ยึดอำนาจศาลรธน. ตุลาการรู้ทันรับคำร้องสมชายมติ3:2ตีความลักไก่ล้มทั้งฉบับ
มติศาลรัฐธรรมนูญ 3 ต่อ 2 รับคำร้อง "สมชาย" ไว้พิจารณา แต่ไม่คุ้มครองชั่วคราว จับตาประเด็นห้ามศาลจุ้นรับคำร้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญในหมวดอื่นนอกจากหมวด 3 เท่านั้น "จาตุรนต์" เปิดลายแทงนี่คือวิธียึดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ พลิก "วสันต์" เป็นเสียงข้างน้อย ประชาธิปัตย์ขู่ ส.ว., ส.ว.ที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญจะมีผล ผูกพันถึงขั้นถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง
การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ ในวันที่สามเมื่อวันพุธ อยู่ในบรรยากาศการเฝ้ารอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายสมชาย แสวงการ ส.ส.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 68 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ช่วงเช้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า หวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการชี้ทางออกให้กับประเทศด้วย เพราะว่าวันนี้เรื่องข้อกฎหมายต่างๆ จะเห็นว่าหลายประเทศมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎหมาย การทำงานไปก็ต้องมีการปรับปรุง และเชื่อว่าการทำให้กฎหมายนั้นเป็นประชาธิปไตย มีความยุติธรรม และเป็นไปตามหลักนิติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะสร้างความเชื่อมั่น
"แนวทางออกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็หวังว่าจะมีทางออก เพราะว่าการแก้ไขโดยแนวทางที่จะมี ส.ส.ร.ก็ไปไม่ได้ ก็มาแก้รายมาตราแล้ว ก็หวังว่าทางออกจะมีให้กับประเทศ อันนี้ก็หวังไว้อย่างนั้น ขณะที่เราจะเตรียมตัวสู่ประชาคมอาเซียน ในหลายประเทศกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายทั้งนั้น และมีทางออกได้ แต่วันนี้ประเทศไทยเชื่อว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ" นายกฯ กล่าว
ขณะที่แกนนำเสื้อแดง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กข่มขู่ว่า ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและสั่งคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้เดินต่อ ตนในฐานะ ส.ส.ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จะใช้เอกสิทธิ์เสนอโหวตวาระ 3 ที่ค้างไว้อยู่ทันที เพราะสภานี้เป็นของประชาชน อำนาจหน้าที่ในการสถาปนากฎหมายไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาแทรกแซงตามอำเภอใจ
ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายสัมฤทธิ์ ชัยวงศ์ รองโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวภายหลังการประชุมตุลาการว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง รับวินิจฉัยคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภากับพวก ซึ่งเป็น ส.ว.และ ส.ส.รวม 312 คน กระทำการที่ส่อไปในทางกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญด้วยการตัดสิทธิ์ของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่า 1.คำร้องนี้เป็นกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าผู้ที่ถูกร้องที่ 2 ถึง 312 คน ซึ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ.... ต่อประธานรัฐสภา เพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แล้วเสนอเนื้อความใหม่ที่เป็นการยกเลิกสิทธิของประชาชน ในการที่จะใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงออกไป คงเหลือแต่เพียงให้บุคคลผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงประการเดียว และให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในลักษณะอื่นนอกเหนือจากการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันเป็นการลิดรอนสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของประชาชน มีมูลกรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบมาตรา 68 วรรคสอง กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 50 ข้อ 17 (2) ศาลรัฐธรรมนูญจึงให้รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
ไม่คุ้มครองชั่วคราว
2.ส่วนคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินนั้น ยังไม่ปรากฏมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉินหรือเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะต้องใช้วิธีการชั่วคราวดังกล่าว จึงให้ยกคำขอ และ 3.ให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งต่อศาล จำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้องและให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งหากไม่ยื่นภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจ
นายสัมฤทธิ์แจงว่า ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้ และการที่ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ก็เพราะคำร้องต้องด้วยหลักเกณฑ์
เมื่อถามว่า การไม่มีคำสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณา แต่ต่อมาศาลวินิจฉัยว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นล้มล้างการปกครอง จะมีผลอย่างไร เขาตอบว่า ไม่อยากให้มีการคาดการณ์เหตุการณ์ไปล่วงหน้า เพราะยังไม่มีการวินิจฉัย เรื่องจริงยังไม่เกิด ถ้าคาดการณ์กันไปก่อนก็จะเป็นการชี้นำได้ ส่วนเสียงวิจารณ์ในกรณีดังกล่าว ศาลไม่จำเป็นต้องชี้แจงอีก เพราะทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของศาลอยู่แล้ว
ตุลาการที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้มีเพียง 5 จาก 9 คน ประกอบด้วย นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์, นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี, นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ส่วนอีก 4 คนประกอบด้วย นายเฉลิมพล เอกอุรุ, นายบุญส่ง กุลบุปผา, นายชัช ชลวร และนายนุรักษ์ มาประณีต ไม่สามารถมาเข้าร่วมประชุมได้ เนื่องจากติดภารกิจไปต่างประเทศ ซึ่งได้แจ้งไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเข้าประชุม 5 คน ซึ่งถือว่าครบองค์ประชุมแล้ว จึงทำให้สามารถจัดประชุมได้
มีรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 3 คนที่เห็นว่าควรให้รับคำร้องคือนายจรัญ ภักดีธนากุล, นายจรูญ อินทจาร, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ โดยนายจรัญกับนายสุพจน์เป็นอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ด้วย
ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 2 เสียงที่เห็นว่าไม่ควรรับคำร้องคือ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่ากรณีตามคำร้องนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีในวาระ 2 และ 3 ได้อีก จึงเป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้า ไม่เข้าเงื่อนไขมาตรา 68 วรรคสอง ส่วนนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติตามมาตรา 291 จึงยังไม่มีกรณีที่จะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรคหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายสัมฤทธิ์จะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนประมาณ 10 นาที ปรากฏว่าในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งมีการอภิปรายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่นั้น นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ได้มีการแจ้งต่อที่ประชุมว่า มีรายงานว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องของนายสมชาย จากนั้นสำนักข่าวต่างๆ ก็ได้มีการรายงานข่าวผ่านทาง เอสเอ็มเอส ทวิตเตอร์ และโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ สร้างความสับสนให้กับสื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจและติดตามการแถลงข่าวของศาลรัฐธรรมนูญเป็นอย่างมาก ต่อมาศาลจึงได้มีการแถลงข่าว
ประเด็นที่น่าสนใจคือ การรับคำร้องของศาลในครั้งนี้ ที่ระบุว่า สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น จะเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา เพราะอาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยการล้มล้างการปกครองที่มีผู้ร้องตามที่ได้พบเห็นการกระทำในหมวดอื่นๆ ได้
ยึดอำนาจศาล รธน.
