วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

จำนำข้าวหนี้พุ่ง ‘อุ๋ย’ฉะปูสีข้างถู ข่าวหน้า 1 13 November 2555 - 00:00



รุมถล่มรับจำนำข้าว “หม่อมอุ๋ย” ชี้ขาดทุนแล้ว 1.4 แสนล้านบาท  เชื่อหนี้สาธารณะปี 62 จะพุ่งสูงถึง 61 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี เหลืออด! บริหารผิดพลาดแบบนี้เป็นตัวเองลาออกไปแล้ว แต่รัฐบาลกลับไม่อาย หน้าด้าน เอาสีข้างถูไปเรื่อย “ทีดีอาร์ไอ” อัดซ้ำไม่ได้ช่วยชาวนาจริง แต่เป็นการสร้างความมั่นใจให้กลุ่มทุนโรงสีข้าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหัวคะแนนของพรรคการเมือง!
    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายในงานสัมมนาเรื่อง “ข้าว ชาวนา นักการเมือง และประเทศชาติ ใครได้ใครเสีย?” เมื่อวันจันทร์ว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลปีนี้ที่คาดว่าจะมีปริมาณข้าวเข้าโครงการทั้งหมด 21.95 ล้านตันนั้น  จะทำให้รัฐบาลขาดทุนประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ภาระหนี้สาธารณะของไทยขยับขึ้นมาเป็น 47.8% ของจีดีพีประเทศ และในฤดูกาลใหม่นี้หากยังเดินหน้านโยบายต่อ โดยมีเป้าที่รับจำนำข้าวเข้าโครงการสูงถึง 33 ล้านตัน ก็จะทำให้รัฐบาลขาดทุนจากการดำเนินโครงการนี้ 2.1 แสนล้านบาท และคาดว่าจะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยในปี 2562 พุ่งสูงถึง 61% ของจีดีพี
    “ถ้าผมบริหารประเทศ หรือโครงการอะไรสักโครงการหนึ่งแล้วขาดทุนมากขนาดนี้คงลาออกไปแล้ว แต่นี่เห็นแล้วว่าเป็นการบริหารที่ผิดพลาด ทำให้รัฐบาลและประเทศขาดทุน กลับไม่อาย ยังหน้าด้าน เอาสีข้างถูไปเรื่อย หากทำต่อก็จะทำให้รัฐขาดทุนมากขึ้น เมื่อนำมารวมกับหนี้สาธารณะเดิมจากโครงการกองทุนประกันวินาศภัย โครงการก่อสร้างบริหารจัดการน้ำ และโครงการงบประมาณบริหารงานในระยะยาว ก็จะส่งผลให้ในปี 62 พุ่งอยู่ที่ 61% ของจีดีพี และต่อไปก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและค่าเงินบาท จึงอยากเตือนสติรัฐบาลว่ากำลังสร้างความเสียหายกับประเทศ เพราะโรคหนี้สาธารณะเมื่อเกิดขึ้นแล้วมันรักษายาก เหมือนที่เกิดกับประเทศในหลายประเทศของสหภาพยุโรปในขณะนี้” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
    นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานเดียวกันว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมารัฐบาลขาดทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1.73 แสนล้านบาท (จากปริมาณข้าว 14 ล้านตัน โดยใช้วิธีการคำนวณแบบมาร์กทูเดอะมาร์เก็ต) โดยเม็ดเงินจำนวนนี้ตกอยู่กับชาวนาเพียง 1.1 แสนล้านบาท หรือประมาณ 64% ของวงเงินทั้งหมด ที่เหลือกระจายไปในส่วนของโรงสี 2.3 หมื่นล้านบาท โกดัง 2,313  ล้านบาท เป็นค่าเสื่อมคุณภาพของข้าว 10,482 ล้านบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้กับสถาบันการเงิน 14,454 ล้านบาท
     นายนิพนธ์กล่าวต่อว่า เมื่อแยกแยะจำนวนชาวนาที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดมีชาวนาที่ได้รับประโยชน์จริงๆ หรือที่เป็นชาวนายากจนเพียง 18% เท่านั้น หรือจำนวน 197,000 ราย คิดเป็นมูลค่าข้าวที่ขายได้เพียง 11,000 ล้านบาท  ที่เหลือเป็นชาวนาในระดับกลาง 42% และร่ำรวย 39% ทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับชาวนา 2 กลุ่มหลัง โครงการดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา โดยเฉพาะกลุ่มที่ยากจนมีรายได้น้อย แต่กลับไปสร้างความมั่งคั่งให้กลุ่มทุนโรงสีข้าวที่ส่วนใหญ่เป็นหัวคะแนนของพรรคการเมืองให้รวมตัวกันอย่างมั่นคงขึ้น และอยู่ได้กับการหากินกับโครงการนี้เพิ่มมากขึ้น
