วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555
แฉ‘ธิดา’ตุ๋นแดงร้องICCเผยไทยหวั่นฟ้องกษัตริย์ข่าวหน้า 1 6 November 2555 - 00:00
แดงลากไส้กันเอง แกนนำ นปช.ชุมพรยื่นประธานสภาฯ ตรวจสอบคดี 91 ศพ จวก "ธิดา-เหวง" โกหกต้มตุ๋นคนเสื้อแดงให้เข้าใจผิดว่า "ไอซีซี" สอบสวนได้เลย แฉยื่นผิดคน จี้หยุดบีบรัฐบาล ตะเพิดพ้นประธาน นปช. ชู "ตู่”เป็นผู้นำแทน ธิดาแจงยื่นแผนกทะเบียนแล้ว นักกฎหมายเฉลยประเทศไทยเคยหารือมาหลายรัฐบาลแต่ปฏิเสธลงนาม ชี้มีผลเสียมากกว่า หวั่นผู้ไม่หวังดีฟ้องพระมหากษัตริย์
ที่รัฐสภา วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ในฐานะแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จังหวัดชุมพร เข้ายื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบและศึกษากรณีการสลายการชุมนุมช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 จนมีผู้เสียชีวิต 91 ศพ โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่ปรากฏว่าศาลไทยได้ไต่สวนการเสียชีวิตและชันสูตรศพเลย โดยขั้นตอนที่ถูกต้อง ทางไทยจะต้องมีการสอบสวนตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อน
"แต่นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่ม นปช. และ นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและแกนนำ นปช. กลับอ้างว่าได้ไปยื่นเรื่องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ให้ทำการสอบสวนกรณีดังกล่าวได้เลย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว และการไปร้องต่อรีจิสตรา (Registra) ของศาลอาญาระหว่างประเทศ ในฐานะผู้ดูแลผู้ต้องขังทั่วโลกนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่ผู้มีอำนาจที่จะรับเรื่องราวร้องทุกข์ตามสนธิสัญญากรุงโรม ค.ศ.1998 โดยผู้ที่จะรับเรื่องราวร้องทุกข์ได้คือ ประธานหรืออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศเท่านั้น" พ.ต.ต.เสงี่ยมกล่าว
แกนนำ นปช.ชุมพรผู้นี้กล่าวอีกว่า นางธิดาและ นพ.เหวงไม่รู้จริงและกำลังโกหก อีกทั้งยังต้มตุ๋นคนเสื้อแดงให้เข้าใจผิดว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับเรื่องไว้แล้ว พร้อมกันนี้อยากให้ยุติการบีบบังคับฝ่ายบริหารของประเทศให้รับรองเขตอำนาจไอซีซี โดยอ้างว่าเพื่อให้ไอซีซีรับพิจารณาเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งถ้าฝ่ายบริหารรับรองจริง ก็จะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญตามมาตรา 190 ซึ่งรัฐสภาจะต้องให้ความเห็นชอบก่อน จึงเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ อยากให้ทางสภาฯ ช่วยทำความจริงให้ปรากฏ
"เข้าใจว่ากำลังหาทางลงให้กับ นปช. แต่ก็ต้องทำให้ถูกขั้นตอน พวกผมก็กำลังหาทางดำเนินการเอาผิดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ สมัยที่มีการสั่งสลายการชุมนุมเช่นกัน แต่การกระทำของภาวะผู้นำ นปช.ปัจจุบัน กลับกระทำเรื่องที่ไม่สมควร พูดไปนางธิดาก็ไม่ยอมฟัง เสื้อแดงไม่ได้แตกแยก จึงคิดว่าควรเปลี่ยนประธาน นปช.เป็นนายจตุพร พรหมพันธุ์ แทนได้แล้ว” พ.ต.ต.เสงี่ยมกล่าว
'ธิดา' แจงยื่นแผนกทะเบียน
ด้านนางธิดากล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ไม่เป็นไร ความจริงเป็นอย่างไร ข้อมูลเราเปิดเผย สามารถดูตรวจสอบในบล็อก นปช.ได้ กระบวนการขั้นตอนอยู่ในนั้นหมดแล้ว เราได้ดำเนินการทุกทาง เรื่องต่างๆ เปิดเผยหมด ยืนยันว่าเวลาจะยื่นต้องไปยื่นที่ไอซีซี เหมือนไปยื่นแผนกทะเบียน เหมือนเป็นตะกร้าแรก และจะดูว่ารับพิจารณาหรือไม่ ถ้าไม่รับก็จะผ่านไป แต่เราก็ผ่านตะกร้าแรกแล้ว และจะมีการพิจารณาต่อไป ใครพูดถูก ก็ดูที่ข้อมูลจริงหรือไม่ ส่วนรายละเอียดอยากให้ไปสอบถาม น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
