วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

พท.เลื่อนนิรโทษฯเข้าสภาปชป.รุมต้านเดือด เล่ห์เขมรแสบอีกหลอกศาลโลกเปลี่ยนคำ”บริเวณ”เป็น”เขตแดน” เมื่อ 19 เม.ย.56




พท.เลื่อนนิรโทษฯเข้าสภาปชป.รุมต้านเดือด

เล่ห์เขมรแสบอีกหลอกศาลโลกเปลี่ยนคำ”บริเวณ”เป็น”เขตแดน”


สภาป่วนทิ้งท้าย “ฝ่ายค้าน” งัดทุกเม็ดยื้อแก้ รธน. ซัดขุนค้อนขัด รธน. อ้างเรียกโหวตวันแปรญัตติใหม่ไม่ได้ ชี้สั่งปิดสภาฯ 4 เม.ย. องค์ประชุมล่ม วาระตกแล้ว ต้องนับ 1 ใหม่ ขณะที่เจ้าตัวไม่สน ยืนกรานทำถูกต้องแล้ว พร้อมรวบรัดโหวตแปรญัตติ ร่างแก้ รธน. 15 วันทันที ก่อนผ่านฉลุย 356 ต่อ 19 เสียง ด้าน “ส.ส.ปชป.” ฉุนวอล์กเอาท์ ด่ายับเผด็จการ-ประชุมเถื่อน ส่วน “พท.” จวก ปชป.ตีรวนไม่เลิก เหน็บอนาคตคงค้านแม้แต่เงาตัวเอง ขณะที่ 312 ส.ส.-ส.ว.จับมือต้าน ศาล รธน. ค้านรับคำร้อง 40 ส.ว. ล้มแก้ รธน. ม.68 อัดจงใจใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต-แทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ ด้าน “เหลิม” เอาแน่ชงร่างปรองดอง 6 มาตรา เข้าสภาสมัยประชุมหน้า อ้างนับ 1 ประเทศไทย ปล่อยผีนักโทษทุกสี โละทิ้งทุกคดี ฟุ้งชาติสงบแน่ ส่วน “40 ส.ว.” ยันค้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ หัวชนฝา ชี้พวกจาบจ้วงเบื้องสูงไม่สมควรได้ยกโทษ มั่นใจมี ส.ว.เกินครึ่งหนุน ขณะที่ ปมสู้คดีปราสาทพระวิหาร “นายกฯ ปู” พอใจทีม กม.ไทยตอบโต้เขมรได้ทุกประเด็น มั่นใจศาลโลกตัดสินแนวทางสันติ
ประชุมร่วมรัฐสภาป่วน
วันที่ 18 เม.ย. ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.30 น. มีการประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดวันแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นรายมาตรา ตามที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้แปรญัตติ 60 วัน โดยนายสมศักดิ์แจ้งต่อที่ประชุมว่า เป็นการพิจารณาต่อเนื่องมาจากการประชุมเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ซึ่งที่ประชุมมีมติรับหลักการวาระแรกทั้ง 3 ฉบับ และตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา 3 คณะแล้ว ดังนั้นวันนี้จึงขอดำเนินการลงมติในญัตติดังกล่าวต่อ ทำให้นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นประท้วงว่า นายสมศักดิ์ทำขัดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม เนื่องจากการประชุมเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ในช่วงขอมติจากที่ประชุมเพื่อกำหนดวันแปรญัตติแล้วองค์ประชุมล่ม ถือว่าวาระดังกล่าวจบไปแล้ว การเรียกประชุมในวันนี้อีกไม่สามารถทำได้ หรือการที่ท่านสั่งเรียกประชุมคณะกรรมาธิการฯ ทั้ง 3 คณะ โดยรับเบี้ยประชุมกันไปแล้ว ถือว่าไม่ถูกต้อง
ปชป.ประท้วงวุ่น
น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อองค์ประชุมวันนั้นไม่ครบ ก็เท่ากับญัตติต้องตกไป และในชั้นการตรวจสอบองค์ประชุม ผู้เสนอญัตติไม่ได้อยู่ในห้องประชุมแสดงว่าไม่ต้องการให้ญัตติดังกล่าวผ่าน เมื่อไม่มีการลงมติก็ต้องอนุโลมว่าเวลาแปรญัตติต้องเป็นไปตามข้อบังคับคือ 15 วัน นายสมศักดิ์จึงได้วินิจฉัยว่าพรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ตนเปิดประชุมร่วมเพื่อจะลงมติอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นจะยื่นถอดถอน