผ่นดินไม่ว่าจะเป็นเงินประเภทใด จะเป็นที่ได้รับการจัดสรรเป็นงบประมาณ เงินกู้หรือเงินนอกงบประมาณ หรือเงินหรือทรัพย์สินของรัฐ ต้องใช้จ่ายตามมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญเท่านั้น" นพ.ชูชัยกล่าว
     นพ.ชูชัยยังเตือนว่า ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ระบบการปกครองที่อันตรายที่สุดสร้างความหายนะให้กับประชาคมโลกมากที่สุดคือระบบเผด็จการรัฐสภา ซึ่งเผด็จการรัฐสภาเยอรมนีที่นำโดยฮิตเลอร์ จิตแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคจิตเภท ฆ่าคนตายหลายสิบล้าน นำเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลก สร้างความหายนะให้โลกจนทุกวันนี้ รัฐธรรมนูญเยอรมนีจึงถูกออกแบบให้ป้องกันเผด็จการรัฐสภา ซึ่งขณะนี้น่าเป็นห่วงว่ารัฐสภาไทยกำลังถูกลากจูงโดยผู้นำบางคนที่จิตแพทย์เคยตั้งข้อสังเกตว่าป่วยคลั่งอำนาจ หลงตนว่ายิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า Megalomania กล้าที่ทำเรื่องที่ใหญ่เกินกำลังของประเทศชาติอย่างไร้ความรับผิดชอบ สร้างหนี้และภาระให้ผู้คนไปอีก 50 ปีข้างหน้าอย่างไร้ความรู้สึก
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 2 ได้อ่านแถลงการณ์พันธมิตรฯ ฉบับที่ 2/2556 ในเรื่องดังกล่าวว่า เป็นร่างกฎหมายที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญชัดเจน และเมื่อ ครม.ให้ความเห็นชอบด้วยแล้ว พันธมิตรฯ จึงเห็นด้วย และขอสนับสนุนพร้อมให้กำลังใจในการที่อดีต ส.ส.ร.2550 ได้ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อ ป.ป.ช. และขอสนับสนุนพร้อมให้กำลังใจสมาชิกรัฐสภาที่จะยื่นคำร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 นี้ต่อไป
          “แกนนำพันธมิตรฯ มีมติมอบหมายให้ทนายพันธมิตรฯ ได้ไปปรึกษาหารือกับนักวิชาการและนักกฎหมายเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเพิ่มเติม และหากพบประเด็นหรือช่องทางเพิ่มเติมหรือบทลงโทษต่อผู้ที่กระทำความผิดตามกระบวนการยุติธรรม ก็ให้ดำเนินการทางกฎหมายต่อเนื่องจนถึงที่สุดนายปานเทพกล่าว
ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยใช้เครือข่ายแจกแผ่นพับชี้แจงประชาชนกรณี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ว่า กระทรวงมีหน่วยงานลงไปถึงระดับตำบล หมู่บ้าน ทำให้แผ่นพับชี้แจงลงไปอย่างทั่วถึงได้ และยังความตั้งใจว่าจะจำลองย่อนิทรรศการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่เคยจัดในศูนย์ราชการให้แต่ละจังหวัดไปจัดนิทรรศการขึ้นมา  โดยจะไม่จัดเพียงที่ศาลากลางจังหวัดเท่านั้น แต่ให้จัดในพื้นที่ที่มีประชาชนมารวมอยู่กันเยอะๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่เขาสงสัย ซึ่งได้สั่งการไปเรียบร้อยแล้ว และได้ประสานกับกระทรวงคมนาคมให้ส่งข้อมูลมาแล้วส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปบริหารจัดการได้เลย ทั้งนี้ การแจกแผ่นพับน่าจะเริ่มได้ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว
ส่วน น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ชี้แจงกรณีการตั้งข้อสังเกตของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง ที่ระบุว่าการใช้หนี้จาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท อาจถึง 100 ปี ว่า หนี้เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท พร้อมภาระดอกเบี้ยอีก 3 ล้านล้านบาท ยังคงอยู่ในกรอบชำระหนี้ 50 ปี และอาจทำได้เร็วกว่า เพราะเงินที่จะมาใช้หนี้ไม่ได้มาจากรายได้โครงการที่ลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการหารายได้ด้านอื่นของประเทศควบคู่กันไปด้วย
    รัฐบาลและกระทรวงการคลังมีวินัยรักษาวินัยด้านการเงินการคลัง แม้ไม่ได้บรรจุไว้ในกฎหมาย แต่เป็นมติ ครม. ให้ใช้หนี้ 50 ปี ก็ต้องดำเนินการให้ได้" น.ส.จุฬารัตน์กล่าว
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้นโยบายประชาล่มทำให้สถานะการเงินของประเทศเข้าสู่สภาวะเสี่ยง เช่น กรณีรถคันแรกที่รัฐบาลไม่มีเงินคืนภาษีจนต้องอนุมัติเงินคงคลัง 3 หมื่นล้านบาทมาใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ารัฐบาลขาดวินัยการคลังอย่างรุนแรง และขอทำนายอนาคตอันใกล้นี้ว่า จะมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำเงินมาอุดรายจ่าย.

แก้ ม.68 เครื่องบ่งชี้ ทำลายระบบตรวจสอบ


ภายหลังนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการสรรหา และเป็นหนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 68 หรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ศาลพิจารณายับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ที่รัฐสภามีการพิจารณาผ่านพ้นในวาระที่ 1 และ 2 และจะลงมติวาระ 3 ที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 291
     โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1. ให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 2. ให้ยุบพรรคการเมืองที่ผู้ถูกร้องสังกัดอยู่ อันได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน และพรรคประชาธิปไตยใหม่ และ 3. ขอให้ศาลมีคำสั่งชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยมีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะพิจารณาคดีเสร็จ 
    ล่าสุด ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งโดยมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 ดังนี้ คือ (1) คำร้องนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าผู้ถูกร้องที่ 2 ถึง 312 ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พุทธศักราช ...  ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 โดยยกเลิกความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
    แล้วเสนอเนื้อความใหม่ที่เป็นการยกเลิกสิทธิของชนชาวไทยในการที่จะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยเท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในลักษณะอื่นที่นอกเหนือจากการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันเป็นการลิดรอนสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของชนชาวไทย มีมูลกรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบมาตรา 68 วรรคสอง และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ข้อ 17 (2) ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย  
     (2) ส่วนคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินนั้น ยังไม่ปรากฏมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉินหรือเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะต้องใช้วิธีการชั่วคราวดังกล่าว จึงให้ยกคำขอ (3) ให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องต่อศาล จำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้องและให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้ง หากไม่ยื่นภายในกำหนด ถือว่าไม่ติดใจ  
    ข้างต้นถือเป็นคำวินิจฉัยในเบื้องต้น โดยต่อจากนี้ จะเข้าสู่กระบวนการชั้นศาลของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ในขณะเดียวกัน การทำหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ขึ้นทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ไปร่วมลงชื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีความล่อแหลม ในการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 122 แห่งการขัดกันแห่งผลประโยชน์  
    เนื่องจากพฤติกรรมของ นายนิคม และบรรดานักการเมืองลิ่วล้อทักษิณ มีพฤติกรรมสมคบคิด สลับกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว โดยส่อพฤติกรรมอย่างชัดเจน จากการอภิปรายในช่วงที่ผ่านมานั้น และนับว่ามาตรา 122 จึงเป็นจุดอันตรายสำคัญในการเป็นฐานชี้เรื่องการล้มล้างมาตรา 68 
     กล่าวคือ มีเหตุจูงใจในการกระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการละเมิดสิทธิประชาชน ล้มล้างสิทธิ กีดกันไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกป้องรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่ประชาชนเป็นฐานของสิทธิ ซึ่งนำมาสู่อำนาจอธิปไตยของรัฐธรรมนูญ 
    แต่พฤติกรรมของบรรดานักการเมืองในสภาขณะนี้ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ นำเอาสิทธิของประชาชนมาเป็นอำนาจ และใช้อำนาจนั้นมาออกกฎเกณฑ์ละเมิดลิดรอนสิทธิของประชาชน ขาดซึ่งความชอบธรรม ที่ต้องอยู่บนหลักการเหตุผล ในการแก้รัฐธรรมนูญของประเทศประชาธิป
ไตยทั่วโลก  
    ที่มุ่งปรับปรุงมิใช่ทำให้ย่ำแย่ลง มุ่งตระหนักสู่การกระจายอำนาจให้กับประชาชน มิใช่สู่การรวบการใช้อำนาจ ทำลายระบบที่จะให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของแนวทางระบอบประชาธิปไตย   
    เจตนาการแก้มาตรา 68 กำลังก้าวสู่เส้นทางวิบากทางการเมืองอีกระลอก ภายหลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต และเรื่องนี้เป็นเจตนาที่เป็นเครื่องบ่งชี้การกระทำที่รู้อยู่แก่ใจของ ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำเผด็จการเสียงข้างมากรัฐบาลยิ่งลักษณ์.

