วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จำนำข้าวถังแตก! รมช.คลังแจงครม.ก่อหนี้บานลอยแพธกส.ขู่ไม่ค้ำประกัน ข่าวหน้า 1 6 November 2555 - 00:00



 เปิดเอกสารกระทรวงการคลังส่งถึงคณะรัฐมนตรี ผงะ! ชำแหละ "รับจำนำข้าว” สร้างภาระงบประมาณอย่างหนัก พบมีภาระหนี้เพิ่มตกปีละ 2.2  แสนล้านบาท และเอื้อประโยชน์ส่งออกให้ประเทศอื่น แฉมีการรายงานผลขัดกับมติ ครม. จี้พาณิชย์กำกับ-ควบคุมรายงานความคืบหน้า "คำนูณ” เตือนธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ระวังถูกลอยแพ หลังคลังจะไม่ค้ำประกันเงินกู้ให้ ขณะที่บอร์ด ธ.ก.ส.เมินร่วมประชุม "เหลิม” โวยลั่นจะฟ้องนายกฯ
    โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังพบปัญหาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้เผยแพร่หนังสือด่วนที่สุด ที่ กค.0904/17560 ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ลงนามโดยนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 3  ตุลาคม เรื่อง “รายงานผลการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 และพิจารณาปริมาณและวงเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56” โดยเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือดังกล่าวมีทั้งหมด 6 หน้า โดยระบุถึงปัญหาและความห่วงใยต่อโครงการรับจำนำข้าวไว้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญคือ ในตอนท้ายของข้อ 2.1 ระบุไว้ว่า "...เป็นภาระงบประมาณที่สูงมาก  จำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากระบายสินค้าเกษตรได้ช้าและไม่มีงบประมาณเพียงพอ ดังนั้นก่อนการดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตรต่อไป จึงควรมีการประเมินผลกระทบโครงการและแนวทางการบริหารจัดการวงเงินสำหรับการดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรม" 
           หนังสือระบุว่า 2.2 เนื่องจากวงเงินดำเนินโครงการรับจำนำผลิตผลทางการเกษตร ปีการผลิต 2554/55 เป็นวงเงินที่สูงและเป็นภาระต่อเนื่องต่องบประมาณ ทั้งในส่วนเงินทุน ธ.ก.ส. กรอบวงเงินกู้เดิม และส่วนที่อยู่ระหว่างขยายปริมาณและกรอบการใช้เงิน (กรณีพิเศษ) เพิ่มเติม รวมทั้งสิ้น 408,160  ล้านบาท (90,000+268,660+49,500) รวมทั้งกินวงเงินค้ำประกันของโครงการลงทุนของประเทศของหน่วยงานอื่นๆ  
ดังนั้นหากจะมีการดำเนินโครงการต่อเนื่อง ควรมีการวิเคราะห์และประเมินผลของโครงการที่ได้ดำเนินการแล้ว รวมทั้งนโยบายการระบายผลิตผลทางการเกษตรที่รับจำนำอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนการดำเนินการโครงการใหม่  ซึ่งใช้วงเงินสูงถึง 405,000 ล้านบาท ทำให้ภาระงบประมาณเพิ่มสูง หากยังไม่มีการระบายผลผลิตโครงการรับจำนำผลิตผลทางเกษตรดังกล่าว จะส่งผลต่อความสามารถของกระทรวงการคลังในการค้ำประกันเงินกู้โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 
“และหากกรณีระบายผลิตผลที่รับจำนำได้ใน 3 ปี จะมีภาระการบริหารการปรับโครงสร้างหนี้เฉลี่ยปีละ 224,553 ล้านบาท ซึ่งกระทบต่อการระดมทุนในตลาดเงินที่มีสภาพคล่องตึงตัว ทั้งในด้านต้นทุน การกู้เงินที่สูงขึ้น และเป็นภาระงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นต่อไป” หนังสือระบุ 
นอกจากนี้ ข้อ 2.3 หนังสือของกระทรวงการคลังยังระบุอีกว่า การรายงานผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 ดังกล่าว ไม่สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องกำกับ ติดตาม ควบคุม รวมทั้งรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงาน การเบิกจ่าย การระบายสินค้า ปริมาณและมูลค่าสินค้าคงเหลือ รวมทั้งปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้น สำหรับโครงการที่ดำเนินการในปีการผลิต 2554/55 ทุกโครงการ...
