วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

ปชป.รุกคืบเกมป่วนปลด ”ขุนค้อน” วิปรัฐฯไฟเขียวโหวตอิสระวอนปชป. เคารพกฎกติกาโปรดเกล้าฯปิดสภาฯ 20 เม.ย.56 นี้




ปชป.รุกคืบเกมป่วนปลด ”ขุนค้อน”

วิปรัฐฯไฟเขียวโหวตอิสระวอนปชป.

เคารพกฎกติกาโปรดเกล้าฯปิดสภาฯ20นี้

“ขุนค้อน” นัด 2 สภาโหวตใหม่ 18 เม.ย. ยุติปมร้อนองค์ประชุมไม่ครบแก้ รธน. หวั่นเดินหน้าเสี่ยงถูกสอยตกเก้าอี้ ขณะที่ “วิปรัฐฯ” อ้างวิป 3 ฝ่ายเห็นชอบแล้ว ดักคอฝ่ายค้านห้ามเล่นเกมปมอื่นต่อ ด้าน “ฝ่ายค้าน” เย้ย “ขุนค้อน” กลัวถูกถอดถอน ยอมถอยนัดโหวตวันแปรญัตติแก้ รธน.ใหม่ จี้ต้องรับผิดชอบ อย่าโยนบาปคนอื่น โปรดเกล้าฯ ปิดสมัยประชุมแล้ว 20 เม.ย.
โปรดเกล้าฯ ปิดสมัยประชุมฯ
วันที่ 10 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ไว้ ณ วันที่ 9 เม.ย.2556 ให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริว่า ตามที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ในวันที่ 21 ธ.ค.2555 บัดนี้จะสิ้นกำหนดสมัยประชุมในวันที่ 19 เม.ย.2556 สมควรจะปิดประชุมได้แล้ว อาศัยอำนาจตามความรัฐธรรมนูญมาตรา 127 ,128 และมาตรา 187 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญนิติบัญญัติ ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.2556 โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
“ขุนค้อน” นัดประชุมร่วม 18 เม.ย.
ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า เตรียมเรียกประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 18 เม.ย.นี้ เวลา09.30 น. เพื่อแก้ปัญหาข้อท้วงติงของฝ่ายค้านที่เสนอให้เพิ่มจำนวนวันแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมจาก 15 วัน เป็น 60 วัน ที่เกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบก่อนลงมติ ซึ่งคาดว่าการประชุมร่วมรัฐสภาจะใช้เวลาเพียงสั้นๆ จากนั้นจะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามที่ได้ออกระเบียบวาระการประชุมไปแล้ว ยืนยันว่าการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 3 คณะ ถูกต้องตามกฎหมายและขั้นตอนทั้งหมดครบถ้วนแล้ว เพียงแต่ยังไม่จบกระบวนการและมีข้อถกเถียงเกิดขึ้น ดังนั้นจึงจะเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติให้กระบวนการเสร็จสิ้น ขอให้สมาชิกลดทิฐิและอย่าเอาชนะคะคานซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม การแปรญัตติ 15 วัน เป็นไปตามข้อบังคับการประชุม นอกจากมีสมาชิกรัฐสภาเห็นเป็นอื่นจึงให้มีการลงมติอีกครั้ง แต่เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ ตนจึงสั่งปิดประชุม ดังนั้นจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น เนื่องจากญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอยังคงค้างอยู่ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา
“วิปรัฐฯ” อ้างวิป 3 ฝ่ายเห็นชอบ
นายอำนวย คลังผา ประธานปวิปรัฐบาล กล่าวว่า การหารือของวิป ทั้ง 3 ฝ่าย กรณีญัตติการแปรญัตติ 60 วัน ที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้วิปฯ ทั้ง 3 ฝ่ายไปหารือกัน ซึ่งผลออกมาว่า ให้มีการลงมติญัตติแปรญัตติแก้ รธน.ใน 60 วัน ตามที่พรรคฝ่ายค้านเป็นผู้เสนอได้ ในวันที่ 18 เม.ย. ในเวลา 09.30 น. ทั้งนี้ หาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล มีแนวความคิดเห็นด้วย ให้มีการแปรญัตติแก้ รธน.ภายใน 15 วัน แล้วมีคนเห็นด้วยจนลงมติฯ ชนะ ก็ขอให้พรรคฝ่ายค้าน ต้องยอมรับใน กฎกติกานั้นด้วย เพราะการลงมติญัตติแปรญัตติ 60 วัน การแก้ไข รธน.ในครั้งนี้ กระทำเพื่อให้มีผลทางกฎหมายสมบูรณ์ตามที่พรรค ปชป.เสนอขึ้นมา เมื่อผลออกมาเป็นอย่างไรก็ขอให้ยอมรับอย่างไรก็ตามแม้ช่วงนี้ 10-17 เม.ย. จะไม่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะติดช่วงเทศกาลสงกรานต์ และ ส.ส.ขอลงพื้นที่ ขอไปพบปะพี่น้องประชาชนก็ตาม แต่ในวันนี้ยังมีการนัดประชุมคณะกรรมมาธิการแก้ไข รธน. จำนวน 2 คณะ ในกรณีคณะกรรมมาธิการแก้ รธน. ชุด ม. 68 และ ม. 237 ส่วนคณะกรรมาธิการเรื่องอื่นๆ นัดประชุมกันอีกครั้งหลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ไปแล้ว
