วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มองภาพรวมซักฟอก รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ใครเข้าตาประชาชน วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 16:57:26 น



มองภาพรวมซักฟอก รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ใครเข้าตาประชาชน

วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 16:57:26 น  ที่มา:มติชนรายวัน 29 พ.ย.2555) 



หมายเหตุ - มุมมองและความคิดเห็นของนักวิชาการต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน

นายปกรณ์ ปรียากร 
อดีตคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


โดยภาพรวมมองว่าเป็นการทำหน้าที่ที่ดีของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายค้านมีลักษณะการทำงานที่เป็นระบบ ที่สำคัญมีข้อมูลบางด้านของรัฐบาลแม้ว่าอาจจะไม่ชัดเจนว่ามีการทุจริตหรือไม่ แต่ต้องรับไปพิจารณาแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการประมูลในลักษณะวิธีพิเศษของอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่ดูแลกรมเจ้าท่า ในลักษณะนี้ค่อนข้างจะไม่มีความชัดเจนและรัฐมนตรีตอบไม่ชัดเจน ยังไม่ดีพอ ประเด็นนี้หากรัฐบาลไม่ปรับปรุงแก้ไขคิดว่าจะเกิดเป็นแรงเหวี่ยงกลับไปสู่ความไม่พอใจของคนภายนอกเพิ่มมากขึ้น

ส่วนเรื่องอื่นๆ อย่างนายกรัฐมนตรีไม่น่าจะเดินออกไปนอกห้อง น่าจะนั่งอยู่ในสภาตลอดเวลา ที่สำคัญคือการตอบไม่พยายามที่จะตอบเอง แม้จะทราบดีว่าตัวเองมีข้อจำกัดอะไร ควรจะนั่งอยู่ในสภาตลอด เพื่อให้รู้ว่าเป็นเรื่องที่สนใจ

ส่วนประเด็นที่ถกเถียงกันคือเรื่องที่พรรคฝ่ายรัฐบาลจะไปขอถอดถอนฝ่ายค้านเนื่องจากอภิปรายนอกประเด็นถือว่าผิดรัฐธรรมนูญนั้น อาจเป็นเรื่องที่มองว่าไม่ควรทำ เพราะอาจสะท้อนได้ว่าเป็นการไม่รับฟังเรื่องของการตรวจสอบ

การที่ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้คะแนนต่ำกว่ารัฐมนตรีท่านอื่น แสดงให้เห็นชัดว่าการทำงานยังมีข้อบกพร่อง คือรัฐบาลคงต้องทำอะไรบางอย่าง เพราะอย่างการประมูลด้วยวิธีพิเศษมันไม่มีความชัดเจนโปร่งใส ที่อ้างว่าดีกว่าการประมูลด้วยวิธีอื่นอันนี้เป็นเรื่องที่ผิด น่าจะนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งบริษัทที่เข้ามาประมูลเชื่อมโยงเข้าไปสู่คนในแวดวงเดียวกัน

เรื่องการจำนำข้าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ฝ่ายค้านไม่ได้เน้นหนักเรื่องการจำนำแต่เน้นหนักในเรื่องการขาย ที่ถูกมองว่าเป็นการผูกขาดโดยคนจำนวนหนึ่ง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น เป็นการให้ประชาชนได้รับรู้ว่าในกระบวนการประชาธิปไตยดีกว่าการไปประท้วงนอกสภา เพราะการพูดกันในสภามีโอกาสที่เราจะหักล้างกันด้วยข้อมูล ได้เห็นบทบาทของฝ่ายค้านในการทำหน้าที่ผดุงประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่เสียงข้างมากลากไป เสียงคัดค้านเพียงหนึ่งเสียงแต่มีความถูกต้องต้องรับฟังคือ คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการเมืองด้านนอกสภา

ส่วนท่าทีการอธิบายของนายกรัฐมนตรีนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นไปตามระบบและขั้นตอนในการชี้แจง ซึ่งสามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่าที่คิด แม้จะเข้าใจว่าไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง

ด้านการทำหน้าที่ของผู้นำฝ่ายค้านนั้น มองว่าทำหน้าที่ได้ดีอยู่เสมอ และในขณะเดียวกันสามารถที่จะจัดระบบการนำเสนอข้อมูลการเชื่อมโยงการอภิปรายของแต่ละคนเข้ามาด้วยกันอย่างเป็นระบบมากขึ้น


วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ 
นักวิชาการอิสระ

ประเด็นแรกต้องขอชมประธานในที่ประชุม โดยภาพรวมแล้วประธานวินิจฉัยไปในทางที่ห้ามผู้อภิปรายฝ่ายรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน ภาพรวมทำให้เห็นว่ารัฐบาลยังรักษาภาพได้ดีว่าประธานในที่ประชุมไม่ได้เอนเอียง ถือว่าควบคุมการประชุมได้ดี ประธานในที่ประชุมควบคุมการประชุมได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็มีผิดพลาดไปบ้าง เช่น นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา เผลอใช้คำว่า "นักโทษชาย" แต่โดยภาพรวมประธานทั้ง 3 ท่านทำหน้าที่ได้ดี