ส่วน น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก กล่าวว่า ขณะนี้มีบางกลุ่มบอกว่าศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) จะมากระทบต่ออธิปไตยของประเทศไทย ยืนยันว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะในข้อกฎหมายของทางธรรมนูญกรุงโรม การเปิดสอบสวนเบื้องต้นเป็นการทำงานในเชิงวิชาการเท่านั้น เข้ามารวบรวมข้อเท็จจริงในด้านข้อมูล ดังนั้นประเทศไทยไม่ต้องแก้กฎหมายอะไรใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นการประกาศฝ่ายเดียวจากประเทศไทยที่เรียกว่า Unilateral declaration เพราะฉะนั้นไม่เข้ามาตรา 190 ว่าจะเป็นสนธิสัญญาที่จะต้องผ่านการพิจารณาของสภาฯ เมื่อไม่มีการต้องแก้ไขข้อกฎหมายใดๆ ในไทย จึงไม่ถือเป็นการกระทบกับอำนาจอธิปไตยของไทย
นายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาการสั่งสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 กล่าวถึงกรณีหากไอซีซีลงนามรับรองเขตอำนาจร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และอาจเข้ามาพิจารณาเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ว่า เป็นคนละส่วนกัน และไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจ ป.ป.ช. หากไอซีซีลงนามและจะเข้ามาพิจารณาในเรื่องดังกล่าวจริง ก็น่าจะเข้ามาเฉพาะประเด็นการสั่งการสลายการชุมนุม ว่าเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การใช้กำลังทำลายล้างชนกลุ่มใดหรือไม่ แต่ในส่วนของ ป.ป.ช.จะเน้นที่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้เกี่ยวข้อง ว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ และคำสั่งสมควรแก่เหตุหรือไม่ ยืนยัน ป.ป.ช.จะทำงานต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกระทรวงการต่างประเทศลงนาม จะถือว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ นายวิชากล่าวว่า ต้องไปถามตำรวจ อัยการ และศาล ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรม รวมถึงต้องถามประชาชนคนไทยทุกคนว่า ยังเห็นว่าศาลไทยทำงานอยู่หรือไม่ หรือยังคงยอมรับกระบวนการยุติธรรมของไทยอยู่หรือไม่
แหล่งข่าวนักกฎหมายระดับสูง กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะเซ็นสัญญาลงนามเป็นภาคีสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศว่า เรื่องสนธิสัญญาโรมซึ่งเป็นที่มาของการตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น ในประเทศไทยเคยมีการคุยหารือกันมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่สุดท้ายประเทศไทยก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม เพราะว่าถ้าหากเราลงนามเป็นภาคีสมาชิกแล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศจะสามารถพิจารณาคดีความผิดของผู้นำรัฐบาลระดับสูงของประเทศในความผิดข้อหาหลักๆ ประมาณ 4-5 ข้อหา อาทิ ข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, ข้อหาฆ่าประชาชนจำนวนมาก แต่ไม่ร้ายแรงเท่ากับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, ข้อหาใช้กำลังปราบปรามประชาชน, ข้อหาก่อการร้าย ฯ
หวั่นฟ้องกษัตริย์
"และถ้าเราลงนามเข้าร่วม หากมีการไปกล่าวหาหรือยื่นฟ้องเบื้องบน ซึ่งเป็นที่เคารพของประชาชนชาวไทยแล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ ดังนั้นประเทศไทยจึงตอบปฏิเสธ"
แหล่งข่าวระบุว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่ก็ยังมีช่องทางที่สามารถยื่นเรื่องต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และสามารถตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีผู้นำประเทศที่เป็นสมาชิกได้ อย่างที่เคยตั้งศาลขึ้นมาพิจารณาคดีผู้นำประเทศกัมพูชา