วิปฝ่ายค้านอ้างยังไม่รู้เรื่อง
นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขณะนี้วิปฝ่ายค้าน ยังไม่ได้รับการประสานมาจากวิปรัฐบาล แต่หากมีการเรียกประชุมจริง ฝ่ายค้านก็ยังคงยืนยันที่จะเสนอวันแปรญัตติ 60 วันตามเดิม เพราะเห็นว่า เป็นกฎหมายสำคัญควรกำหนดระยะเวลาแปรญัตติให้เหมาะสม ซึ่งตนเห็นว่า หากการตัดสินใจของนายสมศักดิ์ ในวันนั้นเป็นความผิดพลาด ก็ควรต้องแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดความผิดพลาดอยู่บ่อยๆ จึงอยากถามว่า ทำไมวันนั้นถึงได้ดึงดันให้มีการลงมติ วันแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบ และบอกว่า สิ่งที่ได้ทำนั้นถูกต้องแล้ว หากวันนี้ นายสมศักดิ์ รู้สึกว่าผิด ก็ไม่ใช่ออกมาแก้ไขด้วยการให้โหวตใหม่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นทั้งนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ที่ได้ยืนยันในความถูกต้องในการกำหนดวันแปรญัตติ 15 วัน และนายสมศักดิ์ ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ได้ทำ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสำนึก จะปล่อยให้เลยตามเลยไม่ได้
เย้ย “ขุนค้อน” กลัวถูกถอดถอน
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอท้านายสมศักดิ์ เดินหน้ายืนยันคำวินิจฉัยของตัวเอง ที่ยืนยันว่า การสรุปว่าญัตติแปรญัตติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 วัน ที่ค้างการพิจารณาในรัฐสภาเนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ถือว่าญัตติดังกล่าวตกไป และให้ยึดข้อบังคับให้แปรญัตติภายใน 15 วัน แต่เชื่อว่านายสมศักดิ์ คงได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้วจึงใส่เกียร์ถอย เตรียมเรียกประชุมรัฐสภา เนื่องจากเกรงว่าจะถูกยื่นถอดถอน เพราะการใช้ดุลพินิจของนายสมศักดิ์ เป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามอยากทวงถามความรับผิดชอบของนายสมศักดิ์ ที่มักวินิจฉัยผิดพลาดในที่ประชุมบ่อยครั้งว่าจะรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของตัวเองอย่างไรด้วย
“อนุพงษ์-พะจุณณ์” โผล่ทำบุญ “ร่มเกล้า”
ส่วนที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อเวลา 10.00 น. นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (รองเสธ.พล.ร.2 รอ.) พร้อมครอบครัว ได้ร่วมกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลในโอกาสครบรอบ 3 ปี การเสียชีวิต พล.อ.ร่มเกล้า และทหารที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย และขอคืนพื้นจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสี่แยกคอกวัว และหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 โดยมีอดีตผู้บังคับบัญชาของ พล.อ.ร่มเกล้ามาร่วมงานด้วย อาทิ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพน้อยที่ 1 และอดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.ร.2รอ.) พ.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21รอ.) รวมถึงเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 25 นอกจากนี้ยังมีบุคคลสำคัญต่างๆ มาร่วมงานด้วย อาทิ พล.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป อดีตหัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรี น.พ.ตุลย์ ศรีสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสี ด้าน นางนิชา กล่าวว่า อยากขอร้องให้รัฐบาล และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องการติดตามคดี ส่วนที่มองว่าผู้นำกองทัพอาจจะมีท่าทีอ่อนลงในการช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชานั้น คิดว่าสังคมทหารมีความใกล้ชิด และเป็นครอบครัวเดียวกัน ในงานทำบุญวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ก็ร่วมเป็นเจ้าภาพให้กับพี่น้องที่เสียชีวิตในวันนี้ด้วย แม้ท่านจะไม่ได้มาเอง ส่วนตัวเชื่อมั่นต่อผู้บังคับบัญชาของ พล.อ.ร่มเกล้า
