อาถรรพณ์รัฐธรรมนูญ 'มาตรา ๑๙๐'
ต้องขอบคุณ "รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐" ฉบับที่รัฐบาลเพื่อไทย "๓๑๒ ส.ส.+ส.ว." แสดงตนเป็นปฏิปักษ์ และล้มล้างอยู่ขณะนี้ ถ้าไม่มีมาตรา ๑๙๐ วันนี้...เราเสียพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม.ให้เขมรไปแล้ว หมดสิทธิ์เรียกร้องเอาปราสาทพระวิหารคืน ตามข้อสงวน ปี ๐๕ ไปแล้ว และจะไม่มีประเด็น "ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกร่วมกัน" เป็นทางออก เพื่ออยู่ร่วมอย่างสันติอีกแล้ว
แต่...มาตรา ๑๙๐ ที่ใช้รักษาประเทศไว้ได้นี้ ขณะนี้ รัฐบาลเพื่อไทย โดย "๓๑๒ ส.ส.+ส.ว." กำลังรวมหัวกันโละทิ้งเสียแล้ว!
อย่างไรก็ตาม "ในภาพรวม" ที่ยังดำรงอยู่ ก็ต้องขอบคุณ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ผู้นำเรื่องร้องศาลปกครอง) รัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ โดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศ "ทุกคน-ทุกฝ่าย" ที่ร่วมจิต-ร่วมใจ
"รักษาพื้นที่ไทยประเทศ" นี้ไว้!
แบบนี้ละก็ ใครอยากตี-อยากฆ่ากัน ก็เชิญตามสบาย ผมยินดีสมทบทุนเงินบังสุกุลกระดูก ถ้าไม่ฆ่ากันในจุดมุ่งหมาย "ทรยศ-กบฏชาติ"!
วันปะรืน คือวันที่ ๒๖ เมษา ๕๖ นอกจากเกิด "จันทรคราส" ในราศีตุล ที่รัฐบาลและ "นายกฯ เป็นหญิง" พึงระวังแล้ว ยังมีเรื่องเกี่ยวกับศาลที่น่าสนใจ ๒ เรื่อง
เรื่องแรก ไทย-เขมร ต้องเขียนพิกัด "บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร" ที่แต่ละฝ่ายเข้าใจตามคำพิพากษาศาลโลก เมื่อปี ๐๕ ไปให้ผู้ "พิพากษายูซุฟ" ที่ศาลโลก ทราบว่า "มันคือตรงไหน"?
เรื่องที่ ๒ เข้าใจว่า คนส่วนใหญ่ไม่รู้ หรือรู้ แต่ลืมไปแล้ว นั่นคือ....
วันที่ ๒๖ เมษานี้ "ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" นัดฟังคำสั่งว่า จะประทับรับฟ้องหรือไม่ คดีที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.ต่างประเทศ เป็นจำเลยต่อศาล เมื่อ ๑๙ มี.ค.๕๖
ในความผิด "ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใดผู้หนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗"
กรณีนายนพดล ขณะเป็น รมว.ต่างประเทศ ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทย
กรณี "แถลงการณ์ร่วม" นี้ เขมร-โดยทนายฝรั่ง ได้ยกขึ้นอ้างเป็นข้อสนับสนุนในศาลโลกด้วย ส่งผลถึงนายนพดลต้องอธิบายความบริสุทธิ์แห่งตนใจความว่า แถลงการณ์นั้นจะไม่ทำให้ไทยต้องเสียพื้นที่ ๔.๖ ตร.กม.ผ่านสื่อติดๆ กันหลายวัน
ก็ไม่เป็นไร ปะรืนคอยฟังศาลฎีกาฯ ว่าท่านจะรับฟ้องหรือไม่รับ ตรงนั้น น่าจะใช้เป็นน้ำหนักประกอบการฟังคำอธิบายของนายนพดลได้อยู่ว่า "ฟังขึ้น" หรือ "ฟังไม่ขึ้น!
เพื่อข้อมูลที่ถูกต้อง ผมจะนำ "คำฟ้อง ป.ป.ช." เมื่อ ๑๙ มี.ค.มาให้อ่าน หนังสือพิมพ์แนวหน้าสรุปคำฟ้องไว้ดีมาก ผมขอนำส่วนใหญ่มาให้อ่าน ดังนี้
"....ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ภายใต้อาณาเขตอธิปไตยกัมพูชา ฯลฯ และประเทศไทย โดย พันเอกถนัด คอมันตร์ รมว.ต่างประเทศขณะนั้น ยื่นคำแถลงการณ์ เพื่อประท้วงคำพิพากษาว่า คำพิพากษานั้น ขัดต่อกฎหมายและความยุติธรรม นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิ์ที่ประเทศไทยจะเรียกร้องปราสาทฯ กลับคืนในอนาคตด้วย
ทั้ง ครม.ในขณะนั้นมีมติว่า การกำหนดเขตบริเวณปราสาทพระวิหารเพื่อปฏิบัติตามศาลโลก ให้ใช้วิธีที่ ๒ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยกำหนดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบปราสาทพระวิหารเนื้อที่ประมาณ ๑ ใน ๔ ตร.กม. มติ ครม.ดังกล่าว จึงยังมีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีทุกชุดต้องยึดถือปฏิบัติตามจนถึงปัจจุบันนี้
กระทั่ง พ.ศ.๒๕๔๘ กัมพูชายื่นเอกสารต่อองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียว และนายมนัสพาสน์ ชูโต เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ คัดค้านไว้ในการประชุมบอร์ดมรดกโลก ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ จนกัมพูชาไม่สามารถขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้
เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช รับหน้าที่นายกฯ แล้ว ๓-๔ มี.ค.๕๑ นายสมัครไปพบผู้นำกัมพูชาเรื่องขึ้นทะเบียนปราสาทฯ เป็นมรดกโลก และจำเลยคือ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ไปหารือกับนายสก อาน รองนายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กัมพูชา ที่ทางกัมพูชาขอให้ไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทฯ
