วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

หลายๆ ความคิดเห็น เมื่อ 26 เม.ย.56




หลายๆ ความคิดเห็น

การแก้ไขความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล ดูแล้วยังไม่สะเด็ดน้ำ เมื่อทั้งผู้นำอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล กับผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในฐานะที่ได้รับมอบหมายงาน ยังสะเปะสะปะจับต้นชนปลายไม่ถูก เพราะแค่การลงพื้นที่ยังตอบโจทย์ไม่ได้ว่าเหตุการณ์ภาคใต้จะดีขึ้น รวมไปถึงเมื่อฝ่ายความมั่นคงไปตั้งโต๊ะเจรจากับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ว่ากันว่ามีอิทธิพลอยู่ในพื้นที่ และเป็นผู้บงการก่อเหตุร้ายขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมานั้น
ทั้งนี้เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตั้งแต่มีข่าวการตั้งโต๊ะเพื่อพูดจากันระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย 2 ครั้งที่ผ่านมา แทบจะไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะไม่มีข้อตกลงใดๆ เกิดขึ้น แต่ทว่ากลับมีการประโคมข่าวใหญ่โต ตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ในพื้นที่ที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นด้วยซ้ำไป เพราะปรากฏข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทหาร ตำรวจ อส. ต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บ ถือเป็นความสูญเสียที่ประมาณค่ามิได้ของฝ่ายไทยที่ตั้งรับอยู่สถานเดียว
มิหนำซ้ำกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังประกาศชัดเจนว่า ไม่ยอมรับการพูดจาระหว่างฝ่ายความมั่นคงฯ ของไทย กับกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย โดยการเขียนประกาศมีข้อความชัดเจน พร้อมข่มขู่โดยการแขวนระเบิดปลอม เป็นการเย้ยหยันเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยิ่งทำให้ผู้คนในพื้นที่เกิดความกังขาสงสัยว่า บรรดาแกนนำบีอาร์เอ็นที่ฝ่ายความมั่นคงไปตั้งโต๊ะพูดจา แถมมีการให้สัมภาษณ์ออกสื่อทุกวี่ทุกวันนั้น เป็นของจริงหรือของปลอมกันแน่ ในเมื่อเหตุร้ายยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำสม่ำเสมอ
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีเสียงแนะนำมาว่า การพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างคณะผู้แทนรัฐบาลไทย นำโดย พล.ท.ภราดร กับคณะผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำประเทศมาเลเซีย และเห็นว่าการเจรจาในรอบที่ 3 วันที่ 29 เม.ย.นี้ แนวทางการหารือควรเป็นไปในทางลับหรือเงียบๆ มากขึ้น รวมถึง พล.ท.ภราดร ควรปรับท่าทีให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว ซึ่งหมายความว่า งดการสร้างภาพออกข่าวกันจนเอิกเกริก ทั้งๆ ที่ความสงบยังไม่เกิด
ดังนั้น ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้วันนี้ เจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหาร ตำรวจ ในพื้นที่ จะผ่อนคลายความเข้มงวดไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะข่าวการพูดจาได้สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ ซึ่งไม่มีใครรู้แท้ว่ากลุ่มใดบ้าง ประการสำคัญ การตั้งรับของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเดียวเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการเสียเปรียบฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงควรปฏิบัติการเชิงรุก ที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยออกข่าวจนเอิกเกริก เชื่อแน่ว่าจะทำให้การปฏิบัติการของผู้ก่อความไม่สงบลดน้อยลงแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น