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า "จะแก้ปัญหาการที่ศาลรัฐธรรมนูญก้าวก่ายการทำหน้าที่ของรัฐสภา จึงต้องแก้มาตรานี้เสียให้ชัดเจน และที่มีการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ ก็อยู่ที่การเติมคำว่า "ในหมวด 3" ซึ่งหมายความว่าเรื่องที่จะถูกนำไปร้องต่ออัยการได้คือการใช้เสรีภาพตามหมวด 3 ซึ่งหมายถึงการใช้เสรีภาพด้านต่างๆ แต่ไม่รวมการทำหน้าที่ขององค์กรที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่น ศาล หรือรัฐสภา เป็นต้น
ที่ผมอธิบายนี้ แตกต่างจากการอธิบายของ ส.ส.ปชป. ก็คือ ส.ส.ปชป.บอกว่าถ้ามีใครล้มล้างการปกครองด้วยหมวดอื่นไปร้องไม่ได้ แต่ความเข้าใจของผมคือการแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาจะถือเป็นการใช้เสรีภาพล้มล้างการปกครองไม่ได้ การแก้รัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญย่อมเป็นอำนาจของรัฐสภาที่มาจากประชาชน ไม่ใช่อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะฉะนั้นในเวลาที่เหลืออยู่ของการพิจารณาในรัฐสภาวันนี้ ผมคิดว่าควรจะพูดกันให้ชัดเจนไปเสียเลยว่าที่แก้มาตรา 68 ก็เพื่อลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ป้องกันไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมาก้าวก่าย แทรกแซงหรือขัดขวางการบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภาที่มาจากประชาชน
ถ้าจะให้ยกตัวอย่างว่า ถ้าแก้มาตรา 68 ตามที่มีการเสนอแล้วจะมีผลอย่างไร ก็ขอให้นึกถึงกรณีที่ ส.ว.กลุ่มหนึ่งไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งระงับการแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐสภากำลังทำกันอยู่นี้ หากมีการแก้มาตรา 68 ตามที่เสนอแล้ว การไปร้องลักษณะนี้จะทำไม่ได้ ถ้ายังไปร้องศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจรับพิจารณาเพราะได้มีการแก้ไขให้ชัดเจนแล้วว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ"
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเตือนไปยัง ส.ว.และ ส.ส.ที่กำลังยกมือสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวว่า ควรจะใช้วิจารณญาณให้รอบคอบ เพราะการลงมติดังกล่าว จะมีผลผูกพันถึงขั้นถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง
เขาบอกว่า ขณะนี้ทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์กำลังรวบรวมข้อมูลและถอดเทปคำอภิปราย รวมถึงคำให้สัมภาษณ์ของ ส.ส.และแกนนำรัฐบาล เช่น นายจาตุรนต์ ที่ระบุว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ผ่านสภาแล้ว ก็จะเดินหน้าโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระ 3 ได้ทันที ซึ่งเป็นการส่อว่าล้มล้างการปกครอง
ขณะที่นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย แถลงว่า ถ้าเป็น ส.ส.แล้วแก้กฎหมายไม่ได้ ก็ไม่ควรอยู่ และไม่ควรมีรัฐสภา จึงอยากถามศาลรัฐธรรมนูญว่า การที่รับพิจารณาเรื่องนี้เป็นการเร่งรีบ ผิดปกติหรือไม่ เพราะมีคณะตุลาการประชุมเพียง 5 คน ทั้งที่อีก 4 คนอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรรีบเร่ง เพราะอย่างไรศาลก็ได้ตั้งธงไว้แล้ว ต่อให้พิจารณาช้ากว่านี้ก็ไม่เป็นไร
ส.ส.ผู้นี้บอกว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาแล้วยืนยันว่าจะยังคงโหวตมาตรา 68 ต่อไป ไม่ว่าจะโดนยุบพรรคหรือตัดสิทธิ์ทางการเมือง หรือถูกดำเนินคดีอาญาและเชื่อว่า ส.ว.เลือกตั้งก็จะร่วมโหวตด้วย เพราะเดินมาถึงขั้นนี้แล้ว หากจะโดนตัดสิทธิ์หรือยุบพรรค ประชาชนก็จะรับรู้เอง และจะดำเนินการแจ้งความเอาผิดคดีอาญามาตรา 157 ในวัน 4 เม.ย. ต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 5 คน เนื่องจากทำผิดกฎหมาย เพราะไปรับคำร้องของกลุ่ม 40 ส.ว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น