วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

พม่าใช้'ระเบิดเพลิง'สลายม็อบต้านเหมืองจีน เมื่อ 29 พ.ย.55




พม่าใช้'ระเบิดเพลิง'สลายม็อบต้านเหมืองจีน

ตำรวจพม่าใช้กำลังและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมกลุ่มพระสงฆ์และประชาชนที่ต่อต้านการทำเหมืองทองแดงในเขตสะกาย

              สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันพฤหัส (29 พ.ย.) ว่าตำรวจพม่าได้ใช้กำลังระดมฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และระเบิดเพลิงเข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้าน พระสงฆ์และนักศึกษาหลายร้อยคนที่ชุมนุมปิดทางเข้าออกเหมืองทองแดง เล็ทปาดอง ใกล้เมืองโมนยะวา ในเขตสะกาย เมื่อช่วงเช้าวันพฤหัสบดี หลังจากผู้ชุมนุมตั้งเต็นท์ปักหลักประท้วงที่เหมืองตั้งแต่ 18 พฤศจิกายน เพื่อขอให้หยุดดำเนินการขยายเหมืองแห่งนี้ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทจีนและบริษัทที่ควบคุมโดยกองทัพพม่าจนกว่าจะมีการเปิดเผยผลการศึกษาเรื่องผลกระทบของเหมืองต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม
              ผู้ประท้วงเล่าว่า เมื่อเวลาประมาณ 02.30 น. เช้าวันพฤหัสบดี ตามเวลาท้องถิ่น ตำรวจได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากเหมืองภายในเวลา 5 นาที แต่หลังจากนั้นตำรวจก็ฉีดน้ำใส่ผู้ประท้วงก่อนจะขว้างระเบิดเพลิงเข้าใส่เกือบ 6 ครั้ง ทำให้ผู้คนวิ่งแตกกระเจิง และทำให้ผู้ประท้วงรายนี้รวมทั้งผู้ประท้วงอีกหลายคนมีบาดแผลจากไฟไหม้ตามร่างกาย
              ขณะที่มีรายงานมีชาวบ้านและพระสงฆ์ราว 30 คนได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังของตำรวจ และมีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งถูกจับกุมตัวด้วย และผู้ประท้วงบางส่วนได้หลบหนีเข้าไปในวัดที่อยู่ใกล้เคียง
              การสลายผู้ประท้วงมีขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่นางอองซาน ซูจี ผู้นำฝ่ายค้านมีกำหนดจะไปเยี่ยมผู้ประท้วงที่เหมืองแห่งนี้
              ทางการตัดสินใจใช้กำลังสลายผู้ประท้วง หลังจากสถานีโทรทัศน์ของทางการประกาศตั้งแต่คืนวันอังคาร (27 พ.ย.) ให้ผู้ประท้วงหยุดบุกรุกเหมืองและถอนตัวออกไปภายในเที่ยงคืนวันอังคาร มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และได้กำหนดเส้นตายอีกรอบเป็น 03.15 น.เช้าวันพฤหัสบดี ขณะที่รัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการอิสระเมื่อวานเพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนเรื่องเหมืองสร้างมลพิษให้แก่ชุมชน
              ทั้งนี้ สาเหตุการประท้วงเกิดจากนักเคลื่อนไหวกล่าวหาว่าทางการเข้ายึดที่ดินจากเกษตรกรรวมกว่า 20,000 ไร่โดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า และบางรายก็ไม่มีการจ่ายเงินชดเชย และเป็นอีกการทดสอบขอบเขตเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นนับจากกระบวนการถ่ายโอนอำนาจจากระบอบเผด็จการสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐบาลพลเรือนชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2553 ก่อนหน้านี้การประท้วงต่อต้านโครงการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในรัฐคะฉิ่นที่เป็นการร่วมทุนกับจีน สามารถทำให้ทางการพม่าตัดสินใจระงับโครงการดังกล่าวเมื่อปีที่แล้ว
 
อีกหนึ่งสัปดาห์ชี้ชะตาพุทธสถานเมืองเมส อาแน็ค
              ขณะเดียวกันเหลือเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้นที่รัฐบาลอัฟกานิสถานกำหนดให้ขนย้ายพุทธสถานเมืองเมส อาแน็ค  (Mes Aynak)อายุกว่า 2,000 ปี ออกจากพื้นที่เนื่องจากได้อนุญาตให้บริษัทจีนเข้ามาทำเหมืองแร่ทองแดง แม้นว่าล่าสุดจะมีกระแสออมาว่าจะกันพื้นที่พุทธสถานไว้ก็ตาม  ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจยังคงดำเนินการรวบรวมรายชื่อคัดค้านยื่นต่อรัฐบาลอัฟกานิสถานและสหประชาชาติ
              "ขั้นต้นนางสาวนาเดีย ทาร์ซี  ได้ตั้งเป้าการลงชื่อคัดค้านทั้ง 2 เว็บไซต์ที่ 100,000 รายชื่อ แต่จำนวนการลงชื่อคัดค้านเพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว จึงได้ขยายเป็น 200,000 รายชื่อภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2555       โดยเว็บไซต์แรกสามารถลงชื่อคัดค้านได้ที่ http://chn.ge/TstjEm เพื่อเสนอต่อองค์การยูเนสโก ให้คุ้มครองโบราณสถาน “เมส อาแน็ค” ส่วนเว็บไซต์ที่ 2 สามารถลงชื่อคัดค้านได้ที่ http://chn.ge/Pux8Nr เพื่อเสนอต่อประธานาธิบดีของประเทศอัฟกานิสถาน ให้ชะลอแผนการทำเหมืองทองแดง" นายแพทย์พรชัย พิญญพงษ์ ประธานองค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น