วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

ข่าวการเมือง เมื่อ 4 เม.ย.56




ข่าวการเมือง เมื่อ 4 เม.ย.56
ไพบูลย์ระบุสส.-สว.มีหนาวถูกสอย เพื่อไทยอาจถูกยุบ
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา หนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีวิทยุ FM. 97.0 MHz ถึงกรณีศาลรธน.มีมติ 3 ต่อ 2 รับคำร้องให้ระงับแก้ไข ม.68 และ 237 แต่ไม่รับคำร้องที่ขอให้คุ้มครองชั่วคราว ว่า เป็นไปตามกระบวนการของทุกฝ่าย ซึ่งรัฐสภาก็มีการตั้งกมธ. และคงจะมีการเสนอแปรญัตติ เมื่อพิจารณาเรียบร้อยก็นำเข้าสภาวาระ 2 ส่วนศาลรธน.ก็มีระเบียบพิจารณาคดี ขณะเดียวกันก็มีหลายคำร้องตาม ม.68 ซึ่งการแปรญัตติเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภา และญัตติทั้งหลายก็จะไปรวมที่กมธ.ที่ตั้งขึ้นมา 3 คณะ คาดว่าเมื่อเปิดประชุมสมัยวิสามัญเดือน มิ.ย. จะนำเข้าวาระ 2 ได้ เพราะฝ่ายรัฐบาลอยากได้เร็ว
" หากศาลรธน.มีคำวินิจฉัยตาม ม.68 สั่งให้เลิกการกระทำ ก็ต้องหยุดเพราะคำวินิจฉัยของศาลรธน.มีผลผูกพัน แต่หากสั่งหลังวาระ 3 แล้ว เนื่องจากร่างแก้ไขรธน.ยังต้องอยู่ในชั้นที่ต้องให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระมาภิไธย แต่หากอยู่ระหว่างดำเนินการ คำสั่งศาลรธน.ก็อาจจะทำให้ร่างรธน.มีปัญหา และนายกฯคงไม่กล้าจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ และโดยหลักแล้วต้องอาศัยรธน. มาตรา 154 มาใช้อนุโลม และนำไปสู่การสอย ส.ว.ที่เห็นชอบกับร่างแก้ไขนั้น ซึ่งอยู่ที่ศาลรธน. ที่อาจสั่งให้เลิกการกระทำ หรือหากมีพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็อาจสั่งให้ยุบพรรคได้"
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ส่วนการคดีอาญาก็เป็นเรื่องของป.ป.ช. ซึ่งทราบว่าผู้ร้องที่เป็นภาคประชาชนจะร้องต่อป.ป.ช.ให้ดำเนินคดีกับส.ส. ส.ว. ที่เห็นชอบกับร่างแก้ไขรธน. ทั้งนี้ หากการแก้ไขรธน.ให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศไม่ใช่วิถีทางที่บัญญัติไว้ในรธน.ก็ต้องหยุด
ส่วนกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สไกป์สั่งการเข้ามาในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยนั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า กำลังรวบรวมจัดทำคำร้อง และนำเสนอต่อศาลรธน. หลังสงกรานต์ โดยอาศัย ม.68 ส่วนร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านนั้น ต้องรอให้กระบวนการผ่านสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ก่อน ถือเป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลตามรธน.

