วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เรื่องข้าว "ทักษิณ" มาพนันกันมั้ย?-ถ้าแพ้ผมลาออกจากทีดีอาร์ไอ รายงานพิเศษ 12 November 2555 - 00:00



 “ผมได้ข้อมูลจากบริษัทที่นั่น ระบุว่า 3 ล็อตที่ผ่านมาไม่ได้ซื้อจากประเทศไทยเลย แต่ซื้อจากประเทศเวียดนามทั้ง 3 ล็อต พอถามข้อมูลดูรู้ เขาก็เริ่มปิดข้อมูลทั้งหมด จากเดิมข้อมูลจำนำข้าวออกมาทุกวัน”  
    นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
       จากการที่ข้าราชการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สปน.) ได้มีหนังสือฉบับหนึ่ง ที่ลงนามโดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ไปถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับผลกระทบด้านการคลัง จากการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าว ชี้ให้เห็นอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานโครงการฯ นี้ 
       ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.หนี้สาธารณะวงเงินที่รัฐบาลจะค้ำประกันได้กับเงินให้กู้ต่อ ประมาณ 4.4 แสนล้านบาท แต่เงินที่จะกู้มาใช้ในการจำนำข้าวเพียงอย่างเดียวอยู่ 66% หมายความว่ารัฐบาลจะเหลือเงินที่จะค้ำประกันอีก 34% แปลว่าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ 2.27 ล้านล้านบาท ที่พรรคเพื่อไทยกำลังโหมประชาสัมพันธ์อยู่นั้นจะเจ๊ง ดำเนินงานไม่ได้ เพราะเหลือเงินอยู่น้อยมาก
        กระทรวงการคลังก็เลยออกหนังสือฉบับดังกล่าวออกมา และหนังสือฉบับต่อไปที่ลงนามโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาว่า กระทรวงการคลังจะค้ำประกันหนี้สาธารณะที่ ธ.ก.ส.กู้เพียง 1.5 แสนล้านบาท ที่เหลืออีกเท่าไหร่ก็ตาม กระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกัน แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า กระทรวงการคลังไม่อยากค้ำประกันหนี้ของโครงการจำนำข้าว เพราะหากค้ำประกันหนี้ส่วนนี้จะไม่มีเงินเหลือไปทำอย่างอื่น
          ประการต่อมา กระทรวงการคลังเขียนระบุในหนังสือว่า ตอนนี้ต้องมีการปิดบัญชี มีการชำระหนี้จากการดำเนินการโครงการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร มีข้อเสนอหลายประการ ในจดหมายฉบับนั้นระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ต้องรายงานการระบายสินค้า ปริมาณ และมูลค่าคงเหลือให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณทุกไตรมาส กรมการค้าต่างประเทศต้องรายงานการระบายข้าว ปริมาณมูลค่าคงเหลือและอุปสรรคต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง หน่วยงานต้องดูแลข้าวสวมสิทธิ์จากต่างประเทศ หน่วยงานจะต้องหาทางแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถขายข้าวส่งออกได้ เนื่องจากราคาจำนำสูงกว่าตลาดโลก
        พร้อมเสนอมาตรการป้องกันทุจริต กำหนดราคารับจำนำให้เหมาะสม หาทางลดต้นทุนการผลิต เรื่องเหล่านี้ซึ่งไม่มีทางเกิด มีกำหนดแผนการระบายข้าว การปิดบัญชีกรมการข้าว พร้อมรายงานเหตุที่ไม่สามารถดำเนินการตามแผน ประกาศโดยเปิดเผยหลักเกณฑ์วิธีการรายละเอียดเกี่ยวกับการจำนำข้าว การจำหน่ายข้าวที่อยู่ในโกดัง ที่สำคัญให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แยกบัญชีจำนำข้าว เพื่อให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณชำระคืนผลขาดทุนภายในปีงบประมาณ หรือไม่เกินปีงบประมาณถัดไป เพื่อลดภาระดอกเบี้ย
