วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

เจรจา สมช.-บีอาร์เอ็น : พิสูจน์ความจริงใจต้องยุติเหตุร้ายก่อน เมื่อ 4 เม.ย.56



เจรจา สมช.-บีอาร์เอ็น : พิสูจน์ความจริงใจต้องยุติเหตุร้ายก่อน



ฟังและอ่าน จากคำให้สัมภาษณ์ของ พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ที่ต้องแกะรายละเอียดการพูดจา เพราะแม้ว่าระหว่างกระบวนการ “สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ” ด้วยการนั่งลงพูดคุย ณ สถานที่ที่ไม่เปิดเผยนั้น ก็ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่อย่างต่อเนื่องทางวิทยุและหนังสือพิมพ์ ก็พอจะจับความได้ว่าการพูดจากับตัวแทน BRN ครั้งที่ 2 ที่ กัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา มีเนื้อหาน่าสนใจหลายประเด็น
คุณภราดร บอกว่า คุณฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าทีมของ BRN ในการเจรจา ยอมรับว่ายังไม่ได้สื่อสารไปถึงระดับปฏิบัติการ และอาจจะยังมีกลุ่มคนหัวรุนแรงที่ยังไม่เห็นพ้องกับการเจรจาหาทางออกอย่างสันติกับรัฐบาลไทย
นัดพูดจากันรอบต่อไปในวันที่ 29 เมษายน ซึ่งก็ไม่อาจยืนยันว่าจะมีอะไรคืบหน้าเป็นเนื้อเป็นหนังหรือไม่
เพราะเลขาฯ สมช. บอกว่า การพบกันครั้งนี้ส่วนใหญ่ฝ่ายไทยฟังฝ่าย BRN (ซึ่งมีตัวแทนจาก PULO มาร่วมด้วย เป็น 1 ใน 6 ตัวแทนที่ขึ้นโต๊ะพูดจากับคณะของรัฐบาล) ซึ่งสะท้อนถึงความอึดอัด เรื่อง "เจ้าหน้าที่" และ "กระบวนการยุติธรรม" ที่เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งมาตลอด
คุยกัน 12 ชั่วโมงในห้องนั้น และห้ามถ่ายรูป ห้ามอัดเสียงการสนทนาเสียด้วย
“ระหว่างพูดคุยกัน พอถึงจังหวะที่เครียด เราก็แยกตัวไปแต่ละห้องของตนเองสักพัก แล้วกลับไปนั่งคุยกันใหม่...” เลขาฯ สมช. เล่าผ่านวิทยุจุฬาฯ เมื่อวันก่อน
ท่านบอกกับ หนังสือพิมพ์มติชน ว่า กลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วยกับการเจรจา เป็นกลุ่มที่เรียกว่าเปอร์มูดอ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน กับ กลุ่มบีอาร์เอ็นอูลามา ซึ่งเป็นพวก “จิตวิญญาณอุดมการณ์” และสองกลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก ค่อนข้างเป็นปัญหา ต้องค่อยๆ พูดกันไป
เลขาฯ สมช. อ้างว่า ทางมาเลเซียยืนยันกับรัฐบาลไทย ว่า จะไม่ยอมให้ผู้ก่อเหตุร้ายเหล่านี้กระทำผิด แล้วข้ามไปฝั่งโน้นอีก
ประเด็นนี้ต้องตรวจสอบ "ความจริงใจ" ของรัฐบาลมาเลเซียพอสมควร แม้คราวนี้ นายกฯ นาจิบ ราซัค จะเล่นบทเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย แต่นักการเมืองท้องถิ่นของมาเลเซีย กับกลุ่มก่อเหตุในไทยก็ยังไม่ได้ตัดขาดอย่างชัดเจน
หัวข้อใหญ่ที่ฝ่ายรัฐบาลพูดกับตัวแทน BRN ในวันนั้น คือ การลดความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่ฝ่าย BRN ก็ชี้นิ้วว่าฝ่ายทางการไทยต่างหากที่สร้างความรุนแรงกับคนของเขา
คุณภราดร บอกว่า ได้ลองให้โจทย์ไปว่าจะลองลด (ความรุนแรง) สัก 1 เดือน ได้หรือไม่? ฝ่าย บีอาร์เอ็น บอกว่า ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะต้องกลับไปหารือกับทางสภาก่อน เพราะคนที่มาร่วมพูดคุยกับรัฐบาลไทยนั้นเป็นตัวแทนเพียงระดับหนึ่ง ไม่สามารถตัดสินใจฉับพลันได้ “เหมือนกับเราไม่สามารถตัดสินใจฉับพลันได้เหมือนกัน เพียงแต่มีจุดประสงค์เหมือนกันว่าต้องการลดเหตุรุนแรงในพื้นที่...”
ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ คดีอาญาที่ศาลได้ตัดสินไปแล้ว จะทำอย่างไร หากมีการเรียกร้องให้ทบทวนจากฝ่ายบีอาร์เอ็น เลขาฯ สมช. บอกว่า ต้องให้เวลากับทางรัฐบาล เพื่อไปสืบสภาพข้อเท็จจริงในแต่ละคดี เพราะว่าขบวนการความยุติธรรมมีอยู่ โดยเฉพาะคดีที่มีคำพิพากษาไปแล้ว เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย เราต้องมาไตร่ตรองว่าจะมีทางออกหรือช่องทางดำเนินการกันอย่างไร
อีกประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นติดใจ คือ คดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทำไมจึงออกหมายจับช้ามาก หรือบางครั้งก็ไม่ออกหมายจับเลย เขาอยากให้เกิดความเสมอภาคสมดุล เขาจึงจะยอมรับได้
แปลว่า เมื่อเขาถูกออกหมายจับเร็ว เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องถูกออกหมายจับเร็วเหมือนกัน
“พูดง่ายๆ เขาอยากให้เล่นงานเจ้าหน้าที่รัฐด้วย ไม่ใช่เล่นงานแต่ฝ่ายเขา” คุณภราดร บอกนักข่าว
ต้องถือว่าเป็นรายละเอียดที่ชัดเจนขึ้นในหลายหัวข้อ แต่ต้องถือว่าเป็นแค่แตะผิวๆ ของปัญหาที่เรื้อรังและสลับซับซ้อน ท้ายที่สุด ก็ต้องประเมินให้แน่ชัดว่า คณะบีอาร์เอ็น ที่มาเจรจานี้เป็นตัวแทนของกลุ่มใดจริงๆ เพราะแม้คุณภราดรจะยืนยันว่า “ฮัสซัน ตอยิบ” (เกิดที่นราธิวาสและไปเรียนหนังสือที่มาเลเซีย) เป็น “ตัวจริงเสียงจริง” แต่ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่า คนที่ยังก่อเหตุร้ายอยู่นั้นสังกัดหน่วยไหนของฝ่ายที่มีความไม่พอใจรัฐบาลกลางอยู่ถึงวันนี้
และแม้จะยังไม่มีประเด็นเรื่อง “รัฐปัตตานี” ในการพบปะกันสองรอบแรก ก็ต้องรอดูว่าเมื่อทั้งสองฝ่ายวางเงื่อนไขชัดๆ บนโต๊ะ การมีที่ยืนสำหรับการต่อรองและแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่างกันจนกลายเป็นข้อตกลงได้จริงๆ เพียงใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น