จากนั้น นายนพดลได้นำแถลงการณ์ร่วมฯ ให้ข้าราชการกระทรวงต่างประเทศพิจารณา ทาง "นายวีรชัย พลาศรัย" อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในขณะนั้น มีบันทึกช่วยจำคัดค้านเรื่องดังกล่าว แต่จำเลยไม่เห็นด้วย จึงเสนอ ครม.ให้นายวีรชัย พลาศรัย พ้นจากตำแหน่ง ทั้งที่ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ปลัดกระทรวงทักท้วง แต่นายนพดลยังยืนยันว่า ไม่สามารถร่วมงานกับอธิบดีที่มีความคิดเช่นนี้ได้
ต่อมา นายนพดล จำเลยยังเดินทางไปเขมรอีก หารือกับนายสก อาน เรื่องปราสาทฯ รวมไปถึงการกำหนดเขตทางทะเลระหว่างประเทศ และมีความคิดจะทำแถลงการณ์ร่วม โดยไม่ฟังเสียงคัดค้าน นำเรื่องเข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ แบบปิดบังอำพรางและมีเหตุจูงใจแอบแฝงอยู่ แล้วนำเข้าที่ประชุม ครม. โดยไม่มีเอกสารแจกให้ที่ประชุมพิจารณาล่วงหน้า เพียงแต่แสดงแผนที่บนจอภาพ ใช้เวลา ๑๕ นาที
มีรัฐมนตรีอภิปรายทักท้วงในเรื่องเขตแดน แต่จำเลยก็ยืนยันว่าไม่มีปัญหา และกระทำอย่างลุกลี้ลุกลนให้ ครม.ยอมรับร่างคำแถลงการณ์ จนวันที่ ๑๘ มิ.ย.๕๑ จำเลยได้ลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าว ไม่สนใจในเสียงทักท้วง ท้วงติงจากหลายฝ่าย
โจทก์ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าคำแถลงการณ์ร่วมฯ นี้ เป็นหนังสือสัญญาซึ่งต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙๐ วรรคสองและสามของรัฐธรรมนูญ (ต้องขออนุมัติจากรัฐสภา) เนื่องจากเป็นข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร จะต้องออกเป็น พ.ร.บ.เพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา และรับฟังความเห็นจากประชาชน
และพิจารณาตามถ้อยคำ เนื้อหาสาระคำแถลงการณ์ร่วมฯ จะเห็นชัดว่า คำแถลงการณ์นี้ มีผลทำให้ราชอาณาจักรไทย ต้องสละสิทธิ์ในข้อสงวนที่ประเทศไทยจะต้องเอาปราสาทฯ กลับคืนมาในอนาคต กรณีศาลโลกได้พิพากษาเมื่อ ๑๕ มิ.ย.๐๕ เป็นการยอมรับอธิปไตยของกัมพูชาเหนือซากปราสาทฯ
ทั้งยังเป็นการแสดงเจตนายืนยันชัดแจ้งถึงการยอมรับในแผนที่กำหนดแนวเขตที่จัดทำโดยกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว แถลงการณ์ร่วมฯ จึงมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย
ประเด็นการกระทำของนายนพดล ปัทมะ ขัดต่อมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ กับพวก ๙ คน ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง และศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา ไม่ให้ รมว.ต่างประเทศ และ ครม.ดำเนินการใดๆ ที่เป็นข้ออ้าง หรือใช้ประโยชน์จากมติ ครม.เมื่อ ๑๗ มิ.ย.๕๑ และสุดท้าย ศาลปกครองสูงสุดชี้ว่า แถลงการร่วมนี้เป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ ๘ ก.ค.๕๑ ว่าคำแถลงการณ์ร่วมฯ ดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เพราะมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศไทย ฯลฯ
ในคำฟ้องข้อ ๖ โจทก์บรรยายฟ้องว่า นายนพดลรู้อยู่อย่างถ่องแท้ว่า แถลงการณ์ร่วมฯ นี้อาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนของประเทศไทย มีผลกระทบทางสังคม แต่จำเลยได้กระทำไปโดยปกปิดซ่อนเร้น บิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง
จำเลยเอาใจฝักใฝ่ในผลประโยชน์ประเทศกัมพูชายิ่งกว่าผลประโยชน์ของประเทศไทย ด้วยเจตนาที่แอบแฝงในประโยชน์ที่ตรงข้ามกับประโยชน์ของประเทศไทย โดยมุ่งหวังให้สมเจตนาแห่งตน โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายด้านอาณาเขตดินแดน และอำนาจอธิปไตยของประเทศ โดยเจตนาไม่สุจริต
จึงถือว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เหมาะสม ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรี อำนาจหน้าที่แห่งตน มิได้ยึดถือว่าตนเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
กระทำขัดรัฐธรรมนูญ ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ไม่ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ไม่รับฟังความเห็นของประชาชน
จึงมีผลให้การลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลผูกพันต่อประเทศไทย และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทยและคนไทยทุกคน หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต จึงมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗
จบคำฟ้องที่ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ นายนพดล ปัทมะ เป็นจำเลย ในเรื่องแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา อันว่าด้วยเรื่องมาตรา ๑๙๐ ก็ปะรืน...๒๖ เมษา ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้อง หรือไม่รับ
"ระบอบทักษิณ" คือพญางูเห่า แต่เจอเชือกกล้วย "ป.ป.ช.กล้านรงค์" ทีไร เลื้อยลงรูแทบไม่ไหวทีนั้น...แปล๊ก..แปลก!?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น