"มหาดไทย"แจกแผ่นพับแจงเงินกู้ 2 ล้านล้าน

สภาโหวตแก้รธน. 3 ร่างวาระแรกผ่านฉลุย
ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะชลบุรี จ.ชลบุรี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลให้กระทรวงมหาดไทย แจกแผ่นพับชี้แจงประชาชน กรณีพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ว่า เป็นเรื่องที่มหาดไทยรับผิดชอบทำความเข้าใจประชาชน เพราะกระทรวงมีหน่วยงานลงไปถึงระดับตำบล หมู่บ้าน จะทำให้แผ่นพับชี้แจงความเข้าใจนี้ลงไปอย่างทั่วถึงได้ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย มีความตั้งใจว่าจะจำลองย่อนิทรรศการเงินกู้ 2 ล้านล้านที่เคยจัดในศูนย์ราชการ แล้วให้แต่ละจังหวัดไปจัดนิทรรศการขึ้นมา โดยจะไม่จัดเพียงที่ศาลากลางจังหวัดเท่านั้น แต่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีประชาชนมารวมอยู่กันเยอะ ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่เขาสงสัย ซึ่งตนได้สั่งการไปเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับกระทรวงคมนาคม ให้ส่งข้อมูลมา ซึ่งเป็นรูปแบบทั้งหมด แล้วส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปบริหารจัดการได้เลย ทั้งนี้การแจกแผ่นพับน่าจะเริ่มได้ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว
นายจารุพงศ์ กล่าวอีกว่า หลาย ๆ คนอาจสงสัยว่างบจำนวนนี้ทำไมไม่ผ่านจังหวัดของตัวเองเลย ซึ่งจริงๆแล้ว งบประมาณ 2 ล้านล้านจะดำเนินการในส่วนที่เป็นหลักก่อน เปรียบเหมือนเป็นกระดูกสันหลัง จากนั้นจะมีงบของหน่วยงานต่าง ๆ ทำเส้นทางเข้ามาร่วมกัน นอกจากนี้ งบของท้องถิ่นไม่เพียงพอ กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น(สถ.)สำรวจถนน ว่ามีถนนที่ได้รับมอบโอนมาจากกรมทางหลวงชนบทมีกี่กิโลเมตร และมีสภาพถนนเป็นอย่างไร จากนั้นให้ทำแผนปรับปรุง ทั้งนี้ เป็นคนละส่วนกับ 2 ล้านล้าน แต่จะเชื่อมกับโครงสร้าง 2 ล้านล้าน โดยทำช่วงในระยะเวลา 6 ปี
มาร์คเล็งยื่นตีความร่างแก้รธน.หลังสภารวบรัดแปรญัตติ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel ถึงการที่ที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ ว่า มีความพยายามรวบรัด ไม่ทำตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาเรื่อการกำหนดวันแปรญัตติ 15 วัน ทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบถือเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ ซึ่งต้องหารือกันว่าฝ่ายค้านจะมีช่องทางดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยตนยังยืนยันว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาต้องนัดประชุมร่วมรัฐสภาใหม่เพื่อที่จะลงมติว่าแปรญัตติภายในกี่วัน แต่หากยังเดินหน้าต่อก็มีความเป็นไปได้ว่าจะต้องมีการยื่นตีความกัน เพราะกระบวนการมันผิดชัดเจน ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสภา และขัดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ครบองค์ประชุม
นายอภิสิทธิ์ ยังวิเคราะห์ถึงคะแนนโหวตรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างด้วย ว่า มาจากเสียงของรัฐบาล ส.ส.กลุ่มมัชฌิมา และส.ว.บางส่วน ทั้งนี้ในร่างแก้ไขเรื่องที่มาของส.ว.ซึ่งได้เสียงสนับสนุนน้อยกว่าร่างแก้ไขอีก 2 ฉบับนั้น อาจเป็นเพราะมีส.ว.จำนวนหนึ่งงดออกเสียง เพราะเกรงปัญหาเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน จึงเกรงว่าจะถูกยื่นถอดถอนได้ในอนาคต ส่วนส.ว.ที่เข้าชื่อขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ก็ต้องดูว่าจะเข้าข่ายผลประโยชน์ขัดกันหรือไม่ และหนึ่งในนั้นก็มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา อยู่ด้วย ซึ่งหากเห็นว่าเข้าข่าย สมาชิกรัฐสภาสามารถเข้าชื่อยื่นถอดถอน