ไม่เห็นด้วยกับศาลรธน. ต้องหักล้างด้วยเหตุผล ไม่ใช่การข่มขู่


เกิดความคิดเห็นตามมามากมาย หลังที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เมื่อ 3 เมษายน 2556 ให้รับคำร้องคดีที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภาระบบสรรหา ได้ยื่นคำร้องตามช่องทางมาตรา 68 ของ รธน.ปี 50 เพื่อขอให้ศาล รธน.วินิจฉัย กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภากับพวก ซึ่งเป็น ส.ว. และ ส.ส.รวม 312 คน กระทำการที่ส่อไปในทางกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และ 237 ด้วยการตัดสิทธิ์ของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่
    ที่สุดท้าย ศาล รธน.ได้มีมติ 3 ต่อ 2 รับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย และได้ให้ผู้ถูกร้องหลังได้รับสำเนาคำร้องของผู้ร้อง คือ นายสมชายต้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง หากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ ขณะที่คำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินนั้น ยังไม่ปรากฏเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะต้องใช้วิธีการชั่วคราวดังกล่าว จึงให้ยกคำขอ
    ผลของการที่ศาล รธน.ไม่ได้สั่งให้รัฐสภาหยุดพักหรือระงับการพิจารณาร่าง รธน.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีการยื่นไป 3 ร่าง ก็ทำให้สุดท้ายที่ประชุมร่วมรัฐสภาก็ได้มีมติด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาเห็นชอบกับร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 3 ร่าง หลังมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกันมาตลอด 3 วัน 3 คืน ในช่วง 1-3 เมษายน 2556 และนำมาสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ทั้ง 3 ร่างตามขั้นตอนต่อไป
    ความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์มติของศาล รธน.ที่มีมติรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัย เป็นสิ่งที่กระทำได้ ตามหลักประชาธิปไตย และควรอย่างยิ่งที่ตุลาการศาล รธน.ทั้งหมด จะต้องเปิดใจกว้างรับฟัง เพราะยิ่งศาล รธน.มีอำนาจมาก และการใช้อำนาจนั้นมีผลกระทบกับคนจำนวนมาก รวมถึงกับหลายองค์กร เนื่องจาก รธน.ก็บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาล รธน.ต้องมีผลผูกพันกับทุกองค์กร ก็ยิ่งที่ศาล รธน.จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบการทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้การทำงานของศาล รธน.ออกมาแล้วเกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด คนยอมรับมากที่สุด
    ที่ก็เชื่อว่าตุลาการศาล รธน.ทุกคนคงพร้อมอยู่แล้วสำหรับการถูกตรวจสอบการทำงาน แต่สิ่งที่หลายคนต้องการเห็นคือ การตรวจสอบการทำงานของศาล รธน.จะต้องตั้งอยู่บนหลักที่ว่าทำภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่มีการไปละเมิดสิทธิ หรือถึงขั้นขู่ศาล รธน.ในรูปแบบต่างๆ เช่น การขู่จะยุบศาล รธน.ด้วยการจะเสนอแก้ไข รธน.ให้ศาล รธน.ไม่ต้องมีอีกต่อไป เพียงเพราะว่าคำวินิจฉัยออกมาแล้วฝั่งตัวเองไม่พอใจ เพราะโดนขัดขวางในเรื่องต่างๆ แต่พอศาล รธน.มีคำวินิจฉัยออกมาแล้วฝั่งตัวเองได้ประโยชน์ก็นิ่งเงียบ  