“บิ๊กตู่” จี้ดีเอสไอแจงคดีร่มเกล้า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า ที่กลุ่ม นปช.ชุมนุมครบรอบ 3 ปีเพื่อรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ก็รำลึกไป เพราะมีคนสูญเสีย และตนก็รำลึกอยู่เหมือนกัน เพราะทหารเองก็สูญเสีย แต่ต้องไปหาว่าใครเป็นคนทำ อย่ามาพูดเพียงฝ่ายเดียว ไม่อยากทะเลาะขัดแย้งกับใคร แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่และลูกน้องของตน ที่มีทั้งตำรวจ พลเรือน และทหารที่สูญเสีย หากรำลึกตนก็รำลึกเหมือนกัน ถ้ายังไม่จบก็ไม่จบ ส่วนความคืบหน้าคดีของกำลังพลที่บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ เพราะได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสูญเสียจากเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 ขอให้ช่วยติดตาม โดยจะให้คณะทำงานที่ปรึกษาทางกฎหมายของกองทัพบกทำหนังสือถึงกรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้แจงความก้าวหน้าของคดีดังกล่าวด้วย เราพยายามเร่งรัดติดตาม แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยก้าวหน้า อย่างไรก็ตามต้องหาให้ได้ว่าใครทำ หากฝ่ายหนึ่งบอกไม่ได้ทำ ก็ต้องมีอีกฝ่ายที่ทำ ทหารก็เป็นประชาชนเหมือนกัน
“มาร์ค” ซัดดีเอสไออืดคดีร่มเกล้า
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลสรุปของคณะอนุกรรมาธิการวุฒิสภาที่มีนายสมชาย แสวงการ เป็นประธาน เกี่ยวกับเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ว่า วันที่ 10 เมษายน ในปี 2553 เกิดความสูญเสียขึ้นทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่ทหาร และประชาชน จากการปะทะกัน สิ่งสำคัญคือ นอกจากเยียวยาและการรำลึกถึงเหตุการณ์แล้ว ยังต้องเดินหน้าเอาความจริงออกมา และนำผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์เข้าสู่กระบวนการโดยเร็ว รวมทั้งหาข้อสรุปเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก ในส่วนของตนจะกล่าวหาอย่างไรก็พร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยตนต้องการเห็นการเร่งรัดคดีทุกด้าน เพราะที่อนุกรรมาธิการฯ ของวุฒิสภาพิจารณา ก็พูดถึงกรณี พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และเจ้าหน้าที่ ว่า มีความคืบหน้าน้อยมาก ทั้งที่ดีเอสไอเคยแถลงว่ามีความคืบหน้าในเรื่องการสอบสวน ซึ่ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอและผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดให้เกิดความกระจ่าง ใครต้องรับผิดชอบอย่างไร ทั้งนี้เห็นว่าสามปีที่ผ่านมาคดีมีความคืบหน้าช้า เพราะก่อนหน้านี้เคยพูดถึงความคืบหน้าในเรื่องข้อมูลค่อนข้างมาก แต่กลับไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ทั้งที่นายธาริต เป็นผู้แถลงเกี่ยวกับเหตุการณ์หลายครั้ง แต่กลับไม่เอามาใช้และมีการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตัวเองเคยแถลง และขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งตนก็ได้ฟ้องไปแล้วจะมีการไต่สวนวันที่ 29 เมษายนนี้ โดยจะได้มีการนำข้อเท็จจริงไปนำเสนอต่อศาล ทั้งนี้ฝากถึงรัฐบาลว่า เรื่องคดีความต้องติดตามเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับคดีของทุกฝ่าย และดำเนินการตามรายงานของ คอป.ที่เสนอไว้หลายอย่างซึ่งควรหยิบยกมาทำให้เป็นรูปธรรม เช่น ปัญหาการดูแลการชุมนุมในแง่ความพร้อมของหน่วยงาน ในสถานการณ์ที่มีคนติดอาวุธจะแก้ไขป้องกันอย่างไรในอนาคต
“ธาริต” โต้คดีร่มเกล้าไม่ช้า
