วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

ไทยเอาคืนเขมร!!! ยก "กม.ปิดปาก"สู้-กรณี "สีหนุ"เสด็จฯพระวิหาร เมื่อ 16 เม.ย.56


ไทยเอาคืนเขมร!!! ยก "กม.ปิดปาก"สู้-กรณี "สีหนุ"เสด็จฯพระวิหาร

ยังมีข้อมูลพื้นฐานการต่อสู้เรื่องเขาพระวิหารที่ต้องทำความเข้าใจอีกพอสมควรโดยเฉพาะ เรื่องแผนที่สันปันน้ำและมาตราตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน รวมไปถึงการต่อสู้ของไทยด้วยวิธีการดาบนั้นคืนสนอง หรือกฎหมายปิดปาก
กัมพูชานำโดยนายฮอร์นัมฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ พร้อมกับทีมงานชุดเดิมเมื่อปี2554 ซึ่งประกอบด้วย นายวาร์กิมฮอง รัฐมนตรีอาวุโสและประธานคณะกรรมาธิการชายแดนแห่งชาติ กับนายลองวิสาโล รัฐมนตรีช่วยว่าการที่คร่ำหวอดในวงการมานานที่สุดอีกคนหนึ่ง กับทีมผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่าง ประเทศ
ในการสู้คดีคราวนี้ กัมพูชา ยื่นเอกสารต่อศาลโลก จำนวน 300 หน้า โดยประเด็นที่เป็นสาระสำคัญที่สุดที่กัมพูชายกขึ้นต่อสู้คือ ศาลโลกได้พิจารณาเรื่องเส้นเขตแดนและแผนที่ 1:200,000แล้วจึงมีคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี พ.ศ.2505 ที่ตัดสินว่าปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และการขอให้ศาลตีความคำพิพากษาก็เพื่อทำให้เรื่องนี้เป็นที่ชัดเจนสิ้นสงสัย
แต่ในมุมมองของฝ่ายไทยเส้นเขตแดนและแผนที่เป็นคำขอเพิ่มเติมที่กัมพูชาเคยร้องขอต่อศาลโลกในการฟ้องคดีเมื่อ51ปีมาแล้ว และคำตัดสินของศาลโลก เมื่อปี พ.ศ.2505นั้น ไม่ได้ชี้ขาดในเรื่องเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาที่ฝ่ายกัมพูชาขอให้เป็นไปตามแผนที่ 1:200,000 แต่อย่างใด
จากฝ่ายกัมพูชา เราข้ามมาดูฝั่งประเทศไทยของเรากันบ้าง
ทีมสู้คดีฝ่ายไทยนั้น ยังคงหัวหน้าทีมคนเดิมคือ ดร.วีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก และมีรัฐมนตรีว่าการจาก 3กระทรวงเข้าร่วมด้วย คือ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะมือหนึ่งด้านกฎหมายของพรรคเพื่อไทย และพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ
การสู้คดีคราวนี้ ฝ่ายไทย จะพิสูจน์ ให้ศาลโลกเห็นว่า นับแต่ศาลโลกมีคำพิพากษา เมื่อปี พ.ศ. 2505 ฝ่ายไทยได้ปฏิบัติตามคำตัดสินโดยขีดเส้นกำหนดอาณาเขตปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10  กรกฎาคม  2505 และกัมพูชาไม่เคยคัดค้านมาตลอด ถือว่ากัมพูชายอมรับแล้ว
หลักฐานที่เป็นหมัดเด็ดของไทยในครั้งนี้ถูกเรียกขานว่าดาบนั้นคืนสนอง เรื่องกฎหมายปิดปากที่ทำให้ไทยของเราเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ประเทศกัมพูชาเมื่อ 51 ปีที่แล้ว
นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า คดีปราสาทพระวิหารนั้นประเทศไทยมีหลักฐานใหม่คือ หลังการล้อมรั้วรอบปราสาทพระวิหารตามคำพิพากษาศาลโลก ในปี 2506 พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ กษัตริย์กัมพูชา ในขณะนั้น ได้เคยเสด็จฯ ขึ้นไปบนเขาพระวิหารโดยไม่ได้เคยโต้แย้งหรืออุทธรณ์การปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกของฝ่ายไทย ซึ่งจะนำหลักฐานภาพถ่ายดังกล่าวไปแสดงต่อศาลในวันที่15-19เมษายน 2556 นี้