    ซึ่งการแสดงออกลักษณะเช่นนี้ย่อมไม่ถูกต้อง สิ่งที่ถูกคือ หากไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยหรือมติอะไรของศาล รธน.ก็ควรแย้งด้วยเหตุผลทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จะเป็นสิ่งที่สมควรมากกว่า เพราะหากคำโต้แย้งนั้น สามารถหักล้างคำวินิจฉัยหรือมติของศาล รธน.ได้อย่างมีเหตุมีผล จนศาล รธน.ก็แจงไม่ได้ เชื่อว่าสังคมก็จะต้องตั้งคำถามกับการทำงานของศาล รธน.เองว่า ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่

เขตปลูกนิวเคลียร์


ร้อนๆ ยังงี้...ชักหมดแรงด่าเอาดื้อๆ!!! คือระหว่างที่ต้องบิลด์อารมณ์ เพื่อเอาชนะความหน้าด้านให้จงได้ เหงื่อที่มันไหลจากหัวล้านลงมาถึงหน้าขา ทำเอาหมดอารมณ์ หมดปัญญา หมดครีเอทีฟไอเดีย ที่จะสรรหาคำด่าใดๆ มาเจาะทะลวงเนื้อเยื่ออันหนา ประมาณคอนกรีตเสริมใยเหล็ก ของบรรดานักการเมืองทั้งหลาย ได้อีกต่อไปแล้ว เอาเป็นว่า...จังหวะนี้ขอฝากไว้ก่อน รอบหน้าค่อยมาว่ากันใหม่ โดยไม่ต้องนับประตูโกลเดน โกล์ ให้เสียเวลา...
                                ----------------------------------------------
    สำหรับวันนี้...คงหนีไม่พ้นต้องหันไปสำรวจ ตรวจสอบ ความเคลื่อนไหว ของหลีเหนือกันอีกซักรอบ เพราะไอ้ที่ทำท่าว่าขู่ๆ ไปๆ-มาๆ มันชักจะเป็นเรื่อง เป็นราว หรือเป็นอะไรมากไปกว่าการพูดกันไป พูดกันมา ขู่กันไป ขู่กันมา แล้วก็เฉยๆ กันไป เหลียวไปดูข่าวล่าสุดจากเว็บไซต์ เอเอสทีวีผู้จัดการ ช่วงเช้าวันวาน เห็นว่านอกจากคุณน้องหลีเหนือ ท่านจะตัดสินใจคว่ำหม้อข้าวตัวเอง โยกย้ายคนงานเกาหลีใต้นับร้อยๆ ที่เข้าไปทำงานในเขตอุตสาหกรรมร่วมแคซอง กลับมายังฝั่งเกาหลีใต้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าท่านไม่ได้คิดจะขู่เฉยๆ มิหนำซ้ำยังมีข่าวว่า ท่านได้เริ่มเคลื่อนย้ายขีปนาวุธบางส่วน ไปติดตั้งแถวๆ ฝั่งตะวันออกของประเทศบ้างแล้ว...
                                -----------------------------------------------
    ถ้าว่ากันตามรายละเอียดของเนื้อข่าว ขีปนาวุธที่ทั้งฝ่ายสหรัฐและเกาหลีใต้ ระบุว่าได้ถูกเคลื่อนย้ายออกไปหาที่เหมาะๆ นั้น ก็คือขีปนาวุธที่เรียกกันว่า มูซูดาน (Musudan-BM25) หรือบางครั้งเรียกว่า แตโปดอง-เอ็กซ์ (Taepodong-x) หรือ โนดอง-บี (Nodong-B) ไปตามศัพท์เทคนิค ของแต่ละรูปละแบบ ซึ่งว่ากันว่าเป็นขีปนาวุธชนิดพิสัยทำการกลาง คืออยู่ระหว่างขีปนาวุธพิสัยใกล้ กับขีปนาวุธพิสัยทำการข้ามทวีป หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ จรวดติดหัวรบนิวเคลียร์ขนาด 100 กิโลกรัม ที่สามารถยิงจากพื้น-สู่-พื้น จากพื้น-สู่-อากาศ ไปยังพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ 3,000-4,000 กิโลเมตรไม่เกินนั้น ส่วนจะยิงแล้วพลาด หัวทิ่มตกทะเลไปก่อน หรือจะถูกระบบขีปนาวุธต่อต้านขีปนาวุธ หรือระบบเรดาร์ป้องกันทางอวกาศ ที่กองทัพสหรัฐโยกย้ายไปติดตั้งอยู่ที่เกาะกวม อันอยู่ห่างไปจากเกาหลีเหนือประมาณ 3,380 กิโลเมตร เพื่องานนี้โดยเฉพาะ อันนั้น...ถ้าหากเกิดการยิงขึ้นมาจริงๆ ค่อยไปว่ากันอีกที...