มองว่าฝ่ายรัฐบาลต้องมีการปรับปรุงวิธีการจะประท้วงบ้าง ถ้ารู้ว่ายังไงก็ชนะด้วยเสียงอยู่แล้ว น่าจะมีน้ำใจในการอภิปราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนสุดท้ายที่ผู้แทนฝ่ายค้านกล่าวปิด มีการพูดเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีการประท้วงยืดเยื้อ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าเรื่องที่พูด พูดมานานแล้ว

มองว่ายิ่งประท้วงทำให้สังคมรู้สึกว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นปัญหาเหลือเกิน แทนที่จะอยู่นิ่งๆ แล้วให้ฝ่ายค้านพูดเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณไป วิธีชี้แจงที่ง่ายที่สุด คือ พ.ต.ท.ทักษิณไม่เกี่ยวกับรัฐบาลชุดนี้ แต่การที่ทำท่าทีร้อนรนอาจถูกมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณสั่งมาให้ประท้วงหรือเปล่า คิดว่าพรรคเพื่อไทยต้องทำให้ดีกว่านี้

ประเด็นที่สอง คือ คิดว่านายกรัฐมนตรีน่าจะตอบคำถามได้มากกว่านี้ แต่ไม่ได้หมายความว่านายกรัฐมนตรีตอบน้อยเกินไปหรือตอบได้ไม่ดี ไม่ได้หมายความว่านายกฯจะมอบหมายให้ผู้อื่นตอบแทนไม่ได้ สิ่งที่ทำนั้นทำได้ตามกติกา ไม่มีปัญหา แต่ประเด็น คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจคือเวทีละครทางการเมือง ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่กระบวนการตรวจสอบอย่างเดียว แต่อีกหน้าที่หนึ่งคือเป็นเวทีละครทางการเมือง (political theater) ซึ่งหมายความว่าเป็นโอกาสที่จะแสดงบทบาทของคุณให้ประชาชนประทับใจมากที่สุด

ในวันที่ 2 ที่นายกฯลุกขึ้นชี้แจงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีชาร์ตมีป้าย มีการชี้ข้อมูลสลับกับการพูด ประชาชนประทับใจ ถ้าเกิดทำอย่างนี้มากขึ้น ในวันสุดท้ายตอบเรื่องทุจริตตอบเรื่องยาง เรื่องข้าว ถ้าชี้แจงเพิ่มมากขึ้น คิดว่าจะโกยคะแนนจากประชาชนได้อีกมาก ถ้าฝ่ายค้านเจอวิธีการชี้แจงเช่นนี้บ่อยๆ จากนายกฯ ฝ่ายค้านชอร์ตแน่ เพราะคำปรามาสจะถูกลบล้างจากความสามารถของนายกฯ ทั้งๆ ที่ความจริง ความสามารถในการตอบของนายกฯอาจไม่ตรงกับคำถามก็ได้ สาระอาจไม่ครบถ้วนก็ได้ แต่ไม่ใช่ประเด็น เพราะประชาชนเวลาดูการอภิปรายเขาดูละคร ไม่ได้ฟังการบรรยายวิชาการ นั่นคือสิ่งที่นักการเมืองไทยต้องทำความเข้าใจว่า ไม่ว่าคุณจะพูดถึงตัวเลขมากมาย สุดท้ายก็ต้องไปยื่น ป.ป.ช.พิจารณาต่อ

ถึงจะอภิปรายแบบวิชาการข้อมูลรายละเอียดมากมาย แต่ประชาชนที่นั่งดูที่บ้านไม่ได้ดูตรงนั้น เขาดูที่ลักษณะท่าทาง สีหน้า ความมั่นใจ คิดว่านายกฯทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ไม่เอาศักยภาพออกมาใช้ให้เต็มที่

ส่วนนายอภิสิทธิ์ คิดว่าโดยภาพรวมนั้นพูดได้ดี เนื้อหายังแน่นเหมือนเดิม และคิดว่ามีเหตุผลที่บอกว่าไม่ต้องการจี้ให้นายกฯตอบในรายละเอียดของรัฐมนตรีแต่ละคน แต่ต้องการจะถามถึงนโยบายในภาพรวม นายอภิสิทธิ์พูดชัดเจนว่าไม่ได้ขอให้นายกฯรู้ทุกอย่าง แต่ขอให้อธิบายหลักเกณฑ์ในภาพรวมได้ ซึ่งขอชมว่ามาถูกทาง ตอนนี้สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้สองต่อก็คือ หนึ่งได้ต่อว่านายกรัฐมนตรีว่าตอบได้ไม่พอ ต่อที่สองคือแม้จะขออภิปรายนายกรัฐมนตรี แต่สุดท้ายก็ได้มีโอกาสอภิปรายรัฐมนตรีรายกระทรวง

ประเด็นที่สาม คือ ทั้งหมดทั้งปวงยังไม่จบเพราะเรื่องทุจริตข้าว ทุจริตเรือ ต้องไปพิสูจน์กันต่อที่ ป.ป.ช. ว่าทุจริตหรือเปล่า แล้วเรื่องการแต่งตั้งนายพล มีคดีค้างอยู่ในศาลปกครอง การอภิปรายไม่ไว้วางใจแม้จะได้ลงมติว่าไว้วางใจและได้ดำรงตำแหน่งต่อ แต่กระบวนการตรวจสอบในเรื่องเดียวกันยังมีช่องทางอื่น ยังไม่จบเพียงแค่กระบวนการนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น