วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

วิเคราะห์ข่าวการเมืองจากไทยโฟสต์ เมื่อ ๓๑ มี.ค.๕๖



ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล.ทักษิณคิด-ยิ่งลักษณ์ทำ-คนไทยเสี่ยง

ถือเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทย สำหรับการออกร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.หรือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาฯ
   
และหากไม่มีอะไรผิดพลาดขนาดพลิกล็อก รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมองคาพยพ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน บางพรรคหรือบางคนที่ปันใจให้พรรคเพื่อไทยแล้ว คงยกมือหนุนกันด้วยคะแนนเสียงที่ท่วมท้นแบบขาดลอยได้ไม่ยาก
   
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์จะกุมจำนวน ส.ส.ในสภาฯ ที่เพียงพอจะออกกฎหมายฉบับนี้ได้แบบสบายๆ ไม่ยากเย็น แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถการันตีได้ว่า ที่สุดแล้วรัฐบาลจะมีโอกาสได้ใช้เงินก้อนใหญ่ก้อนนี้เพื่อนำไปเนรมิตโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง สายเหนือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, สายตะวันออก กรุงเทพฯ-ระยอง, สายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ-หนองคาย และสายใต้ กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ได้หรือไม่
   
เพราะยังต้องฟันฝ่าด่านสำคัญอย่างกระบวนการตรวจสอบทั้งจากฝ่ายค้าน รวมถึงองค์กรอิสระ ที่แน่นอนว่าทั้งพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.จะหอบหิ้วร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในมาตรา 169 เมื่อกฎหมายฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ แล้ว
   
โดยประเด็นที่ต้องจับตาหลังจากการยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคือ เรื่องความจำเป็นเร่งด่วนที่แม้รัฐบาลจะอ้างว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 จึงต้องมีความพร้อมเพื่อการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน แต่การออกกฎหมายในรูปแบบดังกล่าวก็ยังมีความสุ่มเสี่ยงและช่องโหว่ในการทุจริตอยู่หลายจุด
   
เพราะต้องอย่าลืมว่า การกู้เงินที่อยู่นอกปีงบประมาณ กระบวนการตรวจสอบ การบิดพลิ้ว การดิ้นเรื่องตัวเลข ตลอดจนรายละเอียดโครงการ ทำได้ง่ายกว่าการทำเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบประมาณผูกพันข้ามปีที่มีกลไกสภาฯ เป็นฟันเฟืองในการตรวจสอบ โดยการออกเป็นร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทครั้งนี้ การที่จะปรับเปลี่ยนโครงการ ยกเลิกโครงการ ปรับตัวเลข ทำง่ายเพียงเสนอเรื่องไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น
   
ขณะที่คำถามเรื่องรายละเอียดของโครงการ วงเงินแต่ละโครงการ และผลกระทบต่อภาพรวมประเทศ ก็ยังเป็นคำถามที่รัฐบาลยังไม่สามารถตอบได้อย่างเคลียร์ชัด อาทิ การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Environmental Impact Assessment : EIA ที่ยังไม่ได้มีการสำรวจ แม้แต่ชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงวิ่งผ่านเองก็ยังไม่ทราบเรื่อง ตลอดจนเรื่องอัตราค่าโดยสาร ที่สุดท้ายยังไม่มีใครยืนยันว่าจะได้รับบริการที่ถูก
   
ซึ่งแม้จะมีการจี้ถามเรื่องนี้กันในการประชุมสภาฯ แต่รัฐบาลเองกลับดิ้นด้วยการหยิบยกบาดแผลเรื่องโครงการไทยเข้มแข็งมาฟาดฟันเป็นคำตอบ
   
ขณะที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีเองแม้จะไม่เชี่ยวเกมในสภาฯ แต่การอภิปรายโดยหยิบยกเรื่องความเร็วของรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะช่วยทำให้การขนส่งเร็วขึ้น โดยเฉพาะความสดของอาหาร ซึ่งถือเป็นเรื่องตลกร้ายที่คนระดับผู้บริหารอ้างอิงเพียงเท่านี้
   
กับอีกจังวะที่น่าสนใจคือ คำท้าของนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตขุนคลังรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รับปาก 7 ข้อ ได้แก่
    “1.
นำทุกโครงการบรรจุเป็นบัญชีแนบท้ายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย 2.โครงการใดที่เบิกจ่ายล่าช้ากว่ากำหนดการขอให้หมดสิทธิ์จากการกู้ยืมจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ 3.โครงการใดตัดสินใจไม่ทำ ยกเลิกไม่ให้โอนไปยังโครงการอื่น 4.ให้เขียนระเบียบว่าด้วยการพัสดุการจัดซื้อจัดจ้างลงในกฎหมายเลย และเพิ่มเติมบทบาทของภาคีภาคเอกชนต่อต้านคอรัปชั่น 5.เขียนในกฎหมายว่า หากภาคีต่อต้านคอรัปชั่นเข้าถึงข้อมูลไม่ได้หรือพบทุจริตในโครงการใดขอให้หมดสิทธิ์กู้ทันที 6.หากงบประมาณขาดดุลมากกว่าที่อ้างไว้ ขอให้ พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านบาทเป็นโมฆะทันที และ 7.หากหนี้เกิน 50% ขอให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้โมฆะทันที
   