แม้ในข้อ 2.6 กระทรวงการคลังจะระบุว่า “โครงการรับจำนำข้าวเปลือก เป็นโครงการที่ดีที่ช่วยเหลือเกษตรกร” แต่กระทรวงการคลังก็ได้เตือนด้วยเช่นกันว่า “การรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด ควรมีมาตรการวางแผนการรับจำนำที่ดี  และควรดูแลเรื่องข้าวสวมสิทธิ์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะในอนาคตเมื่อมีการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 นอกจากนั้นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของประเทศไทยส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ประเทศส่งออกรายอื่นได้ประโยชน์ 
ดังนั้น เพื่อลดภาระของประเทศไทยและผลประโยชน์ร่วมกันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตข้าว จึงควรจะได้มีการรวมกลุ่มประเทศผู้ส่งออก โดยกำหนดราคาขั้นต่ำในการส่งออกและร่วมกันตั้งกองทุนเพื่อรักษาระดับราคาข้าวขึ้น ซึ่งจะทำให้รายได้ของเกษตรกรของประเทศผู้ผลิตสูงขึ้น"
    ที่น่าสนใจข้อ 2.10 ของหนังสือกระทรวงการคลัง ระบุด้วยว่า เนื่องจากเงินค้ำประกันในปีงบประมาณ 2556 มีจำกัด กระทรวงการคลังเห็นควรจัดสรรวงเงินกู้ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท สำหรับเป็นการหมุนเวียนในการดำเนินโครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล โดยโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 เป็นส่วนหนึ่งของกรอบหนี้ โดยกระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินกู้และดอกเบี้ย  รัฐบาลรับภาระชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจากเงินกู้ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการทั้งหมด  
“วงเงินส่วนที่เหลือเห็นควรให้ ธ.ก.ส.ระดมเงินจากตลาดและเงินฝาก ธ.ก.ส.ตามกรอบของพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส.เป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ให้โดยไม่ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว” หนังสือระบุ
    นายคำนูณเปิดเผยว่า ตนได้รับหนังสือจากข้าราชการจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะที่มีความเป็นห่วงประเทศชาติ และหนังสือดังกล่าวที่เสนอเตือนรัฐบาลไปมี 2 ครั้ง โดยฉบับแรกลงวันที่ 18 กันยายน 2555 ที่ลงนามโดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการคลัง และฉบับดังกล่าวที่มีเนื้อหาสาระใกล้เคียงกันโดยได้นำเสนอต่อ ครม. 