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมดีเอสไอ กล่าวว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าการสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองเมื่อปี 2553 นั้น การสอบสวนคดีการเสียชีวิตมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ดีเอสไอพร้อมชี้แจงกับกองทัพ ส่วนกรณีมีผลสอบอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา พาดพิงการทำงานของดีเอสไอในคดีการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า นั้นไม่ดำเนินการสอบสวนไปตามหลักฐานทั้งที่มีพยานชัดเจนนั้น ดีเอสไอจะประสานขอรายละเอียดผลการสอบของอนุกรรมาธิการชุดดังกล่าว เพื่อนำมาพิจารณาว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่สอดคล้อง แตกต่าง หรือยังมีส่วนใดที่ขาดตกบกพร่อง จะได้นำมาเป็นประโยชน์ในการสอบสวนคดี ในส่วนการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ขณะนี้มีพยานหลักฐานที่พออนุมานได้ว่ากลุ่มกองกำลังไม่ทราบฝ่ายเป็นผู้ก่อเหตุ ที่ผ่านมาเคยเสนอให้มีการออกหมายจับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีพยานแวดล้อมชี้ว่า เห็นกองกำลังไม่ทราบฝ่ายไปปรากฎตัวในที่ชุมนุมและมุ่งหน้าไปยังสถานที่เกิดเหตุ จึงเชื่อว่าต้องเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้าแน่นอน แต่อัยการแนะนำให้ดีเอสไอหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยเฉพาะพยานที่เห็นเหตุการณ์ขณะลงมือใช้อาวุธสงครามยิง ไม่ใช่แค่พยานแวดล้อม ทำให้พนักงานสอบสวนยังไม่สามารถออกหมายจับบุคคลใดได้ อย่างไรก็ตาม กลุ่มบุคคลที่คาดว่าเป็นผู้ก่อเหตุขณะนี้ดีเอสไอมีเพียงหลักฐานที่เป็นภาพถ่าย ยังไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้และอยู่ระหว่างการเผยแพร่ภาพถ่ายให้ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแส
จี้สอบ ปธ.จัดการหนี้ฯ กองทุนฯ
วันเดียวกัน กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรสมาชิกกองทุนพัฒนาฟื้นฟูเกษตรกรจากหลายจังหวัด กว่า 200 ราย รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือ ต่อนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบและดำเนินการสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของนายสุภาพ คชนูด ประธานกรรมการการจัดการหนี้ฯ กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรณีมีการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า นายสุภาพ แสดงพฤฒิกรรมไม่เหมาะสมต่อหน้าที่ โดยไม่ให้ความสนใจต่อข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มเกษตกรที่มีหนี้เกิน 2.5 ล้านบาท พร้อมทั้งมีการยุยงให้เกิดความแตกแยกในหมู่สมาชิกเครือข่าย ซึ่งมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อกวนและทำร้ายร่างกายผู้แทนเกษตรกร ผู้มีความเห็นต่าง ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา บริเวณที่ทำการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูฯ นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงการนำเกษตรกรกลุ่มหนึ่งไปกดดันเจ้าหนี้สถาบันการเงิน จนได้รับการร้องเรียนจากสถาบันการเงินหลายแห่ง รวมถึงกรณีการจัดตั้งฌาปนกิจสงเคราะห์ สมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตอำนาจของพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรในการจัดการหนี้ของเกษตรกร ที่อาจมีการเรียกรับผลประโยชน์ ทั้งนี้ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรได้นำหลักฐานและรายชื่อเกษตรกร พร้อมเสนอให้มีการสอบสวนมาตรฐานจริยธรรมรวมทั้งให้มีมติถอดถอนนายสุภาพออกจากตำแหน่งโดยการเข้ายื่นหนังสือในครั้งนี้ มี ร.ต.สมพูนทรัพย์ กล้าวิกร ผู้อำนวยการสำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียนสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ พร้อมเปิดเผยว่า “เรื่องนี้คงจะมีการนำเสนอไปยังปลัดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามขั้นตอน ซึ่งอาจมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงและจะดำเนินงานตามขั้นตอนและระเบียบของกฎหมายต่อไป
