วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

"ความรู้"ที่ขวางกั้น"ความจริง" ดูเหตุที่เกิดก่อนไป"ศาลโลก" บทบรรณาธิการ 20 April 2556 -


"ความรู้"ที่ขวางกั้น"ความจริง" ดูเหตุที่เกิดก่อนไป"ศาลโลก"



ปมปัญหาข้อพิพาทเขาพระวิหารที่เกิดขึ้น ถ้าใครไม่ได้ติดตาม หรือสนใจในรายละเอียดมาระดับหนึ่ง มาฟังการแถลงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์  อาจจะเกิดอาการเบื่อหน่ายกับการติดตามการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ที่รัฐบาลได้จัดให้ประชาชนได้ติดตามเพื่อลดกระแสการต่อต้านของกลุ่มประท้วงรัฐบาลที่ไม่ยอมถอนตัวออกจากคู่ความทางคดี เพราะการชี้แจงนั้น เป็นเรื่องเทคนิค ข้อกฎหมาย รายละเอียดยิบย่อย ข้อมูลตัวเลขมากมาย 
    วันแรกเป็นการเปิดการร้องต่อศาลโลกให้ตีความคำพิพากษาของฝ่ายกัมพูชา บรรยากาศต่างจากรอบแรกที่มีการเปิดศาลไปปีที่แล้ว เพราะท่าทีของฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งแข็งกร้าวต่อเหล่าบรรดาทีมทนายของไทยในครั้งนั้น กับท่าทีเป็นมิตรจับไม้จับมือกับนักการเมืองไทยที่นำโดยนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย หรืออีกนัยคือ ลูกน้องพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมก่อนขึ้นชก แต่เมื่อขึ้นสังเวียน นักการทูตอย่างฮอร์ นัมฮง ก็ประณามประเทศไทยด้วยข้อมูลเท็จ และใช้ถ้อยคำที่ไม่ไว้หน้า
    ในเนื้อหาวันแรกของการชี้แจง มีข้อมูลพาดพิงเรื่องการเมืองไทย ที่ส่งผลต่อประเด็นที่เกิดเป็นข้อพิพาท และกลับไปอ้างการปฏิบัติของรัฐบาลทักษิณในเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก อันถือเป็นจุดอ่อนที่กัมพูชาเห็นถึงความแตกแยกในการเมืองไทย แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะโจทย์ในการร้องของกัมพูชาในการให้ตีความคำพิพากษาปี 2505 ใหม่ และการยื่นคัดค้านของไทยว่าศาลโลกไม่มีอำนาจในการตีความเรื่องเขตแดนนั้น คือเป้าหมายหลัก ส่วนข้อมูลและหลักฐานที่จะสนับสนุนสิ่งที่แต่ละฝ่ายตั้งไว้คือ น้ำหนักที่จะนำไปสู่การพิพากษาในปลายปีนี้ แต่ทนายฝ่ายไทยได้แจงข้อกล่าวหาได้ทุกประเด็น
    นั่นเป็นเรื่องที่อยู่ในกระบวนการ ซึ่งรัฐบาลไทยได้เดินหน้าในการต่อสู้ในเวทีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว  แม้จะถูกวิจารณ์ว่าการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ได้มาจากใจ เพราะเชื่อว่าไทยเสียเปรียบตั้งแต่ต้น แต่ถ้าไม่เดินหน้ารัฐบาลจะได้รับแรงสั่นสะเทือนจากกลุ่มคนไทยที่เฝ้ามองเรื่องนี้อย่างเข้มข้น  อีกทั้งฝ่ายรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าการปลุกประเด็นเรื่องข้อพิพาทที่เกิดขึ้นมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการตั้งคำถาม เพราะความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคการเมืองด้วยกันเอง แต่ไม่ได้ตั้งคำถามถึงเป้าประสงค์ของกัมพูชาที่ต้องการกินรวบทั้งหมด เพราะเชื่อว่าตัวเองได้เปรียบทุกประตู