เรียกประชุม กมธ. แก้ รธน. สามคณะวันนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการลงมติรับหลักการวาระแรกแล้ว ได้มีการเสนอแปรญัติภายใน 15 วันตามข้อบังคับการประชุม แต่ทางส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้แปรญัตติภายใน 60 วัน ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยยืนยันภาย 15 วัน ทำให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานที่ประชุม ได้ให้ลงมติ แต่เมื่อตรวจสอบองค์ประชุมแล้วปรากฏว่า องค์ประชุมไม่ครบ นายสมศักดิ์ จึงได้ยืนยันแปรญัตติตามข้อบังคับ และได้นัดประชุม ทั้ง 3 คณะ ในวันที่ 4 เม.ย. เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา และได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 02.20 น.ของวันที่ 4 เม.ย. พร้อมกับสั่งงดการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่4เม.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศการขานชื่อเป็นรายบุคคลนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ลงมติรับหลักการเช่นเดียวกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และส.ส.ของกลุ่มมัชฌิมาธิปไตย ได้ออกเสียงรับหลักการ ทั้ง 3 ฉบับ ขณะที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ใช้สิทธิ์งดออกเสียงทั้ง 3 ฉบับ อย่างไรก็ตาม มีส.ว.ที่ลงมติรับหลักการและงดออกเสียงในบางฉบับ เช่น นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขมาตรา 190 เพียงฉบับเดียว เป็นต้น ส่วนนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ซึ่งเป็นผู้ยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งระงับและยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 นั้นไม่อยู่ในที่ประชุม โดยมีข่าวว่าเดินทางไปต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตราในวันที่ 3 เม.ย.2556 ของการพิจารณาที่ได้กำหนดไว้ ในช่วงเวลาประมาณ 23.45 น. ได้เกิดความวุ่นวายเมื่อนายไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ส.ว.ปทุมธานี ได้ลุกขึ้นเสนอขอให้ปิดอภิปราย และทำการลงมติ ตามข้อบังคับการประชุมข้อ 32(5) ซึ่งได้รับเสียงโห่ร้อง พร้อมมีเสียงสนับสนุนจากส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และกลุ่มส.ว.สายเลือกตั้ง ส่งผลให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้านได้ลุกขึ้นอภิปรายโต้แย้งว่า การเสนอญัตติดังกล่าวเป็นการเสนอที่ผิดข้อตกลงที่วิปรัฐาลและวิปฝ่ายค้านได้ตกลงกันไว้ รวมทั้งนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ผู้ทำหน้าที่ประธานในห้องประชุม ได้พยายามขอร้อง และได้ชี้แจงว่าต่อที่ประชุมว่าในขณะนี้ยังเหลือผู้อภิปรายทั้งฝ่ายส.ส.รัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา อีกจำนวนมาก ซึ่งหากนับรวมระยะเวลาที่เหลือตามที่มีการตกลงกันเอาไว้ยังมีเวลาที่จะต้องอภิปรายมากกว่า 8 ชั่วโมง ดังนั้นจึงอยากจะให้วิปรัฐบาล ฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิ ได้ใจเย็นๆไปพูดคุยตกลงกันหลังจากนั้นนายสมศักดิ์ได้สั่งพักการประชุม
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า หลังการพักการประชุม ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้เปิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเวลา 00.20 น. นายสมศักดิ์ได้ขึ้นนั่งบังลังก์และดำเนินการประชุมต่อ
ต่อมา นายสมศักดิ์ ได้สั่งนับองค์ประชุมสภา ได้จำนวน 428 ครบองค์ประชุม ต่อจากนั้นได้สั่งดำเนินการลงมติด้วยวิธีการขานชื่อสมาชิกทีละคน และให้โหวตทีละฉบับ ปรากฏว่าที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระแรก ร่างแรก แก้ไขฯที่มาของ ส.ว. ด้วยคะแนน 367 ต่อ 204 เสียง งดออกเสียง 34 ร่างที่สอง แก้ไขฯมาตรา 190 ด้วยคะแนน 374 ต่อ 209 เสียง งดออกเสียง 22 และร่างที่สาม แก้ไขฯมาตรา 68 และมาตรา 237 ด้วยคะแนน 374 ต่อ 206 เสียง งดออกเสียง 25 ถือว่าที่ประชุมมีมติรับหลักการทั้ง 3 ร่าง โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯขึ้นมาพิจารณา 3 คณะ คณะละ 45 คน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น