ปชป. โต้ข้อมูลใช้หนี้ IMF
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่พรรคเพื่อไทยตอบโต้ข้อมูลการใช้หนี้ IMF และยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการหารายได้เข้าประเทศรวมทั้งเป็นผู้ใช้หนี้ IMF ก่อนกำหนดนั้น ตนยืนยันอีกครั้งว่า ข้อมูลต่างๆ ที่ได้มีการนำมาเปิดเผยนั้นเป็นข้อมูลจริงที่สามารถยืนยันเอกสารทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ซึ่งระบุชัดว่า 1.พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หลังจากที่ได้มีการทำหนังสือแสดงเจตจำนงขอกู้เงินจาก IMF ในวันที่ 14 ส.ค.2540 เป็นการกู้เงินงวดที่ 1 หลังจากนั้น 1 วัน พ.ต.ท.ทักษิณก็เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีคุมงานด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งนั่งตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการยอมรับเงื่อนไขการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และกฎหมายที่ออกมาต่อเนื่องอีก 11 ฉบับ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกฎหมายขายชาติ 2.พ.ต.ท.ทักษิณได้สละเรือไปพร้อมกับ พล.อ.ชวลิต หลังภาวะเศรษฐกิจไทยตกต่ำอย่างหนัก โดย พล.อ.ชวลิตได้มีการประกาศลาออกในวันที่ 14 พ.ย. 2540 หลังจากที่ได้มีการกู้เงินจาก IMF ในงวดที่ 2 แล้ว 3.ต่อมารัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้เข้ารับภาระหน้าที่ในการบริหารประเทศสืบเนื่องต่อ ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.2540 โดยมีภาระหน้าที่หลักคือการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำอย่างหนัก และยังไม่มีความคล่องตัว เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆ ที่รัฐบาลชุดก่อนได้มีการไปลงนามกับ IMF
โวรัฐบาลชวนใช้หนี้ไม่ใช่แม้ว
นายชวนนท์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดีพรรคประชาธิปัตย์สามารถบริหารเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวกลับขึ้นมาสู่สภาวะปกติได้โดยรับความช่วยเหลือจาก IMF เพียงถึงการเบิกจ่ายงวดที่ 8 วันที่ 14 ส.ค.2542 และประกาศไม่ขอรับความช่วยเหลือจาก IMF ในงวดที่ 9-10-11-12 ตามที่รัฐบาล พล.อ.ชวลิตได้ไปทำสัญญาไว้ แต่หยุดการกู้เพียงงวดที่ 8 หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ ทำให้ระยะเวลาการกู้นั้นลดลงประมาณ 1 ปี เนื่องจากในสัญญานั้นจะมีการเบิกจ่ายเงินงวดกับ IMF ในระยะเวลาทุกไตรมาส (3 เดือน) 4.ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ได้เริ่มชำระเงินคืน IMF ในงวดแรกวันที่ 14 ส.ค.2543 งวดที่ 2 วันที่ 14 พ.ย. 2543 เงื่อนไขการชำระเงินของ IMF นั้นจะชำระเมื่อวงเงินกู้ในแต่ละงวดมีอายุครบ 3 ปี ดังนั้นจะเห็นได้ชัดว่า พรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นผู้ที่ทำให้เงินงวด IMF มีระยะเวลาสั้นและจำนวนเงินที่กู้นั้นน้อยลง อันเป็นเหตุให้การชำระคืนเงินต้นย่อมมีระยะเวลาสั้นลง 1 ปีเช่นเดียวกัน มิได้เป็นผลงานของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย หรือของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่อย่างใด การกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างเพียงเพื่อต้องการบิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างราคาให้กับตนเอง ทั้งๆ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ หากจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ IMF ไม่น่าจะเป็นส่วนของการชำระหนี้ แต่น่าจะเป็นส่วนของผู้ที่มีส่วนกับการก่อหนี้ กู้หนี้ สร้างภาระให้กับประเทศ ซ้ำยังโดดสละเรือหนี ในขณะที่ประเทศได้รับวิกฤติอย่างแสนสาหัส แสดงออกถึงความไม่รับผิดชอบ และอยากจะถาม พ.ต.ท.ทักษิณว่า ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการลดค่าเงินบาท จนบริษัทของตัวเองนั้นได้กำไร เสวยสุขบนคราบน้ำตาของประชาชน ดังนั้นตนยืนยันว่าข้อมูลต่างๆ นั้นเป็นข้อมูลจริง และขอท้าทีมเศรษฐกิจของพรรคไทยรักไทยในอดีต หรือผู้ที่รู้เรื่องนี้สามารถที่จะนำข้อมูลมายืนยันว่าใครเป็นผู้ที่สร้างความเสียหาย ใครเป็นผู้ที่สร้างประโยชน์ให้กับประเทศ และใครเป็นพวกที่เก่งแต่ใช้เงิน และใครเป็นคนที่บริหารเศรษฐกิจเป็น และขอร้องว่าเรื่องอย่างนี้พวกปลายแถว ไม่ต้องเสนอหน้าออกมาโต้ตอบให้เสียเวลา เพราะนี่เป็นเวทีของผู้ที่มีความรู้ ไม่ใช่เวทีของจำอวดข้างถนน