"ส่วนกรณีที่มีทนายความชาวเนเธอร์แลนด์ไปยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น ไม่ได้ฟ้องในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีไทย แต่เป็นกรณีที่ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ ในฐานะที่เป็นคนอังกฤษ ซึ่งก็ต้องไปพิสูจน์กัน ถ้าจะลงนามต้องตอบคำถามข้อนี้ให้ได้ เพราะอาจจะมีคนไปฟ้อง แม้ตามรัฐธรรมนูญไทยจะบัญญัติว่าพระองค์ท่านไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือจะอ้างประเทศอังกฤษที่มีกษัตริย์ ที่ผ่านมาก็มีการคิดวิเคราะห์แล้ว จึงต้องปฏิเสธ” แหล่งข่าวนักกฎหมายระดับสูงกล่าว
เช่นเดียวกับนายชุมพล สังข์ทอง ทนายความ ที่ให้ความเห็นกรณีรัฐบาลจะให้สัตยาบันเพื่อยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศว่า กรณีดังกล่าว จากรายงานการวิจัยเรื่อง โลกาภิวัตน์กับกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งสถาบันรพีพัฒนศักดิ์ สำนักงานศาลยุติธรรม มอบหมายให้สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีศาสตราจารย์ประสิทธิ์ เอกบุตร เป็นหัวหน้าคณะวิจัยเมื่อปี 2551 ในหน้า 75-76 ระบุว่า การเข้าร่วมเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมอาจส่งผลเสียต่อประเทศไทยอย่างมาก เกินกว่าผลดีที่ประเทศไทยจะได้รับ เพราะอาจมีผู้ไม่หวังดีกล่าวหาพระมหากษัตริย์ไทยว่า เป็นผู้กระทำความผิดตามธรรมนูญกรุงโรมได้ แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 8 มีบทบัญญัติคุ้มกันพระมหากษัตริย์ไว้ว่า ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ ไม่ได้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
เขาบอกว่า ข้อน่ากังวลของคณะผู้วิจัยในเรื่องความสุ่มเสี่ยง ที่พระมหากษัตริย์ไทยอาจถูกฟ้องหรือกล่าวหาว่ากระทำความผิดอยู่ในธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 27 ที่บัญญัติว่า 1.ธรรมนูญฉบับนี้ปรับใช้อย่างเสมอภาคกับทุกคน โดยปราศจากการแยกแยะสถานะอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานะอย่างเป็นทางการของประมุขของรัฐ, หัวหน้ารัฐบาล, สมาชิกของรัฐบาล หรือสมาชิกของรัฐสภา ตัวแทนที่ได้รับการเลือกตั้ง หรือเจ้าพนักงานของรัฐ จะไม่มีการยกเว้นจากความรับผิด หรือได้รับการลดโทษตามธรรมนูญฉบับนี้ 2.ความคุ้มกันหรือกฎเกณฑ์ทางวิธีสบัญญัติ ซึ่งอาจให้สถานะอย่างเป็นทางการของบุคคล ไม่อาจขัดขวางการใช้อำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศเหนือบุคคลได้ ดังนั้น เมื่อประเทศไทยเข้าผูกพันเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมแล้ว ความคุ้มกันให้พระมหากษัตริย์ไทยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในข้อ 27 ของธรรมนูญกรุงโรม ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศอาจหยิบยกข้อ 27ของธรรมนูญกรุงโรมขึ้นมาลบล้างความคุ้มกันพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 8 ได้
"การให้สัตยาบันยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ แม้รัฐบาลจะอ้างว่าเพื่อให้ประเทศไทยทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือเหตุผลใดก็ตาม ซึ่งอาจมีข้ออ้างแก้ข้อกังวลดังกล่าวว่า มีหลายประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็เข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมได้ แต่สถานการณ์ในประเทศไทยยังคงมีการกล่าวอ้างและดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ย่อมมีผู้ไม่หวังดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อาศัยช่องทางดังกล่าวทำลายความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแน่แท้" นายชุมพลกล่าว.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น