นี่เป็นการใช้กลวิธีดาบนั้นคืนสนองต่อกัมพูชาของฝ่ายไทย เพราะในการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี2505ฝ่ายกัมพูชาได้นำภาพสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ขึ้นไปบนปราสาทพระวิหารโดยมีทหารฝรั่งเศสให้กับต้อนรับและมีการเชิญธงชาติฝรั่งเศสขึ้นเหนือตัวปราสาท ซึ่งเท่ากับว่าไทยได้รับรู้มาตลอดว่าปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่ของกัมพูชาและการที่ไทยไม่เคยโต้แย้งเลย ศาลจึงเห็นว่าเท่ากับไทยยอมรับและทำให้ไทยแพ้คดี
นอกจากนั้นแล้ว ว่ากันว่า กระทรวงการต่างประเทศยังมีไพ่เด็ดอยู่ในมืออีกหนึ่งก็คือ โทรเลขของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ เมื่อครั้งยังเป็นประมุขของกัมพูชา ที่ส่งถึงรัฐบาลไทยตั้งแต่คราวศาลโลกตัดสินครั้งแรกเมื่อปี2505 โดยถ้อยคำที่ปรากฏในโทรเลขฉบับนั้นระบุในทำนองที่ว่า "ได้แค่นี้ก็พอใจแล้ว"แถมยังมีหลักฐานการส่ง "บรั่นดี" มาให้ไทยดื่มฉลองร่วมกันด้วย        
ประโยคที่ว่า "ได้แค่นี้ก็พอใจแล้ว" ทำให้ฝ่ายไทยเชื่อว่า กัมพูชาได้ยอมรับการขีดเส้นอาณาบริเวณรอบตัวปราสาทตามมติคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2505 แล้ว        
ทั้งท่าทีที่กัมพูชาไม่เคยคัดค้านการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกของฝ่ายไทยที่ขีดเส้นอาณาเขตบริเวณปราสาทพระวิหาร ทั้งภาพเด็ดของสมเด็จนโรดมสีหนุขึ้นเขาพระวิหารโดยยอมรับรั้วกั้นแบ่งเขตตามคำสั่งศาลโลก และโทรเลขแสดงความพึงพอใจในคำสั่งศาลโลกของประมุขกัมพูชา ทำให้ฝ่ายไทยประเมินว่าจะพลิกเกมจากการตกเป็นรองขึ้นมาตีเสมอถึงน็อกเอาต์คู่ต่อสู้ได้
อย่างไรก็ตามเพื่อให้คุณผู้ชมเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับพื้นที่พิพาทตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา สำนักข่าวทีนิวส์ของลำดับความเข้าใจกับคุณผู้ชมดังต่อไปนี้ โดยประเทศไทยมีชายแดนติดกับกัมพูชาตั้งแต่ ตราด จันทรบุรี สระแก้ว  บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี
ภาพ ที่ 1 ภาพแสดงลักษณะเขตแดนไทยพื้นที่สีเขียว กัมพูชา พื้นที่สีขาว
มีเส้นเขตแดน 2 ประเภทคือ
1.เส้นเขตแดนถาวรที่ไทยอ้างโดยใช้สันปันน้ำและหน้าผาที่มีความชัดเจนตามธรรมชาติ จากหลักเขตที่ 1 ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันออกจนสุดที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี ความยาว 195 กิโลเมตร หรือ เส้นสีน้ำเงิน
ขณะที่กัมพูชาอ้างแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน 
2.เส้นเขตแดนที่ไม่ชัดเจนและมีการทำหลักเขตแดน ตั้งแต่ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันตกและลงมาทางใต้จนสุด บ้านหาดเล็ก จ.ตราด ความยาม 603 กิโลเมตร มีการจัดทำหลักเขตแดนทางบกตั้งแต่หลักที่ 1 ถึง 73 หรือ เส้นสีแดง
ประเด็นปัญหาในส่วนนี้ ให้พิจารณาเฉพาะเขตแดนความยาว195 กิโลเมตร หรือ เส้นสีน้ำเงิน ที่ฝ่ายไทยอ้างแผนที่สันปันน้ำ ขณะที่กัมพูชาอ้าง 1 ต่อ 2 แสน นั่นหมายความว่าหากศาลการตัดสินโดยยึดแผนที่ใดแล้ว ก็จะกระทบกับเขตแดนในระยะทาง 195 กิโลเมตร ตั้งแต่ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันออกจนสุดที่ช่องบก จ.อุบลราชธานี
ภาพที่ 2 เส้นเขตแดนที่สำรวจและปักปันเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2447 (ค.ศ. 1904) โดยฝ่ายสยามยึด หลักสันปันน้ำ มาเป็นเส้นแบ่งเขตแดนสยาม-กัมพูชา