พอตนเปิดให้กลับมากล่าวหาว่าทำผิดรัฐธรรมนูญอีก สรุปทำอะไรก็ผิดใช่หรือไม่ ดังนั้นขอวินิจฉัยตามข้อบังคับคือ เมื่อองค์ประชุมไม่ครบก็เท่ากับต้องกลับไปยึดตามข้อบังคับเดิมโดยอัตโนมัติคือ 15 วัน ถือว่าทำถูกต้องตามขั้นตอนแล้วไม่สามารถทำอย่างอื่นได้ ที่ผ่านมาไม่เคยพูดว่าจะไม่เรียกประชุมอีกพูดแค่ว่าอะไรยอมก็ยอมกันเถอะ เพื่อให้ทุกฝายสบายใจ เมื่อพูดถึงตรงนี้ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลุกขึ้นยกมือประท้วงกันทั้งพรรค อาทิ นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การวินิจฉัยของนายสมศักดิ์ไม่ถูกต้อง เป็นการวินิจฉัยกลับไปกลับมา การประชุมรัฐสภาไม่ใช่การประชุมบริษัท ทำให้นายสมศักดิ์ตัดบทว่า เป็นการประท้วงในสิ่งที่ได้วินิจฉัยไปแล้ว ดังนั้นไม่อนุญาตให้ประท้วงอีก ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พากันโห่ใส่ ทำให้นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ใช้สิทธิ์ประท้วงพร้อมกล่าวท้าทายว่า “เอากันหน่อยไหม เอากันสักหน่อย” นายสมศักดิ์จึงรีบตัดบทขอปิดการอภิปรายเพื่อขอมติที่ประชุม ทำให้บรรยากาศภายในห้องประชุมเป็นไปอย่างวุ่นวายท่ามกลางการประท้วงและการตะโกนของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ว่าอย่าใช้วิธีเผด็จการ ทำให้นายสมศักดิ์รีบขอมติที่ประชุม แต่นายอภิสิทธิ์ยังคงยกมือประท้วงอยู่ ประธานฯ จึงให้ใช้สิทธิ โดยนายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่า เมื่อองค์ประชุมไม่ครบ โดยปกติคือประธานฯ ต้องนัดประชุมใหม่โดยเร็ว แต่ท่านรีบวินิจฉัยว่าให้ยึดตามข้อบังคับ ดังนั้นการประชุมวันนี้จึงไม่สามารถทำได้ นอกจากท่านจะยอมรับก่อนว่าองค์ประชุมไม่ครบ แต่หากยังยืนยันตามเดิม ก็ไม่รู้จะลงมติอย่างไร
วอล์กเอาท์ซัดเผด็จการ
ด้านนายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเด็นคือยังมีความเห็นเป็นอื่น ดังนั้นข้อยุติยังไม่เกิดขึ้น ถ้าบอกว่าการประชุมวันนี้ไม่มีปัญหา เมื่อชี้ขาดว่าจบแล้ว การลงมติใหม่ในวันนี้ต้องพูดคุยกันว่า จะเริ่มนับวันแปรญัตติจากวันไหน ต้องยอมรับจุดนี้ว่าไม่ชอบต้องเริ่มต้นใหม่ หากท่านยังยืนยันคำเดิมก็ลงมติใหม่ไม่ได้ ซึ่งนายสมศักดิ์ ชี้แจงกลับว่า สิ่งที่นายชวนเสนอ ตนสนองตอบไม่ได้ เพราะข้อบังคับการประชุมไม่ได้เปิดช่องไว้ ทำให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา ประท้วงว่า นายสมศักดิ์ทำผิดทุกข้อบังคับและผิดรัฐธรรมนูญทุกมาตรา และกำลังเดินไปสู่กับดักตัวเอง โดยตนเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายชวน ที่ให้เริ่มนับวันแปรญัตติหลังวันลงมติคือวันนี้ (18เม.ย.) แต่นายสมศักดิ์ยังยืนยันตามเดิม และขอมติทันที ทำให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางส่วนวอล์กเอาท์ เดินออกจากห้องประชุม โดยนายอรรถพร พลบุตร ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เดินไปหน้าบัลลังก์พร้อมชูกระดาษที่เขียนคำว่า “เผด็จการ” เพื่อเป็นการประท้วง ท้ายที่สุดที่ประชุมมีมติกำหนดวันแปรญัตติ 15 วัน ด้วยคะแนน 356 ต่อ 19 เสียง งดออกเสียง 33 ไม่ลงคะแนน 5 จากนั้นนายสมศักดิ์ ประกาศว่า ให้เริ่มนับวันแปรญัตติตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ดังนั้นจะสิ้นสุดการส่งคำแปรญัตติในวันที่ 19 เม.ย.นี้ และสั่งปิดประชุมทันที ในเวลา 11.45 น.
