วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ข่าวลอบสังหาร 'ทักษิณ' สมช.-สตช.ต้องมีศักดิ์ศรี บทบรรณาธิการ 7 November 2555 - 00:00



กลายเป็นความสับสนที่สร้างความมึนงงให้เกิดขึ้นในสังคม
อย่างมาก กับข่าวการลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังเจ้าหน้าที่ป้องกันปราบปรามยาเสพติดของพม่าจับกุมผู้ต้องหา 1 ราย พร้อมอาวุธสงคราม จรวดอาร์พีจี 3 ลูก ดินส่ง 3 ชุด กระสุนปืนเอ็ม 16 อีก 10 นัด บริเวณใกล้โรงแรมที่พันตำรวจโททักษิณจะมาพักและเข้าสักการะพระธาตุชเวดากองจำลองฝั่งประเทศพม่า ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรกันแน่ เพราะหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย ไม่ว่าจะเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ข้อมูลเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่มีความชัดเจน 
    แรกเริ่มที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายพันตำรวจโททักษิณ ออกมาเปิดประเด็นการตรวจยึดจรวดอาร์พีจีในฝั่งท่าขี้เหล็ก มีผู้จ้างวานโดยคนไทยเตรียมก่อเหตุลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณ ระหว่างเข้าสักการะพระธาตุชเวดากอง และพยายามเชื่อมโยงข่าวการลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณในหลายครั้งๆ ที่เกิดขึ้น พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็ยืนยัน "สภาความมั่นคงแห่งชาติได้มีการตรวจสอบไปแล้วพบว่าไม่มีการเชื่อมโยงกรณีที่พันตำรวจโททักษิณจะเดินทางไปพม่า และไม่เชื่อมโยงการเมืองในบ้านเรา" รวมทั้งพลตำรวจตรีปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ระบุว่า "เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่พบด้านการข่าวว่าการจับอาวุธดังกล่าว จะมีความเกี่ยวข้องกับการลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณหรือไม่"
    แต่พอนายพานทองแท้ออกมาตอกย้ำการลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณ รวมทั้งร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี รับลูกการลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณจากนายพานทองแท้ ยืนยันได้รับรายงานข่าวการลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณมาก่อนหน้านี้ และเล่าเรื่องเป็นขั้นเป็นตอนว่า ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมอาวุธสงครามรับสารภาพมีเป้าหมายสังหารพันตำรวจโททักษิณระหว่างเดินทางไปทำบุญพระธาตุชเวดากอง หน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศ ทั้งสภาความมมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เปลี่ยนข้อมูลใหม่ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
    พลโทภราดร กลับบอกว่า "การซุกซ่อนอาวุธครั้งนี้มีแผนลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณสอดแทรกอยู่ด้วย เพราะคนที่ถูกจับยอมรับสารภาพแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงผู้จ้างวาน ซึ่งประมาทไม่ได้" เช่นเดียวกับพลตำรวจตรีปิยะ ก็กลับลำใหม่ บอกว่า "จากการตรวจสอบด้านการข่าวของตำรวจสันติบาล และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กรณีมีการจับอาวุธสงครามจำนวนมาก บริเวณชายแดนไทย-พม่า และมีการเชื่อมโยงว่าอาวุธสงครามดังกล่าว จะนำไปลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณที่จะเดินทางมาทำบุญใน จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ซึ่งอยู่ตรงข้าม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เบื้องต้น ข้อมูลด้านการข่าวสอดคล้องกับที่ร.ต.อ.เฉลิม ออกมาระบุก่อนหน้านี้ว่า มีการเตรียมลอบสังหารจริง"
    อะไรคือข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่ประชาชนควรรับรู้ รับทราบ และเหตุใดหน่วยงานด้านความมั่นคงระดับประเทศของไทย ทั้ง 2 หน่วยงาน ถึงมีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เป็นสิ่งที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องออกมาคลายข้อฉงนสงสัยที่เกิดขึ้น เพราะการออกมาพูดของทั้งนายพานทองแท้ หรือร้อยตำรวจเอกเฉลิม จะยืนยันเรื่องการลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณเช่นไรก็ตาม ถือเป็นข้อมูลจากประชาชนคนหนึ่ง นักการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งสามารถเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ตามข้อมูลความรู้ที่ได้รับ หรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น แต่สำหรับทั้ง 2 หน่วยงาน ที่เป็นหน่วยงานความมั่นคง ที่นอกจากดูแลความมั่นคงในประเทศแล้ว ยังเป็นหน่วยงานที่ต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนานาประเทศต่อประเทศไทยด้วย การจะออกมายืนยันฟันธงเรื่องใดก็ตามต้องมีข้อมูล มีหลักฐาน มีความชัดเจน ไม่ใช่การพูดลอยๆ 
    เราเห็นว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่สำคัญเกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคงของประเทศ มีศักดิ์ มีศรีของหน่วยงาน การกระทำใดๆ ที่ดูหลักลอย ไม่ชัดเจน ไม่ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้น ทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้กับหน่วยงานตัวเอง รวมทั้งความน่าเชื่อถือให้กับประเทศชาติ โดยเฉพาะกับกรณีนี้ด้วยการพิสูจน์คำยืนยันในเรื่องขบวนการลอบสังหารพันตำรวจโททักษิณ ว่ามีใครเกี่ยวข้อง วิธีการเช่นไร มีหลักฐานอะไรที่ทำให้หน่วยงานความมั่นคงระดับชาติถึงเชื่อว่ามีขบวนการลอบสังหารจริงๆ และหากเป็นไปได้ควรที่จะติดตามจับกุมขบวนการเหล่านี้มาลงโทษตามกระบวนการกฎหมาย อย่าปล่อยให้เรื่องเงียบหายหรือปล่อยไปตามสายลม มิฉะนั้น สังคมอาจจะเคลือบแคลงและสงสัยในสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าเป็นเพียงแค่หน่วยงานรับใช้การเมืองเท่านั้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น