        เดิมกู้เงิน ธ.ก.ส. ก็จะจ่ายให้เกษตรกร ถ้ารัฐบาลได้ข้าวมาแล้วไม่ขายข้าวก็จะเสียดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ทบไปเรื่อยๆ ทุกปี ตอนนี้ที่ปล่อยเพราะเงินต้นปีเดียวกว่า 3 แสนล้าน ถ้าดอกเบี้ยทบต้นจะยิ่งมโหฬาร จึงบังคับให้หน่วยงานที่ได้รับเงินจากการจำหน่ายสินค้า ส่งเงินคืนแก่ ธ.ก.ส.ภายใน 3 วัน แล้ว ธ.ก.ส.ชำระหนี้ภายใน 3 วัน เพราะดอกเบี้ยที่ไปกู้ต่อแพงมาก จึงเห็นการพยายามลดภาระหนี้ชัดเจน และสั่งให้ดูแลคลังสินค้าไม่ให้สูญหาย หากสูญหายต้องชดใช้ให้รัฐซึ่งเวลาชดใช้ให้รัฐก็เป็นเงินภาษี ไม่ใช่เงินข้าราชการ และให้หน่วยงานปิดบัญชีโครงการรับจำนำปี 2555 รายงานภายใน 2 ปี และให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ปิดบัญชีโครงการภายใน 3 เดือน นับจากวันสิ้นสุดโครงการจำนำและส่งรายงานแก้อนุกรรมการปิดบัญชี
         แต่ทั้งหมดนี้ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูล เป็นเพียงระบบราชการ แต่อย่างน้อยเห็นแล้วว่าภาวะนี้เรียกได้ว่าซีเรียสมาก แรงมาก
         ข้าราชการที่รับผิดชอบและเขียนเรื่องนี้เอง รู้เรื่องดีมาก และนายกิตติรัตน์กล้าเซ็น เพราะถ้าใช้เงินปีละกว่า 3 แสนล้านบาท จะตกเป็น 3% ของจีดีพี จากเกณฑ์การก่อหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 60% ของจีดีพี ขณะนี้ถ้ารวมหนี้ที่โอนไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ 50% แล้ว หากรวม 3% และไม่ขายข้าว 3 ปี 9% และขายข้าวได้ยาก ขายขาดทุนแน่นอน กระทรวงพาณิชย์ จึงเรียกผู้ส่งออกเข้าไปขอความร่วมมือ หลังจากปีที่ผ่านมาเป็นศัตรูกันมาตลอด ซึ่งผู้ส่งออกเสนอเรื่องข้าวหอมว่าสีแล้วให้ส่งคลังผู้ส่งออกเลย แต่ข้าวอื่นๆ ยังไม่เจรจา  
         อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศคนเก่า 2 ท่าน เล่าว่า อดีตการค้าข้าวแบบจีทูจีเก่งที่สุด 8 แสนตันต่อปี ถ้าจะไปถามข้อมูลเรื่องนี้กับอธิบดีคนปัจจุบันก็คงจะไม่ได้คำตอบ  
        ส่วนกรณีการระบายข้าวจีทูจีกับจีน 5 ปี แต่รัฐบาลบอกไม่ได้เซ็น MOU แต่ถามว่าใครจะทำสัญญา 5 ปีล่วงหน้า จีนเป็นประเทศเดียวที่มีโอกาสซื้อจากไทย แต่ที่อินโดนีเซียซื้อไปในปีนี้อีก 3 ล็อต ผมได้ข้อมูลจากบริษัทที่นั่น ระบุว่า 3 ล็อตที่ผ่านมาไม่ได้ซื้อจากประเทศไทยเลย แต่ซื้อจากประเทศเวียดนามทั้ง 3 ล็อต
         พอถามข้อมูลดูรู้ เขาก็เริ่มปิดข้อมูลทั้งหมด จากเดิมข้อมูลจำนำข้าวออกมาทุกวัน ตั้งแต่สมัยนายอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี) ทำโครงการประกันรายได้ กระทรวงพาณิชย์มีการทำข้อมูลรายวัน แต่เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อมูลปิดทั้งหมด เพื่อปิดปากไม่ให้ได้ติดตามเรื่องนี้ แต่ผมก็มีวิธีหาข้อมูลของผมพอสมควร
        จีทูจีในแต่รัฐบาลล้วนต้องการซื้อของถูก อย่างกรณีมาเลเซีย รัฐบาลก็ไปเจรจาว่าจะขายข้าวให้ โดยมาเลเซียให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ซื้อ ขณะนี้มาเลเซียมีระบบที่ดีที่สุด เอกชนจะซื้อข้าวที่ราคาถูกที่สุด คนที่ประมูลได้ต้องเก่งที่สุด ประเทศไทยมีบริษัท พงษ์ลาภ ขายได้เป็นประจำ เขาไม่ได้สนใจรัฐบาลไทยว่าต้องขายในราคาที่กำหนด สรุปไทยขายให้มาเลเซียไม่ได้