ฮึ่มยื่นถอดถอน “ขุนค้อน” พ้นเก้าอี้
ภายหลัง นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และนายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะฝ่ายกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการยื่นถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากทำหน้าที่ประธานดำเนินการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ พ.ศ…ที่ไม่ถูกต้องวิธีบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ โดยการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ต้องทำครบถ้วนทั้งหลักสารบัญญัติและวิธีบัญญัติ และมีการลงมติในขณะที่องค์ประชุมไม่ครบ ซึ่งประธานการประชุมทำได้เพียงอย่างเดียวคือการปิดประชุม แต่กลับระบุว่าให้กำหนดวันแปรญัตติ 15 วัน ตามข้อบังคับ ทั้งเชาวเลขและบันทึกการประชุมระบุชัดเจนว่าในวันที่ 4 เม.ย.นั้นองค์ประชุมไม่ครบ นายสมศักดิ์ ได้มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายผิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. กลับไม่ยอมรับฟังการท้วงติงจากพรรคฝ่ายค้าน กลับเดินหน้าเหมือนมีใครสั่งการอยู่เบื้องหลังตามแผนการที่ตั้งใจไว้ ทั้งนี้ มองว่าประธานทำตัวเหมือนวัวพันหลักทำผิดซ้ำซาก ซึ่งทางศาลรัฐธรรมนูญและผู้ที่เกี่ยวข้องคงจะเห็นชัดเจนว่ามีอะไรแอบแฝง ในการยื่นถอดถอนดังกล่าว ถ้าทำในส่วนบุคคลสามารถยื่นโดยตรงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าจงใจกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่ ส.ส.หรือ ส.ว. สามารถลงชื่อจำนวน 125 คน ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
“พท.” อัด ปชป. ค้านไร้เหตุผล
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติ 356:19 เสียงให้แปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 15 วันตามเดิม ถือว่าเป็นไปตามมติเสียงส่วนใหญ่ที่เห็นด้วยกับการแปรญัตติ 15 วัน แต่ตนรู้สึกแปลกใจกับการตีรวนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาไม่ยอมการแปรญัตติใน 15 วัน ด้วยการประท้วงการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภาว่าทำผิดข้อบังคับการประชุม ทั้งๆ ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้เกิดการเรียกประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อลงมติอีกครั้งในวันนี้ (18 เม.ย.) ตนไม่เข้าใจมาตรฐานของฝ่ายค้านที่เหมือนกับไม้หลักปักเลน ออกมาเรียกร้องให้มีการประชุมเพื่อลงมติอีกครั้ง แต่เมื่อมีการประชุมก็ออกมาโวยวายว่าประธานทำผิดข้อบังคับ สุดท้ายเมื่อมีการลงมติก็วอล์คเอาท์ออกจากห้องประชุม ไม่ร่วมลงมติ แสดงให้เห็นถึงธาตุแท้ของพรรคประชาธิปัตย์ว่าเป็นฝ่ายค้านมาตรฐาน ค้านแม้กระทั่งคำพูดของตัวเองที่เคยพูดไว้ ซึ่งตนเป็นห่วงว่า ถ้ายังค้านแบบไม่มีเหตุผล ไม่มีจุดยืนอยู่แบบนี้ ในอนาคตก็อาจจะค้านแม้แต่เงาของตัวเองก็เป็นได้ ทั้งนี้ อยากให้นายอภิสิทธิ์นำข้อเสนอของนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้ปฏิรูปพรรค ขึ้นมาพิจารณาเป็นการด่วน เพื่อปรับปรุงการทำงานให้สร้างสรรค์ ถ้ายังคงเป็นอย่างทุกวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะต้องเป็นฝ่ายค้านอีกยาว เพราะประชาชนไม่เห็นจุดยืน ว่าจะยืนข้างประชาธิปไตยหรือจะฝักใฝ่ฝ่ายไหนกันแน่
วิปรัฐจับมือ สว.ต้านศาล รธน.
นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล พร้อมด้วย นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาวิปรัฐบาล และ นายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ได้ร่วมกันแถลงการณ์ถึงการออกแถลงการณ์ ของ ส.ส และ ส.ว. จำนวน 312 คน ที่เข้าชื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อคัดค้านกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาตามมาตรา 68 เนื่องจากเห็นว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณานั้น อาจเป็นการเข้าข่ายจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำปราศจากอำนาจ และผลของการกระทำดังกล่าว จะทำลายรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำให้การใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติของประชาชน ผ่านทางฝ่ายนิติบัญญัติถูกแทรกแซง และจะทำให้รัฐสภาไม่สามารถทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้น จึงออกหนังสือแถลงการณ์ขอคัดค้านและไม่ยอมรับการใช้อำนาจในเรื่องนี้ของศาลรัฐธรรมนูญ
ซัดแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ
ด้านนายดิเรก กล่าวว่า สภาฯ มีความเห็นตรงกัน ว่าเห็นต่างกับการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ทำให้ไม่สามารถรับมติศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงจะทำหนังสื่อโต้แย้งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการที่แก้ๆ ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ไม่มีเจตนาล้มล้างการปกครองมาตรา 68 วรรค 1 ที่เขียนไว้ว่า ใครมาล้มล้างการปกครองไม่ได้ แต่ที่แก้คือ แก้ตรงที่ให้ส่งผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ทั้งนี้ ตนยอมรับกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้ เพราะภารกิจฝ่ายนิติบัญญัติถูกแทรกแซง ทำให้กระบวนการไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญทำ ถือเป็นการแทรกแซงอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ
“ปู” โยนสภาฯ ดันนิรโทษ
ส่วนที่พรรคเพื่อไทย มีมติให้เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 โดยไม่สนใจคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นกลไกที่สมาชิกรัฐสภา ต้องมาถกเถียงกัน และให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นเพียงความขัดแย้งในระดับความคิดเท่านั้น แต่ยังไม่ใช่ความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งรัฐบาลเองมีหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิดความรุนแรง ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้ลงพื้นที่เปิดเวทีเสวนาเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน ทั้งนี้ ตามหลักสากลแล้วความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการพูดคุยกัน ถ้าตอนนี้ยังไม่เริ่มนับหนึ่ง หรือปล่อยให้เรื่องนี้ค้างคาต่อไป ก็จะไม่เกิดประโยชน์แน่นอน ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า การเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นการปูทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมานั้น เชื่อว่า ในสภาฯ มีทั้งผู้แทนของฝ่ายค้าน และสื่อมวลชนจับจ้องอยู่แล้ว ฉะนั้น การทำเพื่อคนๆ เดียวไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับกรณีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี บอกว่า จะเอา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้านให้ได้ในสิ้นปีนี้นั้น ถือเป็นความต้องการของสมชาย ซึ่งทั้งหมดต้องเป็นไปตามกฎหมาย และเชื่อว่า เวทีสภาฯ เป็นเวทีที่เหมาะสมในการแสวงหาทางออกร่วมกัน
“เหลิม” ชงปรองดอง 6 มาตรา
