วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

'ไทย-มะกัน'แชมป์ศก.พังจากภัยพิบัติ สถาบันวิจัยเยอรมันว็อทช์ จัดอันดับไทย-สหรัฐ เป็นดินแดนสูญเสียเศรษฐกิจจากภัยธรรมชาติมากที่สุดในโลกปี 2554 จากเหตุน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อ 29 พ.ย.55




'ไทย-มะกัน'แชมป์ศก.พังจากภัยพิบัติ

สถาบันวิจัยเยอรมันว็อทช์ จัดอันดับไทย-สหรัฐ เป็นดินแดนสูญเสียเศรษฐกิจจากภัยธรรมชาติมากที่สุดในโลกปี 2554 จากเหตุน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์

                    29 พ.ย. 55  สถาบันวิจัยเยอรมันว็อทช์ ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี จัดอันดับให้ไทย และสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่เผชิญกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพราะภัยธรรมชาติสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกประจำปี 2554 โดยคิดรวมเป็นความสูญเสียราว 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท) เนื่องจากดินแดนทั้งสองได้เผชิญกับภัยธรรมชาติทั้งมหาวาตภัย น้ำท่วม ดินถล่ม และไฟป่าในปีที่แล้ว โดยนับเป็นประเทศที่ได้รับความสูญเสียมากที่สุดอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก
                    รองลงมา ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เผชิญกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจเนื่องจากภัยธรรมชาติประมาณ 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.9 แสนล้านบาท) ปากีสถาน 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.74 แสนล้านบาท) และบราซิล 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.41 แสนล้านบาท) โดยจัดอยู่ในอันดับ 3-5 ตามลำดับ
                    เยอรมันว็อทช์ได้จัดทำรายงานดัชนีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่ระบุเนื้อหาดังกล่าวออกนำเสนอในที่ประชุมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกที่จัดขึ้น ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ เมื่อวันอังคาร (27 พ.ย.) ที่ผ่านมา
                    อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเปรียบเทียบขนาดเศรษฐกิจและจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติจะพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในโลกในปีที่ผ่านมา หลังพื้นที่ 65 จาก 77 จังหวัดของไทยต้องเผชิญกับเหตุน้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 900 ราย และอีกกว่า 13.6 ล้านคนได้รับผลกระทบ รวมถึงพื้นที่ทำการเกษตรอีกกว่า 2 หมื่นตารางกิโลเมตรได้รับความเสียหาย รองลงมา คือ ประเทศกัมพูชา ปากีสถาน เอลซัลวาดอร์ ฟิลิปปินส์ บราซิล และสหรัฐ ตามลำดับ
                    นายสเวน ฮาร์เมลลิง หัวหน้าคณะทำงานกำหนดนโยบายด้านภูมิอากาศระหว่างประเทศของเยอรมันว็อทช์ กล่าวว่า การสูญเสียและความเสียหายจากภัยธรรมชาติร้ายแรงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา และรายงานดัชนีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ก็เป็นหลักฐานยืนยันว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริง ขณะที่ผลวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ออกเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ก็แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นปัจจัยเบื้องหลังความเสียหายต่อเศรษฐกิจและการสูญเสียชีวิตครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ
                    เยอรมันว็อทช์ต้องการใช้การประชุมที่กรุงโดฮาเป็นเวทีการเจรจาหารือถึงการสร้างแนวทางร่วมกันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการยกระดับการใช้มาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการพัฒนากลไกระหว่างประเทศในการลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและจำนวนผู้เสียชีวิต
                    นายฮาร์เมลลิง ยังหวังด้วยว่า พิบัติภัยในประเทศไทยจะเป็นบทเรียนที่ดีให้ประเทศต่างๆ หันมาให้ความใส่ใจต่อผลกระทบจากสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศมากยิ่งขึ้น โดยระบุว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังไม่ได้ให้การรับรองพันธกรณีระหว่างประเทศว่าจะจำกัดปริมาณการปล่อยมลภาวะออกสู่สิ่งแวดล้อม
                    ทั้งนี้ ข้อมูลของสถาบันวิจัยดังกล่าว ยังระบุว่า ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีประชากรโลกต้องเสียชีวิตไปแล้วกว่า 5.3 แสนคน จากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วที่เกิดขึ้นเกือบ 1.5 หมื่นครั้งทั่วโลก คิดเป็นความเสียหายไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 76.7 ล้านล้านบาท)
                    ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาหลายต่อหลายแห่ง เช่น พม่า และนิการากัว เคยถูกจัดอยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกมากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2545-2554 แต่ในปี 2554 นี้บังกลาเทศไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสูญเสียจากภัยธรรมชาติมากที่สุด 3 อันดับแรกอีกต่อไป โดยถูกจัดอยู่ในอันดับ 4 เนื่องจากบังกลาเทศมีการพัฒนากระบวนการรับมือกับภัยธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากต่างประเทศ หลังจากเผชิญกับมหาวาตภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2544 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศมากกว่า 1.4 แสนราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหากรัฐบาลรับมือภัยธรรมชาติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกแล้วจะสามารถลดความสูญเสียได้จริง