ตามคิวอดีตขุนคลังยกธงท้า แม้จะดูเป็นคำท้าที่แฝงด้วยเหลี่ยมคูทางการเมือง แต่ในสภาพความเป็นจริงหากรัฐบาลมั่นใจในความรอบคอบและความจำเป็นเร่งด่วนในครั้งนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะตกปากรับคำ
   
แต่ปรากฏว่า ยังคงไร้เสียงตอบรับ ซึ่งนั่นกำลังหมายถึงรัฐบาลเองก็ไม่ได้มั่นใจว่าจะสามารถทำได้อย่างที่อภิปรายและชี้แจงในสภาฯ ใช่หรือไม่
   
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีขวากหนามรออยู่ข้างหน้ามากมาย และสุ่มเสี่ยงที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลน้องสาวตนเองได้ แต่จับปฏิกิริยาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สไกป์เข้ามาที่ประชุมพรรคเพื่อไทย กำชับให้บรรดาลูกพรรคให้ความร่วมมือกับการประชุมเพื่อพิจารณาร่างดังกล่าว ถึงขั้นขู่ตัดเงินเดือน และจะตัดสิทธิ์ในการลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งนี้
   
ผนวกรวมกับการจัดนิทรรศการไทยแลนด์ 2020 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติแจ้งวัฒนะด้วยการทุ่มทุนสร้าง และการโหมโรงเรื่องนี้ในช่วงที่ผ่านมาอย่างเข้มข้น รวมถึงการจัดรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนและพูดแต่เรื่องนี้แบบแรมเดือน
   
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษิณที่ยอมกลืนน้ำลายตัวเองจากที่เคยปรามาสพรรคประชาธิปัตย์ว่า ดีแต่กู้และตัวเองจะไม่มีวัน กู้แต่วันนี้กลับสร้างสถิติการกู้อันดับ 1 ของประเทศไทยไปแล้ว
   
ย่อมแสดงให้เห็นว่า ทักษิณเดิมพันและหวังผลกับร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ครั้งนี้สูงเพียงไหน
   
และดูทีท่าจะยอมลุยความเสี่ยงตรงนี้ต่อ เพราะโครงการดังกล่าวเสมือนเป็นอภิมหาโปรเจ็กต์ที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของรัฐบาลเลยทีเดียว
   
เพราะหากมองย้อนกลับไปดูการบริหารงานภายใต้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในช่วงระยะเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา แทบจะไม่มีผลงานอะไรที่แตะต้องได้เป็นชิ้นเป็นอัน มิหนำซ้ำยังโดนค่อนแคะอีกว่าเป็นรัฐบาลที่ไร้ฝืมือ อันเนื่องมาจากพิษจากนโยบายประชานิยมที่ตั้งเป้าว่าจะซื้อใจประชาชน แต่ผลสุดท้ายกับแผลงฤทธิ์ กลับกลายมาเป็นก่อหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรับจำนำข้าวที่ส่อจะขาดทุนหลายแสนล้านบาท และมีแววสุ่มเสี่ยงจะยกเลิกโครงการ หรือนโยบายรถคันแรกที่จะต้องขออนุมัติเงินคงคลังเพิ่ม เนื่องจากงบที่ตั้งเอาไว้แต่เดิมไม่เพียงพอ
   
เรียกว่าโครงการประชานิยมทั้งหลายกำลังพ่นพิษสำแดงเดชกันออกมาอย่างต่อเนื่อง ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ฉบับนี้จึงเสมือนท่าไม้ตายที่หวังจะกอบกู้ภาพความเป็นทักษิณกลับมา เพราะหากโครงการเหล่านี้สำเร็จทุกคนจะจดจำติดตาว่ารถไฟฟ้าความเร็วสูงเกิดขึ้นใน รัฐบาลยิ่งลักษณ์
   
แน่นอนว่าย่อมมีผลต่อคะแนนความนิยมที่พรรคเพื่อไทยจะใช้สิ่งเหล่านี้หาเสียงเพื่ออยู่ในอำนาจต่อ
   
สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของ ทักษิณที่มักเน้นทำในสิ่งที่ประชาชนสนใจและจดจำเป็นเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะกรณีการสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ ที่แม้จะมีการก่อสร้างกันมาเป็นระยะเวลานาน แต่ภาพที่สะท้อนต่อสังคมคือเสร็จในยุครัฐบาลทักษิณ
   
และพรรคเพื่อไทยก็กินบุญนี้และใช้มาตลอด
   
ตามสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ภายใต้การขับเคลื่อนของ ทักษิณจึงจะต้องเดินหน้าแบบเต็มพิกัดเพื่อสานฝันปั้นโครงการนี้ให้ได้
   
แต่คำถามที่จะตามมาคือ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้หัวหอกอย่าง ยิ่งลักษณ์มีความสามารถในการบริหารเงินก้อนมหึมาก้อนนี้ที่มีดอกเบี้ยแพงสูงลิ่วถึงกว่า 3 ล้านล้านบาท และต้องมีการผ่อนชำระหนี้อีกครึ่งศตวรรษได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าหรือไม่
   
จะป้องกันการทุจริตที่มีรอยรั่วให้เจาะอยู่หลายจุดได้อย่างไร และจะสามารถประคับประคองประเทศให้รอดพ้นจากพิษเศรษฐกิจที่อาจแทรกซ้อนในช่วงระยะเวลา 7 ปีหลังจากนี้ได้หรือไม่
   
ในเมื่อ ทักษิณคิด แต่ ยิ่งลักษณ์เป็นคนทำ ส่วน คนไทยคือคนที่ถูกจับให้ไปยืนบนความเสี่ยง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น