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ…. ได้เริ่มมาประมาณ 6 เดือน ในการเสนอร่าง พ.ร.บ.การปรองดองแห่งชาติ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสามัคคี สงบ สันติ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีทั้งสิ้น 6 มาตรา สาระสำคัญคือในมาตรา 3 ระบุว่าการกระทำใดๆ ที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าวตั้งแต่ปี 2549 จนถึงวันที่ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ถือว่าไม่เป็นความผิด กรณีที่ผู้กระทำผิดอยู่ระหว่างสอบสวน ให้ระงับการสอบสวนนั้น ถ้าอยู่ระหว่างฟ้องร้อง ให้พนักงานอัยการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้อง ถ้าอยู่ระหว่างพิจารณาคดีให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง ทั้งนี้ให้นำมาใช้บังคับการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลใดๆ อันเกี่ยวเนื่องจากการป้องกัน ระงับ หรือปราบปราม ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง การแสดงความเห็นทางการเมือง นอกจากนี้ในมาตรา 4 ระบุว่าบรรดาการกล่าวหาการกระทำผิดบุคคลใดๆ ที่เกิดจากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองฯ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หรือจากบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคำสั่งคณะปฏิรูปฯ ไม่ว่าเป็นการกล่าวหาในข้อหาใด ให้ถือว่าเป็นการกล่าวหาในความผิดทางการเมือง ให้การกล่าวหานั้นระงับไป ให้ถือว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด ในมาตรา 5 ระบุว่าสำหรับผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง การแสดงความเห็นทางการเมืองหรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องในมาตรา 3 ให้ ครม.พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายตามความเหมาะสม
40 ส.ว. ต้านนิรโทษฯ
ขณะที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ตรึงใจ บูรณสมภพ ส.ว.สรรหา และ นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี ร่วมกันแถลงข่าวในการลงนามกลุ่ม 40 ส.ว.ถึงกรณีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ทางกลุ่มขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเป็นการสนับสนุนการนิรโทษให้กับผู้ที่กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สมาชิกรัฐสภา จึงไม่บังควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณากฎหมายที่จะนิรโทษกรรมความผิดดังกล่าว เพราะในมาตรา 3 จะมีผลรวมถึงกรณีที่กระทำผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ อย่างกรณี ดา ตอปิโด เป็นต้น โดยพวกตนเห็นว่าในสถานการณ์ของโลกและประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคตที่กำลังจะมาถึงนั้น จะมีภาวะวิกฤตของเศรษฐกิจได้ รัฐบาลควรจะเอาเวลาไปคิดเพื่อรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นดีกว่ามีทำเรื่องอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่จะก่อให้เกิดความแตกแยกของคนไทยในชาติ ทั้งนี้จากที่ตนได้สอบถามทาง ส.ว.หลายๆ คนไม่เฉพาะในกลุ่ม 40 ส.ว. พบว่ามี ส.ว.เกินกว่าครึ่งหนึ่งที่จะไม่รับร่างดังกล่าว ตนจึงคาดว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่มีทางผ่านที่ประชุมได้และตนเชื่อมั่นว่าสังคมก็จะไม่ยอมรับเช่นกัน ทั้งนี้ตนขอเตือนให้รัฐบาลระวังว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขึ้นได้
“นายกฯ ปู” พอใจทีมพระวิหาร
