วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

ล้มโต๊ะเจรจาโจรใต้ ชิงจังหวะเอาดีเข้าตัว โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 เมษายน 2556


ล้มโต๊ะเจรจาโจรใต้ ชิงจังหวะเอาดีเข้าตัว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์9 เมษายน 2556 07:52 น.

รายงานการเมือง
       
       เหตุการณ์ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลอบสังหาร “อิศรา ทองธวัช” รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา “เชาวลิต ไชยฤกษ์” ปลัดป้องกัน จังหวัดยะลา ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ในพื้นที่อย่างสูง
       
       เพราะบ่งชี้ให้เห็นชัดว่า “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ได้ยกระดับการก่อเหตุจากการมุ่งทำร้าย “เจ้าหน้าที่รัฐ” ที่ส่วนใหญ่เป็น “ทหาร-ตำรวจ” เปลี่ยนเป้าไปพุ่งทำร้าย “เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง” ขึ้นไปอีก เพื่อยกระดับปัญหาให้สูงขึ้นไปเช่นกัน
       
       จึงเป็นธรรมดาที่ทุกคนในพื้นที่จะต้องอกสั่นขวัญเสียกันมากมาย เพราะขนาด “คณะรองผู้ว่าฯ ยะลา” มีการคุ้มกันอย่างหนาแน่น มีแผนลวง-แผนหลอก-เปลี่ยนเส้นทาง-เปลี่ยนรถ ก่อนออกเดินทางไปยังที่หมาย ยังโดน “กลุ่มก่อความไม่สงบ” มุ่งหมายเอาชีวิตจนได้
       
       สถานการณ์ในตอนนี้ของคนในพื้นที่จึงต้องดูแลตัวเองเป็นสำคัญสุด
       
       ล่าสุดแม้เบื้องต้น “ตำรวจ” จะคาดการณ์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นการแก้แค้นแทน “อับดุลเลาะห์ ปูลา” แกนนำระดับปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบ รับผิดชอบพื้นที่อำเภอธารโต อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
       
       แต่ก็ไม่อาจจะหยุดยั้งเสียงทัดทานของสังคมไทยที่ “ตั้งคำถาม” ถึงการพูดคุยสันติภาพกับ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ได้
       
       เป็น “คำถาม” ที่ยิงตรงไปที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ยิงตรงไปที่ “พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าทีมพูดคุยกับ “กลุ่มบีอาร์เอ็น”
       
       “คำตอบ” จากปาก “ยิ่งลักษณ์” ยังสนับสนุนให้มีการพูดคุยสันติภาพต่อไป
       “คำตอบ” จากปาก “พล.ท.ภราดร” คือการกระทำของ “กลุ่มก่อความไม่สงบ” ส่งผลต่อความไว้วางใจในการพูดคุย ซึ่งต้องมีการปรับท่าทีกันใหม่
       
       ซึ่งต้องยอมรับว่าการลอบสังหาร “คณะรองผู้ว่าฯ ยะลา” ส่งผลต่อการพูดคุยสันติภาพกับ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” อย่างแน่นอน เพราะเป็นเงาสะท้อนได้อย่างดีว่า “ขบวนการพูดคุย” แม้จะเกิดขึ้นจริง แต่ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะมี “ผล” ในทางปฏิบัติเกิดขึ้นจริง
       
       หาก “ผล” ทางปฏิบัติไม่ได้เกิดขึ้นจริง การ “พูดคุยสันติภาพ” ก็ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้
       
       ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าการ “พูดคุยสันติภาพ” มีสิทธิ์ที่จะ “ล่ม” ลงได้ง่ายมาก เพราะการลงนามระหว่าง “สภาความมั่นคงแห่งชาติ” กับ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ไม่มีข้อผูกพันกันแต่อย่างใด ที่สำคัญแทบที่จะไม่มีผลทางกฎหมายเลยแม้แต่นิดเดียว
       
       หากฝั่งใดฝั่งหนึ่งคิดว่าพูดคุยไปก็ไม่มีประโยชน์ทุกอย่างก็ “จบ”
       
       ข้อมูลจาก “หน่วยงานด้านความมั่นคง” (ไม่เอาใจคนในรัฐบาล) วิเคราะห์กันว่า โอกาสที่การ “พูดคุยสันติภาพ” จะเป็นอันต้อง “ล่ม” มีมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และมีเหตุผลหลักดังนี้
       