ภาพที่ 3 สังเกตเส้นสีน้ำเงิน คือการลากเส้นแผนที่ตามมาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน
ภาพ ที่ 4 เส้นเขตแดนของไทยที่ยึดถือหลังคำพิพากษาศาลโลก สีแดง และได้ล้อมรั้ว ตามเส้นสีเหลือง สำหรับแนวปฏิบัติการให้เจ้าหน้าที่ไทยถอนออกจากพื้นที่ดังกล่าวตามคำพิพากษา ศาลโลก
ทั้งนี้เมื่อเอาทุกเส้นมาวางไว้บนแผนที่ก็จะพบว่ามีการทับซ้อน กันหลายจุด จนเป็นที่มาของคำว่าพื้นที่ทับซ้อน หรือพื้นที่พิพาท โดยถ้านับเฉพาะเขาพระวิหารก็จะอยู่ที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร แต่ถ้านับตลอดแนวความยาว 195 กิโลเมตร ก็อาจมากเป็นหลายแสนไร่ ของจ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี
ในความหมายและที่มาของแผนที่ระวางดงรักหรือ 1 ต่อ 2 แสน และแผนที่สันปันน้ำมีที่มาอย่างไรพิจารณาได้ดังนี้
เริ่มจาก แผนที่ระวางดงรักหรือ 1 ต่อ 2 แสน ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) ฝรั่งเศสได้ส่งเรือปืนเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา และบังคับให้สยามยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส ซึ่งสยามได้เสียลาวและกัมพูชาให้ฝรั่งเศสในปีนั้น ต่อมาไม่นานฝรั่งเศสก็ยึดจันทบุรีและตราดได้ จนเป็นเหตุให้สยามต้องทำสนธิสัญญากับฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2447 (ค.ศ. 1904) ยกหลวงพระบางกับดินแดนทางใต้ของเทือกเขาพนมดงรักให้ฝรั่งเศสแลกกับจันทบุรี   
สนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส พ.ศ. 2447 (ค.ศ. 1904) ฝ่ายสยามยึด หลักสันปันน้ำ มาเป็นเส้นแบ่งเขตแดนสยาม-กัมพูชา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา    
แต่ในอีก 3 ปีต่อมา พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) สยามทำสนธิสัญญายกเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณให้ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองด่านซ้าย ตราด และเกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ใต้แหลมสิงไปจนถึงเกาะกูดคืนมาเป็นของสยาม    
สนธิสัญญานี้เองเป็นที่มาของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างอินโดจีนกับสยาม ซึ่งได้ทำแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ที่ไม่มีการยึดหลักสันปันน้ำ และเป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ในทางภูมิศาสตร์ เพราะเป็นการปักปันเขตแดนที่ขีดเอาตามอำเภอใจแต่ฝ่ายเดียวเพื่อเอาเปรียบสยาม ฝ่ายสยามไม่เคยได้รับรู้แผนที่ดังกล่าวที่ฝ่ายฝรั่งเศสทำ แต่ฝ่ายสยามก็มิได้ทักท้วงแต่ประการใด
เมื่อเวลาผ่านไป 42 ปี กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสเมื่อ พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) ฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากกัมพูชา ฝ่ายกัมพูชาได้เรียกร้องขอคืนปราสาทพระวิหารจากไทย และได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959)     
โดยกัมพูชาได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และพยายามให้ศาลพิพากษารับรองแผนที่ที่ทำขึ้นโดยฝรั่งเศสตามสนธิสัญญา พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ซึ่งเป็นแผนที่ 1 ต่อ 200,000 อยู่ในภาคผนวก 1 ท้ายคำฟ้อง