                    ส่วนสถานการณ์ของไทยยังได้รับผลบกระทบจากพายุฝน กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานสภาพอากาศประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน ว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย และทะเลจีนใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคเหนือมีฝนกระจาย เนื่องจากมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านเข้ามาปกคลุมทางตอนบนของภาคเหนือ อนึ่ง คลื่นกระแสลมตะวันออกได้เคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้แล้ว แต่ยังคงทำให้ภาคใต้มีฝนเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางพื้นที่
                    ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดระนองว่า ได้รับอิทธิพลของคลื่นกระแสลมตะวันออก ส่งผลให้เกิดฝนตกอย่างหนักตั้งแต่ช่วงเวลา 13.00 น.ทั้งยังเกิดฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง นอกจากนี้ทะเลแปรปรวนมีคลื่นสูงและลมกระโชกแรงเป็นบางช่วง ทำให้กลุ่มเรือประมงพื้นบ้านไม่กล้านำเรือออกหาปลา
                    ส่วนจ.สุราษฎร์ธานี สภาพอากาศในช่วงบ่ายมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ หลังจากที่ในช่วงเช้าสภาพอากาศปลอดโปร่ง โดยทางจังหวัดได้ย้ำเตือนพื้นที่เสี่ยงให้เฝ้าระมัดระวังรวมทั้งการเดินเรือในช่วงนี้ด้วย
                    ขณะที่ จ.ชุมพร นายชนากานต์ ทิพย์ประเสริฐสุข หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า คลื่นกระแสลมตะวันออก เคลื่อนเข้ามาปกคลุมอ่าวไทยตั้งแต่วันที่ 24-28 พฤศจิกายน ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้ จึงทำให้ภาคใต้มีฝนหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
                    ล่าสุดได้สรุปความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่จ.ชุมพร มีพื้นที่เกิดอุทกภัย 1 อำเภอ 6 ตำบล 49 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,788 คน 872 ครัวเรือน ได้แก่ อ.ปะทิว ประกอบด้วย ต.ชุมโค ต.ปากคลอง ต.ดอนยาง ต.สะพลี ต.เขาไชยราช ต.ทะเลทรัพย์ มีบ้านพักอาศัยเสียหายบางส่วน 2 หลัง ถนนชำรุด 85 สาย คอสะพาน 2 แห่ง ฝายคันดิน 2 ท่อระบายน้ำขาด 23 แห่ง มูลค่าความเสียหายประมาณ 4,435,000  บาท
                    ด้านกองบังคับการตำรวจจราจร รายงานสภาพการจราจรใน กทม.ช่วงเช้าที่ผ่านมา มีฝนตกลงมาอย่างหนักในกรุงเทพฯ และปริมณฑลต่อเนื่องหลายชั่วโมง ส่งผลให้การจราจรบนถนนสายหลักมุ่งหน้าเข้า กทม.ชั้นใน ทั้งฝั่งเหนือ ใต้ ธนบุรีติดขัดหนาแน่น มีปริมาณรถสะสมจำนวนมาก เพราะน้ำท่วมขังพื้นผิวถนนหลายจุด และเกิดอุบัติเหตุรถชนกันหลายแห่งเนื่องจากถนนลื่น จากการตรวจสอบพบเส้นทางต่างๆ มีปัญหาการจราจรเกือบทั้งหมด กระทั่งเวลา 10.00 น.ภาพรวมการจราจรที่วิกฤติใน กทม.จึงคลี่คลายลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น