       1. กลุ่มบีอาร์เอ็น ไม่ทำตามเงื่อนไขที่ “ทางการไทย” ยื่นข้อเสนอ เหตุผลนี้มีความเป็นได้น้อย เพราะมีอุปสรรคที่ “บีอาร์เอ็น” จะไม่ออกมายอมรับว่าไม่สามารถทำตามเงื่อนไขได้โดยตรง แต่จะเป็นการบอกอ้อมๆ ว่าไม่สามารถควบคุม “กลุ่มที่เคลื่อนไหว” ในพื้นที่ได้ทั้งหมด เนื่องจากมีหลายกลุ่ม
       
       ซึ่งต้องอยู่ที่การวิเคราะห์ “ด้านการข่าว” ของ “ทางการไทย” ว่าจะปักใจเชื่อข้อมูลตามที่ “บีอาร์เอ็น” นำมาเสนอหรือไม่ หรือจะตรวจสอบข่าวเชิงลึกแล้วนำมาประมวลผลเอง ตรงนี้จะพิสูจน์กันว่า “การข่าว” ของไทยจะแม่นยำแค่ไหน
       
       2. ทางการไทยยกเลิกการพูดคุยสันติภาพ เหตุผลนี้มีความเป็นได้สูงมากเช่นกัน เพราะหากรู้ว่าการพูดคุยสันติภาพถึง “ทางตัน” ทางการไทยต้องช่วงชิงความได้เปรียบ เพื่อประกาศยุติก่อน แล้วนำเหตุผลต่างๆ มาสมอ้างอีกทีหนึ่งเพื่อความชอบธรรม
       
       นั่นเพราะทางการไทยยอมลดตัวเอา “สมช.” ไปลงนาม หากถูก “บีอาร์เอ็น” ประกาศยกเลิกการพูดคุยก่อน จะทำให้ “เสียหน้า” ชาวโลกมากมายอย่างแน่นอน และอาจจะสูญเสียศักดิ์ศรีของประเทศมากทีเดียว
       
       3. ทางการมาเลเซียยุติบทบาทการเป็น “ตัวกลาง” การพูดคุย เหตุผลนี้มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะสถานการณ์การเมืองภายในประเทศมาเลเซีย ในขณะนี้เอาแน่เอานอนไม่ได้
       
       “หน่วยงานด้านความมั่นคง” วิเคราะห์ค่อนข้างตรงกันว่า ภายหลัง “นาจิบ ราซัค” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศยุบสภา คะแนนเสียงของ “นาจิบ” ไม่ได้ดีขึ้นเลย หน่ำซ้ำพื้นที่ฐานเสียงหลายแห่งถูกคู่แข่งตีตื้น และบางพื้นที่ “นาจิบ” ถึงกับ “แพ้”
       
       โดยสรุปการคาดการณ์ของ “หน่วยงานความมั่นคงไทย” มีความเป็นไปได้สูงที่ “นาจิบ” จะแพ้การเลือกตั้ง
       
       แต่หาก “นาจิบ” ไม่แพ้การเลือกตั้ง ก็มีความเป็นไปได้สูงที่มาเลเซียจะไม่เป็น “ตัวกลาง” อีกต่อไป
       
       เพราะ “วงใน” รู้กันดีอยู่แล้วว่า เหตุผลที่ “นาจิบ” ยอมออกหน้า เป็นเหตุผลทางการเมืองภายในเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์
       
       ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นเหตุผลที่ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปพูดคุยตกลงอะไรบางอย่างกันเอาไว้
       
       ดังนั้นจะหาความจริงใจจากมาเลเซียในยุครัฐบาล “นาจิบ” แทบจะไม่มีเลยแม้แต่น้อย ทุกอย่างมีนัยทางการเมืองแอบแฝงไว้ทั้งสิ้น
       
       ทั้งหมดคือ 3 เหตุที่จะทำให้การพูดคุยสันติภาพต้อง “ล่ม” ลงกลางอ่าว เป็นเหตุผลที่ “หน่วยงานความมั่นคง” วิเคราะห์กันไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นฐานข้อมูลใน “คนในรัฐบาล” นำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ
       
       ส่วนจะมีการนำข้อมูลส่วนนี้ไปใช้หรือไม่ต้องติดตามกันอีกครั้งหนึ่ง
       
       แต่แทบที่จะฟันธงในทำนองเดียวกันว่าการพูดคุยสันติภาพจะต้อง “ล่ม” แน่นอน
       
       เพียงแต่ใครจะชิงจังหวะรักษาหน้า-รักษาศักดิ์ศรี-รักษาความเป็นหน่วยงานรัฐ ไว้ได้มากกว่ากันก็เท่านั้นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น