แต่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่ได้พิพากษาทั้งแผนที่ท้ายคำฟ้องและเส้นเขตแดนตามที่กัมพูชาร้องขอแต่ประการใดมาต่อกันที่แผนที่สันปันน้ำกันบ้าง
เกี่ยวกับเขตแดนระหว่างประเทศ หรือ International Boundary มีการถือเอาหลักตามธรรมชาติแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ อยู่หลายแบบด้วยกัน
เขตแดนระหว่างประเทศ : เส้นที่สมมุติขึ้นโดยประเทศทวิภาคี เพื่อกำหนดเป็นขอบเขตให้รู้ว่าอำนาจอธิปไตยของตนมาสิ้นสุดที่เส้นนี้ เส้นสมมุติดังกล่าวอาจเขียนขึ้นบนแผนที่ หรือแสดงด้วยถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ จะแสดงหลักฐานบนพื้นดิน เช่น ปักหลักเขตแดนด้วยหรือไม่ก็ได้ มีความหมายเช่นเดียวกับ International Boundary หนึ่งในนั้นคือWatershed สันปันน้ำ คือ ลักษณะของพื้นดินที่สูงกว่าบริเวณอื่นที่ต่อเนื่องกัน เมื่อฝนตกจะแบ่งน้ำออกเป็น ๒ ส่วน เช่น สันเขาที่ต่อเนื่องกันโดยไม่มีลำน้ำตัดผ่าน
ซึ่งเมื่อพิจารณาแผนที่ด้านลึกตามแนวพรหมแดนไทยกัมพูชาก็จะเห็นเป็นลักษณะสันเขาหรือสันปันน้ำอย่างชัดเจน โดยถ้าหากใช้โปรแกรมกูเกิลเอิร์ธ ตรวจสอบ ปราสาทและพื้นที่เข้าพระวิหาร จะอยู่ในฝั่งสันปันน้ำของไทยอย่างชัดเจน
ซึ่งการที่กูเกิลเอิร์ธระบุแผนที่ดังกล่าว ก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับประเทศกัมพูชาเป็นอย่างมากเพราะจะเสียเปรียบประเทศไทยทันที
แต่ทว่า นิยามศัพท์ สันปันน้ำ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่ปรากฎในการทำเอกสารข้อมูล 50 คำถามเรื่องเขาพระวิหาร ที่เผยแพร่กับประชาชนระบุไว้ว่า    
สันปันน้ำ คือ แนวสันต่อเนื่องในภูมิประเทศ เมื่อฝนตกจะแบ่งน้ำเป็นสองส่วน ซึ่งอาจไม่ใช่สันเขาหรือขอบหน้าผาก็ได้ โดยปกติต้องใช้เครื่องมือทางเทคนิคในการพิสูจน์หาสันปันน้ำ ทั้งนี้ ตรงบริเวณปราสาทพระวิหาร จนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริง    
คำว่า จนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริง ทำให้หลายฝ่ายของไทยเป็นกังวลว่า เป็นการให้ข้อมูลที่จะทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบกัมพูชาทันที
เมื่อเข้าใจข้อมูลพื้นฐานแล้ว เราก็จะได้เริ่มติดตามกันว่าเนื้อหาของการพิจารณาคดีที่เกิดขึ้น
โดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ได้พาคณะส.ว. และเจ้าหน้าที่ ประมาณ 20 คน อาทิ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร นายสมชาย แสวงการ, นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา, น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ร่วมเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์และรับฟังกระบวนการดำเนินคดี ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
โดยนายคำนูณ มองว่าศาลน่าจะรับคำร้องของกัมพูชา พร้อมกับระบุถึง ผลการตัดสินในครั้งน่าจะมีด้วยกันอยู่ 3 ทางคือ
1 ศาลพิพากษาว่าคำพิพากษาเมื่อปี 2505 สมบูรณ์ดีอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อไทย
2 ศาลพิพากษาว่าอาณาบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นไปตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน  ซึ่งจะเข้าทางของกัมพูชาอย่างเต็มตัว
และ 3 ศาลอาจกำหนดอาณาบริเวณขึ้นใหม่เลยก็เป็นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น