พท.ซัดกลับ ปชป.มั่วตัวเลขตีกิน
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่นายชวนนท์ ให้ พ.ต.ท.ทักษิณเลิกเล่นเฟซบุ๊ค เพราะให้ข้อมูลผิดๆ กับประชาชนนั้น เป็นหลักฐานที่ยืนยันชัดเจนที่สุดอีกครั้งว่า แม้โลกจะหมุนไวแต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยก้าวทัน พ.ต.ท.ทักษิณ ขนาดโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว ยังดิ้นเร่าๆ ราวกับหอยหลอดโดนปูนขาวกันทั้งพรรค การที่บอกว่างบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ใช้เม็ดเงินมากกว่าสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เด็กอมมือที่ไหนก็คิดออกว่าระหว่างรัฐบาลอายุ 2 ปี 8 เดือน กับรัฐบาล 5 ปี ใครจะมีงบประมาณเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากกว่ากัน ที่พอจะจริงอยู่บ้างคือบอกว่า โครงการถนน 4 เลนชะงักไป ในสมัยรัฐบาลท่านทักษิณ ต้องชะงักแน่นอน เพราะขณะนั้นรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ สร้างถนน 6 เลน 8 เลนไปแล้ว เรื่องใช้หนี้ IMF ที่บอกว่ารัฐบาลนายชวนใช้หนี้มากกว่า ก็ขอบอกว่าเมื่อเทียบกับระยะการทำงานเปอร์เซ็นต์ต่อเปอร์เซ็นต์ การใช้หนี้ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณใช้หนี้ได้สูงกว่าข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุชัด รัฐบาลชวนมีหนังสือขอกู้ยืมเงิน IMF เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2540 และมีการทยอยกู้ยืมจนถึงปี 2542 ส่วนรัฐบาลที่มาชำระหนี้ IMF หมดสิ้นในปี 2546 คือ รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ และการชำระหนี้คืนก่อนกำหนด ทำให้รัฐบาลไทยสามารถประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 116 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3,000 ล้านบาท โดยไม่มีค่าธรรมเนียมคืนก่อนกำหนดร้อยละ 2 ที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด จึงอยากบอกพรรคประชาธิปัตย์ว่า ควรหัดสำนึกบ้างว่า เศรษฐกิจ ฟองสบู่ มันเริ่มก่อฟองฟอดในสมัยรัฐบาลนายชวน จนนำไปสู่วิกฤติการเงินในประเทศ หรือวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ส่วนหนึ่งมาจากการเปิดเสรีทางการเงิน หรือ BIBF ปล่อยให้สถาบันและนิติบุคคลไทยออกไปลงทุนและกู้เงินในต่างประเทศ เงินไหลทะลักเข้าโดยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีมาตรการรองรับ ทำให้กลายเป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาลกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ และพอฟองสบู่แตกก็เหมือนหนองแตก ที่โชคร้ายมาแตกในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แล้วยังตามมาปิด 56 ไฟแนนซ์อีกรอบ สร้างความเสียหายมโหฬารต่อประเทศ เอาสินทรัพย์ 850,000 ล้านบาทประเคนขายให้ฝรั่งได้ตังค์มาแค่ 190,000 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 600,000 ล้านบาท คนที่เกี่ยวข้องอย่างคุณอมเรศ ศิลาอ่อน ก็ถูกตัดสินจำคุก เพราะมีพฤติการณ์ฉ้อฉล ส่อไปในทางทุจริต แล้วรัฐบาลชุดไหนล่ะ ที่ไปออกกฎหมายเอื้อ ปรส. ให้ ปรส.ไปเอื้อฝรั่ง ถึงแม้จะมีนักการเมืองใหญ่ที่อาจยังไม่ติดคุก ก็ต้องชดใช้กรรมในปั้นปลาย เจ็บป่วยอย่างหนัก หลบลี้หนีหายทางการเมืองไปหลบพักรักษาตัว เฉพาะเรื่องนี้ ปชป.ก็สร้างความเสียหายให้กับ ปชช. และประเทศไทยอย่างไม่น่าให้อภัย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น