                               ------------------------------------------------
    แต่ก็แน่ล่ะว่า...เรื่องราวที่กำลังร้อนๆ อยู่ในคาบสมุทรเกาหลีขณะนี้ มันคงไม่ได้อยู่ที่ใครจะยิงใคร หรือไม่ อย่างไร จะเกิดการปะทุกลายเป็นสงครามเกาหลีรอบใหม่ หรือบานปลายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 อย่างที่ใครต่อใครกำลังหูแหก ตาแหก อยู่ในทุกวันนี้ แต่เพียงเท่านั้น เพราะถึงแม้ คิมน้อย อย่าง คิม จองอึน จะยังไม่บ้าพอ ที่จะอึนหรือจะ
อุน สหรัฐ เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น ขึ้นมาจริงๆ แต่เพียงแค่การขู่ไป-ขู่มาเท่านั้น มันก็พอจะมีส่วนทำให้บรรยากาศทางการเมือง และการทหารในระดับโลก มีสิทธิที่จะเปลี่ยน ดุล หรือ เสียสมดุล ในทางใด ทางหนึ่ง ขึ้นมาได้ไม่ยากซ์ซ์ซ์ และไม่ใช่แต่เฉพาะระหว่างสหรัฐ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น กับประเทศซึ่งต้องปอกกล้วยในบ้านร้างมาโดยตลอด อย่างเกาหลีเหนือเท่านั้น แม้กระทั่งจีน และรัสเซีย ที่มีพรมแดนประชิดติดพันกับหลีเหนือ ตลอดไปจนถึงประเทศกำลังถูกยัดเยียดข้อกล่าวหา ว่าคิดจะครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ อย่างอิหร่านก็เถอะ ต่างต้องหันมาจับตาความเคลื่อนไหวในกรณีดังกล่าว อย่างชนิดไม่คิดจะกะพริบตา เอาเลยก็ว่าได้...
                              ----------------------------------------------------
    สำหรับจีนกับรัสเซีย ซึ่งมีข่าวว่าได้สั่งเตรียมพร้อมกำลังทหารในบริเวณพื้นที่ ที่ติดกับพรมแดนเกาหลีเหนือด้วยกันทั้งคู่ แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งสองประเทศนี้เกิดอาการ ตื่นตัว อย่างเห็นได้โดยชัดเจน คงไม่ใช่เพียงเพราะกลัวจะโดนลูกหลง แบบพวกที่ดันไปนั่งกลางดงตีน ระหว่างนักเลงโตแต่ละฝ่าย อะไรทำนองนั้น เพราะสิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงทางทหารของจีน ได้สะท้อนความรู้สึกออกมา เป็นข่าวคราวในแวดวงนักสังเกตการณ์ต่างประเทศ ได้ชี้ให้เห็นถึงความไม่สบายใจ และความหวาดระแวงของจีนเอามากๆ ต่อการที่มหาอำนาจคู่แข่งอย่างสหรัฐ จะฉวยเอาบรรยากาศความตึงเครียดในช่วงระยะนี้ เป็นโอกาสและข้ออ้างในการ ปิดล้อมจีน ให้หนักแน่น และหนักหนา สาหัส ยิ่งขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะด้วยการเพิ่มกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ ระบบป้องกันต่อต้านให้กับตัวเอง ในภูมิภาคนี้โดยตรง หรือด้วยการสนับสนุน ส่งเสริม ให้ประเทศพันธมิตรอย่างเกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น พัฒนาความแข็งแกร่ง ในการปิดล้อมจีนให้เข้มข้นยิ่งๆ ขึ้นไป...