    แม้จะมีบางฝ่ายใช้ประเด็นเรื่องข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร ระหว่างไทย-กัมพูชา โดยจุดเรื่องชาตินิยมมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อโค่นล้มรัฐบาล หรือพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ก็ตาม แต่ในฐานะที่เราติดตามข้อมูลเกมการเมืองระหว่างประเทศ การปฏิบัติการตามแนวชายแดนเพื่อผลักดันเรื่องดังกล่าวไปสู่เวทีนานาชาติแล้ว ก็มีคำถามต่อรัฐบาลกัมพูชา ภายใต้การนำของสมเด็จฮุน เซน ว่า มีวาระซ่อนเร้นในเรื่องเขตแดนและผลประโยชน์อื่นหรือไม่ 
    ถ้านักการเมือง หรือนักวิชาการห้องแอร์บางคน ยังมีมายาคติเดิมๆ ที่คิดว่าฝ่ายที่ตัวเองรังเกียจเดียดฉันท์เพราะเป็นพวกสลิ่ม คลั่งเจ้า ชาตินิยม จ้องจะเล่นเกมล้มรัฐบาลที่ตัวเองเชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด อธิบายความด้วยมิติประวัติศาสตร์ อาณาจักร ชาติพันธุ์ โดยละเลยต่อการมองโลกแห่งความเป็นจริง ที่แต่ละประเทศย่อมต้องยึดผลประโยชน์แห่งชาติ และใช้เกมสองหน้าในการต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ เราก็จะกลายเป็นรัฐสมัยใหม่ที่อ่อนด้อย และ ตกหลุมอุดมคติจอมปลอม เพราะคนเหล่านั้นยังมีชุดความคิดเดิม  
    แต่นั่นไม่ได้หมายถึงว่าเราจะนิยมสงคราม จะเอาสิ่งที่เรียกว่าก้อนกรวด ก้อนดิน ก้อนหิน มาเป็นเจ้าของ ด้วยชุดความคิดแบบทหารที่ต้องรักษาอธิปไตยของชาติ หรือแผ่นดินตารางนิ้วก็เสียไปไม่ได้ แต่เรากำลังอยู่ในสังคมโลก ที่ทุกประเทศย่อมรักษาผลประโยชน์ของชาติตัวเอง ในระดับที่สมดุล ผ่านการพูดคุยและตกลงกันได้ในระดับกลไกต่างๆ    อย่างเปิดเผยโดยคนในชาติมีสิทธิ์ที่แสดงความคิดเห็นได้อย่างหลากหลาย ไม่ใช่การปล่อยให้กัมพูชาสร้างเรื่องเพื่อนำปัญหาไปสู่เวทีสากล เพื่อเอาทุกอย่างไว้ทั้งหมด
    จริงอยู่ว่าในบริเวณชายแดน เส้นเขตแดนไม่ได้หมายถึงความกินดีอยู่ดีของประชาชนตามแนวชายแดน ที่มีทั้งคนไทย คนเขมร และคนไทยผสมกัมพูชากันอยู่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การคบหา ผูกมิตร ในฐานะเพื่อนบ้าน ที่เราเคยให้ความจริงใจ อะลุ้มอล่วย ไม่ใช้ความรุนแรงในการไล่ชุมชนที่เข้ามาล้ำพื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการปักปันเขตแดนนั้น จะเป็นหนทางที่ถูกต้อง เพราะในวันนี้แสดงให้เห็นว่า ปัญหาที่หมักหมม เพราะความที่เรานึกถึงแต่เรื่องความสัมพันธ์ ส่งผลเกิดความอ่อนด้อยของกลไกรัฐที่ขาดประสิทธิภาพ
    เราจึงคิดว่า ประเด็นข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาที่เราเคยเข้าไปยุ่งเกี่ยว ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาให้เขา ก็ยึดเรื่องผลประโยชน์ของชาติตนเป็นที่ตั้ง โดยใช้วิธีสร้างเกม ฉกฉวยโอกาส โดยมีเหล่าบรรดามหาอำนาจหนุนหลังให้กระทำเช่นนี้ ถ้าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการแย่งก้อนกรวด ก้อนดิน ทะเลาะกันเรื่องไม่เป็นเรื่องอย่างที่ว่าจริง ก็เชิญนักวิชาการหอคอย และนักการเมืองที่เคยไปอาศัยใบบุญเขมร  ลงไปในพื้นที่ เพื่อดูว่า ความจริงที่มากไปกว่าความรู้มีอยู่เต็มไปหมด.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น