    เขากล่าวด้วยว่า การรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในปัจจุบันอาจทำผิดข้อตกลงกับพันธสัญญาขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เนื่องจากมีพันธสัญญาว่าจะใช้วงเงินในการแทรกแซงราคาไม่เกิน 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้วงเงินเกินที่กำหนดไว้ ส่วนกรณีขายข้าวราคาต่ำกว่าตลาดนั้น ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่อยู่ที่ว่าไทยจะขายต่ำกว่าราคาตลาดโลกหรือเปล่า เพราะหากต่ำกว่าก็ถือว่าเป็นการทุ่มตลาด แต่ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงให้สาธารณชนรับทราบอย่างชัดเจนเลย
    “เชื่อว่าคงยากที่ประเทศคู่แข่งไทยในเอเชียจะรวมตัวกันเพื่อฟ้อง เพราะทั้งเวียดนามและอินเดียต่างก็ได้เปรียบจากการดำเนินนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลไทย ยกเว้นสหรัฐอเมริกาที่เป็นหนึ่งในคู่แข่งของไทยจะฟ้อง” นายนิพนธ์ กล่าว
    เขากล่าวว่า ขณะที่แผนการขายข้าวแบบบาร์เทอร์เทรดกับจีนด้วยการแลกข้าวกับรถไฟนั้นต้องระวัง เพราะจะมีผู้ได้ประโยชน์จากการเป็นนายหน้าทั้งฝั่งจีนและฝั่งไปไทย จากการขายข้าวของไทยและขายรถไฟของจีนหรือประเทศอื่น เนื่องจากผู้ซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์อยากซื้อในราคาถูก สำหรับจีนผู้ซื้อข้าวจากไทยก็อยากได้ราคาถูก จึงคาดว่าจะมีผู้รับประโยชน์หากมีแผนการซื้อในลักษณะดังกล่าว
    นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย  กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในราคาสูง และผู้ส่งออกต้องประมูลซื้อข้าวในราคาสูงส่งขายในตลาดต่างประเทศนั้น ผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่สามารถรับได้  เนื่องจากข้าวไทยมีราคาสูงกว่าข้าวในตลาดมาก และประเทศผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นประเทศที่ร่ำรวย ทำให้มีการหันไปซื้อข้าวกับเวียดนามและกัมพูชาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิกัมพูชา ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์สูงขึ้นกำลังเป็นที่ต้องการ  
นายชูเกียรติกล่าวต่อว่า ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยมีคุณภาพด้อยลง เพราะเกษตรกรไม่ได้ใส่ใจคุณภาพ เมื่อมีโครงการรับจำนำข้าว และแม้ขณะนี้ไทยจะเป็นแชมป์ในด้านมูลค่าที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งเพียงเล็กน้อย แต่เชื่อว่าในอีก 1-2 ปี ก็จะเสียแชมป์มูลค่าส่งออกข้าวให้กับเวียดนาม เนื่องจากพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับการพัฒนาต่างจากประเทศคู่แข่ง หลังจากปัจจุบันที่ประเทศไทยเสียแชมป์ในเรื่องของปริมาณการส่งออกข้าวไปแล้ว
    ด้านนายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะโฆษกข้าวประจำกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่าโครงการจำนำข้าวไม่ได้เป็นการอุดหนุน และขัดต่อข้อตกลงพันธสัญญาขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เพราะการที่จะเข้าข่ายใช้เงินอุดหนุนหมายความว่า รัฐบาลต้องเข้าไปซื้อข้าวจากชาวนาราคาแพงและมาส่งออกราคาถูกต่ำกว่าตลาด จนประเทศผู้ส่งออกอื่นเดือดร้อน แต่ในโครงการจำนำที่รัฐทำในขณะนี้ รัฐบาลเข้าไปซื้อข้าวแพงและก็นำกลับมาขายส่งออกในราคาแพงเช่นกัน เพื่อต้องการยกระดับราคาข้าว และคุณภาพชีวิตชาวนาให้สูงขึ้น และทุกประเทศที่ขายข้าวก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน
    “หากดับเบิลยูทีโอมีการสอบถาม กระทรวงพาณิชย์ก็พร้อมจะชี้แจงให้เข้าใจว่า หลักการจำนำมีรูปแบบเช่นไร ซึ่งจะทำให้รู้ว่าการจำนำไม่ได้เป็นการอุดหนุนแน่นอน เพราะหากซื้อแพงมาขายถูก ตัวเลขปริมาณส่งออกข้าวไทยคงพุ่งกว่าปีที่แล้ว และที่สำคัญตอนนี้มูลค่าการส่งออกข้าวไทยยังเพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้วถึง 18% ดังนั้นเมื่อไม่เข้าข่ายอุดหนุน ประเด็นที่จะมาว่ารัฐบาลใช้งบประมาณสูงเกินกว่าเพดานที่กำหนดก็ไม่เกี่ยวกัน เพราะกฎขององค์การการค้าโลกห้ามให้อุดหนุนเกิน 1.9 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ตรงนี้เราไม่ได้อุดหนุนเลย” นายทิฆัมพรกล่าว 
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบการจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านตลาดข้าวอาเซียน และการจัดตั้งเขตพิเศษการค้าข้าวอาเซียน  (Rice Trade Zone) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้ 1.แนวทางการจัดตั้งกลไกความร่วมมือตลาดอาเซียน ในส่วนของประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกสำคัญ 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, พม่า, เวียดนาม และไทย โดยจะมีการจัดประชุมใน 3 ระดับ คือ การประชุมในระดับรัฐมนตรี การประชุมคณะกรรมการความร่วมมือด้านข้าวอาเซียน และการประชุมของสมาพันธ์โรงสีและผู้ค้าข้าวอาเซียน
    นายภักดีหาญส์กล่าวต่อว่า 2.ครม.มอบหมายกระทรวงพาณิชย์จัดตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทาง ข้อเสนอ และมาตรการ เพื่อจัดตั้งเขตพิเศษการค้าข้าวอาเซียน โดยในเบื้องต้นการศึกษาแนวทางนี้จะกำหนดขอบเขตการศึกษาให้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ได้แก่ พื้นที่ที่เหมาะสม ระบบกลไกการควบคุม ข้อกฎหมาย กระบวนการจัดตั้ง และบุคลากร เป็นต้น
    ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เสนอ ครม.พิจารณาว่า การจัดตั้งกลไกความร่วมมือดังกล่าวมีความสำคัญและจำเป็นในการผลักดันการสร้างความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าข้าวของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนให้ได้รับการพัฒนา เป็นการสร้างเสถียรภาพราคาข้าวในตลาดโลก เกิดความมั่นคงทางด้านอาหารในภูมิภาคอย่างยั่งยืน และป้องกันการลักลอบจำนำข้าวจากประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สหพันธ์ข้าวของสหรัฐอเมริกามีความวิตกกังวลว่าสต็อกข้าวไทยที่รัฐบาลรับจำนำจากชาวนาแพงกว่าราคาตลาดโลกอาจถูกขายออกมาในราคาที่ยอมขาดทุน กลุ่มอุตสาหกรรมข้าวของสหรัฐจึงขอให้ตัวแทนการค้าของพวกเขามีปฏิกิริยาต่อมาตรการดังกล่าวของไทย โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ)
สหรัฐได้ขอให้ไทยตอบคำถามในการประชุมดับเบิลยูทีโอ ที่กรุงเจนีวา  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ โดยในสำเนาคำถามระบุว่า  สหรัฐมีความวิตกว่าโครงการรับซื้อข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาดโลกถึง 40  เปอร์เซ็นต์ คงเป็นการยากที่รัฐบาลไทยจะส่งออกข้าวเหล่านั้นโดยไม่เกิดการขาดทุน
"ไทยจะทำอย่างไรเพื่อเป็นการรับประกันว่า ข้าวจากโครงการนี้จะไม่ถูกส่งออกในราคาที่ถูกกว่าที่รับซื้อมา" สำเนาที่ส่งให้ดับเบิลยูทีโอระบุ นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการรับจำนำข้าว ปริมาณข้าวในสต็อก และปริมาณที่ขาย และยังถามอีกว่าเหตุใดคณะกรรมการการค้าไทยถึงได้เลิกเผยแพร่ข้อมูลรายวันของโครงการดังกล่าว 
ตัวแทนการค้าสหรัฐเปิดเผยด้วยว่า สมาชิกดับเบิลยูทีโอที่มีผลประโยชน์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้เชิญฝ่ายไทยเข้าหารืออย่างไม่เป็นทางการก่อนที่การประชุมจะมีขึ้นในวันพุธนี้.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น