เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน บริเวณใต้สะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี เขตบางพลัด นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่เทศกิจจากสำนักเทศกิจ และ 50 สำนักงานเขต เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยแพทย์กู้ชีวิต รวม 870 คน ในการปฏิบัติงานดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในวันลอยกระทง 28 พฤศจิกายน
นายวัลลภ กล่าวกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนดำเนินการตามแผนหลักในการปฏิบัติภารกิจช่วงเทศกาลลอยกระทง รวมถึงเข้มงวดมาตรการป้องกันและบรรเทาอันตรายจากการผลิต สะสม จำหน่าย และการเล่นดอกไม้เพลิง เนื่องจากในวันลอยกระทงจะมีประชาชนเดินทางมาร่วมงานในสถานที่จัดงานต่างๆ สวนสาธารณะ ท่าเรือและโป๊ะริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองสายต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาจมีการจุดพลุ ดอกไม้ไฟ และโคมลอย ทำให้มีผู้บาดเจ็บรวมถึงสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน ดังนั้นขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งห้ามไม่ให้มีการจำหน่าย หรือจุดพลุ และโคมลอย เพื่อให้เทศกาลลอยกระทงเต็มไปด้วยความสนุกสนานและมีความปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กทม.ได้จัดตั้งกองอำนวยการร่วมส่วนหน้า จำนวน 5 จุด ดูแลความปลอดภัยทางบกในพื้นที่ 5 เขต ได้แก่ จุดที่ 1 บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 เขตบางพลัด จุดที่ 2 บริเวณเชิงสะพานพระราม 9 เขตราษฎร์บูรณะ จุดที่ 3 บริเวณสวนสันติชัยปราการ เขตพระนคร จุดที่ 4 บริเวณสวนลุมพินี เขตปทุมวัน และจุดที่ 5 บริเวณบึงลำพังพวย เขตบึงกุ่ม โดยประสานความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ และสมาชิกอปพร. นอกจากนี้ในส่วนของสำนักงานเขตที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำลำคลอง จะจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจสวมชูชีพประจำท่าเรือละ 2 คน สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2 คน และตำรวจ 1 คน เพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชน อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่ประจำสะพานข้ามแม่น้ำสะพานละ 5 คน เพื่อดูแลไม่ให้มีการขว้างปาสิ่งของหรือยิงพลุลงในเรือที่สัญจรไปมาในลำน้ำ และจัดรถพยาบาลฉุกเฉิน พร้อมทีมแพทย์ พยาบาล เวชภัณฑ์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเร่งด่วน ตั้งแต่เวลา 16.00-24.00 น. หรือจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ หากประชาชนพบเหตุสาธารณภัย โทรสายด่วน 199, 1555 เหตุด่วนเหตุร้าย โทร. 191 หรือพื้นที่จัดงานของ 50 สำนักงานเขต
สำหรับด้านความปลอดภัยทางน้ำ ได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ รวม 3 แห่ง ณ โรงพยาบาล (รพ.) เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.ตากสิน และวชิรพยาบาล พร้อมทั้งจัดเรือตรวจการณ์ของกทม. กรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ และกองทัพเรือ จำนวน 41 ลำ ตลอดจนเรือของกองบังคับการตำรวจน้ำร่วมลาดตระเวนตลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึง สะพานพระราม 9 รวมระยะทาง 45 กิโลเมตร โดยแบ่งลำน้ำเจ้าพระยาเป็น 3 ช่วงตอน ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระราม 9 โดยช่วงที่ 1 จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าช่วงที่ 2 สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถึงสะพานกรุงเทพ และช่วงที่ 3 สะพานกรุงเทพ ถึงสะพานพระราม 9 ทั้งนี้ เพื่อให้การดูแลทั่วถึงและเข้าถึงพื้นที่เป้าหมายได้ในทันที
นอกจากนี้ กทม.ได้เปิดสวนสาธารณะ 28 แห่งให้ประชาชนเข้าไปลอยกระทง ยกเว้นสวนหลวง ร.9 และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย มิให้มีการค้าหาบเร่แผงลอย รวมทั้งการทิ้งขยะมูลฝอยทั้งภายในและโดยรอบสวนสาธารณะ
สำหรับสถิติการเกิดอุบัติภัยในวันลอยกระทง ปี 2553 รวมทั้งสิ้น 13 ราย ได้แก่ ลื่นล้ม 4 ราย อุบัติเหตุจากพลุ ดอกไม้เพลิง และลูกโป่งสวรรค์ 6 ราย ถูกทำร้ายร่างกาย 1 รายและทั่วไป 2 ราย ในส่วนของการจัดเก็บกระทงปี 2553 รวมกระทงที่จัดเก็บได้ 946,838 ใบ เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 767,533 ใบ คิดเป็นร้อยละ 81.11 และกระทงที่ทำจากโฟม 118,575 ใบ คิดเป็นร้อยละ 12.52 ทั้งนี้ ในปี 2554 กทม.ไม่ได้จัดเก็บสถิติด้านอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลลอยกระทงรวมถึงการจัดเก็บกระทง ไว้ เนื่องจากขณะนั้นประสบปัญหาอุทกภัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น