วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

ประมวลภาพรวมคำให้การศาลโลก ศึกปราสาทพระวิหาร ปี 2556 วันพุธที่ 24 เมษายน 2556




ประมวลภาพรวมคำให้การศาลโลก ศึกปราสาทพระวิหาร ปี 2556

วันพุธที่ 24 เมษายน 2556 เวลา 00:00 น.
เสร็จสิ้นลงไปแล้วสำหรับขั้นตอน การให้การทางวาจา ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือ ศาลโลก ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ท่ามกลางเสียงชื่นชมของคนไทยทั้งประเทศที่มีต่อ คณะตัวแทนประเทศ ไทย นำโดย นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราช ทูตไทยประจำกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และคณะที่ปรึกษากฎหมายชาวต่างชาติของฝ่ายไทย ที่นำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ มาหักล้างฝ่ายกัมพูชาในประเด็นต่าง ๆ อีกทั้งยังจับพิรุธถ้อยแถลงและแผนที่ที่ฝ่ายกัมพูชานำมาอ้างอิง ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยหวังใจลึก ๆ ว่า “ศึกพระวิหาร ภาค 2” หนนี้เราอาจจะไม่ผิดหวังเหมือนปี 2505
ย้อนกลับไปที่ถ้อยแถลงทั้ง 2 รอบของฝ่ายไทย หลักฐานที่นำมาพูดถึงมากที่สุดเห็นจะเป็น “แผนที่” โดยนายวีรชัย เปิดประเด็นนี้ตั้งแต่วันแรก (17 เม.ย. 56) ของการให้การว่า “พื้นที่พิพาทประมาณ 4.5 ตร.กม. ไม่ใช่บริเวณใกล้เคียงปราสาทตามนัยของวรรคปฏิบัติการที่สองของคำพิพากษาเมื่อปี 2505 …ดังนั้นศาลไม่สามารถตัดสินเกินคำร้อง และให้ในสิ่งที่กัมพูชาไม่ได้ขอ และแม้ในคำขอเพิ่มเติมของกัมพูชาในขณะนั้นเกี่ยวกับเส้นเขตแดนและสถานะทางกฎหมายของแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งศาลไม่รับไว้พิจารณา ก็ไม่มีการระบุถึงพื้นที่ 4 ตร.กม. ครึ่งดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่อธิบายความลำบากของกัมพูชาที่จะพิสูจน์ความมีอยู่ของพื้นที่พิพาทดั้งเดิม
โดยทำได้อย่างมากก็ปลอมแปลงเอกสารจดหมายเหตุและโต้แย้งด้วยเส้นจากภาคผนวก 49 ของคำให้การแก้ฟ้องของไทยเมื่อปี 2504 ที่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด”
ขณะที่ น.ส.อลินา มิรอง ผู้เชี่ยวชาญแผนที่ ซึ่งเป็นผู้ช่วยของศาสตราจารย์ อแลง แปลเล่ต์ ที่ปรึกษาชาวฝรั่งเศส ได้นำเสนอ ข้อพิรุธของแผนที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างอิงว่า “แม้ว่าแผนที่จำนวนมากที่ใช้ในกระบวนพิจารณาคดีแรกเริ่มล้วนแสดงปราสาทพระวิหารอยู่ใต้เส้นแบ่งเขตระหว่างไทยกับฝรั่ง เศส หรือกัมพูชา แต่ไม่มีแผนที่ใดเลยที่แสดงเส้นเขตแดนเหมือนกัน...แผนที่ภาคผนวก 1 มิได้มีเพียงรุ่นเดียว แต่มีหลายรุ่น ซึ่งจากการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยในการต่อสู้คดีพบแผนที่ภาคผนวก 1 มีหลายรุ่น กระทั่งแผนที่ภาคผนวก 1 ซึ่งกัมพูชาได้แนบคำฟ้องเมื่อปี 2502 ก็ยังไม่เหมือนกับแผนที่ภาคผนวก 1 ที่แนบมาในคำขอตีความของกัมพูชาในคดีปัจจุบัน ทำให้เส้นต่าง ๆ ที่ปรากฏในแผนที่ โดยเฉพาะที่เส้นเขตแดนจึงมีความแตกต่างกันในแต่ละรุ่น โดยขณะนี้พบว่ามีรุ่นต่าง ๆ ที่แตกต่างกันอย่างน้อย 6 รุ่น”