ส่วนการให้การทางวาจา ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ในคดีเขาพระวิหาร ณ กรุงเฮก ประเทศเนเทอร์แลนด์ของทีมกฎหมายไทยนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า ทีมทนายของไทยสามารถตอบโต้ฝ่ายกัมพูชาได้ทุกประเด็น และมั่นใจในข้อมูลต่างๆ ที่ฝ่ายไทยมีอยู่ ขณะเดียวกันก็มั่นใจว่าศาลโลกจะตัดสินไปในแนวทางที่ทำให้เกิดสันติภาพระหว่างทั้ง 2 ประเทศได้ การต่อสู้ถือเป็นไปตามเป้า เพราะเรามีหลักฐานที่จะชี้แจงในพิกัดต่างๆ ส่วนการตั้งข้อสังเกตที่ศาลโลกให้ทั้ง 2 ประเทศทำแนวแผนที่ตามที่ฝ่ายของตนเองเข้าใจขึ้นมาชี้แจงใหม่ จะเป็นการส่งสัญญาณว่าศาลโลกจะรับตีความหรือไม่นั้น ในแง่การทำงานของศาล ถือมีหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อไปศึกษา ตนไม่ได้คิดว่าเป็นการส่งสัญญาณอะไร ทั้งนี้ การต่อสู้ต้องแยกระหว่างการต่อสู้ในเรื่องคดีกับการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ต่างฝ่ายต่างมีบทบาทในการต่อสู้ แต่เรื่องความสัมพันธ์เราก็ต้องเดินหน้าต่อไป พร้อมกับย้ำว่า ศาลจะตัดสินที่เป็นไปในแนวทางสันติ
ยันไทยปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก
นายไกรวี ศิริกุล รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า หลายฝ่ายคงมั่นใจการชี้แจงของทีมทนายฝ่ายไทยในการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งได้ทำการชี้แจงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก โดยมีประเด็นหลัก คือ 1.ศาลไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องของกัมพูชา 2.ไทยและกัมพูชาไม่มีความขัดแย้งกันตั้งแต่ 50 ปีที่ผ่านมา และ 3.ไทยได้ปฏิบัติครบถ้วนตามคำสั่งของศาลโลก นอกจากนี้ ไทยได้ยกข้อมูลชี้แจงต่อศาลโลกเพื่อหักล้างข้อมูลฝ่ายกัมพูชาที่ได้ชี้แจงต่อศาลไปเมื่อวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา อย่างครบถ้วน และที่สำคัญมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2505 ไทยก็ยอมรับคำพิพากษาศาลโลก และไทยได้มีการนำรั้วลวดหนามมาล้อมบริเวณปราสาท ซึ่งทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกัน และไทยได้เคลื่อนย้ายธงชาติพร้อมทหารออกจากพื้นที่ ขณะที่บาทสมเด็จพระเจ้านโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชา ก็ได้เข้าไปเฉลิมฉลองในพื้นที่ และถือเป็นความชัดเจนเมื่อ 50 ที่แล้ว อีกทั้ง กัมพูชาได้แถลงต่อสหประชาชาติว่าไทยได้ดำเนินการครบถ้วน ยืนยันว่ากัมพูชาไม่มีอำนาจขอให้ศาลตีความ เนื่องจากศาลเคยปฏิเสธมาแล้ว และทีมทนายความต่อสู้พระวิหาร ได้นำเสนอข้อมูลชัดเจน โดยเฉพาะแผนที่ 1:200,000 หรือระวางดงรัก ในปี 2505 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุผลว่าปราสาทอยู่ในอธิปไตยกัมพูชาไม่ใช่เรื่องเขตแดน และตัวคำให้การฝ่ายทนายกัมพูชามีการปรับเปลี่ยน (vicinity) “บริเวณใกล้เคียง” มาเป็น (territory) “เขตแดน” ดังนั้น จึงเป็นการนำเสนอเรื่องใหม่ โดยไม่มีข้อมูล 4.6 ตร.กม.
เชื่อเขมรไร้ข้อมูลใหม่ตอบโต้
นายไกรรวี กล่าวต่อว่า อีกทั้ง น.ส.อลินา มิรอง ทนายความฝ่ายไทย ได้นำเสนอข้อมูลอย่างแนบเนียน พร้อมชี้ให้ศาลโลกเห็น และยากที่กัมพูชาจะหาข้อมูลมาหักล้างเกี่ยวกับแผนที่ที่มีอยู่หลายฉบับ และประเด็นที่ผู้พิพากษาศาลโลกขอให้ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องอาณาเขตนั้น เรื่องนี้ศาลอาจมองว่า 2 ฝ่ายมีเหตุผลอะไรสนับสนุนหลักฐานของตัวเอง ซึ่งศาลย้ำว่าต้องเป็นหลักฐานที่เคยยื่นต่อศาลมาแล้ว ซึ่งไทยพร้อม เพราะศึกษาเรื่องแผนที่มานานหลายปี สำหรับเรื่องดังกล่าวจะนำไปสู่การตีความเรื่องเขตแดนหรือไม่นั้น เห็นว่าการตีความของศาล ไม่สามารถตีความเกินกว่าคดีเดิมได้ ซึ่งเรื่องเขตแดน เป็นเรื่องนอกเหนือจากคดีเดิม แต่ทั้งนี้ ต้องรอดูศาล ไม่สามารถตอบได้ว่าศาลจะเห็นอย่างไร เชื่อว่า ประเด็นที่กัมพูชาจะนำมาตอบโต้ฝ่ายไทยวันนี้ (18 เม.ย.) ไม่น่ามีอะไรใหม่ เพราะกัมพูชาก็อ้างแต่เรื่องของแผนที่ภาคผนวก 1 หรือ แผนที่ 1:200,000 อย่างไรก็ตาม น.ส.อลินา ได้ชี้แจงให้ศาลเห็นแล้วว่าสถานะทางกฎหมายทางแผนที่กัมพูชามีมากน้อยแค่ไหน