    เขากล่าวว่า เนื้อหาของหนังสือ 2 ฉบับ สะท้อนปัญหาของโครงการรับจำนำข้าว 3 ประการหลักๆ คือ 1.การอนุมัติข้าวนาปี วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท   ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ต้องระดมเงินจากตลาดและเงินฝาก โดยกระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกัน 2.ให้กระทรวงพาณิชย์ต้องระบายข้าวให้เร็ว กระทรวงการคลังจะไม่ต้องกู้เงิน 3.มาตรการอุดช่องโหว 10 ข้อตามเอกสาร ที่เห็นว่าการจ่ายเงินให้โครงการดังกล่าวไม่คุ้มค่า
นายคำนูณระบุว่า เอกสารดังกล่าวนี้เป็นเอกสารชัดเจนยิ่งกว่าใบเสร็จ ที่ทำให้เห็นว่าการรับจำนำข้าวที่ราคาสูงกว่าท้องตลาด 50% เป็นปัญหา และรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะข้อมูลไม่ได้มาจากนักวิชาการ ฝ่ายค้าน หรือ ส.ว.  แต่เป็นคนในรัฐบาลเสนอเอง โดยเฉพาะการลงนามในฉบับแรกโดยนายกิตติรัตน์ และฉบับ 2 ของนายทนุศักดิ์ จึงอยากถามว่า นายกิตติรัตน์หัวหน้าทีมเศรษฐกิจจะตอบเรื่องนี้อย่างไร และจะมีความเห็นขัดแย้งกันเองหรือไม่
    ส.ว.ผู้นี้ได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ธ.ก.ส.ถูกลอยแพ” ตามข้อ 2.10 ที่ระบุว่า “...วงเงินส่วนที่เหลือ เห็นควรให้ ธ.ก.ส.ระดมเงินจากตลาดและเงินฝาก  ธ.ก.ส.ตามกรอบของพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส.เป็นลำดับแรก หากไม่เพียงพอ ให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ให้โดยไม่ค้ำประกันเงินกู้ดังกล่าว” 
    นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีปัญหาโครงการรับจำนำข้าวว่า ขณะนี้การรับจำนำข้าวนาปรังที่มีโควตา 14  ล้านตันนั้น ตอนนี้มีการรับจำนำเกินโควตา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไม่มีเงินเพียงพอจ่ายให้คนที่นำข้าวเข้าจำนำ 
แหล่งข่าวจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  เผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ให้มีการพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด เพื่อดูแลและบริหารจัดการเรื่องการใช้จ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว ปีการผลิต 2555/56 เพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับ ธ.ก.ส. หากการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวมีปัญหา
    “จากการหารือในเบื้องต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็แสดงความเห็นด้วย เพราะเห็นว่าการดำเนินการในโครงการดังกล่าวต้องมีการบริหารจัดการเรื่องการใช้จ่ายเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามโครงการรับจำนำข้าว” แหล่งข่าวกล่าว
วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าว โดย ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ได้สั่งให้ ธ.ก.ส.ไปหาข้อมูลมา 6 หัวข้อ คือ 1.การเริ่มจำนำข้าวมีเมื่อไหร่ 2.ขั้นตอนเป็นอย่างไร 3.มีปริมาณข้าวเปลือกเท่าไหร่ 4.ข้าวเปลือกอยู่ที่โรงสีไหนบ้าง 5.ขายไปแล้วเท่าไหร่ แบ่งเป็นข้าวเปลือกเท่าไหร่ ข้าวสารเท่าไหร่ และ 6.ธ.ก.ส.ใช้เงินเท่าไหร่ มีกี่บริษัทที่ขอซื้อ หรือซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ขั้นตอนเป็นอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ เมื่อ ร.ต.อ.เฉลิมทราบว่าผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. ไม่มาร่วมประชุมและส่งตัวแทนมาประชุม ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิมไม่พอใจมาก และมอบให้ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะกรรมการรวบรวมรายชื่อของผู้บริหารที่ไม่มาประชุมเสนอรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมสาเหตุที่ไม่สามารถมาร่วมประชุมได้ และให้ทำอย่างนี้กับทุกคณะที่ ร.ต.อ.เฉลิมเป็นประธานการประชุม
    ทางด้านนางปราณี ศิริพันธ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผยว่า กรม ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวในปี 2556 ไว้ที่ปริมาณ 8.5 ล้านตัน มูลค่า  5,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายปี 2555 ที่คาดว่าจะส่งออกได้ 7.3-7.5 ล้านตัน มูลค่า 4,948 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 16.44% และ 15.20% และจะทำให้ไทยเป็นแชมป์ในการส่งออกข้าว ทั้งปริมาณและราคาได้อย่างแน่นอน เพราะในปี 2556 คาดว่าเวียดนามจะส่งออกได้ประมาณ 7 ล้านตัน และอินเดียส่งออกได้ประมาณ 7-8 ล้านตัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น