นายวีรชัย ได้ตอกย้ำในวันกล่าวปิด (19 เม.ย.) ว่า “กัมพูชาในปี 2502 เสนอแผนที่ภาคผนวก 1 ชุดหนึ่งต่อศาล แต่กัมพูชาในวันนี้เสนอแผนที่อีกชุดหนึ่งซึ่งมีเขตแดนที่แตกต่างออกไป แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเส้นใดใน2 เส้นนี้ที่ต้องการให้ศาลพิจารณาและรับรอง...กัมพูชาเมื่อปี 2502 ยึดถือเส้นซึ่งตามความเข้าใจของตน แสดงสันปันน้ำที่แท้จริงเพื่อพิสูจน์ว่าปราสาทอยู่ในฝั่งกัมพูชา แต่กัมพูชาในวันนี้ยึดถือเส้นเทียมเพื่อพิสูจน์สิ่งอื่น...กัมพูชาในวันนี้กำลังให้การบนพื้นฐานของเส้นที่ได้ปล้นมาจากรายงานของผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยเมื่อปี 2504 โดยดัดแปลงอย่างไม่เหมาะสมจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงและมาปลอมแปลงจนไม่สามารถจำได้…กัมพูชากำลังขอเพิ่มอย่างไร้เหตุผล และใช้วิธีง่าย ๆ ในการสร้างข้อพิพาทในการตีความขึ้นอย่างเป็นเท็จ มีข้อเรียกร้องใหม่ และให้แผนที่ปลอมและข้อเท็จจริงที่บิดเบือนศาล”
อย่างไรก็ดีในฝ่ายตัวแทนของกัมพูชาทั้ง นายร็อดแมน บุนดี, เซอร์แฟรงคลิน เบอร์แมน และนายฌอง มาร์ค ซอเรล ล้วนปฏิเสธข้อกล่าวหาของฝ่ายไทย โดยยืนยันว่า ไม่ได้อำพรางคำฟ้อง ไม่ได้ปลอมแปลงแผนที่ และบอกว่าไม่จำเป็นต้องพิจารณาเส้นของแผนที่ตามภาคผนวก 1 ตรงกับสันปันน้ำ เนื่องจากไม่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของศาล
นอกจากนี้ยังโต้แย้งการล้อมรั้วลวดหนามรอบปราสาทพระวิหารตามมติ ครม. ในปี 2505 ว่า เป็นการตีความของไทยฝ่ายเดียว ทั้งยังระบุว่า รัฐบาลไทยกล้ามากที่กำหนดเส้นเขตแดนขัดแย้งกับคำพิพากษาเดิม บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดทำหลักเขตแดนทางบกปี 2543 ที่กำหนดกรอบการจัดทำหลักเขตแดน ก็ย่อมต้องสอดคล้องกับการปักปันเขตแดนที่มีอยู่แล้วในแผนที่ภาคผนวก 1 แต่ทนายความของไทยได้ละเลยส่วนที่ศาลเคยกล่าวไว้
ขณะที่ นายฮอร์ นัมฮง รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ ในฐานะตัวแทนประเทศกัมพูชา กล่าวปิดท้ายการให้การว่า ศาลมีบทบาทในการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค ถ้าไม่มีการตีความจะส่งผลให้สองประเทศไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