                              -----------------------------------------------------
    ส่วนบรรดาประเทศอื่นๆ ที่ถึงแม้จะอยู่ไกลไปจากรัศมีตีน หรือไม่ถึงกับต้องได้รับผลกระทบโดยตรง จากบรรยากาศความตึงเครียด ในคาบสมุทรเกาหลีก็ตาม แต่การหา มุมจบ ในกรณีเกาหลีคราวนี้ อาจก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมทั้งในแง่บวกหรือลบ แผ่ไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วทั้งโลกได้ไม่ยากซ์ซ์ซ์ ขึ้นอยู่กับว่ามุมจบนั้น...จะจบสวยหรือจบไม่สวย ไม่ว่าจะจบในโต๊ะเจรจา หรือไม่ก็เถอะ เพราะถ้าการจบนั้นๆ มันมีผลทำให้ การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ สามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง หรือแม้แต่ทางเศรษฐกิจ นำมาซึ่ง ดุลอำนาจ ชนิดหนึ่ง ที่พอจะช่วยปกป้องตัวเองจากการรุกรานและแทรกแซง โดยมหาอำนาจสูงสุดในโลกได้บ้าง อันนี้...โอกาสจะไปไกล ไปไม่กลับ-หลับไม่ตื่น-ฟื้นไม่มี กันไปทั้งโลก ย่อมมีสิทธิเห็นๆ ในอีกไม่นานไม่ช้า...
                           -------------------------------------------------------
    พูดง่ายๆ ก็คือว่า...ถ้าหากอิหร่านคิดจะเอามั่งขึ้นมาจริงๆ ไม่ใช่แค่เพราะถูกยัดเยียด ตามข้อกล่าวหา ซาอุดีอาระเบียก็คงไม่คิดจะรอช้า เพราะเคยแบะท่า แบะทาง เอาไว้นานแล้ว ภูมิภาคตะวันออกกลาง อันสุดแสนจะอ่อนไหว ต่อความแย้งทางการเมือง และทางผลประโยชน์ ในทุกๆ ด้าน ย่อมต้องกลายสภาพไปเป็น เขตปลูกนิวเคลียร์ แทนที่จะเป็น เขตปลอดนิวเคลียร์ อย่างไม่พึงต้องสงสัย ส่วนประเทศอื่นๆ ที่เคยถูกมหาอำนาจไล่บด ไล่บี้ แทรกแซง เอารัด เอาเปรียบ มาโดยตลอด ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องเดินตามกันไปเป็นพรวนๆ ด้วยเหตุนี้...การหามุมจบให้มันออกมาสวยๆ ให้แฮปปี้เอนดิ้ง แบบหนังเกาหลี มันจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แม้จะพยายามจบกันในโต๊ะเจรจาก็ตาม!!!