           “ใครบ้างที่จะซื้อข้าวราคาแพง เพื่อช่วยเหลือพรรคเพื่อไทย มีเหตุผลอะไรที่ต้องมาช่วยเหลือ ใครก็อยากจะซื้อในราคาที่ต่ำที่สุดทั้งนั้น เพราะเป็นเงินภาษีจากประชาชน”
     ประการต่อมา ถ้าค่าใช้จ่ายแพงก็ต้องมีใต้โต๊ะ อินโดนีเซียมีใต้โต๊ะเยอะมาก อย่างบลูล็อก เวลาซื้อต้องปิดบัง เพราะในทางการเมืองต้องซื้อถูก แต่เขาซื้อแพง
       โดยตั้งบริษัทนายหน้าซื้อตรงจีทูจี และวิธีต่อมาให้บริษัทเอกชนซื้อแล้วมาขายให้รัฐบาล ฝ่ายไทยไปเจรจาขายข้าว แต่ไม่สามารถขายได้ เพราะรัฐบาลไทยไม่สามารถจ่ายใต้โต๊ะได้ ข้าราชการไทยจะไม่มีใครกล้าทำ กรณีนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบจะให้เอกชนเอาข้าวล็อตนั้นไปจัดการ เอกชนไทยก็จะเป็นผู้ขายข้าวและจ่ายใต้โต๊ะให้กับอินโดนีเซีย
         “จีทูจีมีใต้โต๊ะ 100% และเป็นใต้โต๊ะ 2 ข้าง และเป็นความลับทั้ง 2 ข้าง เพราะว่าฝั่งคนซื้อก็จะซื้อแพง ฝั่งเราก็จะขายถูก เพื่อให้มีส่วนต่างทั้ง 2 ข้าง จีทูจีจึงเป็นรายการแหกตาทั้งนั้น ยังโชคดีที่รัฐมนตรีพูดดีว่า “ข้าวแลกเงิน เงินแลกข้าว ไม่ใช่ข้าวแลกรถ หรือข้าวแลกคอมพิวเตอร์” ข้อนี้ทำถูก ผมขอชมเชย เพราะถ้าข้าวแลกแท็บเล็ตจะกินกันหนักกว่านั้น จีนขายแท็บเล็ตได้ในราคาถูก คนไทยก็ขายข้าวได้ในราคาถูก เป็นการสวาปามกันอ้วนทั้ง 2 ข้าง
        กรณี ธ.ก.ส.เป็นเรื่องน่าห่วง ถ้ารัฐบาลขายข้าวไมได้ รัฐบาลก็ไม่ได้คืนเงิน ธ.ก.ส. และถ้า ธ.ก.ส.ปล่อยกู้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดเมื่อจะไปกู้เงินในตลาดดอกเบี้ยต้องแพงขึ้น รัฐบาลก็ไม่ค้ำประกันแล้ว ธ.ก.ส.ต้องจ่ายชำระเองค่ารับประกันเอง หากกู้เงินมาเข้าโครงการรับจำนำ แล้วรัฐบาลขายข้าวไม่ได้ ท้ายที่สุด ธ.ก.ส.ก็จะมีปัญหาขาดสภาพคล่อง สิ่งที่จะตามมาคือ อัตราดอกเบี้ยที่จะกู้ในตลาดจะสูงขึ้น จะกลายเป็นผู้กู้ประวัติไม่ดี ถ้าสภาพคล่องมีปัญหารุนแรงขึ้น จะกระทบเกษตรกร 90% ของครัวเรือนที่กู้เงินจาก ธ.ก.ส. หากวันหนึ่งสภาพคล่องขาดสะดุด ธ.ก.ส.ก็จะไม่มีเงินกู้ให้แก่เกษตรกรในการทำการผลิต นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่การดำเนินนโยบายไปดันประเทศและหน่วยงานต่างๆ ไปสู่สภาวะที่เสี่ยงมากขึ้นทุกที
          เวลานี้รัฐบาลรู้ดี เพราะมีข้อมูลทุกวัน ขึ้นอยู่กับว่าจะลงจากหลังเสืออย่างไรเท่านั้นเอง อย่างไรคุณทักษิณก็ไม่ยอม ผมก็เห็นว่าทำต่อไปเรื่อยๆ อย่าเลิก ประชาชนและชาวนาจะได้รู้สึกสักที
         เรามีผู้ปลูกข้าวทั่วโลก 200 ล้านคน หากราคาข้าวสูงจะเกิดอะไรขึ้น ชาวนา 200 ล้านคนก็แห่กันปลูกมากขึ้น ในอนาคตคนจะซื้อข้าวจากไทยน้อยลง ภายใน 10 ปีข้างหน้าทั่วโลกจะกินข้าวน้อยลง แล้วรัฐบาลไทยมีปัญญาบังคับให้เกษตรกรปลูกน้อยลงได้หรือไม่
         และหากทำสำเร็จ บังคับให้ผู้ส่งออกของเวียดนามไม่ตัดราคาได้หรือไม่ บังคับผู้ส่งออกไทย และผู้ส่งออกต่างประเทศได้หรือไม่ มีทางเดียวคือ เก็บจนข้าวเน่า ค่าเก็บดอกเบี้ยปีละ 10% แล้วราคาข้าวจะสูงขึ้นไปชดเชย 10% ได้หรือไม่
       นี่คือสิ่งที่ผมคิด และมาพนันกันมั้ย?? ว่า ถ้าผมชนะ คุณทักษิณจะกลับมาประเทศไทยติดคุก และถ้าผมแพ้ผมจะลาออกจากทีดีอาร์ไอ…
                                ที่มา : สำนักข่าวอิศรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น