“มาร์ค” ชมทูตวีรชัยเตรียมข้อมูลมาดี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องขอแสดงความชื่นชมนายวีรชัย พลาดิศัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก และคณะทนาย ที่ได้ต่อสู้อย่างเข้มแข็ง แล้วก็เตรียมข้อมูลหลายเรื่องมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกรณีของแผนที่ การอ้างอิงกลับไปในคำวินิจฉัย หรือคำพิพากษาเดิม ซึ่งชี้ชัดว่ามันไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะมาชี้เรื่องเขตแดน เรื่องแผนที่ แล้วก็ลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ที่พูดถึงความพยายามของทางฝ่ายกัมพูชา ที่จะเรียกว่าอุทธรณ์หรือจะเรียกว่ามาขอให้มีการกลับคำตัดสินกันใหม่ แล้วก็การรุกคืบขึ้นมาผ่านกระบวนการเรื่องมรดกโลก เรื่องอะไร ประเด็นก็ค่อนข้างจะครอบคลุม แล้วก็ได้นำเสนอได้อย่างดี อยากจะให้รัฐบาลสนับสนุน ให้กำลังใจในการต่อสู้อย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง เพราะว่า ยังไม่จบ เพราะฉะนั้นวันนี้ก็คงต้องเตรียมฟังต่อว่าทางฝ่ายกัมพูชาเองจะมีการหักล้าง หรือมีการนำเสนอประเด็นอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไรก็ตามของเราเองนั้นคิดว่า ก็ควรที่จะต้องมีการดำเนินการในการไปสำรวจ ตรวจสอบ ทั้งสิ่งที่กัมพูชาจะแถลงในวันนี้ แล้วก็แถลงมาเมื่อวันก่อนว่ายังมีประเด็นใดที่จำเป็นจะต้องไปหักล้างเพิ่มเติม ตนสังเกตว่า ประเด็นที่เราได้นำเสนอได้เป็นอย่างดี ในเรื่องของข้อเท็จจริงต่างๆ นี้ในวันแรก กัมพูชาพยายามคงจะเดาออก เช่นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแผนที่ก็ดี แล้วก็ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ MOU 2543 ก็ดี สังเกตว่า ทางกัมพูชาพยายามที่จะพูดไว้ล่วงหน้าว่า ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี หรือว่าไม่สามารถที่จะนำมาประกอบการพิจารณาได้ ไปอ้างอิงข้อกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งประเด็นเหล่านี้คิดว่าอยากให้ฝ่ายไทยได้หักล้างให้ชัดเจนไปเลยว่า ทำไมมันเกี่ยวข้องแล้วก็สิ่งที่กัมพูชาพยายามสร้างความสับสนขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้เห็นว่าศาลต้องรับคดีนี้มันเกิดความสงสัยอะไรต่างๆ ความไม่ชัดเจน เช่นไปอ้างอิงว่า ครม. เมื่อปี 2505 ยังมีทางเลือกเลยว่าจะขีดเส้นอะไรทางไหนตรงไหน ซึ่งความจริงไม่ใช่ประเด็น
เลื่อนนิรโทษฯ ผ่านฉลุย
ต่อมา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดย นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอขอให้เลื่อนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ… (ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ) ขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรก โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนที่ถูกคุมขังโดยไม่มีความผิด และย้ำว่า จะไม่นำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ทั้ง 4 ฉบับ เข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนจะพิจารณาเมื่อใดขึ้นอยู่กับที่ประชุม ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นความพยายามจะช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้พ้นผิด และไม่ครอบคลุมการช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม จากนั้น ประธานในที่ประชุมให้ลงมติเลื่อนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรกหรือไม่ โดยมีผู้ลงชื่อประชุม 338 คน เห็นด้วยกับการปิดอภิปราย 284 คน ไม่เห็นด้วย 43 คน งดออกเสียง 1 คน และไม่ลงคะแนน 10 คน ส่วนการลงมติขอเลื่อน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มาเป็นเรื่องด่วน โดยมีผู้ลงชื่อประชุม 347 คน เห็นด้วยกับการเลื่อน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเรื่องด่วน 283 คน ไม่เห็นด้วย 56 คน งดออกเสียง 4 คน และไม่ลงคะแนน 4 ค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น