                           ----------------------------------------------------

บันทึกหน้า 4 ลี้คิมฮวง


 ไทยโพสต์ "อิสรภาพแห่งความคิด" www.thaipost.net "เมื่อพิจารณาจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของผู้ยื่น รวมทั้งได้ตรวจสอบยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานและการให้ถ้อยคำจากผู้ที่เกี่ยวข้อง วินิจฉัยได้ว่า กรณีรายการเงินให้กู้ยืมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ระบุให้กับบริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ จำกัด กู้ยืมจำนวน 30 ล้านบาทนั้น มีอยู่จริง ดังนั้น กรณีประเด็นที่ปรากฏเป็นข่าว ยังฟังไม่ได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 263 วรรคหนึ่ง และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 34" สรุปว่า ณ เวลานี้ ประเทศไทยยังมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" กันต่อไป นอกจากนารีปูจะรอดแล้ว บรรดาแมลงเม่าในตลาดหลักทรัพย์ก็พากันโล่งไปด้วย จากช่วงเช้าที่นักลงทุนขวัญอ่อนผวาล่วงหน้า ฉุดหุ้นร่วงถึง 38.51 จุด แต่หลังจาก ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ไม่ฟันปู ดัชนีก็กระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ จนกลับมาปิดบวกได้สำเร็จ ที่ระดับ 1,528.46 จุด เพิ่มขึ้นไป 7.94 จุด 
    ๐ เมื่อมีคนสมหวัง ก็ย่อมมีคนที่ผิดหวังเป็นธรรมดา "เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แต่งตัวรอเก้อ สมัคร ส.ส.หวังแถมเก้าอี้นายกฯ ก็ต้องลุ้นให้น้องปูหมดวาระไปก่อน แต่ที่แน่ๆ ถ้าชนะเลือกตั้งเชียงใหม่ หน้าที่หลักต้องเข้าคุมเกมในสภา คุมเสียง ส.ส.ที่มีอยู่หลายก๊กหลายก๊วนในพรรค เพื่อช่วยให้น้องปูบริหารงานได้สะดวกโยธินขึ้น และยังเบาแรงคนทางไกลไปส่วนหนึ่ง ส่วนเมื่อไหร่จะได้บันทึกประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าครอบครัววงศ์สวัสดิ์ได้เป็นนายกฯ ทั้งผัวทั้งเมีย ก็ขึ้นอยู่กับ "พี่แม้ว" คนเดียวที่จะประทานให้ 
    ๐ อากาศของเดือนเมษา.ที่ว่าร้อนแรงแล้วยังไม่เดือดเท่าอุณหภูมิในสภา ที่ปุดๆ มาตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. ตั้งแต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แล้วมาพล่านต่อด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ล้วนแล้วแต่เป็นไฟที่พรรคเพื่อแม้วโยนใส่ทั้งนั้น และดูท่าจะเป็นหนังม้วนยาว ไม่จบง่ายๆ  ฝ่ายที่ปวดหัวสุดที่ต้องทำงานหนักหนีไม่พ้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากกลุ่ม 40 ส.ว.และฝ่ายค้านที่ค้านสุดตัวแล้ว กลุ่มนอกสภาก็ฮึ่มๆ ไม่แพ้กัน "มหาจำลอง" แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศจับตาใกล้ชิด ขู่ถึงขั้นวิกฤติพร้อมชุมนุมเคลื่อนไหวทันที ส่วนจะยังขลังเหมือนเดิมหรือเปล่า ต้องรอชมกันต่อไป แต่อย่างน้อยช่วงสงกรานต์ขอให้พี่น้องชาวไทยเล่นน้ำกันอย่างสบายใจไปก่อนละกัน ถึงแม้อาจจะไม่สนุกเท่าปีก่อนๆ เพราะติดกฎเหล็ก 11 ข้อของกระทรวงมหาดไทยก็เหอะ
    ๐ วันศุกร์ที่ 5 เม.ย.ที่หลายฝ่ายห่วงกันนักหนาจะเกิดวิกฤติไฟดับมาถึงเสียที แต่ดูแล้วไร้ปัญหา เพราะเจ้ากระทรวงพลังงานออกมาการันตีหลายรอบแล้ว ล่าสุดสำรองไฟก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,660 เมกะวัตต์ หลังได้รับความร่วมมือในการประหยัดพลังงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน แต่พูดไปพูดมา "เสี่ยเพ้ง" พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ต้นตำรับตื่นตูมก็เอาอีกแล้ว ปูดว่าห่วงวันที่ 9 และ 10 เม.ย.แทน เพราะไปขอให้ภาคอุตสาหกรรมหยุดผลิตวันที่ 5 เม.ย. ทำให้โรงงานเหล่านี้จะกลับมาเดินเครื่องผลิตเต็มสตีมในช่วงนี้ หนำซ้ำต้องผลิตเผื่อไปถึงช่วงสงกรานต์ที่ต้องปิดโรงงานอีกหลายวันด้วย งานนี้รัฐบาลรณรงค์ขอความร่วมมือคนไทยช่วยกัน 3 ป. "ปรับแอร์ ปิดไฟ ถอดปลั๊ก" โดยเฉพาะช่วงที่พม่าจะปิดซ่อมบำรุงท่อก๊าซ ระหว่าง 5-14 เม.ย.นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น