ด้านตัวแทนประเทศไทย นายวีรชัย กล่าวทิ้งท้ายในอีกบริบทหนึ่งว่า “เป็นความปรารถนาอย่างจริงใจของประเทศไทยที่จะยอม รับได้กับมรดกทางอดีตของการล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กัมพูชาและประเทศ ไทยมีอดีตดังกล่าวร่วมกัน แต่เราก็ยังมีอนาคตร่วมกัน ดังนั้นอาจมองได้ว่ากระบวนการนี้เป็นโอกาสสำหรับคู่ความทั้งสองที่จะทำให้ภาพของพี่น้องประชาคมอาเซียนทั้งสองที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้หลักนิติธรรม ประเด็นสำหรับท่าน ท่านประธาน ท่านสมาชิกของศาลนั้น ก็คือการทำให้มั่นใจว่าคำพิพากษาปี 2505 จะไม่ถูกบิดเบือนให้ทำบางอย่างที่คำพิพากษานั้นไม่ได้ทำ และหลักนิติธรรมอยู่เหนือทุกสิ่งสำหรับทุกฝ่าย เพื่อให้สันติภาพที่ยั่งยืนอยู่เหนือทุกสิ่งเช่นกัน”
ตัวแทนจาก 2 ราชอาณาจักรมีมุมมองในเรื่องความมั่นคงและสันติภาพในภูมิภาคแตกต่างกันอย่างสุดขั้วคงเหลือขั้นตอนที่ไทยและกัมพูชา ต้องแจ้งพิกัดของ vicinity หรือ “บริเวณใกล้เคียง” ปราสาทพระวิหาร ในแผนที่ที่แต่ละฝ่ายอ้างอิงว่ามีขอบเขตเพียงไร เพื่อส่งให้ศาลโลกตามคำร้องขอของ ผู้พิพากษาชาวโซมาเลีย ภายในวันที่ 26 เม.ย. และส่งข้อสังเกตเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับคำตอบของอีกฝ่ายให้ศาล โลกภายในวันที่ 3 พ.ค. นี้
ต่อจากนั้นคนไทยทั้งประเทศต้องเฝ้ารอลุ้นคำพิพากษาจากศาลโลกว่า จะมีคำตอบสำหรับการดำรงอยู่ของ 2 ประเทศที่มีแผลเก่าตะกอนใจมายาวนานแสนนานนี้อย่างไร
จะเป็น แนวทางที่ 1 คือ ศาลโลกชี้ว่ากัมพูชาไม่มีอำนาจฟ้อง และศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณา พร้อมทั้งจำหน่ายคดีออกไป หรือ แนวทางที่ 2 ศาลโลกรับตีความคำพิพากษาเดิม และพิพากษากำหนดพื้นที่ “บริเวณใกล้เคียง”
ปราสาทพระวิหารสอดคล้องกับฝ่ายไทยตามเส้นแผนที่ตามมติ ครม. วันที่ 10 ก.ค. 2505 หากเป็น 2 แนวทางนี้จะถือเป็นคุณกับไทย
แต่หากเป็น แนวทางที่ 3 คือ ศาลโลกรับตีความคำพิพากษาเดิม และพิพากษากำหนดพื้นที่ “บริเวณใกล้เคียง” ปราสาทพระวิหารสอดคล้องกับฝ่ายเขมร ซึ่งเป็นไปตามเส้นแผนที่ระวางดงรัก มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ตร.กม. หรือ แนวทางที่ 4 ศาลโลกรับตีความคำพิพากษาเดิม และพิพากษากำหนดพื้นที่ “บริเวณใกล้เคียง” ปราสาทพระวิหารขึ้นมาใหม่ตามที่ศาลโลกเห็นว่าสมควร ซึ่งแนวทางที่ 3 และ 4 ย่อมไม่เป็นผลดีต่อไทย
ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร คนไทยและคนกัมพูชายังคงต้องไปมาหาสู่ และมีปฏิสัมพันธ์กันในมิติต่าง ๆ ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม การค้า การเมือง และวัฒนธรรม ฉะนั้นทุกอย่างคงต้องดำเนินต่อไป
ที่สำคัญประเทศไทยและประเทศกัมพูชาไม่อาจยกประเทศหนีหรือแยกแผ่นดินออกจากกันไปได้.
พริษฐ์ เอี่ยมพงษ์ไพบูลย์ : รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น